ดร.สุปราณี คุปตาสา ผู้จัดการ กองทุนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติ พร้อมด้วย อนันต์ชัย ไชยเดช ทนายความที่รับมอบอำนาจจาก ดร.สุปราณี และรับมอบอำนาจจาก"กองทุนพัฒนาการกีฬา" ได้ออกมาเคลื่อนไหวในประเด็นที่กลายเป็นเรื่องร้อนในวงการกีฬา หลังจาก ดร.ก้องศักด ยอดมณี ผู้ว่าการ การกีฬาแห่งประเทศไทย มีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนการทำหน้าที่ของ ดร.สุปราณี โดยมีที่มาจาก"บัตรสนเท่ห์"
โดยผู้บริหารกองทุนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติและที่ปรึกษาทางกฏหมาย ระบุว่าจะต่อสู้ในเรื่องนี้อย่างถึงที่สุด ซึ่งที่มาของบัตรสนเทห์ดังกล่าว คือการทำงานของขบวนการที่ต้องการลดความน่าเชื่อถือ และทำให้หน่วยงาน "กองทุนพัฒนาการกีฬา" ได้รับความเสียหาย รวมทั้งต้องการที่จะกดดันต่อการทำหน้าที่ผู้จัดการกองทุนพัฒนาการกีฬา ซึ่งจะหมดวาระในตำแหน่งในปีหน้า
ดร.สุปราณี คุปตาสา ผู้จัดการ กองทุนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติ พร้อมด้วย อนันต์ชัย ไชยเดช ทนายความประจำตัว พล.ต.อ.เสรีพล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส หัวหน้าพรรคเสรีรวมไทย และ ทนายความประจำตัว ชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์ ร่วมกันแถลงข่าวกับสื่อมวลชน ที่สำนักงานกองทุนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติ ชั้น 3 ภายในอาคารสำนักงานใหญ่ การกีฬาแห่งประเทศไทย กกท. หัวหมาก การแถลงข่าวครั้งนี้เกิดขึ้นภายหลังจากความเคลื่อนไหว ที่มาจาการกีฬาแห่งประเทศไทย ( กกท. ) โดย ดร.ก้องศักด ยอดมณี ผู้ว่าการ กกท.
- ฟาดคนในกกท.รู้เห็นขบวนการจ้องล้ม
ที่เห็นชอบให้มีการตั้งคณะกรรมสอบสวน ดร. สุปราณี ซึ่งระบุที่มาของการร้องเรียนว่ามาจากบัตรสนเท่ห์ และต่อมามีการเผยแพร่เนื้อหาของข้อร้องเรียนออกไปสู่สื่อมวลชน ซึ่งการกระทำดังกล่าวของบุคคลในกกท. เป็นการทำกันเป็นขบวนการมีการรู้เห็นกัน โดยเจตนาที่ต้องการจะทำให้ดร.สุปราณี คุปตาสา หมดความน่าเชื่อถือ เพราะการอยู่ในตำแหน่งดังกล่าวเป็นการขัดขวางขบวนการหาประโยชน์ในวงการกีฬา ผ่านงบประมาณ
ซึ่งที่ผ่านมามีความพยามหาผลประโยชน์หลายรูปแบบ เช่นเงินรางวัลตอบแทนนักกีฬา มีบางสมาคมพยายามทำให้กระบวนการนี้เข้าไปสู่การเบิกจ่ายของสมาคมกีฬา ซึ่งหากเป็นเช่นนั้นเท่ากับว่า ผลตอบแทนที่นักกีฬาทีมชาติควรจะได้รับ จะต้องไปผ่านขบวนการหาประโยชน์ นักกีฬาได้ไม่เต็มเม็ดเต็มหน่วยเป็นต้น ขณะที่การดำเนินการของกองทุนพัฒนาการกีฬา คือการโอนเงินไปยังบัญชีนักกีฬาโดยตรง เพื่อตัดตอนขบวนการ แนวทางเหล่านี้ล้วนทำให้เกิดความไม่พอใจ และการร่วมมือกันที่จะทำลายกองทุนพัฒนาการกีฬา โดยมีคนในกทท.ร่วมรู้เห็น
