คอลัมนิสต์

อาลีบาบาจับมือรัฐบาล... ความจริงอีกด้านที่ไม่ถูกพูดถึง

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

อาลีบาบาจับมือรัฐบาล... ความจริงอีกด้านที่ไม่ถูกพูดถึง : คอลัมน์... เจาะประเด็นร้อน  โดย...  ชลธิชา รอดกันภัย  ทีมล่าความจริง เนชั่นทีวี 22

 

          ประเด็นที่หลายฝ่ายยังคงให้ความสนใจและพูดถึงกันอย่างกว้างขวาง ก็คือการวิเคราะห์ทิศทางเศรษฐกิจไทย ภายหลังรัฐบาลจับมือกับ “แจ็ค หม่า” แห่ง “อาลีบาบา กรุุ๊ป” ให้มาร่วมปลุกความคึกคักของเศรษฐกิจดิจิทัล และการค้าขายผ่านโลกออนไลน์ โดยหวังให้สอดรับกับยุทธศาสตร์ไทยแลนด์ 4.0

          แต่การก้าวเข้ามาแบบเต็มตัวของ “อาลีบาบา” ผ่านการเชื้อเชิญของรัฐบาลไทย ถูกมองจากผู้เชี่ยวชาญด้านอี-คอมเมิร์ซ หรือผู้ประกอบการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์อย่าง “ภาวุธ พงษ์วิทยภานุ” ว่า เรื่องดีๆ ที่รัฐบาลพยายามประชาสัมพันธ์อยู่นั้น เป็นความจริงเพียงครึ่งเดียว เพราะแท้ที่จริงแล้วยังมีความจริงอีกด้านที่รัฐบาลไม่เคยพูดถึงเลย นั่นก็คือความเสี่ยงที่จะทำให้เอสเอ็มอีไทยถึงกาลล่มสลาย

          เพราะ “อาลีบาบา” เปรียบเสมือนประตูบานใหญ่ที่นำสินค้าจีนให้ทะลักเข้ามาในตลาดบ้านเรา ซึ่งจีนมีสินค้าที่หลากหลาย และราคาถูกกว่าไทยมาก สภาพการณ์แบบนี้ทำให้อี-คอมเมิร์ซไทยกำลังเสียเปรียบจีนอย่างลึกล้ำ และหากรัฐบาลไม่ขยับทำอะไร สุดท้ายธุรกิจเอสเอ็มอีไทยจะได้รับผลกระทบอย่างหนัก และล้มตายไปในที่สุด เหมือนกับที่เคยโดนเมื่อครั้ง “ลาซาด้า” บุกตลาดเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ขณะที่ปัจจุบัน “ลาซาด้า” ได้ควบรวมกิจการกับ “อาลีบาบา” เรียบร้อยแล้ว

 

อาลีบาบาจับมือรัฐบาล... ความจริงอีกด้านที่ไม่ถูกพูดถึง

 

          “การทำธุรกิจในโลกออนไลน์​ เป็นการแข่งขันกันในมุมการลดราคา มีบริการส่งฟรี และการลดราคาต่างๆ มันก็เป็นการใช้เงิน โดยเฉพาะการโฆษณาต่างๆ ฉะนั้นการที่เขาเป็นยักษ์ใหญ่ ทำให้ได้เปรียบ หากเทียบกับอี-คอมเมิร์ซขนาดเล็กในไทย" ภาวุธ ซึ่งเป็นอดีตนายกสมาคมผู้ประกอบการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ กล่าวพร้อมกับยกตัวอย่างเพิ่มเติม


