ข่าว

กอนช. ชี้ "สถานการณ์น้ำ" ปีนี้ ความรุนแรงไม่เท่า ปี 54

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

รอง ผอ. กอนช. สุรสีห์ กิตติมณฑล ชี้ "สถานการณ์น้ำ" ปีนี้ความรุนแรงไม่เท่า ปี 54 ด้วยเหตุหลายปัจจัยที่ต่างกัน สยบข่าวอาจเกิดน้ำท่วมซ้ำรอยมหาอุทกภัยเมื่อ 11 ปี ก่อน

สถานการณ์ฝนตกหนักและเกิดภาวะน้ำท่วมในพื้นที่ กรุงเทพฯและปริมณฑล   รวมทั้งจังหวัดใกล้เคียงในพื้นที่ลุ่มเจ้าพระยาตอนล่างพื้นที่ภาคตะวันออก พื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือบริเวณจังหวัดอุบลราชธานีและจังหวัดเลย ทำให้มีสื่อหลายสำนักและนักวิชาการบางคนออกมาให้ข่าวว่า  อาจจะเกิด "น้ำท่วม"ซ้ำรอยมหาอุทกภัยปี 2554 โดยเฉพาะในพื้นที่ลุ่มเจ้าพระยาซึ่งเป็นอู่ข้าวอู่น้ำ และพื้นที่เศรษฐกิจที่สำคัญของประเทศ 

แต่ ดร.สุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ในฐานะรองผู้อำนวยการ กอนช.กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า กรมอุตุนิยมวิทยาและสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ(สสน.) ได้คาดการณ์ในช่วงปลายฤดูฝนจะมีปริมาณฝนตกมากกว่าค่าเฉลี่ยปกติ โดยเฉพาะในเดือนกันยายน-ตุลาคม 2565  อาจเกิดน้ำป่าไหลหลากและน้ำท่วมฉับพลันได้แต่ก็ใช่ว่า "สถานการณ์น้ำ" จะรุนแรงเทียบเท่าปี 2554

     สถานการณ์น้ำปี 65

 

มหาอุทกภัยในปี 2554 นั้น มีสาเหตุสำคัญมาจาก พายุหลายลูกเคลื่อนตัวผ่านและส่งผลให้ประเทศไทยได้รับอิทธิพลโดยตรง รวมทั้งยังเกิดร่องมรสุมที่พาดผ่านประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง ขณะเดียวกันฝนประจำฤดูก็ยังตกหนักและมาเร็วกว่าปกติอีกด้วย ทำให้ปริมาณฝนตกสะสมทั้งประเทศสูงกว่าค่าเฉลี่ยมากถึง 35%  

 

นอกจากนี้ในช่วงครึ่งปีแรก เกิดปรากฏการณ์ลานีญาที่ค่อนข้างรุนแรง ทำให้มีปริมาณฝนมากกว่าปกติทุกเดือน   การระบายลงสู่ทะเลก็ค่อนข้างทำให้ยาก เพราะเกิดน้ำทะเลหนุนบ่อยครั้ง ประกอบกับมีสิ่งกีดขวางทางน้ำมากมายทั้งจากธรรมชาติและสิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้น

 

นอกจากนี้ปริมาณน้ำในเขื่อนขนาดใหญ่โดยเขื่อนที่เป็นแหล่งน้ำต้นทุนของลุ่มเจ้าพระยา ไม่ว่าจะเป็นเขื่อนภูมิพล  เขื่อนสิริกิติ์  เขื่อนแควน้อยบำรุงแดนและเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์   มีปริมาณน้ำไหลลงอ่างอย่างต่อเนื่องจนน้ำเต็มความจุ ทำให้ต้องระบายน้ำออก  รวมทั้งยังมีมวลน้ำจำนวนมากจากลุ่มน้ำยมที่ไม่มีเขื่อนขนาดใหญ่กักเก็บไว้ ผนวกกับปริมาณฝนที่ตกในพื้นที่ท้ายเขื่อนไหลลงมาสบทบ จนทำให้เกิดมหาอุทกภัยในพื้นที่ลุ่มเจ้าพระยา  สร้างความเสียหายคิดเป็นมูลค่ามหาศาล

 

ส่วน "สถานการณ์น้ำ" ในปี 2565 แม้จะเกิดปรากฏการณ์ลานีญา  ทำให้ฝนมาเร็ว หลายพื้นที่ของประเทศมีปริมาณน้ำฝนสะสมสูงขึ้นเช่นเดียวกับปี 2554 ก็ตาม แต่ความรุนแรงจนถึงขณะนี้ยังไม่เท่ากับปี 2554  รวมทั้งพายุที่เกิดขึ้นมีเพียง  2-3 ลูก ที่มีอิทธิพลต่อประเทศไทย แต่ก็ไม่ได้พัดผ่านโดยตรง

 

ในขณะเดียวกันรัฐบาลได้ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการตาม13มาตรการรับมือฤดูฝนอย่างเคร่งครัดอีกด้วย

 

