ชีวิตดีสังคมดี

'ประกันสังคมเสี่ยงล้มละลาย' ผู้ประกันตน วัย 24-25 ปี เงินไม่พอจ่ายตอนเกษียณ

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

เจาะปัจจัย 'ประกันสังคมเสี่ยงล้มละลาย ผู้ประกันตน ช่วงอายุ 24-25 ปีเป็นต้นไป ส่อไม่มีเงินจ่ายบำเหน็จบำนาญ จี้ปฏิรูปก่อนระเบิดเวลาทำงานอีก 31ปีข้างหน้า สร้างความมั่นคงให้คนวัยเกษียณ

สร้างความหวั่นไหวให้กับภาคแรงงานไม่น้อยหลังจากที่มีรายงานข่าวและการอภิปรายจาก สส.ในประเด็น "ประกันสังคมเสี่ยงล้มละลาย" ในอีก 30 ปีข้างหน้า แม้ว่าประกันสังคมจะออกมาชี้แจงทุกประเด็นข้อสังสัย พร้อมกับยืนยันว่า การบริหารกองทุนประกันสังคมนั้นเป็นไปอย่างมั่นคงและปลอดภัย เพราะมีคณะกรรมการการลงทุน และผู้เชี่ยวชาญที่ดูแลพอร์ตการลงทุนตลอด 24 ชั่วโมง อีกทั้ง นายบุญสงค์ ทัพชัยยุทธ์ เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม ยังได้ให้คำมั่นสัญญาว่า จะบริหารจัดการกองทุนอย่างดีและไม่ให้เกิดการล้มละลาย ดังนั้นกระแสที่บอกว่า  "ประกันสังคมเสี่ยงล้มละลาย" จึงเป็นแค่ความคิดเห็นจากนักวิชาการเท่านั้น 

 

 

สำหรับความน่าจะเป็นที่ทำให้  "ประกันสังคมเสี่ยงล้มละลาย"  นั้นมีหลายปัจจัยด้วยไม่ใช่เฉพาะแค่การนำเงินไปลงทุนในหุ้น ตราสารหนี้ พันธบัตรรัฐบาล กองทุนต่างประเทศ หรือการลงทุนอื่นๆ ของประกันสังคมเท่านั้น แต่สภาวะสังคมไทยซึ่งแนวโน้มจะมีวัยแรงงานน้อยลง เนื่องจากอัตราการเกิดคนไทยต่ำลงวัยรุ่นจะเข้าสู่ตลาดแรงงานน้อยลง ผู้สูงอายุมากขึ้น เหล่านี้ก็เป็นตัวแปรสำคัญในอนาคตที่จะทำให้ประกันสังคมมีรายได้ลดลงในอนาคตเช่นกัน  โดยนายวรภพ วิริยะโรจน์  สส.พรรคก้าวไกล อธิบายถึงภาวะความเสี่ยง และการศึกษาของ องค์การแรงงานระหว่างประเทศ(ILO)ได้อย่างน่าสนใจ 
 

  • ปี 2597 เสี่ยงล้มละลาย เงินออกมากกว่าเงินเข้า

นายวรภพ วิริยะโรจน์  สส.พรรคก้าวไกล ให้สัมภาษณ์กับ คมชัดลึก ถึงความเสี่ยงของกองทุนประกันสังคม ที่ถูกอภิปรายจากทั้งนักการเมือง และนักวิชาการว่า "ประกันสังคมเสี่ยงล้มละลาย" ในอีก 30 ปีข้างหน้า ว่า จากการประเมินการเงินในอนาคตขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ(ILO) โดยเป็นการประมาณการณ์สถานะภาพของกองทุนประกันสังคม เมื่อ 6 ปีที่แล้ว คือในช่วงปี 2560  พบว่า  "ประกันสังคมเสี่ยงล้มละลาย" ในปี 2597 หรือประมาณอีก 31 ปีข้างหน้า โดยข้อมูลในรายงานระบุว่า ปัจจัยและความเสี่ยงที่จะทำให้กองทุนประกันสังคม มีความเสี่ยงที่จะล้มละลาย และไม่มีเงินสำหรับการจ่ายเบี้ยบำเหน็จ เบี้ยบำนาญชราภาพนั้น เกิดจากภาวะสังคมไทยที่เริ่มก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงวัยแบบเต็มขั้น ซึ่งหมายว่าในอนาคตจะมีวัยแรงงานเข้าสู่ระบบประกันสังคมน้อยลงทำให้อนาคตประกันสังคมจะมีรายจ่ายมากกว่ารายรับ 

