ประชาสัมพันธ์

การต่างประเทศไทยฝ่าวิกฤติโควิด-19

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

การต่างประเทศไทยฝ่าวิกฤติโควิด-19

                                                  

ย้อนกลับไปเมื่อ 17 พ.ย. 2562 มีรายงานข่าวผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 รายแรกของโลก จนถึงวันนี้เราอยู่ร่วมกับไวรัสตัวนี้มาครบ 1 ปีพอดี มนุษยชาติเริ่มเรียนรู้ที่จะรับมือกับไวรัสโคโรนา 2019 มากขึ้น แต่ผลกระทบ ก็ยังคงอยู่

และแม้ว่าการพัฒนาวัคซีนจะมีแนวโน้มที่ดี แต่ก็ไม่ใช่ “กระสุนเงิน” ที่จะแก้ไขปัญหาทุกอย่างที่เกิดขึ้นได้ เพราะโรคโควิด-19 ได้ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกและความเป็นอยู่ของผู้คนอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน และผลกระทบในบางด้านก็อาจจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงอย่างถาวร

แต่จนถึงปัจจุบันต้องยอมรับว่าประเทศไทยเป็นหนึ่งในประเทศตัวอย่างที่รับมือกับการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ได้อย่างดี

แต่...ประเทศไทยเช่นเดียวกับประเทศอื่น ๆ ทั่วโลก ยังจำเป็นต้องปรับตัวอย่างมากในสถานการณ์ที่การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา 2019 ยังคงเป็นภัยที่คุกคามที่ส่งผลกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คนทั่วโลก

การที่ไวรัสโควิด-19 สามารถแพร่กระจายได้อย่างรวดเร็ว ข้ามน้ำ ข้ามทะเล ไปได้ทุกหนแห่ง การรับมือกับการแพร่ระบาดของไวรัสนี้จึงกลายเป็นวาระสำคัญของโลกที่ทุกประเทศต้องเผชิญร่วมกัน และจำเป็นต้องมีความร่วมมือระหว่างประเทศเพื่อเพิ่มความสามารถในการรับมือการแพร่ระบาดที่เป็น pandemic ระดับโลก ต่อยอดองค์ความรู้และศักยภาพในการวิจัยและนวัตกรรมด้านการแพทย์ที่จะนำไปสู่การค้นพบวัคซีนและแนวทางป้องกันและรักษาโรคที่มีประสิทธิภาพ

แต่ก็มิใช่ว่าทุกประเทศจะเห็นพ้องกันถึงข้อเท็จจริงของความจำเป็นที่จะต้องร่วมมือกันในเรื่องนี้ โดยในช่วงแรกของการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ประเทศต่าง ๆ เกิดความ    ตื่นตระหนก ต่างดำเนินมาตรการฝ่ายเดียวในการรับมือการแพร่ระบาด มีการปิดพรมแดน การคมนาคมขนส่งระหว่างประเทศหยุดชะงัก และที่สำคัญคือเกิดการแย่งชิงเวชภัณฑ์และยา ประเทศที่มีต้นทุนที่ดี มีทรัพยากรในประเทศเพียงพอรองรับสถานการณ์วิกฤติก็สามารถฝ่าฝันอุปสรรคในช่วงแรกไปได้ แต่หลายประเทศที่ต้องพึ่งพาการนำเข้าจากภายนอกต้องประสบความลำบากไม่น้อย

ในส่วนของไทย เมื่อเกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 ไทยเป็นประเทศแรก ๆ ที่พบกรณีผู้ติดเชื้อ จึงตระหนักถึงความจำเป็นถึงการเตรียมความพร้อมที่จะรับมือกับการแพร่ระบาดของโรคอุบัติใหม่ ซึ่งถือเป็นภัยคุกคามต่อความมั่นคงของมนุษย์ และริเริ่มที่จะติดต่อไปยังมิตรประเทศเพื่อแสวงหาแนวทางที่จะรับมือกับภัยคุกคามนี้ร่วมกัน ทำให้ในปี 2563 เป็นปีที่กระทรวงการต่างประเทศของไทยต้องทำงานในเชิงรุกในทุกวิถีทาง เพื่อใช้การต่างประเทศนำประเทศไทยฝ่าโควิด-19 ให้ได้อย่างปลอดภัย

ตลอดปี 2563 กระทรวงการต่างประเทศได้ใช้กลไกความร่วมมือระหว่างประเทศในทุกเวทีทั้งในระดับภูมิภาค และพหุภาคี ให้เกิดประโยชน์ต่อการรับมือกับวิกฤตการณ์มากที่สุด โดยที่ไทยเคยมีประสบการณ์ร่วมกับประเทศในภูมิภาคในการรับมือการแพร่ระบาดของโรคซาร์สมาแล้ว

ในครั้งนี้ กระทรวงการต่างประเทศจึงดำเนินการอย่างเร่งด่วนในการประสานพูดคุยกับจีนและประเทศในภูมิภาคเพื่อหาทางรับมือร่วมกัน นำไปสู่การประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน-จีน สมัยพิเศษ ว่าด้วยโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ในเดือน ก.พ. 2563 การประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน-สหรัฐฯ สมัยพิเศษ ว่าด้วยโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019