ดร.สุปราณี คุปตาสา ผู้จัดการกองทุนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติ ชี้แจงกับสื่อมวลชน หลังเกิดกรณีถูกตั้งคณะกรรมการสอบสวนการทำหน้าที่ ผู้จัดการกองทุนพัฒนาการกีฬา โดยผู้ว่าการ การกีฬาแห่งประเทศไทยลงนาม ตั้งคณะทำงานสอบสวน
"กรณี"บัตรสนเท่ห์ "กล่าวหาว่า ดร.สุปราณี คุปตาสา ปฏิบัติหน้าที่ในฐานะผู้จัดการกองทุนฯ โดยมิชอบ รวม 11 ข้อหา ผู้ใช้นามว่า "ผู้ร้องทุกข์"ได้ยื่นบัตรสนเท่ห์ ไม่ระบุชื่อ ต่อ ดร.ก้องศักด ยอดมณี ผู้ว่าการ กกท. กล่าวหาว่า ได้รับผลกระทบจากการปฏิบัติงานอันมิชอบของ ดร.สุปราณี รวม 11 ข้อหา ซึ่ง กกท. ได้รับเรื่องร้องเรียน และต่อมาบัตรสนเท่ห์ ถูกเผยแพร่ผ่านสื่อมวลชนสำนักต่าง ๆ ก่อให้เกิดความเสียหายเป็นวงกว้างต่อ ดร.สุปราณี ทั้งชื่อเสียงตัวเอง และวงศ์ตระกูล ในเรื่องนี้ กกท.ต้องรับผิดชอบ และผมจะดำเนินคดีกับเจ้าหน้าที่กกท. ที่ให้ข้อมูลอันเป็นเท็จ"
- ทนายความออกโรงกองทุนฯไม่จำเป็นต้องก้มหัวให้กกท.
อนันต์ชัย ไชยเดช ทนายความประจำตัว ดร.สุปราณี คุปตาสา ผู้จัดการกองทุนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติ และเป็นที่ปรึกษาทางกฏหมายให้กับ กองทุนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติ ระบุว่า อำนาจหน้าที่ของผู้จัดการกองทุนพัฒนาการกีฬา เป็นการว่าจ้างโดยกองทุนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติ เพราะฉะนั้น ดร.สุปราณี เป็นลูกจ้างของกองทุนฯ ไม่ใช่ลูกจ้างของกกท. ที่จะถูกต้้งคณะกรรมการสอบสวนโดย กกท.
ดังนั้นจะไม่ยอมรับต่อการสั่งการดังกล่าวซึ่งมาจากกกท. ในการทำงานของทำความเข้าใจว่า ดร.สุปราณี ไม่มีอำนาจในการอนุมัติเงิน ส่วนเงินจากกองทุนพัฒนาการกีฬา จะถูกส่งต่อไปยังกองคลังกองทุน ซึ่งอยู่ภายใต้การบริหารของกกท. โดยมีผู้ว่า กกท.เป็นผู้อนุมัติจ่าย ดังนั้น ดร.สุปราณี ไม่ได้มีส่วนได้ส่วนเสียในการเบิกจ่าย
"เรื่องบัตรสนเท่ห์ก็เช่นกันโดยหลักแล้วบัตรสนเท่ห์ ควรพิจารณาอย่างละเอียดรอบคอบ ถึงที่มาที่ไปและความน่าเชื่อถือ แต่ข้อมูลดังกล่าวกลับได้ถูกเผยแพร่ต่อสื่อมวลชนเป็นจำนวนมาก ต่อเนื่องยาวนานจนถึงปัจจุบัน เรื่องจากบัตรสนเท่ห์มีการนำไปเสนอข่าวอันเป็นเท็จ กล่าวหาว่าผู้จัดการกองทุนฯ มีปัญหาต่าง ๆ นานา โดยเฉพาะการจัดการเงินกองทุนฯ การปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ซึ่งเป็นความเท็จทั้งสิ้น "
