คอลัมนิสต์

Google ไม่ใช่ทุกอย่าง ในโลกการเรียนรู้

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ในแนวคิดนักปฏิรูปการศึกษายังให้ความสำคัญการเรียนรู้ผ่านปราชญ์ชาวบ้านและเรียนรู้จริงผ่านประวัติศาสตร์ที่มีชีวิต กูเกิล ไม่ใช่องค์ความรู้ที่เราควรต้องรู้ทั้งหมด

    ขนิษฐา เทพจร

          เมื่อเสริชเอ็นจิ้น ที่ชื่อว่า "กูเกิล" กลายเป็นประเด็นร้อน เมื่อ "พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม" ไปแสดงวิสัยทัศน์ที่นครนิวยอร์ก ระหว่างเข้าร่วมประชุมสมัชชาสหประชาชาติ สมัยสามัญ ครั้งที่ 74 ณ สำนักงานใหญ่สหประชาชาติ นครนิวยอร์ก ประเทศสหรัฐอเมริกา 

       เนื้อหาดูเหมือนไม่มีอะไร เพราะเหมือนแค่อยากเล่าว่า "ท่านผู้นำ"​ มีระบบการเรียนรู้จากอะไร แต่ที่ถูกหยิบมาขยายผล จากประโยคที่ว่า

       "ประชาชนจะไม่ค่อยเปิด ทำให้ปัญหามันเกิด เพราะเขาไม่เรียนรู้ ซึ่งต่างจากนักบริหารที่จะเปิด กูเกิล"

       กลายเป็นมุมสะท้อนให้ได้คิดว่า ... ปัญหาของสังคมไทย ปัญหาของระบบการเรียนรู้ของคนไทย เกิดจาก "ประชาชนไม่เปิดกูเกิล หรือไม่?

                      

      ในมุมมองด้าน การใช้เทคโนโลยี เพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ "อ.อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์" อาจารย์คณะสถิติประยุกต์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) บอกว่า ในทศวรรษที่ 21 เทคโนโลยีสมัยใหม่ จะมีบทบาทกับการเรียนรู้มากขึ้น แต่สิ่งที่ต้องเรียนรู้ อย่างเท่าทันกับการใช้เทคโนโลยีเหล่านั้น คือ โลกอินเตอร์เน็ตมีเนื้อหาที่ถูกและผิด มีคอนเทนต์ที่ดี และไม่ดี ดังนั้นเมื่อได้เรียนในสิ่งที่ถูกจะเป็นผลดี แต่หากเรียนในสิ่งที่ผิดจะอันตราย ดังนั้นอินเตอร์เน็ตถือเป็นดาบสองคม 

        "ผมไม่ปฏิเสธการใช้เทคโนโลยีเพื่อส่งเสริมความกระหายด้านการเรียนรู้ และการเปิดโลกทัศน์ให้กับเด็ก แต่ต้องสร้างทักษะป้องกันตัว คิด และแยกแยะในสิ่งที่ได้เห็น คือ ครอบครัว และครูต้องสร้างความรู้เท่าทันสื่อ ต้องสอนทักษะพวกนี้ด้วย ดังนั้นสิ่งที่ต้องพัฒนาตัวเองให้ก้าวเข้าสู่ความเป็นพลเมืองในทศวรรษที่21  ที่ดี ต้องวิเคราะห์ข้อมูลได้ ซึ่งการศึกษาต้องพัฒนาความรู้ ความชาญฉลาด อย่างแตกฉานให้เด็กด้วย ไม่ใช่เน้นแต่การท่องจำ"

        กับแนวทางปฏิรูปการเรียนรู้ แน่นอนว่า ปฏิเสธระบบการศึกษาไปไม่ได้ "อ.อานนท์" เน้นความสำคัญที่บุคลากรด้านการศึกษา ที่ต้องพัฒนาตัวเองให้เป็นผู้รู้จริง และโค้ชนักเรียนไปในทิศทางที่ถูกต้อง รวมถึงต้องเป็นนักพัฒนาให้เด็กนักเรียน สามารถเรียนรู้ทักษะที่จำเป็นในโลกสมัยใหม่ เช่น การคิด วิเคราะห์ แยกแยะ การทำงานร่วมกับผู้อื่น การเป็นพลเมืองที่ดีของประเทศ 