          “ในช่วงที่ลาซาด้าเข้ามา ก็ทำให้อี-คอมเมิร์ซขนาดกลางและขนาดเล็กไม่สามารถต่อสู้กับลาซาด้าได้ เพราะฉะนั้นกำลังซื้ออะไรหลายๆ อย่าง จะถูกดึงเข้าไปในลาซาด้า ทีนี้พอในลาซาด้าดึงกำลังซื้อคนเข้าไปได้ ปรากฏว่าในเว็บลาซาด้าก็มีเซกชั่นของเถาเป่า (เว็บแบบเดียวกับของอาลีบาบา เน้นสินค้าจีน) เมื่อเข้าไปดูสินค้าจริง ผู้บริโภคก็หันไปซื้อสินค้าจีนมากขึ้น เพราะราคาถูกกว่า”

 

อาลีบาบาจับมือรัฐบาล... ความจริงอีกด้านที่ไม่ถูกพูดถึง

 

          “ฉะนั้นสิ่งที่น่ากลัวก็คือ กำลังซื้อของคนไทยเริ่มไปซื้อสินค้าจีน ซึ่งตรงนี้เองที่เข้ามากระทบกับผู้ประกอบการไทยซึ่งเป็นผู้ผลิตสินค้าประเภทเดียวกัน หรือคนไทยที่เป็นผู้นำเข้าสินค้าจากประเทศจีนจะเริ่มมีผลกระทบ เพราะสินค้าจีนมาแข่งโดยตรงกับพ่อค้าเหล่านี้ ฉะนั้นเมื่อมองในระยะกลาง ระยะยาวจะพบว่า 1.พ่อค้าคนกลางไทยล้มหายตายจาก 2.บรรดาผู้ผลิตหรือโรงงานที่ผลิตสินค้าแบบเดียวกันกับที่ตลาดจีนส่งเข้ามาขายในลาซาด้าก็จะไม่สามารถแข่งขันได้ ตรงนี้เองจะทำให้บรรดาผู้ผลิตล้มหายตายจากไปด้วย และส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจในภาพรวม อัตราการจ้างงานก็จะหายไปด้วยเช่นกัน เพราะว่าธุรกิจขนาดกลาง ขนาดเล็ก และขนาดใหญ่ ไม่สามารถแข่งขันกับธุรกิจที่เข้ามาใหม่ได้เลย”

          ภาวุธ เน้นว่า เรื่อง “ลาซาด้า” เป็นเรื่องที่อาลีบาบาไม่ได้บอก ไม่ได้ยกขึ้นมาพูดถึง ทั้งที่เป็นการรุกรานของนักธุรกิจจีน ทำให้สินค้าจีนทะลักเข้ามาในไทย

          “เขาไม่ได้พูดถึงมุมนี้เลย เขาพูดแค่ว่าจะเอาสินค้าของไทย เช่น ผลไม้ไทยไปขายในเมืองจีน เปิดร้านขายข้าวในโลกออนไลน์ ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นสิ่งที่เขาพยายามพูดว่าเขามาช่วยประเทศไทย แต่ในความจริงอีกด้านหนึ่ง สิ่งที่มันเกิดขึ้นทุกวันนี้ มีสินค้าจีนเข้ามาตีตลาดในไทย ผ่านทางลาซาด้าและอาลีบาบา อันนี้คือความจริงที่เขาไม่ได้พูดถึง”

 

อาลีบาบาจับมือรัฐบาล... ความจริงอีกด้านที่ไม่ถูกพูดถึง

 

          ทัศนะของภาวุธ สอดคล้องกับมุมมองของ “รศ.ดร.ปิติ ศรีแสงนาม” ผู้อำนวยการศูนย์อาเซียน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่บอกว่า ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีจะได้รับผลกระทบอย่างแน่นอน หากไทยไปยึดติดหรือให้สิทธิพิเศษกับอาลีบาบาของ “แจ็ค หม่า” เท่านั้น เนื่องจากจีนเองก็มีสินค้าที่หลากหลาย ราคาถูก พร้อมที่จะเข้ามาตีตลาดในไทยเช่นกัน

