คอลัมนิสต์

วิวาทะชายแดนใต้ หนี การเมือง ไม่พ้น

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

วิวาทะชายแดนใต้หนี"การเมือง"ไม่พ้น คอลัมน์...  กระดานความคิด  โดย...  บางนา บางปะกง

 

 

 


          เวทีเสวนาแก้ไขรัฐธรรมนูญของ 7 พรรคฝ่ายค้าน มีธงชัดเจนว่า ต้องรื้อรัฐธรรมนูญ 60 ให้ได้ โดยวางยุทธศาสตร์เคลื่อนไหวทั่วประเทศ 

 

          เฉพาะเวที 3 จังหวัดชายแดนใต้ ดูจะแหลมคมกว่าทุกเวที เพราะการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา “พรรคประชาชาติ” หรือกลุ่มวาดะห์เครือข่ายทักษิณ ชินวัตร เพิ่งได้รับชัยชนะเป็นครั้งแรก นับแต่การเลือกตั้งทั่วไป 2548 

 

 

 



          ช่วงหาเสียง พรรคประชาชาติ ชูประเด็นเรื่องเขตปกครองพิเศหรือการปกครองตนเอง คู่ขนานกับ “พรรคอนาคตใหม่” ที่เสนอให้ถอนทหารออกจากชายแดนใต้


          บังเอิญ ชลิตา บัณฑุวงศ์ รองหัวหน้าภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ผู้ทำงานในพื้นที่ชายแดนใต้มานาน เกิดไปหลุดคำว่า จะแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 1 ก็ทำได้ เลยไปกันใหญ่


          เนื่องจากมาตรา 1 บัญญัติว่า “ประเทศไทยเป็นราชอาณาจักรอันหนึ่งอันเดียว จะแบ่งแยกมิได้” ก่อให้เกิดกระแสต่อต้านในโลกโซเชียลอย่างกว้างขวาง 

 

 

วิวาทะชายแดนใต้ หนี การเมือง ไม่พ้น

 


          สถานการณ์ร้อนแรงขึ้น เมื่อ พล.ต.บุรินทร์ ทองประไพ ผู้ชำนาญการสำนักงาน กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ได้แจ้งความร้องทุกข์กล่าวโทษต่อพนักงานสอบสวน สถานีตำรวจภูธรจังหวัดปัตตานี ให้ดำเนินคดีบุคคลรวม 12 คน ที่ส่วนใหญ่เป็นแกนนำพรรคฝ่ายค้านและนักวิชาการ อันเนื่องจากเวทีเสวนาดังกล่าว


          คนในพื้นที่บอกว่า ประเด็นมาตรา 1 ค่อนข้างอ่อนไหว ไม่มีวงเสวนาแก้ไขสถานการณ์ภาคใต้วงไหน หยิบเรื่องนี้มาพูดคุยกัน แม้แต่ “คนเจนวาย-เจนแซด” ของชายแดนใต้ส่วนใหญ่ ที่มารู้เรื่องทีหลังยังตกใจ


          รวมทั้งเรื่องพูดคุยสันติสุข เพื่อแก้ปัญหาความไม่สงบใน 3 จังหวัด ที่มีนักการเมืองฝ่ายค้านพยายามบอกว่า ฝ่ายขบวนการไม่ยอมเจรจากับ “รัฐบาลทหาร” หรือถ้ามีการรัฐธรรมนูญใหม่ มีประชาธิปไตยสมบูรณ์ ฝ่ายโน้นจึงจะยอมมาพูดคุย




          ตรรกะเช่นนี้ถูกต้องหรือไม่? นับแต่ปี 2547 ประเทศไทยมีรัฐบาลพลเรือนกี่ชุด รัฐบาลทักษิณ 2, รัฐบาลสมัคร, รัฐบาลสมชาย, รัฐบาลอภิสิทธิ์ และรัฐบาลยิ่งลักษณ์ เหตุใดจึงเจรจากับขบวนการแบ่งแยกดินแดนไม่สำเร็จ


