คอลัมนิสต์

ดันเกษตรกรล้านนาเลี้ยงแพะส่งขายมุสลิม

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ดันเกษตรกรล้านนา "เลี้ยงแพะ" ส่งขายมุสลิม..รัฐบาลใหม่กับเงินทอนใต้โต๊ะ โดย...  ทีมข่าวรายงานพิเศษ

 



 

  
          ช่วงนี้เกษตรกรไทยได้รับการส่งเสริมให้ “เลี้ยงแพะ” เพื่อขายแม่พันธุ์หรือขายเนื้อส่งออกนอกประเทศ ถือเป็น “สัตว์เศรษฐกิจ” ตัวใหม่ที่ตลาดต้องการจำนวนมาก ราคาดี ต้นทุนต่ำ โดยเฉพาะตลาดกลุ่มชาวต่างชาติที่นิยมกินเนื้อแพะเป็นอาหาร รัฐบาลหวังเป็นทางเลือกช่วยปลดภาระหนี้สิน แต่ตอนนี้ “คนเลี้ยงแพะ” ได้กลิ่นพิรุธ...เพราะข้าราชการบางคนอยากได้ “เงินแพะ” ใต้โต๊ะ

 

 

          คนไทยส่วนใหญ่ไม่ค่อยคุ้นเคยกับ “ฟาร์มเลี้ยงแพะ” เพราะไม่นิยมกินเนื้อหรือกินนมแพะเท่ากับวัว หมู เป็ด ไก่ แต่ในวันนี้ฟาร์มเลี้ยงหมูเลี้ยงไก่และตลาดซื้อขายเกือบทั้งประเทศตกอยู่ในมือของนายทุนยักษ์ใหญ่ไม่กี่เจ้า หากเกษตรกรไม่อยากอยู่ใต้เครือข่ายเกษตรพันธสัญญานายทุนก็ต้องดิ้นรนหาอาชีพอื่นทำ โดยเฉพาะคนที่เคยผิดหวังขาดทุนกับ “สัญญา” ที่ไม่เป็นธรรม กระทรวงเกษตรฯ ทราบถึงปัญหานี้ดีจึงช่วยหาทางออกและหาตลาดใหม่ทดแทนให้ไปเลี้ยง “แพะ” เพื่อส่งออกไปขายตลาดของผู้นับถือศาสนาอิสลาม ที่นิยมรับประทานเนื้อแพะและนมแพะ

 

 

 

ดันเกษตรกรล้านนาเลี้ยงแพะส่งขายมุสลิม

 


          เนื่องจาก “แพะ” เป็นสัตว์เลี้ยงง่าย กินง่าย ค่าใช้จ่ายไม่สูงและใช้ระยะเวลาสั้นกว่าเลี้ยงวัว สามารถหากินใบไม้ใบหญ้าได้เอง ตัวเล็กก็จริงแต่ทนทานต่อทุกสภาพอากาศ แถมให้ผลผลิตทั้งเนื้อ นม ขนและหนัง ที่สำคัญแพะเป็นสัตว์ชอบความสะอาด ถ้าดูแลดีจะแข็งแรงไม่ค่อยป่วยติดโรคง่ายเหมือนหมูหรือไก่ ที่สำคัญคือมี “ตลาดส่งออก” ต้องการเนื้อแพะจำนวนไม่จำกัดต้นทุนพ่อพันธุ์แม่พันธุ์แค่ตัวละ 5–6 พันบาท อายุยาวนานไม่ต่ำกว่า 5–10 ปี


          ทำให้หลายปีที่ผ่านมานี้ กระทรวงเกษตรฯ พยายามชักชวนให้เกษตรกรที่เป็นหนี้สินทั่วประเทศมากู้ยืมเงินปลอดดอกเบี้ยไปทำ “ฟาร์มแพะชุมชน”


          ข้อมูลกระทรวงเกษตรฯ รายงานว่าปี 2562 มีจำนวน “แพะ” ทั่วประเทศไทยประมาณ 8.3 แสนตัว แบ่งเป็น “แพะเนื้อ” 8 แสนตัว และ “แพะนม” 3 แสนตัว ส่วน “เกษตรกรผู้เลี้ยงแพะ” มีไม่ต่ำกว่า 6.5 หมื่นครัวเรือน ปัจจุบันกรมปศุสัตว์ส่งเสริมให้มีชมรมเกษตรกรเลี้ยงแพะระดับจังหวัดแล้ว 64 แห่ง ส่วนใหญ่เลี้ยงเป็นอาชีพเสริมจนส่งเนื้อแพะไปขายประเทศเพื่อนบ้านได้ราคาดีและมีต้นทุนต่ำ  ล่าสุดเมื่อวันที่ 15 กันยายน 2562 “ประภัตร โพธสุธน” รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานเปิด “โครงการแพะ-แกะ ล้านนา” พร้อมลงนามอนุมัติเงินกู้ยืมกองทุนสงเคราะห์เกษตรกรให้ตัวแทนกลุ่มเกษตร 3 จังหวัดได้แก่ ลำปาง ลำพูน และเชียงใหม่ หวังส่งเสริมอาชีพและสร้างรายได้ให้พี่น้องเกษตรกรด้วยวิธีการเชื่อมโยงกลุ่มเกษตรกร วิสาหกิจชุมชน และสหกรณ์ในทุกระดับ พร้อมมอบหมายให้ “กรมปศุสัตว์” เป็นเจ้าภาพโดยมีกองทุนสงเคราะห์เกษตรกรให้เงินทุนสนับสนุน

