ข่าว

"ฟ้าทะลายโจร" "สรรพคุณ" ทางการแพทย์แผนไทย วิธีใช้ ผลข้างเคียงใช้อย่างไรให้ปลอดภัย

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ทำความรู้จัก "ฟ้าทะลายโจร" "สรรพคุณ" ทางการแพทย์แผนไทย วิธีใช้ ผลข้างเคียงใช้อย่างไรให้ปลอดภัย และดีต่อร่างกาย

ทำความรู้จัก "ฟ้าทะลายโจร" "สรรพคุณ" ทางการแพทย์แผนไทย ซึ่งเป็นสมุนไพรที่ได้ถูกบรรจุอยู่ในบัญชียาหลักแห่งชาติ พ.ศ. 2542 และควรใช้อย่างไรจึงจะปลอดภัยต่อสุขภาพร่างกายของเรา 

 

 

"ฟ้าทะลายโจร" จัดเป็นสมุนไพรที่มีรสขมอยู่ในกลุ่มยาเย็น มี "สรรพคุณ" ทางการแพทย์แผนไทย ใช้บรรเทาอาการไข้หวัด แก้ไอ และเจ็บคอ เป็นสมุนไพรที่ได้ถูกบรรจุอยู่ในบัญชียาหลักแห่งชาติ พ.ศ. 2542 (บัญชียาจากสมุนไพร) กระทรวงสาธารณสุขในรูปแบบยาเดี่ยว

 

ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ได้มีการศึกษาวิจัยเกี่ยวสมุนไพร "ฟ้าทะลายโจร" กันอย่างแพร่หลาย มีข้อมูลสนับสนุนจากงานวิจัยทางคลินิกพบว่า สมุนไพรฟ้าทะลายโจรมีส่วนช่วยรักษาอาการของโรคติดเชื้อเฉียบพลันของระบบทางเดินหายใจ เช่น อาการไอ อาการเจ็บคอได้ดี 

 

ในปี พ.ศ.2555 ได้มีข้อมูลงานวิจัย จากผู้ป่วยจำนวน 807 คน พบว่าผลิตภัณฑ์สารสกัดจากฟ้าทะลายโจรร่วมกับสมุนไพรอื่นๆ ขนาดรับประทาน 31.5-200 มิลลิกรัม/วัน รับประทานเป็นเวลา 3-10 วัน มีผลช่วยลดความถี่และความรุนแรงของอาการไอเนื่องจากไข้หวัดและอาการอักเสบของระบบทางเดินหายใจส่วนบนได้

 

อย่างไรก็ตาม หากใช้ "ฟ้าทลายโจร" ในปริมาณเกินความจำเป็นก็อาจส่งผลทำให้ ร่างกายมีปริมาณความเย็นเกินไป ส่งผลทำให้เกิดอาการไม่พึงประสงค์ตามมาได้ เช่น อาการชาต่างร่างกาย แขน-ขาอ่อนแรง ท้องอืดท้องเฟ้อ ท้องเสีย หรือผื่นแพ้ตามร่างกาย เป็นต้น

 

ฟ้าทะลายโจร มี สรรพคุณ คือ บรรเทาอาการเจ็บคอ ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ บรรเทาอาการของโรคหวัด

 

วิธีใช้ : รับประทานครั้งละ 500 มิลลิกรัม – 2 กรัมวันละ 4 ครั้งหลังอาหารและก่อนนอน

 

ข้อห้าม : ห้ามใช้ในผู้ที่มีอาการแพ้ ฟ้าทะลายโจร  , ห้ามใช้ในหญิงตั้งครรภ์และให้นมบุตรเนื่องจากอาจทำให้เกิดทารกวิรูปหรือพิการได้

คำเตือน

 

  • หากใช้ติดต่อกันเป็นเวลานาน อาจทำให้แขนขามีอาการชาหรืออ่อนแรง
  • หากใช้ฟ้าทะลายโจรติดต่อกัน 3 วัน แล้วไม่หาย หรือ มีอาการรุนแรงขึ้นระหว่างใช้ ยา ควรหยุดใช้ และพบแพทย์
  • ควรระวังการใช้ร่วมกับสารกันเลือดเป็นลิ่ม (anticoagulants) และยาต้านการจับตัวของเกล็ดเลือด (antiplatelets)
  • ควรระวังการใช้ร่วมกับยาลดความดันเลือดเพราะอาจเสริมฤทธิ์กันได้
  • ควรระวังการใช้ร่วมกับยาที่กระบวนการเมแทบอลิซึม ผ่านเอนไซม์ Cytochrome P450 (CYP) เนื่องจากฟ้าทะลายโจรมีฤทธิ์ยับยั้งเอนไซม์ CYP1A2, CYP2C9 และCYP3A4

