ชีวิตดีสังคมดี

รู้จัก 'ไข้หวัดนก H3N8' อันตรายแค่ไหน ระบาดได้ระดับใด หลังคร่าชีวิต 1 ราย

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

รู้จัก 'ไข้หวัดนก H3N8' อีกหนึ่งสายพันธุ์ขอ โรคไข้หวัดนก อันตรายแค่ไหน ระบาดสู่คนได้ในระดับใด หลัง WHO พบคร่าชีวิตชาวจีน 1 ราย

ในช่วง 2 วันที่ผ่านมา องค์การอนามัยโลก (WHO) รายงาน มีผู้เสียชีวิตจากโรค "ไข้หวัดนก H3N8" เป็นรายแรกของโลกโดยพบที่ประเทศจีน ส่วนสาเหตุหรือแหล่งที่ได้รับเชื้อมานั้นยังไม่ได้มีการยืนยันอย่างชัดเจน

 

 

อย่างไรก็ตามสำหรับ "ไข้หวัดนก H3N8" จัดว่าเป็น โรคไข้หวัดนก (Avian Influenza) อีกหนึ่งสายพันธุ์ ที่เคยมีการระบาดในประเทศจีนไปเมื่อช่วงปี 2565 แต่สำหรับในประเทศไทยยังไม่เคยมีการพบว่า "ไข้หวัดนก H3N8" เกิดการระบาด

โดยที่ผ่านมาเมื่อปี 2565 มีการประเมิณสถานการณ์ความรุนแรงของ "ไข้หวัดนก H3N8" จากคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติว่า เชื้อดังกล่าวมีการแพร่เชื้อสู่มนุษย์ในระดับต่ำ และความเสี่ยงของการแพร่ระบาดยังคงอยู่ในวงแคบ นอกจากนี้ประเทศไทยไม่พบรายงานการเกิดโรคไข้หวัดนกมาแล้วเป็นระยะเวลา 14 ปี

 

 

ขณะที่กรมปศุสัตว์ เตรียมแผนรับมือระดับกรมและจังหวัด เฝ้าระวังโรคสัตว์ตามแนวชายแดนอย่างเข้มงวด สุ่มเก็บตัวอย่างสัตว์ปีกในพื้นที่เสี่ยงอย่างพื้นที่ชายแดนพื้นที่นกอพยพและวางไข่ นอกจากนี้ ยังคงเข้มงวดการเคลื่อนย้ายสัตว์และซากสัตว์ปีกภายในประเทศ และชะลอการนำเข้าสัตว์ซากสัตว์ปีก จากประเทศที่เกิดโรคไข้หวัดนก เป็นต้น

 

อ้างอิง: เว็บไซต์รัฐบาลไทย

"ไข้หวัดนก H3N8" ถูกพบเป็นครั้งแรกในนกน้ำอเมริกาเหนือประมาณช่วงปี 2545 ก่อนที่เชื้อไวรัสจะกระจายออกไป โดยพบว่ามีการติดเชื้อไปสู่ม้า สุนัขและแมวน้ำด้วย ก่อนหน้านี้  WHO ระบุว่า ได้รับรายงานว่าพบผู้ติดเชื้อ H3N8 ในจีนเป็นจำนวน 3 รายนับตั้งแต่ปี 2565 พร้อมระบุว่าไม่ได้เป็นเชื้อที่แพร่กระจายได้ง่ายระหว่างคนสู่คน อย่างไรก็ตาม แนะนำว่าประชาชนไม่ควรสัมผัสหรือใกล้ชิดกับสัตว์ปีกเป็นๆ ทั้งนี้ WHO ระบุว่า เบื้องต้นดูเหมือนว่าไวรัสนี้ไม่มีความสามารถในการแพร่ระบาด

 

 

อาการหลังติดเชื้อ "ไข้หวัดนก H3N8"

 

ผู้ป่วยที่ติดเชื้อไข้หวัดนก H3N8  อาการที่เห็นได้ชัดเจนคือ มีไข้ และอาการทางระบบทางเดินหายใจ ส่วนใหญ่มีอาการไอและหายใจเหนื่อยหอบจากปอดอักเสบ บางรายอาจพบภาวะแทรกซ้อนทางปอดรุนแรงคือระบบทางเดินหายใจล้มเหลว นอกจากนี้อาจพบอาการทางระบบทางเดินอาหาร เช่น ท้องเสีย และอาจพบอาการทางระบบประสาท เช่น ซึม ชัก ในผู้ป่วยที่อาการรุนแรงมากจะมีภาวะการทำงานของหลายอวัยวะล้มเหลวและเสียชีวิตได้

 

กลุ่มผู้ป่วยที่มักจะมีอาการรุนแรงและเสียชีวิต คือ กลุ่มผู้ป่วยสูงอายุที่มีโรคประจำตัว เช่น ความดันโลหิตสูง  เบาหวาน โรคหัวใจ โรคตับ โรคไตเรื้อรัง เป็นต้น และกลุ่มหญิงตั้งครรภ์

 

อย่างไรก็ตามขณะนี้ยังไม่มีวัคซีนป้องกัน โรคไข้หวัดนก H3N8 แต่แนะนำให้ฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ โดยเฉพาะในบุคลากรทางการแพทย์และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง

 

 

วิธีการป้องกันการติดเชื้อ "ไข้หวัดนก H3N8"

หลีกเลี่ยงการสัมผัสสัตว์ปีกและสิ่งคัดหลั่งที่มาจากสัตว์ปีกโดยตรง หากมีการสัมผัสควรใช้สบู่ล้างมือให้สะอาด ส่วนผู้ที่ต้องทำงานกับสัตว์ปีกควรสวมอุปกรณ์ป้องกันการติดเชื้ออย่างเหมาะสม เช่น หน้ากากปิดจมูก ถุงมือ แว่นตา รวมทั้งล้างมือด้วยสบู่ให้สะอาดภายหลังสัมผัสสัตว์ปีกหรือเสร็จจากการทำงาน

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