ประกอบด้วย 1.คาดการณ์ชี้เป้าพื้นที่เสี่ยง  2.การบริหารจัดการน้ำพื้นที่ลุ่มต่ำ 3.ทบทวน ปรับปรุงเกณฑ์บริหารจัดการน้ำในแหล่งน้ำ  4.ซ่อมแซม ปรับปรุงอาคารชลศาสตร์  5.ปรับปรุงแก้ไขสิ่งกีดขวางทางน้ำ  6.ขุดลอกคูคลองและกำจัดผักตบชวา  7.เตรียมพร้อมวางแผนเครื่องจักร เครื่องมือ ประจำพื้นที่เสี่ยง  8.เพิ่มประสิทธิภาพและปรับปรุงวิธีการส่งน้ำ  9.ตรวจความมั่นคงปลอดภัยคันทำนบพนังกั้นน้ำ 10.เตรียมพื้นที่อพยพและซักซ้อมแผนเผชิญเหตุ 11.ตั้งศูนย์ส่วนหน้าก่อนเกิดภัย  12.การสร้างการรับรู้และประชาสัมพันธ์ 13.ติดตามประเมินผล ปรับมาตรการให้สอดคล้องกับสถานการณ์  

 

ปัญหาหลายอย่างที่เกิดขึ้นในปี 2554 ได้ถูกนำมาถอดบทเรียนวางแผนแก้ไข รับมือ "สถานการณ์น้ำท่วม" ที่อาจเกิดขึ้นในปีนี้ไม่ว่าจะเป็นปัญหาสิ่งกีดขวางทางน้ำ ได้มีการมีแก้ไขปรับปรุงขุดลอกคลอง กำจัดผักชวา ขยะ ต้นไม้ กิ่งไม้ อย่างต่อเนื่องเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการระบายน้ำออกสู่ทะเล  เช่นเดียวกับปัญหาความซ้ำซ้อน ไม่มีเอกภาพก็ได้รับการแก้ไขเช่นกัน  ในพื้นที่ที่มีความเสี่ยงสูง ก็ได้มีการตั้งศูนย์ส่วนหน้าเตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์ โดยได้จัดตั้งไปแล้วที่ จ.อุบลราชธานี

 

และเตรียมตั้งศูนย์ในภาคกลาง ที่ จ.ชัยนาท อีกแห่ง เพื่อเตรียมความพร้อม ติดตาม ประเมินวิเคราะห์ "สถานการณ์น้ำ" และอำนวยการหน่วยงานในพื้นที่ บริหารจัดการมวลน้ำช่วงฤดูฝนให้เกิดความเป็นเอกภาพจนกว่าสถานการณ์จะคลี่คลาย  

     พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ

 

ในขณะที่การบริหารจัดการน้ำภาพรวมทัั้งประเทศ ได้จัดตั้ง กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ(กอนช.) ซึ่งมีพลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯและรักษาราชการแทนนายกรัฐมนตรี เป็นผู้อำนวยการ ขึ้นมาบูรณาการหน่วยงานด้านน้ำที่เกี่ยวข้องทั้งหมด ร่วมกันวางแผนบริหารจัดการน้ำให้เป็นหนึ่งเดียว  และเกิดประสิทธิภาพสูงสุด ตลอดจนติดตามเฝ้าระวัง ป้องกัน  และเตือนภัย สถานการณ์น้ำ พร้อมทั้งมีการประเมินสถานการณ์อย่างต่อเนื่องทุกช่วงเวลา

 

ล่าสุดพลเอก ประวิตร สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมด เฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์ฝนตกอย่างเข้มข้นพร้อมทั้งกำชับให้ดำเนินงานตาม 13 มาตรการรับมือฤดูฝนที่ได้วางแผนไว้อย่างเคร่งครัด เพื่อที่จะสามารถแก้ไขปัญหาลดปัญหาน้ำท่วมให้กับประชาชนได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุดและทั่วถึงทุกพื้นที่

 

ส่วนปริมาณน้ำในเขื่อนใหญ่และขนาดกลางทั่วประเทศในปีนี้ แตกต่างจากปี 2554  ณ วันที่ 10  กันยายน 2565  มีปริมาณน้ำใช้การรวม  49,887 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) คิดเป็น 65 % ของปริมาณการกักเก็บเท่านั้น ยังสามารถรองรับน้ำได้อีกถึง 26,201 ล้านลบ.ม.  

 

ในขณะที่ปี  2554 ในช่วงเวลาเดียวกันมีปริมาณน้ำในเขื่อนใหญ่และขนาดกลางมากถึง  58,563 ล้านลบ.ม. เฉพาะลุ่มเจ้าพระยาปริมาณใน 4 เขื่อนหลัก คือ เขื่อนภูมิพล  เขื่อนสิริกิติ์  เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์  ณ วันที่ 10 กันยายน 2565 มีปริมาณน้ำรวม 13,792 ล้านลบ.ม.  คิดเป็น 55% ของปริมาณการกักเก็บ  ยังสามารถรองรับน้ำได้อีกถึง 11,079 ล้านลบ.ม. เมื่อเทียบกับปริมาณปี 2554 ในช่วงเวลาเดียวกัน 4 เขื่อนหลักมีปริมาณน้ำรวมกันถึง 21,416 ล้านลบ.ม. ต่างกันมากกว่า 10,000 ล้านลบ.ม.  

