ข่าว

ดีเดย์ 1 พ.ย. เหยื่อทุจริตบัตรทองเลือกสถานบริการใหม่ได้

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ผู้ว่าฯกทม. ร่วมถก สปสช. เร่งแก้ปัญหาคนกรุงฯได้รับผลกระทบสิทธิบัตรทอง หลังคลินิก-รพ.เอกชนหลายแห่งถูกยกเลิกสัญญา เหตุตรวจสอบพบทุจริต คาดเปิดเลือกหน่วยบริการประจำใหม่ 1 พ.ย.นี้

ที่ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร พร้อมด้วย พล.ต.ท.โสภณ พิสุทธิวงษ์ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร , พญ.วันทนีย์ วัฒนะรองปลัดกรุงเทพมหานคร , นพ.ชวินทร์ ศิรินาค รองปลัดกรุงเทพมหานคร ได้ประชุมร่วมกับ นพ.ศักดิ์ชัย กาญจนวัฒนา เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) , นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี รองเลขาธิการ สปสช. และ นพ.วีระพันธ์ ลีธนะกุล ผู้อำนวยการ สปสช. เขต 13 กทม. เพื่อหารือความร่วมมือในการดูแลประชาชนในพื้นที่ กทม. ที่ได้รับผลกระทบจากกรณีหน่วยบริการประจำถูกยกเลิกสัญญาการเป็นหน่วยบริการประจำในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง) โดยมีผู้บริหารหน่วยงานในสังกัดที่เกี่ยวข้องเข้าร่วม ทั้งสำนักการแพทย์ สำนักอนามัย กรุงเทพมหานคร สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เขต 13 กทม. เข้าร่วม


 

พล.ต.อ.อัศวิน กล่าวว่า การเข้าถึงบริการสุขภาพของชาว กทม. เป็นภารกิจหนึ่งที่สำคัญของ กทม. ที่ผ่านมา ชาว กทม. ส่วนหนึ่งเข้าถึงการรักษาพยาบาลและบริการสุขภาพโดยใช้สิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติหรือ “บัตรทอง” ผ่านคลินิกเอกชนในการช่วยดูแล แต่จากกรณีที่ สปสช. ยกเลิกสัญญากับคลินิกเอกชนที่เบิกค่าบริการไม่ถูกต้องทำให้กระทบต่อประชาชน โดยการยกเลิกสัญญารอบแรกมีประชาชน 2 แสนคนที่ได้รับผลกระทบ ทาง กทม. จึงร่วมเปิดให้ประชาชนลงทะเบียนหน่วยบริการใหม่ที่ศูนย์บริการสาธารณสุขไปแล้ว แต่ในรอบที่ 2 และ 3 ที่ สปสช. ยกเลิกสัญญาคลินิกเอกชนเพิ่มเติม ด้วยจำนวนประชาชนที่ได้รับผลกระทบมากถึง 1.9 ล้านคน ทำให้หน่วยบริการเขต กทม.ที่มีอยู่ในระบบ 137 แห่ง ไม่เพียงพอต่อการรองรับได้ เพื่อดูแลชาวกทม.ที่ได้รับผลกระทบ ดังนั้นที่ผ่านมา กทม. และ สปสช. ได้มีการหารือนอกจากแก้ปัญหาแล้ว วางแนวทางการพัฒนาระบบบริการสุขภาพใน กทม. ให้มีประสิทธิภาพและครอบคลุมการดูแลยิ่งขึ้น รวมถึงการพัฒนาระบบส่งต่อผู้ป่วย โรงพยาบาลระดับตติยภูมิ

 

ทั้งนี้การประชุมร่วมกันระหว่าง กทม. และ สปสช. ในวันนี้ เราเห็นด้วยในหลักการที่มีเป้าประสงค์เดียวกันคือประชาชน โดยหน่วยบริการทุกระดับของ กทม. จะให้บริการผู้ป่วยที่ได้รับผลกระทบโดยไม่มีการปฏิเสธและไม่มีการเรียกเก็บค่าบริการจากประชาชน และเห็นชอบให้ศูนย์บริการสาธารณสุขของ กทม. 69 แห่ง เป็นแม่ข่ายการให้บริการปฐมภูมิในพื้นที่และกำกับคุณภาพบริการของคลินิกที่จะเข้าร่วม คาดกว่าจะมีคลินิกเอกชนจำนวนมากเข้าร่วม โดยจะรีบส่งรายชื่อคลินิกเอกชนที่ร่วมเครือข่ายให้ สปสช.โดยเร็วที่สุด คาดว่าจะสามารถให้ชาว กทม.ที่รับผลกระทบเลือกหน่วยบริการประจำได้ภายในวันที่ 1 พฤศจิกายนนี้

 

 

ขณะที่ในส่วนโรงพยาบาลสังกัด กทม. จะทำหน้าที่ให้บริการผู้ป่วยที่ต้องนอนในโรงพยาบาลโดยแบ่งความรับผิดชอบเป็นโซน ซึ่งการดำเนินการทั้งหมดนี้จะต้องเดินหน้าควบคู่กับนโยบายการพัฒนาการให้บริการสุขภาพของ กทม. โดยเฉพาะการลดการรอคอยบริการ รอพบแพทย์ไม่เกิน 60 นาที และลดความแออัดในโรงพยาบาล

 

ด้าน นพ.ศักดิ์ชัย กล่าวว่า จากการหารือกับท่านผู้ว่าฯกทม.วันนี้ ประเด็นหารือไม่ได้เป็นเพียงแค่การแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าให้กับประชาชนที่ได้รับผลกระทบเท่านั้น แต่เป็นการยกระดับบริการสุขภาพในพื้นที่ กทม. ในอนาคต ทั้งในส่วนระบบบริการปฐมภูมิ ระบบส่งต่อและบริการผู้ป่วยใน ซึ่งต้องขอบคุณทาง กทม. โดยเฉพาะท่านผู้ว่าฯ กทม. และผู้บริหารหน่วยงานในสังกัด ทั้งสำนักการแพทย์และสำนักอนามัย และรองปลัดที่ดูแล ในส่วนของ สปสช. จะได้เร่งดำเนินในส่วนของการพัฒนาระบบพื้นฐานเพื่อรองรับ ทั้งการเชื่อมโยงข้อมูล ระบบการเบิกจ่ายค่าบริการ งบประมาณดำเนินการและการลงทุนในส่วนต่างๆ เพื่อเข้ามาเสริมและสนับสนุน นอกจากนี้ในวันนี้ยังได้หารือถึงความร่วมมือในการลดความแออัดในโรงพยาบาลจากกลไกที่ สปสช. ดำเนินการอยู่ ทั้งโครงการเจาะเลือดผู้ป่วยที่บ้าน โครงการผู้ป่วยรับยาที่ร้านยา และโครงการจัดส่งยาทางไปรษณีย์ เพื่อสนับสนุนนโยบายของท่านผู้ว่าฯ กทม. ที่ให้ความสำคัญในเรื่องนี้

 

 

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