          อุตสาหกรรมไฟใต้ ไม่ว่าจะเป็นยุค “บีอาร์เอ็นเก่า” หรือ “บีอาร์เอ็นใหม่” ยังเป็นเรื่องการเมือง ทั้งที่เป็นสงครามหลั่งเลือด และสงครามไม่หลั่งเลือด


          บีอาร์เอ็นใหม่ ได้ปรับกลยุทธ์การต่อสู้หลังลงจากภูเขาเข้ามาสู่หมู่บ้านเมื่อปี 2527 ขบวนการใหม่ได้คัดเลือกเยาวชนไปศึกษาต่างประเทศเพื่อกลับมาเป็นอุสตาซ(ครูสอนศาสนา) และอีกกลุ่มหนึ่งไปฝึกอาวุธในต่างประเทศเพื่อเป็นครูฝึกอาวุธแก่เยาวชน


          “แนวร่วม” เป็นสิ่งที่ขบวนการเก่าและใหม่ให้ความสำคัญในการจัดตั้งหมู่บ้านแนวร่วม และจับมือนักการเมือง ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ เพื่อใช้หัวคะแนนของนักการเมืองดึงชาวบ้านเข้ามาเป็นแนวร่วม


          ขบวนการใหม่อาจโชคดีกว่าขบวนการเก่า เพราะยุคนี้มีการกระจายอำนาจ ทั้ง อบต. อบจ. และเทศบาล บีอาร์เอ็นจึงวางตัว “คนในขบวนการ” ให้แทรกตัวเข้าไปนั่งอยู่ในสภาท้องถิ่นต่างๆ

 

 

 

วิวาทะชายแดนใต้ หนี การเมือง ไม่พ้น

 


          จุดอ่อนของขบวนการใหม่ ไม่ยอมเปิดเผยหน้าตาของ “องค์กรนำ” จึงทำให้มวลชนส่วนใหญ่ลังเลที่จะมอบอำนาจให้ ต่างจากในอดีตที่มีความชัดเจนว่า ใครคือ ผู้นำบีอาร์เอ็น? ใครคือผู้นำพูโล?


          เมื่อถามว่า “คนเจนวาย-เจนแซด” แห่งปาตานีว่า รู้จักขบวนการบีอาร์เอ็นหรือไม่ รู้เรื่องเขตปกครองพิเศษหรือไม่ คำตอบคือ รู้จักบ้างนิดหน่อย 


          ไม่แปลกเลยที่การเลือกตั้งทั่วไปปี 2554 คะแนนปาร์ตี้ลิสต์ของพรรครักประเทศไทย โดยชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์ เป็นหัวหน้าพรรค ในเขตเลือกตั้ง 3 จังหวัดชายแดนใต้ จะได้เท่ากับคะแนนของพรรคมาตุภูมิ ที่อดีตสมาชิกกลุ่มวาดะห์บางส่วนเป็นแกนนำ


          คนรุ่นใหม่แห่งปาตานีเลือก “ชูวิทย์” เพราะบุคลิกกล้าพูด กล้าชน เหมือนการเลือกตั้งที่ผ่านมา พวกเขาเลือก “ธนาธร” ตามกระแส “ฟ้ารักพ่อ” และบางบุคลิกของธนาธรคล้ายพระเอกหนังเกาหลี


          นี่คือสภาพความเป็นจริง แต่นักวิชาการบางคนอาจไม่ยอมรับ และบางเวลา ความคิดอ่านก็ล้ำเส้นไปเยอะ

 

 

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
-ปธ.ศาลฎีกาห่วงและให้กำลังใจพิพากษาชายแดนใต้
-เก่าหรือใหม่ ไฟใต้ หนีการเมืองไม่พ้น
-เรื่องเล่าจากบ้านเรา 4 จังหวัดชายแดนใต้
-เปิดศูนย์ฝึก ชรบ.เพิ่มยุทธวิธีป้องกันชายแดนใต้

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