 

นอกจากนี้ในพื้นที่ลุ่มเจ้าพระยาตอนล่าง ยังจะใช้พื้นที่ลุ่มต่ำ 10 ทุ่ง สำรองเพิ่มเติมกรณีที่จำเป็นเพื่อไว้เป็นแก้มลิงรองรับน้ำหลากในช่วงกลางเดือนก.ย.- ต.ค.นี้  จะสามารถหน่วงปริมาณน้ำหลากได้ประมาณ 1,500 ล้าน ลบ.ม. ซึ่งขณะนี้เกษตรกรเริ่มทยอยเก็บเกี่ยวผลผลิตแล้วคาดว่าจะแล้วเสร็จทั้งหมดในช่วงกลางดือน ก.ย.นี้  เช่นเดียวกับกรุงเทพมหานคร(กทม.) ก็ได้เตรียมพื้นที่รับน้ำไว้เช่นกัน

 

ดังนั้นหากวิเคราะห์จาก "สถานการณ์น้ำเหนือ" ณ ปัจจุบันแล้ว สบายใจได้ว่า ถ้าฝนตกเหนือเขื่อนแล้ว จะไม่ส่งผลกระทบต่อพื้นลุ่มน้ำเจ้าพระยาอย่างแน่นอนเพราะเขื่อนต่าง ๆจะสามารถกักเก็บไว้ได้ทั้งหมด ปัญหาน้ำท่วมที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน มาจากฝนที่ตกท้ายเขื่อนและฝนตกในพื้นที่ทั้งหมด ไม่ได้มาจากน้ำเหนือ  ความรุนแรงที่เกิดขึ้นจึงไม่เท่ากับปี 2554 หากฝนหยุดตก ก็จะใช้ระยะเวลาในการระบายน้ำออกสู่ทะเลไม่ยาวนาน

 

อย่างไรก็ตาม กรมอุตุนิยมวิทยาได้คากการณ์สถานการณ์ฝนในประเทศไทยว่า ยังคงมีต่อเนื่องหนักบ้างเบาบ้างสลับกันในแต่ละวัน มีร่องมรสุมพาดผ่านภาคเหนือ ภาคกลาง  ประกอบกับ มรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ภาคใต้ และอ่าวไทย ยังมีกำลังปานกลาง ทั่วทุกภาคยังต้องเฝ้าระวังอันตรายจากฝนตกหนัก และฝนที่ตกสะสม อาจจะทำให้เกิดน้ำท่วม ฉับพลันและน้ำป่าไหลหลากได้   

 

"ในช่วงเดือน ก.ย. – ต.ค. 65 ประเทศไทยจะมีปริมาณฝนมากกว่าค่าเฉลี่ยปกติ ซึ่ง กอนช.ได้เน้นย้ำให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยงภัยที่อาจเกิดน้ำท่วม ตลอด 24ชั่วโมง และให้ดำเนินงานตาม 13 มาตรการรับมือฤดูฝนของรัฐบาลอย่างเคร่งครัด พร้อมทั้งให้ติดตาม ตรวจสอบ ซ่อมแซม แนวคันบริเวณริมแม่น้ำและเร่งกำจัดสิ่งกีดขวางทางน้ำ

 

ที่สำคัญต้องวางแผนการบริหารจัดการน้ำให้เหมาะสม  โดยปรับแผนการระบายน้ำจากเขื่อนและประตูระบายน้ำเพื่อพร่องน้ำ รวมทั้งให้บริหารพื้นที่ลุ่มต่ำให้เป็นแก้มลิงหน่วงน้ำ  เร่งระบายน้ำในลำน้ำจากพื้นที่ตอนบน ลดผลกระทบความรุนแรงของอุทกภัย  ตลอดจนเตรียมความพร้อมบุคลากร เครื่องจักรเครื่องมือ รวมถึงความพร้อมของระบบสื่อสารสำรอง เพื่อบูรณาการความพร้อมให้ความช่วยเหลือได้ทันที  

 

ดังนั้นหากวิเคราะห์สถานการณ์น้ำในปีนี้จนถึงปัจจุบัน  ตลอดจนการดำเนินงานตามมาตรการต่าง ๆ ในการรับมือฤดูฝนของหน่วยงานภาครัฐแล้ว และพลเอกประวิตร ได้ออกมาการันตีว่าเหตุการณ์จะไม่ซ้ำรอยมหาอุทกภัยปี 2554 แน่นอน"  ดร.สุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ในฐานะรองผู้อำนวยการ กอนช.กล่าว

 

ติดตาม คมชัดลึก ที่นี่

เพิ่มเพื่อน Line: https://lin.ee/qw9UHd2

Facebook : https://www.facebook.com/komchadluek/

เช็กรายชื่อศิลปินเข้าชิง "คมชัดลึก ลูกทุ่ง Awards 2565" ใครคือ 6 Candidate กับ 8  สาขา Popular Vote ได้ที่นี่   

( https://awards.komchadluek.net/# )

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