และการประชุมสุดยอดอาเซียนและการประชุมสุดยอดอาเซียนบวกสาม สมัยพิเศษ ว่าด้วยโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา ๒๐๑๙ ในเดือนเม.ย. 2563 ซึ่งเป็นการนำระบบการประชุมทางไกลมาใช้เป็นครั้งแรกในการประชุมในกรอบอาเซียน

ประเทศไทยได้แสดงบทบาทนำอย่างแข็งขันในการผลักดันความร่วมมือระดับภูมิภาคในการรับมือกับโรคโควิด-19 และการวางแนวทางที่จะฟื้นฟูเศรษฐกิจ สร้างความเข้มแข็งให้ไทยและประเทศในภูมิภาค โดยเฉพาะในกรอบอาเซียน โดยได้เสนอให้มีการจัดตั้ง “กองทุนอาเซียนเพื่อรับมือกับโควิด-19” และบริจาคเงินสมทบกองทุนฯ จำนวน 1 แสนดอลลาร์สหรัฐ เป็นประเทศแรก

รวมทั้งได้ชักชวนประเทศสมาชิกและประเทศคู่เจรจาร่วมสนับสนุนกองทุนดังกล่าว ซึ่งในชั้นนี้ สิงคโปร์ เวียดนาม จีน เกาหลีใต้ อินเดีย นิวซีแลนด์ ออสเตรเลีย ได้ร่วมบริจาคเข้ากองทุนแล้ว นอกจากนี้ ยังจัดตั้ง “คลังสำรองอุปกรณ์ทางการแพทย์อาเซียนสำหรับภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุข” ซึ่งประเทศผู้บริจาคจะสำรองเวชภัณฑ์และอุปกรณ์ทางการแพทย์ไว้บริจาคในกรณีเกิดภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขในภูมิภาคด้วย

กระทรวงการต่างประเทศให้ความสำคัญอย่างยิ่งกับการดำเนินงานเพื่อจัดหาวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 สำหรับประชาชนไทย มุ่งเป้าให้ไทยเป็นประเทศแรก ๆ ที่จะได้รับวัคซีน โดยได้เข้าร่วมในกลไกความร่วมมือที่มีการเตรียมการจัดหาวัคซีนในหลายระดับ

จนล่าสุด เมื่อวันที่ 12 ต.ค. 2563 สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงลอนดอน ได้จัดให้มีพิธีลงนามในหนังสือแสดงเจตจำนงความร่วมมือระหว่างรัฐบาลไทย (โดยกระทรวงสาธารณสุข) บริษัทสยามไบโอไซเอนซ์ บริษัท เอสซีจี และบริษัท AstraZeneca ในการผลิตและการจัดสรรวัคซีนวิจัยป้องกันโรคโควิด-19 แบบ AZD1222 ที่พัฒนาโดยมหาวิทยาลัยออกซฟอร์ด สำหรับไทยและประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาคตะวันออกเฉียงใต้ ผ่านระบบออนไลน์จากสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงลอนดอน

การดำเนินงานของไทยในด้านสาธารณสุขและการรับมือกับโรคโควิด-19 ได้รับความชื่นชมอย่างมากจากประชาคมระหว่างประเทศ โดยนายกรัฐมนตรีได้รับเชิญเป็นพิเศษจาก ผอ. ใหญ่องค์การอนามัยโลก (WHO) ให้กล่าวถ้อยแถลงในพิธีปิดการประชุมสืบเนื่องของการประชุมสมัชชาอนามัยโลก สมัยที่ 73 โดย ผอ. ใหญ่ WHO ได้กล่าวชื่นชมความสำเร็จของไทยในการรับมือกับโรคโควิด-19

และขอให้ทุกประเทศดำเนินการตามตัวอย่าง โดยก่อนหน้านี้ WHO ยังได้ถ่ายทำวีดิทัศน์ประชาสัมพันธ์ประสบการณ์ของไทย และเชิญให้ไทยร่วมถอดบทเรียนการปฏิบัติงานด้านการสาธารณสุขในการรับมือกับโรคโควิด-19 ซึ่งไทยได้ประกาศความพร้อมที่จะแลกเปลี่ยนประสบการณ์และแนวปฏิบัติที่ดีแก่ทุกฝ่าย

นอกจากนี้ ล่าสุดนายกรัฐมนตรียังได้กล่าวถ้อยแถลงผ่านวีดิทัศน์ในการประชุมสมัชชาสหประชาชาติ สมัยพิเศษ ครั้งที่ 31 ว่าด้วยการรับมือกับการแพร่ระบาดของโควิด-19 ประกาศจะมอบเงินให้แก่ WHO เพื่อสนับสนุนข้อริเริ่มในการพัฒนาและจัดสรรยาและวัคซีนโควิด-19