 

อาการไม่พึงประสงค์ : อาจทำให้เกิดอาการผิดปกติของทางเดินอาหาร เช่น ปวดท้อง ท้องเดิน คลื่นไส้ เบื่ออาหาร วิงเวียนศีรษะ ใจสั่น และอาจเกิดลมพิษได้

 

เช็กรายชื่อ 6 "ฟ้าทะลายโจร"ผิดกฎหมายสวมเลข อย.

 

  • ฟ้าทะลายโจร ตราโนนทรี ระบุ ทะเบียนเลขที่ TAS-PR : 104 ซึ่งเป็นเลขที่รหัสรับรองการแปรรูปผลิตภัณฑ์อินทรีย์ ไม่ใช่เลขทะเบียนตำรับสมุนไพร
  • ผลิตภัณฑ์ฟ้าทะลายโจร ตราอินทารา ฉลากระบุเลข อย. 63-1-17262-5-0005 และโฆษณาสรรพคุณเสริมภูมิคุ้มกันโรค ป้องกันไม่ให้ติดไวรัสในกลุ่มทางเดินหายใจ และช่วยป้องกันไวรัสโควิด-19 ตรวจสอบแล้วพบว่า ผลิตภัณฑ์ดังกล่าวได้รับอนุญาตเป็นผลิตภัณฑ์เสริมอาหารในชื่อ อินทรา-015 คือผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ไม่มีฟ้าทะลายโจรเป็นส่วนประกอบแต่อย่างใด
  • ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร วีโอดี เฮิร์บ พลัส สารสกัดจาก ฟ้าทะลายโจร ฉลากระบุเลข อย. 10-1-15662-5-0019 ตรวจสอบแล้วพบว่า ผลิตภัณฑ์ดังกล่าวได้รับอนุญาตเป็นผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ซึ่งไม่มีสารสกัดจากฟ้าทะลายโจรเป็นส่วนประกอบ
  • ผลิตภัณฑ์ “ฟ้า fA Andrographis Paniculata Cordata 600 mg” ฉลากระบุเลข อย. 13-1-27660-5-0029 ส่วนประกอบระบุว่ามี Andrographis paniculata 400 mg ฟ้าทะลายโจร 60% ตรวจสอบแล้วพบว่า ผลิตภัณฑ์ดังกล่าวได้รับอนุญาตเป็นผลิตภัณฑ์เสริมอาหารในชื่อ ฟ้า ซึ่งไม่มีฟ้าทะลายโจรเป็นส่วนประกอบ
  • ยาแคปซูลฟ้าทะลายโจรสกัด (ANDROGRAPHIS EXTRACT CAPSULES) ฉลากระบุทะเบียนเลขที่ G1/61 (พจ) และระบุชื่อผู้จำหน่าย สี่พระยาโอสถ วัดโพธิ์ แขวงพระราชวัง เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร ไม่ระบุชื่อผู้ผลิต ตรวจสอบแล้วพบว่า ผลิตภัณฑ์ดังกล่าวสวมเลขทะเบียนตำรับสมุนไพรของห้างหุ้นส่วนจำกัด เจ้าพระยาโอสถ ซึ่งตั้งอยู่ที่จังหวัดพิจิตร 
  • ฟ้าทะลายโจร ฉลากระบุทะเบียนเลขที่ G255/63 ตรวจสอบแล้วพบว่า ผลิตภัณฑ์ดังกล่าวสวมเลขทะเบียนตำรับของผลิตภัณฑ์สมุนไพร โรงงานแม่คำป้อโอสถ อ.เชียงดาว จ. เชียงใหม่ และใช้บอระเพ็ดซึ่งมีรสขมคล้ายฟ้าทะลายโจรบรรจุลงในแคปซูล หลอกขายเป็นฟ้าทะลายโจร

 

ทั้งนี้ หากพบผลิตภัณฑ์ที่สงสัยว่าจะผิดกฎหมาย สามารถแจ้งร้องเรียนได้ที่สายด่วน อย. 1556 หรืออีเมล์ [email protected]

 

ขอบคุณข้อมูลจาก อย. , คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล

 

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