ชีวิตดีสังคมดี

สำรวจเด็กไทย 'รู้เท่าทันสื่อ' แนะผู้ปกครองป้องกันลูกเป็นเหยื่อออนไลน์

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

สสส.สำรวจเด็กไทย 'รู้เท่าทันสื่อ' ห่วงเด็ก 3-5 ปีติดจอนานๆ กระทบพัฒนาการ แนะวิธีให้ผู้ปกครองปกป้องลูกจากการเป็นเหยื่อออนไลน์ เช็ก 4 แพลตฟอร์มออนไลน์ยอดฮิตสำหรับเด็ก

สถานการณ์การ "รู้เท่าทันสื่อ" และสารสนเทศ เป็นสถานการณ์ที่ควรมีการสำรวจเป็นประจำอย่างต่อเนื่อง และมีความสำคัญอย่างยิ่ง เนื่องจากทำให้ประชาชนทั่วไปทราบถึงการรู้เท่าทันสื่อและสารสนเทศของประเทศ และตระหนักถึงความสำคัญของการพัฒนาการรู้เท่าทันสื่อสารสนเทศของตนเอง การศึกษาในครั้งนี้ยังมีความสอดคล้องกับแผนระบบสื่อ และวิถีสุขภาวะทางปัญญา

 

 

ซึ่งมีแนวทางที่จะช่วยสนับสนุนให้เกิดระบบสื่อสุขภาวะมุ่งเน้นที่การพัฒนา ภูมิคุ้มกันทางดิจิทัล (Promoting the digital immunization) ในเด็กปฐมวัย เด็กวัยเรียน และประชาชนไทย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)  จึงได้มีการดำเนินโครงการสำรวจสถานการณ์การ "รู้เท่าทันสื่อ" สารสนเทศและดิจิทัลของประชาชนไทยยุค New Normal และจัดทำข้อเสนอเชิงนโยบายปี 2566 

ทั้งนี้จากการสำรวจสถานการณ์การ "รู้เท่าทันสื่อ" ในตัวอย่าง 9,506 คน ประเมินสมรรถนะ 4 ด้าน

 

1. เข้าถึงสื่อ อย่างปลอดภัย

2. วิเคราะห์ วิพากษ์ และประเมิน

3. สร้างสรรค์เนื้อหา

4. ประยุกต์ใช้และสร้างการเปลี่ยนแปลง

 

ใช้วิธีการสำรวจแบ่งตามช่วงวัย คือ เด็กปฐมวัย อายุ 3-5 ปี และเด็กวัยเรียนอายุ 6-12 ปี ใช้แนวคิด Media Information and Digital Literacy (MIDL) ส่วนเด็กอายุ 12 ปีขึ้นไปจนถึงผู้สูงอายุ ประเมินการรู้เท่าทันสื่อและสารสนเทศอ้างอิงตามหลักการของ Unesco โดยข้อสรุปทั้งหมดจะนำไปใช้เป็นข้อมูลขับเคลื่อนนโยบาย ซึ่งตรงตามเจตนารมณ์ของ สสส. ที่ต้องการทำให้เรื่องนี้เป็นนโยบายระดับชาติที่ทุกคนต้องให้ความสำคัญ เพื่อสุขภาวะที่ดีของคนไทยทุกคน

อย่างไรก็ตาม มหาวิทยาลัยมหิดล ได้มีการสรุปข้อมูลการใช้มือถือ และโซเชียลมีเดีย กลุ่มตัวอย่างในการสำรวจเด็กปฐมวัย อายุ 3-5 ปี และเด็กวัยเรียน อายุ 6-8 ปี และ 9-12 ปีทั่วประเทศ ส่วนกลุ่มประชาชนที่ตอบแบบสำรวจ 5,936 คนทั่วประเทศ โดยพบว่า เด็กและประชาชนไทยทุกช่วงอายุมีการเข้าถึงและใช้สื่อมากยิ่งขึ้น ซึ่งผลการสำรวจการ "รู้เท่าทันสื่อ" ของกลุ่มเด็กปฐมวัย และเด็กวัยเรียนในระดับประเทศจัดอยู่ในระดับ ดีมาก อยู่ที่ 86.9% ซึ่งมีแนวโน้มสูงขึ้นกว่าปี 2564 (73.9%) แต่อย่างไรก็ตามในด้านการสำรวจพบว่าเด็กปฐมวัย (ช่วงอายุ 3-5 ปี) มีการใช้หน้าจอนานกว่า 2 ชั่วโมงต่อวัน มากถึง 73.8% ซึ่งมีโอกาสส่งผลกระทบต่อพัฒนาการ และเสี่ยงต่อการติดอินเทอร์เน็ตได้ง่าย รวมถึงเด็กในวัยดังกล่าวยังมีความเสี่ยงต่อการถูกหลอกลวงให้ทำตามวัตถุประสงค์ของผู้ไม่หวังดี  

