จับตา 'ฝีดาษลิง' น่ากังวลหรือไม่ WHO ยกเลิกโรคภาวะฉุกเฉิน แต่คนไทยติดอื้อ
จับตาสถานกาณ์ 'ฝีดาษลิง' เป็นโรคติดต่อระบาดที่น่ากังวลหรือไม่หลังปีที่แล้ว WHO ยกเลิกภาวะฉุกเฉินของระบบสาธารณสุข แต่ตอนนี้คนไทยติดเชื้ออื้อโดยเฉพาะกลุ่มชายรักชาย
โดยเมื่อวันที่ 11 พ.ค. 2566 ที่ผ่านมา คณะกรรมการโรคฝีดาษลิงได้มีการประชุมพร้อมกับแนะนำให้ยกเลิกการประกาศให้ "ฝีดาษลิง" เป็นโรคติดต่อฉุกเฉิน โดยการระบาดในหลายประเทศไม่ใช่ภาวะฉุกเฉินด้านระบบสาธารณสุขอีกต่อไปเนื่องจากมีผู้ป่วยลดลงอย่างต่อเนื่อง ทำให้ผู้อำนวยการใหญ่ของ WHO ยอมรับในคำแนะนำดังกล่าวและยกเลิกประกาศให้โรคฝีดาษลิง ไม่เป็นโรคติดต่อฉุกเฉินอีกต่อไป
ปัจจุบันกลับพบว่าสถานการณ์การระบาดของ "ฝีดาษลิง" ยังมีขึ้นอย่างต่อเนื่องแต่ไม่ได้ขยายวงกว้างและลุกลามเหมือนกับโควิด-19 จากรายงานสถานการณ์ความเสี่ยงการระบาดของ "ฝีดาษลิง" โดยมีการเผยแพร่เมื่อวันที่ 19 ก.ย. 2566 ระบุถึงสถานการณ์การระบาดของ "ฝีดาษลิง" ว่า WHO ได้รับรายงานสถานการณ์การระบาดล่าสุดเมื่อวันที่ 11 ก.ย. 2566 พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ที่ได้รับการยืนยันแล้วจำนวน 1,131 ราย และผู้เสียชีวิตรายใหม่ 5 ราย
โดยการแพร่เชื่อยังอยู่ในระดับต่ำลักษณะของการระบาดวิทยาและผู้ป่วยยังคงอยู่ในเกณฑ์คงที่ ทั้งนี้พบว่า มีเพียง 22 ประเทศจาก 115 ประเทศที่มีปลกระทบซึ่งจะต้องมีการรายงานสถานการณ์เข้ามายัง WHO ใหม่อีกครั้ง อย่างไรก็ตามการแพร่เชื้อยังคงเกิดขึ้นในภูมิเอเชียตะวันออกเฉียงใหม่และบริเวณแปซิฟิกตะวันตก
อย่างไรก็ตามรายงานยังระบุด้วยว่า สำหรับความเสี่ยงของการระบาด และการติดเชื้อของ "ฝีดาษลิง"ในประชาชนทั่วไปยังอยู่ในระดับที่ต่ำมาก แต่ในกรณีคู่รักชายรักชาย หรือผู้ที่ผู้ค้าบริการทางเพศยังจัดว่าเป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงปานกลางไม่ว่าจะอยู่ในสภาพแวดล้อมและบริบทแบบไหนก็ตาม
สำหรับสถานการณ์ฝีดาษลิง ในประเทศไทย ที่พบว่ามีการติดเชื้อเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งยังมีผู้เสียชีวิต โดยล่าสุด นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า สถานการณ์ล่าสุดของโรคฝีดาษวานรในประเทศไทย (ข้อมูล ณ วันที่ 1 มกราคม - 18 กันยายน 2566) มีรายงานพบผู้ป่วยรวม 385 ราย เสียชีวิต 1 ราย เป็นผู้ป่วยภูมิคุ้มกันบกพร่อง และในสัปดาห์นี้พบผู้ป่วยเพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ที่ผ่านมา 42 ราย เพศชาย 41 ราย เพศหญิง 1 ราย แบ่งเป็นสัญชาติไทย 38 ราย (ร้อยละ 90.5) เมียนมา 2 ราย จีน 1 ราย อิตาลี 1 ราย ผู้ป่วยรายใหม่ที่พบเป็นผู้ติดเชื้อ HIV ร่วมด้วย 29 ราย ( ร้อยละ 69.0) ของผู้ป่วยใหม่ทั้งหมด และส่วนใหญ่เป็นกลุ่มชายรักชาย 33 ราย Bisexual 3 ราย ชายรักหญิง 3 ราย ไม่ระบุ 3 ราย และผู้ป่วยใหม่ 17 ราย หรือ (ร้อยละ 40.5) มีประวัติเสี่ยงมีเพศสัมพันธ์กับคนไม่รู้จัก
นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวเพิ่มเติมว่า ขอแนะนำสำหรับผู้ที่มีประวัติเสี่ยงสัมผัสใกล้ชิด หรือมีเพศสัมพันธ์กับผู้ป่วยสงสัยฝีดาษวานร ได้แก่ 1.มีเพศสัมพันธ์กับผู้ป่วย
2. ทำความสะอาดห้องหรือใช้ห้องน้ำร่วมกับผู้ป่วยขณะผู้ป่วยมีอาการ
3. เป็นผู้ดูแลผู้ป่วยสงสัยหรือผู้ป่วยฝีดาษวานรขณะป่วย
4. พูดคุยกับผู้ป่วยในระยะ 1 เมตร โดยไม่สวมหน้ากากอนามัยในสถานที่ปิด
5. นั่งชิดติดกับผู้ป่วยสงสัยหรือผู้ป่วยฝีดาษวานร โดนไอจามรดโดยไม่ได้สวมหน้ากากอนามัย หากมีประวัติดังกล่าว ให้สังเกตอาการตนเองภายหลังสัมผัสผู้ป่วยภายใน 21 วัน หากมีไข้ ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ ปวดหลัง ต่อมน้ำเหลืองโตบริเวณหลังหู คอ ขาหนีบ หรือมีอาการเจ็บคอ คัดจมูก ไอ มีผื่น ตุ่มน้ำ ตุ่มหนองขึ้นบริเวณอวัยวะเพศ ทวารหนัก หรือบริเวณรอบๆ รวมถึงมีผื่น ตุ่มน้ำ ตุ่มหนองขึ้นตามมือ เท้า หน้าอก ใบหน้า บริเวณปาก หรือ อวัยวะเพศและรอบทวารหนัก เป็นต้น ให้รีบไปพบแพทย์โดยเร็ว เพื่อรับการตรวจวินิจฉัยและรักษา พร้อมกับแยกตัวออกจากสมาชิกในครอบครัว ที่พัก หรือ สถานที่ทำงาน
อย่างไรก็ตามโรคฝีดาษลิง สามารถป้องกันได้ โดยงดเพศสัมพันธ์กับคนไม่รู้จัก ไม่สัมผัสแนบเนื้อกับผู้ที่มีผื่น ตุ่มหรือหนอง แนะนำให้ล้างมือบ่อยๆ และไม่ใช้ของส่วนตัวร่วมกับผู้อื่น และขอให้หน่วยงานสาธารณสุขทุกจังหวัดร่วมกันเฝ้าระวังติดตามกลุ่มเสี่ยง