 

 

แม้ว่าปัจจุบันกองทุนประกันสังคมได้ชี้แจง ว่าขณะนี้มีเงินในกองทุนประมาณ 2,202,978.56 ล้านบาท (ข้อมูล พ.ค. 2563 ) เงินจำนวนดังกล่าวสำหรับการจัดการกองทุนประกันสังคม แบ่งเป็น 1.กองทุนสำหรับประโยชน์ทดแทนกรณีเจ็บป่วย คลอดบุตร ทุพพลภาพ และตาย  มีจำนวน 117,707.20 ล้านบาท 
2.กองทุนสำหรับประโยชน์ทดแทนกรณีสงเคราะห์บุตรและชราภาพ 1,892,387.84 ล้าน 
3.กองทุนสำหรับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงาน 178, 725.77 ล้านบาท 
4.กองทุนสำหรับผู้ประกันตนมาตรา 40  14,457.75 ล้านบาท 

นอกจากนี้ยังมีการคาดการณ์ว่าในปี 2570 ประกันสังคมจะมีเงินสะสมมากถึง 3 ล้านล้านบาท  แต่หากพิจารณาตามสมมติฐานโครงสร้างประชากร พบว่า ในอนาคตจะมีการนำเงินของผู้ประกันตนมาจ่ายเงินบำเหน็จ บำนาญให้แก่ผู้ประกันตนในช่วงอายุ 55 ปี ที่มีการเกษียณไปแล้ว ดังนั้น ผู้ประกันตนที่จะได้รับผลกระทบจึงเป็นแรงงานรุ่นหลังในระหว่างอายุ 24-25 ปี เพราะแน่นอนว่าในอนาคตกองทุนประกันสังคมมีแนวโน้มที่จะมีรายได้ลดลง ดังนั้น จึงไม่ต่างอะไรกับกองทุนที่รอระเบิดเวลาหากไม่เร่งปฏิรูปกองทุนใหม่ 

 

 

  • ข้อเสนอปฏิรูปกองทุน ยืดเวลา "ประกันสังคมเสี่ยงล้มละลาย" 

นายวรภพ  อธิบายถึงวิธีการที่จะลดความเสี่ยงของกองทุนประกันสังคม การปฏิรูปกองทุนประกันสังคม เป็นสิ่งที่สำนักงานประกันสังคมควรจะเร่งดำเนินการ ก่อนที่เงินสะสมจะหมด โดยวิธีการที่สามารถดำเนินการการนั้นประกันสังคมจะต้องเปลี่ยนเงื่อนไขการส่งเงินสมทบเข้ากองทุนจากเดิมที่ใช้แบบ  โครงการผลประโยชน์  (Defined Benefit) คือ ผลประโยชน์ที่กำหนดไว้ตายตัว มีเงื่อนไขชัดเจนว่าจะจ่ายเงินชดเชยให้เท่าไร เช่น เงินชดเชยตาม พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน  เป็นแบบโครงการสมทบเงิน (Defined Contribution) คือ โครงการที่ลูกจ้าง และนายจ้างต่างฝ่ายต่างสมทบเงินเข้ากองทุน และจะมีผู้จัดการกองทุนนำเงินส่วนนี้ไปลงทุนให้เติบโต เช่น กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ หรือ กองทุน กบข. ของข้าราชการ 

 

 