 

 

โดยมีสื่อที่ได้รับความนิยมของเด็กวัยเรียน คือ ยูทูป ติ๊กต็อก ไลน์ และเฟซบุ๊ก ตามลำดับ จากการสำรวจพบว่า เด็กวัยเรียนมีการใช้สื่อสารสนเทศที่สร้างความบันเทิง เช่น ดูการ์ตูน หรือ วีดีโอบนสังคมออนไลน์ ขณะที่การใช้อินเทอร์เน็ตของประชาชนทั่วไป ใช้ในการค้นหาข้อมูล ถัดมาคือ การเล่นโซเชียลมีเดีย รับ-ส่ง อีเมล และอ่านบทความออนไลน์ ตามลำดับ

 


ทีมวิจัยคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ยังมีการระบุข้อเสนอแนะสำหรับผู้ปกครองในยุคดิจิทัล ดังนี้

 

  • สำหรับวัยเด็กเล็กปฐมวัย เป็นวัยที่กำลังมีพัฒนาการด้านร่างกาย ความคิด และจิตใจ ผู้ปกครองต้องสร้างสมดุลของสภาวะแวดล้อมให้เด็กสามารถเรียนรู้ และเติบโตในทุกด้านอย่างปลอดภัย อย่าโยนมือถือ แท็บเล็ต โดยปล่อยเด็กเล็กไว้กับการดูจอนาน โดยไม่มีการชี้แนะพูดคุย  เพราะหลายครอบครัวพบปัญหาเด็กมีพัฒนาการที่ล่าช้า ขาดปฏิสัมพันธ์กับคนในครอบครัว ไม่สบตา หรือพูดคุยกับคนอื่น 

 

 

  • ในการเสริมการเรียนรู้แก่เด็กทางออนไลน์  ผู้ปกครองควรเลือกสื่อปลอดภัย "For Kids" หรือติดตั้งระบบป้องกันความปลอดภัยของเด็กๆจาก เซ็กส์ เกม หวย และความรุนแรง อื่นๆ

 

  • ผู้ปกครองควรจัดสรรเวลาพูดคุยกับลูกปฐมวัยและลูกวัยเรียน โดยปลูกฝังแนวความคิดวิเคราะห์ ใช้เหตุผล มองรอบด้าน ไม่สุดโต่ง หรือยึดตนเองเป็นศูนย์กลาง ไม่เชื่ออะไรง่ายๆ  แยกแยะออกระหว่างโลกของเกมกับชีวิตจริง  รู้จักไตร่ตรอง สนุกกับการแยกแยะวิเคราะห์  

 

  • คนในครอบครัวหรือญาติพี่น้องเองก็ต้องได้รับการฝึกฝน และตระหนักรู้ถึงการดูแลบุตรหลานยุคดิจิทัล ซึ่งเขาอยู่ท่ามกลางข้อมูลและการเชื่อมต่อทางไอทีในช่องทางต่างๆ เพื่อให้เขาเติบโตอย่างมีสุขภาพกายและใจที่ดี  รู้เท่าทันสื่อ ไม่ตกเป็นเหยื่อของข่าวลวง หรือผู้ไม่หวังดี

 

แผนในอนาคต ทางวิศวะมหิดล กำลังอยู่ระหว่างการพัฒนาวิจัย "ซอฟท์แวร์ระบบป้องกันภัยทางไซเบอร์สำหรับเด็ก" คาดว่าจะแล้วเสร็จอีก 2 เดือน ข้างหน้า เพื่อให้ผู้ปกครองสามารถนำไปใช้ได้ เพื่อความปลอดภัยทางไซเบอร์

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