เขา กล่าวว่า ดร.สุปราณี ได้ปฏิบัติตามระเบียบข้อบังคับอำนาจหน้าที่ของผู้จัดการกองทุนฯ อย่างเคร่งครัดตามระเบียบคณะกรรมการ ว่าด้วยการรับเงิน การจ่ายเงิน การเก็บรักษาเงิน การบริหารกองทุน และการจัดหาผลประโยชน์ของกองทุนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติ พ.ศ.2559 ข้อ 12 (2), ข้อ 14 และข้อ 16 จากมูลเหตุจูงใจดังกล่าว จึงทำให้ผู้ที่สูญเสียผลประโยชน์ได้ทำบัตรสนเท่ห์ขึ้นมา และอยู่ในช่วงสัญญาจ้างผู้จัดการกองทุน มีกำหนดเวลา 4 ปี ซึ่งจะสิ้นสุดในวันที่ 31 พ.ค. 2567 จึงมีขบวนการที่ต้องการเล่นงาน เพื่อไม่ให้ไปต่อ
- ปัดเครือญาติมีผลประโยชน์ทับซ้อน
ด้านผลประโยชน์ทับซ้อน คิกบ็อกซิ่ง ที่เป็นข่าวอ้างว่าบริษัทเครือญาติเข้ามารับงาน ข้อเท็จจริงคือ ทางบริษัท นั้นไม่ได้รับงานและเงินอุดหนุนจากกองทุนพัฒนาการกีฬา แต่รับเงินโดยตรงจากสมาพันธ์คิกบ็อกซิ่งแห่งเอเชีย บริษัทเพียงแค่ได้รับการติดต่อให้ดูแลในส่วนของนักกีฬาต่างชาติ ที่เดินทางมาร่วมแข่งขัน คิกบ็อกซิ่งชิงแชมป์เอเชีย ซึ่งนักกีฬาใช้เงินส่วนตัว ไม่เกี่ยวกับเงินกองทุนฯ และได้มาว่าจ้างบริษัท ให้ประสานงานเกี่ยวกับจัดหาโรงแรม ที่พัก รถรับส่งไปกลับสนามบินและที่พัก เท่านั้น
ดร.สุปราณี กล่าวว่า การออกมาเคลื่อนไหวในครั้งนี้ ไม่ได้มีเจตนากดดันไปถึงผู้ว่าการกกท. แต่เป็นการทำเพื่อปกป้องศักดิ์ศรีตัวเองและปกป้ององค์กร ที่ผ่านมากองทุนพัฒนาการกีฬา กลายเป็นหน่วยงานที่ถูกกระทำและย่ำยี ประเด็นที่เกิดขึ้นแม้ว่าจะกลายเป็นการทำให้องค์กรทั้งสองฝ่ายต้องเผชิญหน้ากัน แต่ด้วยความบริสุทธิ์ใจมั่นใจว่า ทุกคนที่กกท.จะเข้าใจแนวทางการทำงาน และจะไม่กลายเป็นประเด็นให้เกิดความขัดแย้งระหว่างหน่วยงาน
ทนายความประจำตัวผู้จัดการกองทุนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติ ระบุว่า จะช่วยเหลือลูกความอย่างถึงที่สุด เพื่อไม่ให้ถูกย่ำยีจากคนในกกท. ที่กระทำต่อกองทุนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติ และพร้อมจะสู้ด้วยข้อกฏหมายอย่างมีหลักการ และหากเรื่องนี้จะต้องขยายผลผ่าน ชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์ ที่กำลังเปิดประเด็นทางสังคม ว่าด้วยเรื่องของกระทรวงคมนาคม , เรื่องที่ดินการรถไฟ ก็พร้อมที่จะผลักดัน เรื่องราวของกองทุนพัฒนาการกีฬา และการกีฬาแห่งประเทศไทย ให้ไปอยู่ในการตรวจสอบ เพื่อให้วงการกีฬาใสสะอาด
อนันต์ชัย ไชยเดช ทนายความประจำตัว ดร.สุปราณี คุปตาสา ผู้จัดการกองทุนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติ และเป็นที่ปรึกษาทางกฏหมายให้กับ กองทุนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติ ชี้แจงกับสื่อมวลชนถึงการเข้ามาทำหน้าที่สนับสนุนการทำงานให้กับกองทุนฯ
ข่าวที่เกี่ยวข้อง