ซึ่งหากมีการปรับโครงสร้างจะส่งให้แนวทางการขยายอัตราเงินสมทบ ที่อาจจะถูกต่อต้านจากแรงงานลดลงไปด้วย เพราะหากปรับการสมทบเงินใหม่เท่ากับว่าในช่วงวัยเกษียณผู้ประกันตนจะได้รับเงินดูแลมากกว่า 3,000 บาทตามเงื่อนเดินที่ประกันสังคมระบุไว้ ซึ่งแน่นอนว่ามีความคุ้มค่ามากกว่า 

 

 

หรือการให้ผู้ประกันตนได้เลือกรูปแบบการส่งเงินสมทบว่าจะให้เอกชนบริหารจัดการ หรือให้สำนักงานประกันสังคมบริหารจัดการ เหมือนที่ประเทศสิงคโปร์ใช้อยู่  เพราะปัจจุบันต้องยอมรับว่าไม่มีอะไรการันตีได้ว่า กองทุนประกันสังคมจะมั่นคง และหากเงินสะสมหมดไปก็จะต้องนำเงินที่ลุงทุนใช้จ่าย การให้ประชาชนได้เลือกแนวทางการส่งเงินสมทบ โดยการเปิดการแข่งขันระหว่างเอกชนและประกันสังคมจึงถือว่าเป็นเรื่องที่ดีสำหรับผู้ประกันตน อีกทั้งจะช่วยให้ระบบประกันสังคมมีความความมั่นคงมากยิ่งขึ้นด้วย 

 

 

  • รายรับ-รายจ่ายการประเมินสถานะ กองทุนประกันสังคม 

ตามรายงานระบุว่า ปัจจุบันในกองทุนประกันสังคม มีกองทุนสงเคราะห์บุตร และชราภาพ เป็นกองทุนที่มีขนาดใหญ่ที่สุดของสำนักงานประกันสังคม คิดเป็นมูลค่าประมาณ 85% ของเงินลุงทุน ซึ่งถือว่าเป็นกองทุนประกันสังคมในกองทุนประกันสังคมเนื่องจากกองทุน 2 กรณี มีสิทธิประโยชน์กรณีชราภาพ ซึ่งเป็นสิทธิประโยชน์ระยะยาวที่ต้องสะสมเงินในกองทุน และบริหารจัดการกองทุนอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อให้มีทรัพย์สินเพียงพอกับการจ่านหนี้สินที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ในกรณีที่มีผู้ประกันตนเกษียนเป็นจำนวนมาก 

 

สำหรับรายรับของกองทุนปัจจุบันมี 2 กรณี 
-เงินสมทบรับ จัดเก็บจากนายจ้างและผู้ประกันตนในอัตราร้อยลั 3 ของค่าใช้จ่าย และรัฐบาลร้อยละ 1 ของค่าจ้าง (เพดานค่าจ้างไม่เกิน 15,000 บาท/เดือน) 
-ผลตอบแทนจากการนำเงินไปลงทุน 

 

รายจ่ายของกองทุนมี 2 กรณี 
-เงินจ่ายประโยชน์ทดแทนกรณีสงเคราะห์บุตร 
-เงินจ่ายประโยชน์ทดแทนกรณีชราภาพ ได้แก่ เงินบำเหน็จ เงินบำนาญ 

 

 

"หากประกันสังคมดำเนินการปฏิรูปกองทุนได้เร็วเท่าไหร่ ก็จะเป็นการยืดระยะเวลาความเสี่ยงล้มละลายออกไปเท่านั้น แน่นอนว่าในอนาคตจะมีอัตราผู้สมทบหน้าใหม่ลดลง จากภาวะการเกิดน้อย และการเข้าสู่สังคมผู้สูงวัย การปฏิรูปกองทุนประกันสังคมจะช่วยให้ในอนาคตเมื่อมีผู้เกษียณจำนวนมาก การเพิ่มผลตอบแทนจากการลงทุนจะช่วยลดระดับของการปรับอัตราเงินสมทบ และจะทำให้กองทุนมีความยั่งยืนมากยิ่งขึ้น" นายวรภพ กล่าวสรุป  
 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