          แต่สิ่งที่น่ากังวลยิ่งกว่า ก็คือฐานข้อมูลขนาดใหญ่ หรือบิ๊กดาต้า ของผู้บริโภคชาวไทย ซึ่งเกี่ยวข้องกับพฤติกรรมผู้บริโภค เพราะข้อมูลเหล่านี้เองที่จะทำให้ “แจ็ค หม่า” เป็นผู้กำหนดทิศทางตลาดของไทยในที่สุด และน่าจะเป็นความต้องการที่แท้จริงของ “แจ็ค หม่า” มากกว่าการค้าในโลกออนไลน์เสียอีก

          “เขาจะได้ทั้งข้อมูลคนซื้อ ข้อมูลคนขาย ไลฟ์สไตล์ และรูปแบบการใช้ชีวิต ข้อมูลพวกนี้มีค่ามากที่สุด เพราะถ้าเขามีฐานข้อมูลที่ใหญ่พอ และมีระบบการคิด วิเคราะห์ที่ดีพอ เขาก็จะสามารถสรุปได้ว่าจริงๆ แล้วแต่ละตลาด แต่ละประเทศ แต่ละกลุ่ม คนซื้อต้องการอะไร เขาก็จะหาสินค้ามาขายได้ตรงกับความต้องการมากที่สุด”

          แค่นี้ก็ฟังดูน่าตกใจแล้ว แต่สถานการณ์ในระยะต่อไปในความเห็นของ รศ.ดร.ปิติ ดูจะน่าตื่นเต้นยิ่งกว่า

          “ในอนาคตอาจจะไม่ใช่แค่รู้ข้อมูล แต่ระบบบางระบบอาจจะอนุญาตให้ผู้ผลิตบางรายที่มีข้อมูลเหล่านี้ สามารถกำหนดพฤติกรรมของลูกค้าได้ด้วย เหมือนกับเซลส์แมนที่เป็นพระเจ้า ไม่ได้แค่รู้ว่าลูกค้าต้องการอะไรเท่านั้น แต่ยังบังคับลูกค้าให้ต้องการในสิ่งที่ตัวเองขายได้ด้วย”

          ผู้เชี่ยวชาญทั้งสองคนมองตรงกันว่า การเข้ามาบุกตลาดของอาลีบาบาจะกระทบต่อเศรษฐกิจมหภาคของไทยอย่างแน่นอน แม้วันนี้จะยังไม่เห็นภาพชัด แต่ในอนาคต ตลาดออนไลน์ย่อมต้องเติบโตมากขึ้นอย่างแน่อน และการซื้อสินค้าออนไลน์จะกลายเป็นช่องทางหลักในการ “ช็อป” ของคนไทย

 

อาลีบาบาจับมือรัฐบาล... ความจริงอีกด้านที่ไม่ถูกพูดถึง

 

          ขณะที่ปัจจัยสำคัญที่จะทำให้เอสเอ็มอีไทยสามารถอยู่รอดได้ในสมรภูมินี้คือการปรับตัว โดยผู้ผลิตต้องรู้ว่าสินค้าของตนมีจุดขายอย่างไร แตกต่างกับสินค้าในอาลีบาบาหรือไม่ ฉะนั้นต้องสร้างแบรนด์ให้ผู้บริโภคสนใจและเห็นคุณค่าในสินค้าตัวนั้น ขณะเดียวกันก็ต้องปรับทีมงานและวิธีการทำงานโดยใช้ซอฟต์แวร์มากขึ้น ก่อนจะเพิ่มช่องทางการขายสินค้าออกสู่ตลาดต่างประเทศให้มากกว่าเดิม

          นั่นก็คือการพัฒนากลไกหลายๆ ด้านแบบบูรณาการ เพื่อเพิ่ม “ขีดแข่งขัน” ให้แก่เอสเอ็มอีไทย ซึ่งเรื่องนี้กำลังกลายเป็นโจทย์ใหญ่ของรัฐบาล คสช. ว่าจะทำได้จริงหรือไม่ หรือจะปล่อยทิ้งคนไทยจำนวนไม่น้อยไว้ข้างหลัง...
 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