 

 

ดันเกษตรกรล้านนาเลี้ยงแพะส่งขายมุสลิม

 



          ขณะนี้ “โครงการแพะล้านนา” 3 จังหวัดข้างต้นมีกลุ่มเกษตรกรรวม 22 กลุ่ม จำนวน 220 คนเข้าร่วม มีการอนุมัติวงเงินไปแล้ว 44 ล้านบาท เป็นเงินกู้จากกองทุนสงเคราะห์เกษตรกรเป้าหมายคือเลี้ยงแพะให้ตรงตามที่ตลาดต้องการ ถ้าทำได้จะกลายเป็นอาชีพหลักเลี้ยงครอบครัว เนื่องจากช่วงนี้ภูมิอากาศแปรปรวนประกอบกับภัยแล้งทำให้การทำปลูกพืชไร่ ข้าว ผัก ฯลฯ ไม่ค่อยได้ผลผลิตดีเท่าที่ควร


          กรมปศุสัตว์ตั้ง “คณะกรรมการบริหารโครงการแพะ–แกะ ล้านนา” ช่วยสนับสนุนกลุ่มเกษตรกรให้ปรับปรุงพันธุ์แพะ ช่วยเรื่องพืชอาหารสัตว์และอาหารแพะ รวมถึงการผสมเทียมและมาตรฐานฟาร์มจนถึงการแปรรูปเพิ่มมูลค่าเป็นผลิตภัณฑ์ชนิดต่างๆ
  

          หลังจาก “ท่านประภัตร” ประกาศให้เงินกู้ได้ไม่นานเงินก็ถูกส่งไปที่กรมปศุสัตว์เรียบร้อยแล้ว แต่ทำไมเกษตรกร 3 จังหวัดยังไม่ได้เลี้ยง “แพะล้านนา” สักที?


          “คม ชัด ลึก” ได้รับการร้องเรียนว่าโครงการนี้อาจมีพิรุธบางอย่าง เพราะเมื่อวันที่ 3 ตุลาคม 2562 “กลุ่มเครือข่ายแพะแกะล้านนา” รวมตัวกันยื่นจดหมายร้องเรียนไปยัง “ท่านประภัตร” ขอร้องให้ช่วยเร่งรัดโอนเงินงบประมาณโครงการแพะล้านนามาให้สักที เพราะชาวบ้าน 200 กว่าคนที่ไปกู้ยืมเงินนอกระบบมา “สร้างคอกเลี้ยงแพะ” เพื่อรอแม่พันธุ์นั้น เริ่มเดือนร้อนกันถ้วนหน้า.. โดยเนื้อความจดหมายสามารถสรุปได้ดังนี้

 

 

 

ดันเกษตรกรล้านนาเลี้ยงแพะส่งขายมุสลิม

 


          “ตามที่ ฯพณฯ ประภัตร ได้เปิดโครงการแพะล้านนา ณ จังหวัดลําปาง วันที่ 15 กันยายน 2562 บัดนี้ระยะเวลาได้ผ่านมาเนิ่นนานพอสมควรแล้ว ทว่าเรื่องการโอนเงินงบประมาณโครงการแพะล้านนาระยะที่ 1 ก็เงียบหายไป เกษตรกรรอคอยเงินงบมาเป็นระยะเวลาร่วม 8 เดือนแล้ว เกษตรกรจํานวน 220 รายทั้ง 3 จังหวัด ได้กู้เงินมาสร้างโรงเรือนเพื่อเตรียมเลี้ยงแพะต่อไป ทําให้เกิดเป็นหนี้สินตามมา เกษตรกรบางรายครอบครัวเกิดปัญหาทะเลาะวิวาทกัน จึงใคร่ขอความอนุเคราะห์ โปรดเร่งรัดโอนเงินอย่างเร่งด่วน... เกษตรกรในโครงการหวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะได้รับความอนุเคราะห์จาก ฯพณฯ ท่านมาในครั้งนี้....”


          เนื้อความในจดหมายสั้นกระชับและได้อารมณ์ความรู้สึกของเกษตรกรไทยที่ต้องกู้เงินมารอเลี้ยง “แพะ” ดอกเบี้ยเริ่มพุ่งขึ้นทุกวัน แต่ข้าราชการและหน่วยงานที่รับผิดชอบกลับไม่รู้สึกทุกข์ร้อนไปด้วย แม้ท่านรัฐมนตรีจะรับปากสัญญาไว้แล้วก็ตาม


          “โชคสกุล มหาค้ารุ่ง” หนึ่งในชาวบ้าน 220 คน ที่เข้าร่วมโครงการแพะล้านนา เล่าให้ฟังว่า โครงการนี้ส่วนใหญ่ผู้ถูกคัดเลือกเป็นเกษตรกรที่มีหนี้สินและต้องการปลดหนี้ด้วยการมารวมตัวกันเลี้ยงแพะ เพราะรัฐบาลบอกว่าเนื้อแพะกำลังเป็นที่ต้องการของตลาดเวียดนามแทนเนื้อสุนัข และ ตลาดจีนที่มีคนจีนมุสลิมชอบกินเนื้อแพะและยังมีตลาดมาเลเซียกับแถวตะวันออกลางด้วย ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มผู้นับถือศาสนาอิสลาม

 

 

ดันเกษตรกรล้านนาเลี้ยงแพะส่งขายมุสลิม

 


          “เป็นการรวมตัวกันกลุ่มละ 10 คน จำนวน 22 กลุ่ม ได้เงินกลุ่มละ 2 ล้านบาท แต่ละคนจะได้แม่พันธุ์แพะ 21 ตัว เป็นตัวเมีย 20 ตัว ตัวผู้ 1 ตัว ต้นทุนตัวละประมาณ 6 พันบาท เลี้ยงสัก 5-7 เดือนจะมีลูกคอกแรกรวมประมาณ 20 ตัว จากนั้นเลี้ยงไป 4 เดือนจะขายเนื้อได้กิโลกรัมละ 100 บาท ตัวหนึ่งก็ประมาณ 2,500 บาท รวมๆ แล้วมีรายได้เดือนละหลายหมื่นบาท เพราะต้นทุนการเลี้ยงต่ำ แพะจะกินพวกกระถิน ต้นหญ้า ฯลฯ ปัญหาคือโครงการนี้เริ่มมานานหลายปีแล้ว และเงินงบประมาณก็อยู่ที่กรมปศุสัตว์แล้วด้วย แต่ทำไมยังไม่เอามาแจกจ่ายเกษตรกรหลายคนไปกู้นอกระบบมาสร้างคอกแพะและแปลงหญ้า ติดค้างค่าวัสดุก่อสร้าง บางครอบครัวทะเลาะกัน ในเมื่อเกษตรกรพร้อม ตลาดก็พร้อม แต่หน่วยงานรัฐที่รับผิดชอบไม่ทำงานทำให้พวกเราเดือดร้อนเสียหายมาก”
 

          โชคสกุล ยอมรับว่าได้ยินข่าวลือเกี่ยวกับข้าราชการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในกระทรวงเกษตรฯ กับกรมปศุสัตว์ว่าต้องการ “เงินทอน” หรือเงินค่าหัวคิวใต้โต๊ะ มีการเจรจานอกรอบ แต่ตัวแทนเกษตรกรไม่ยอม เลยยืดเยื้อกัน และถ้าปล่อยไว้แบบนี้สุดท้ายชาวบ้านก็ต้องยอมจ่ายใต้โต๊ะ ดีกว่าเป็นหนี้สินให้ดอกทบต้นไปเรื่อยๆ


          “พวกเราช่วยกันเขียนจดหมายร้องเรียนส่งไปที่กระทรวงเกษตรฯ มีคนบอกว่าท่านประภัตรรับทราบแล้ว เราก็ได้แต่หวังว่าจะสั่งให้รีบเอางบประมาณมาให้ตามที่สัญญาไว้ อย่าลืมว่านี่คือเงินกู้ไม่ใช่เงินให้เปล่า เพียงแต่ไม่มีดอกเบี้ย และ 2 ปีแรกไม่ต้องใช้คืนเงินต้น แต่ปีที่ 3 ใช้คืน 20% ปีที่ 4 อีก 30% และปีที่ 5 อีก 50% ก็ครบ 100 เปอร์เซ็นต์พอดี ชาวบ้านตอนนี้รอว่าเมื่อไรเงินจะมาสักที หรือจะเอาเงินทอนเท่าไร ไม่รู้ไปติดขั้นตอนไหนกันแน่” ตัวแทนเกษตรกรผู้อยากเลี้ยงแพะกล่าวด้วยน้ำเสียงหมดหวัง

 

 

 

ดันเกษตรกรล้านนาเลี้ยงแพะส่งขายมุสลิม

 


          แทบไม่น่าเชื่อว่า “รัฐบาลยุคใหม่” ทำงานได้ไม่กี่เดือนก็เริ่มมีเรื่องฉาวโฉ่เสียแล้ว โดยเฉพาะในกระทรวงที่ขึ้นชื่อว่าเกรดเอ...


          หากเรื่องร้องเรียนข้างต้นเป็นการเข้าใจผิดผู้เกี่ยวข้องก็รีบจัดการไขข้อข้องใจก่อนที่จะบานปลายกลายเป็น “แพะรับบาป”!


 

 

 

ดันเกษตรกรล้านนาเลี้ยงแพะส่งขายมุสลิม

 

 

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