         แต่บทบาทอันสำคัญของ การใช้เทคโนโลยี เพื่อเอื้อต่อการเรียนรู้ ไม่ว่าจะใน หรือ นอกห้องเรียน ถือเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ในยุคสมัยนี้ ซึ่ง "นักวิชาการจากนิด้า" มองว่า กูเกิลไม่ใช่เสริชเอ็นจิ้นเดียวที่สามารถใช้ค้นหาได้ แต่หากจะให้เด็กหรือใครใช้กูเกิลเป็น ต้องฝึกให้เขาค้นหา แบบชาญแลาด ใช้คีย์เวิร์ดที่สามารถหาข้อมูลได้อย่างถูกต้อง แยกข้อมูลข้อเท็จจริงออกจากข้อมูลที่เป็นขยะ ดังนั้นปัจจัยที่ช่วยได้ คือ การรู้เท่าทันสื่อ และมีวิจารณญาณที่แยกแยกได้ อย่างไรก็ดีการเรียนรู้ด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่ กูเกิลไม่ได้เป็นทุกอย่าง 

    ส่วน  "อ.อรรถพล อนันตวรสกุล อาจารย์ประจำคณะคุรุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย" สะท้อนมุมมองต่อการใช้นวัตกรรมสมัยใหม่ และ เทคโนโลยีเพื่อเสริมสร้างการเรียนรู้ของคนไทย โดยเฉพาะเด็กไทยว่า "เทคโนโลยี คือ โอกาสของการเรียนรู้ที่เพิ่มมากขึ้น แต่การใช้เพื่อให้การเรียนรู้มีประสิทธิภาพ ต้องคำนึงถึงการกระจายตัว และความเข้าถึง

      "โรงเรียนในประเทศไทยกว่า 3 หมื่นแห่ง มีโรงเรียนที่ไฟฟ้าเข้าถึงไม่ถึงกว่า 300 แห่ง ทำให้การใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัยเข้าไปได้ไม่ทั่วถึง หรือบางจังหวัดส่งเสริมให้นักเรียนได้ใช้จริง แต่เมื่อดูเชิงลึก จะมีเฉพาะโรงเรียนในตัวเมือง ในเขตเทศบาลเท่านั้น ปัญหาที่พบอย่างหนึ่งคือ การจัดสรรเรื่องนโยบายที่ทุกโรงเรียนต้องมีเหมือนกัน คือ เสมอภาค แต่ขาดความเท่าเทียม"  อ.อรรถพล ให้ความเห็น

          นอกจากการใช้เทคโนโลยีด้านการสื่อสาร หรือ ค้นคว้าหาความรู้ ในห้องเรียน หรือสถาบันการศึกษา "นักปฏิรูปด้านการศึกษา" ยังมองถึงสังคมไทยสมัยปัจจุบันว่า คนทุกเพศทุกวัย ตั้งแต่วัยเด็ก ถึงชรา ใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่เป็นแล้ว แค่มีอุปกรณ์ที่เข้าถึง หรืออย่างเวปไซต์กูเกิล เด็กประถมศึกษาปีที่หนึ่งสามารถใช้งานเป็น แต่ปัจจุบันเนื่องจากอุปกรณ์ และค่าบริการอินเตอร์เน็ตมีราคาแพง พวกเขาจึงเลือกใช้เท่าที่จำเป็นกับชีวิต หรือเลือกใช้เพื่อสร้างสมรรถนะของตนเองด้านการทำงาน ด้านอาชีพ 

        อย่างไรก็ดี เมื่อพูดถึงระบบการเรียนรู้ด้านการศึกษา หากโฟกัสไปที่การศึกษา ที่เป็นประเด็นสำคัญที่ต้องปฏิรูป ตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 กำหนดไว้ ล่าสุดแม้จะมีกองทุนเพื่อความเสมอภาคด้านการศึกษา เพื่อให้ ผู้ต้องการเรียน สามารถเข้าถึงการศึกษาได้อย่างเท่าเทียมและเสมอภาค

          แต่ยังมีหัวใจทางด้านกฎหมายอีกฉบับที่รอวันคลอดเพื่อมาเติมเต็มแนวทางของการ "ปฏิรูปการศึกษา"  คือ "ร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.)การศึกษาแห่งชาติ" ที่ล่าสุด เปิดเวทีรับฟังความเห็นไปแบบเงียบๆ