ทั้งนี้ ความสำเร็จของไทยเป็นผลมาจากบทบาทที่แข็งขันของไทยในด้านสาธารณสุขในเวทีระหว่างประเทศอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ในช่วงที่ไทยดำรงตำแหน่งประธานกลุ่ม Foreign Policy and Global Health ในปี 2560 ซึ่งได้นำประเด็นหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าไปผลักดันในสหประชาชาติ จนทำให้สหประชาชาติกำหนดให้วันที่ 12 ธ.ค. ของทุกปีเป็นวันหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าสากลอีกด้วย

การฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศเป็นประเด็นเร่งด่วนอีกประการหนึ่งที่กระทรวงการต่างประเทศให้ความสำคัญ โดยสถานเอกอัครราชทูตไทยในต่างประเทศได้จัดการพบหารือกับภาครัฐและภาคเอกชนในต่างประเทศเพื่อประชาสัมพันธ์การลงทุนในประเทศไทย

รวมทั้งร่วมมือกับ EEC จัดสัมมนาทางไกลเพื่อให้ข้อมูลนักลงทุน  ในกลุ่มเป้าหมายอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ ยังเริ่มการเจรจาจัดทำข้อตกลงพิเศษ (Special Arrangement) กับประเทศเป้าหมาย เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่นักธุรกิจ วิศวกร และผู้เชี่ยวชาญ ที่มีศักยภาพเดินทางเข้าประเทศไทยเพิ่มขึ้นภายใต้มาตรการรองรับด้านสาธารณสุขที่รัดกุม ซึ่งจนถึงปัจจุบันนำนักธุรกิจต่างชาติเข้าไทยแล้วกว่า 14,000 ราย

ทั้งนี้ เมื่อสถานการณ์เริ่มกลับสู่สภาวะปกติแล้ว ผู้ประกอบการไทยเองก็ต้องพร้อมที่จะแข่งขันในตลาดโลก กระทรวงการต่างประเทศให้ความสำคัญกับการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ผลักดันความร่วมมือเรื่องความเชื่อมโยงในภูมิภาค โดยเฉพาะการเชื่อมโยงระเบียงเศรษฐกิจต่าง ๆ ที่มีอยู่ในกรอบอนุภูมิภาค

โดยเชื่อมโยงกับ EEC ให้ไทยสามารถคว้าโอกาสของการปรับห่วงโซ่อุปทานที่มีแนวโน้มจะย้ายเข้ามาอาเซียนมากขึ้น ให้ความสำคัญกับการส่งเสริมการรวมตัวทางเศรษฐกิจและสนับสนุนการค้าเสรี เพื่อช่วยการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ

ซึ่งล่าสุดได้มีการลงนามความตกลง RCEP หลังจากมีการเจรจากันมาถึง 8 ปี ซึ่งเป็นตลาดขนาดใหญ่ครอบคลุมประชากรกว่า 2.2 พันล้านคน หรือ 1 ใน 3 ของประชากรโลก อันเป็นโอกาสด้านการค้าและการลงทุนสำหรับผู้ประกอบการไทย

นอกจากนี้ ยังผลักดันให้ผู้ประกอบการธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม และ Start-ups สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนและพัฒนาทักษะที่จำเป็น โดยเฉพาะด้านดิจิทัล เพื่อให้สามารถปรับตัวเข้าสู่เศรษฐกิจยุคดิจิทัล รวมทั้งการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมจากประเทศที่มีความก้าวหน้ามาช่วยพัฒนา AI 5G และ e-commerce ในไทย

การแพร่ระบาดของโควิด-19 เป็นอีกข้อพิสูจน์ว่าโลกมีความเชื่อมโยงกันมากกว่าที่เราคิด การต่างประเทศไม่ใช่เรื่องที่ไกลตัวเราอีกต่อไป และเป็นเรื่องที่ทุกภาคส่วนจะต้องร่วมกันขับเคลื่อนอย่างแข็งขัน ทั้งในการส่งเสริมความร่วมมือ การให้ความช่วยเหลือมิตรประเทศ และการร่วมกันกำหนดทิศทางของโลก

แม้ว่าในปีที่ผ่านมาการเดินทางระหว่างประเทศจะถูกจำกัด การดำเนินงานด้านการต่างประเทศกลับเดินหน้าต่อไปได้อย่างแข็งขัน และทวีความสำคัญมากยิ่งขึ้น การประชุมหารือระหว่างประเทศทางไกลยังดำเนินการไปอย่างต่อเนื่องในทุกระดับ

โดยไทยได้มีบทบาทอย่างแข็งขันในการผลักดันความร่วมมือระหว่างประเทศเพื่อรับมือกับการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจและชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน ซึ่งความร่วมมือต่าง ๆ ที่ประเทศไทยมีกับมิตรประเทศและประชาคมโลกได้แสดงให้เห็นแล้วว่าความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันเท่านั้นที่จะพาให้ทุกฝ่ายสามารถฝ่าฟันอุปสรรคของมนุษยชาตินี้ไปพร้อมกันได้

 

การต่างประเทศไทยฝ่าวิกฤติโควิด-19

การต่างประเทศไทยฝ่าวิกฤติโควิด-19

ดอน ปรมัตถ์วินัย  รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ

ขอบคุณที่มา กระทรวงการต่างประเทศ

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