          อ.อรรถพล มองประเด็นนี้ว่า "อาจพาการปฏิรูปการศึกษา ไปไม่ถึงไหน"

          "ความพยายามปฏิรูปการศึกษาเคยเริ่มต้นทำตั้งแต่ปี 2542  แต่ทำไปสักระยะ กลับถูกดึงให้กลับมาสู่จุดเริ่มต้น ปัญหาสำคัญคือ หน่วยงานราชการ ยังยึดติดด้วยวิธีการออกคำสั่ง สร้างโครงสร้างการศึกษาโดยรูปแบบเดียวทั่วประเทศ แม้จะเคยมีความพยายามทำหลักสูตรแบ่งสัดส่วน จากแกนกลาง 70% จากท้องถิ่น 30% แต่กระบวนการนี้ไม่สำเร็จ เพราะถูกลดทอนความสำคัญด้วยระบบชี้วัด ขณะที่กลไกปฏิรูปการศึกษาที่ผ่านมา มีคีย์แมนชุดเดียวกัน แต่บทบาทของเขาคล้ายกับการต่อรอง และเดินตามนโยบายของรัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการซึ่งเปลี่ยนหน้าอยู่บ่อยครั้ง เช่น โครงการลดเวลาเรียน เพิ่มเวลาเล่น ที่ทำไม่ต่อเนื่องจริงจัง"

     กับการรับฟังความเห็นของภาคส่วนต่างๆ ต่อร่างกฎหมายสำคัญต่อการปฏิรูปการศึกษา "อ.อรรถพล" มองว่า 5 ปีที่ผ่านมามีจุดบอด คือ รัฐบาลไม่ได้รับฟัง แต่มาถึงตอนนี้แม้มีกระบวนการรับฟัง แต่วิธีการเหมือนเดิม เพราะราชการจะทำเฉพาะในแง่กระบวนการ คือ จัดเวทีรับฟังแล้ว แต่เอาเข้าจริง คือ ขาดการมีส่วนร่วมของทุกฝ่ายอย่างกว้างขวาง ทั้งครู, อาจารย์ หรือคนทำงานด้านการศึกษา ทำให้เชื่อว่าเนื้อหาของร่างกฎหมายนั้น คือ การมุ่งแก้ปัญหารายประเด็นมากกว่ายกระดับคุณภาพการศึกษาตามแนวทางปฏิรูปที่ควรจะเป็น 

          "ที่จริงแล้ว กฎหมายด้านการศึกษา ต้องวางเป้าหมายว่า ผู้เรียนต้องจัดการศึกษาอย่างไร ผ่านสถานบันอย่าง ดีไซน์ระบบเพื่อสนับสนุน แต่ตอนนี้เหมือนเอาปัญหาเป็นตัวตั้ง เช่น  ระบบวัดผล มีปัญหา ก็ยุบ หน่วยงานที่ทำหลักสูตรมีปัญหา ก็ยุบทิ้ง และให้กฎหมายเป็นส่วนตับรอง ทั้งนี้ระบบการศึกษาที่ดีในหลายประเทศเขาเน้นการสร้างระบบการศึกษาที่ดี ที่เริ่มจากรัฐบาลท้องถิ่น แต่ของไทย คือ เขตพื้นที่ ต้องสร้างให้เข้มแข็ง และไม่ใช่ปล่อยทิ้ง หรือ ผลักออกนอกระบบ" 

        อย่างไรก็ตามในแนวคิดของนักปฏิรูปการศึกษา พวกเขายังให้ความสำคัญของการเรียนรู้ผ่านปราชญ์ชาวบ้าน และ การเรียนรู้จริง ผ่าน "ประวัติศาสตร์ที่มีชีวิต" เพราะด้วยการสั่งสมจากประสบการณ์ จึงมีแนวคิดและสิ่งที่ทำให้เกิดการต่อยอดเป็นไอเดียใหม่ ซึ่งนักธุรกิจ หรือนักบริหารในโลกปัจจุบันที่ประสบความสำเร็จ พวกเขาอาศัยฐานคิดจาก ยุคสมัยดั้งเดิม ผ่านการเรียนรู้จากตัวตน คนที่มีชีวิต ส่วน "กูเกิล" เป็นเพียงกลไกเข้าถึง แต่ไม่ใช่ องค์ความรู้ที่เราควรต้องรู้ทั้งหมด

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