ข่าว

เลขาฯศาลยุติธรรม แถลงเหตุอุ้มลักพาตัวต่อรองล้มคดี

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

"เลขาฯศาลยุติธรรม" แถลง แผนป้องกันเหตุอุ้มลักพาตัวต่อรองคดีในอนาคต เผย เพิ่มคอร์สมาแชล เม.ย.นี้ ส่งกระจายอารักขาศาลตามความจำเป็น ส่วนคดีผู้มีอิทธิพล อนาคตจัดเซฟเฮ้าส์ดูแลผู้พิพากษา ขณะที่คดีฆาตกรรมเสี่ยชูวงษ์ ศาลอาญาพระโขนงพร้อมจัดตร.ศาล 4 คน เวียนดูแล

 

 


          24 ก.พ. 2563 - ที่ห้องประชุมชั้น 12ถ.รัชดาภิเษก นายสราวุธ เบญจกุล เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม พร้อมด้วยนายสุริยัณห์ หงษ์วิไล โฆษกศาลยุติธรรม แถลงข่าวถึงกรณีที่ตำรวจกองปราบปรามจับกุม พ.ต.ท.บรรยิน ตั้งภากรณ์ จากการขยายผลกรณีอุ้มพี่ชายผู้พิพากษาอาวุโสในศาลอาญากรุงเทพใต้ที่เป็นเจ้าของสำนวนคดีโอนหุ้น นายชูวงษ์ แซ่ตั๊ง ว่า ขอขอบคุณทางตำรวจที่ทุ่มเทเรื่องนี้มา 20 วัน ในการติดตามดูแลความปลอดภัยท่านผู้พิพากษาที่ทำสำนวนคดี ท่านเป็นผู้พิพากษาที่กล้าหาญ มีความรับผิดชอบในการทำหน้าที่ และขอแสดงความเสียใจที่พี่ชายของท่านที่ถูกจับเป็นตัวประกันเสียชีวิต ก่อนหน้านี้ทางตำรวจได้ขอศาลให้เป็นความลับ ไม่เผยแพร่ข่าวเนื่องจากห่วงชีวิตความปลอดภัยของตัวประกัน ซึ่งทางตำรวจได้รายงานความคืบหน้าให้ประธานศาลฎีกาทราบโดยตลอด ตามหลักปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนได้คุ้มครองความเป็นอิสระ ความเป็นกลางของผู้พิพากษา รวมถึงรัฐธรรมนูญ กฎหมาย ประมวลจริยธรรมข้าราชการตุลาการ (ผู้พิพากษา) ท่านผู้พิพากษาเจ้าของสำนวนได้ทำถูกต้องครบถ้วนสมบูรณ์แบบ

 

อ่านข่าวเกี่ยวข้อง

เตรียมคุมตัว"บรรยิน"ฝากขัง-ลูกชายบอกพ่อไม่กังวล

เก็บรถของกลาง 3 คันคดีพี่ชายผู้พิพากษาไว้ที่กองปราบ

กองปราบบุกรวบอีก 3 สมุน "บรรยิน" แก๊งอุ้มฆ่าพี่ชายผู้พิพากษา

 

เลขาฯศาลยุติธรรม แถลงเหตุอุ้มลักพาตัวต่อรองล้มคดี

 

           เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม กล่าวต่อไปว่า ในอดีตเคยเกิดเหตุการณ์ผู้พิพากษาถูกยิง ที่ จ.ปัตตานี และเหตุยิงที่ศาลจังหวัดพัทยา ศาลจังหวัดจันทบุรี เกิดเหตุกระทบความปลอดภัย จึงมีการผลักดันให้มีเจ้าพนักงานตำรวจศาล หรือคอร์ทมาแชล (Court Marshal) แต่งตั้งชุดแรกที่ผ่านการฝึกอบรมมาแล้ว 35 คน จะขยายอัตราในเดือน เม.ย.นี้ ได้ 309 อัตรา เพื่อรักษาความปลอดภัยในศาลและคุ้มครองบุคลากรของศาล

 

          ขณะที่ นายสราวุธ ได้ตอบคำถามสื่อมวลชนเกี่ยวกับพฤติกรรมของคนร้ายที่มาติดตามดักรอบริเวณหน้าศาล ว่า ปกติพี่ชายของ น.ส.พนิดา จะมารับท่านกลับบ้านที่หน้าศาล ช่วงเกิดเหตุคนร้ายนำตัวพี่ชายขึ้นรถไป จากนั้นได้ใช้โทรศัพท์ของพี่ชายโทรเข้ามาข่มขู่ต่อรองคดี โดยพฤติกรรมการข่มขู่เท่าที่ทราบ ก่อนหน้านี้มีการคุกคามเรื่อยมาตั้งแต่เริ่มรับคดีเมื่อปี 2561 ก็ไม่เคยมีการเปลี่ยนตัวผู้พิพากษา ซึ่งก็ได้มีการรายงานให้ศาลทราบ ส่วนคนร้ายจะประสงค์ร้ายต่อตัวผู้พิพากษาโดยตรงหรือไม่นั้น ต้องถามตัวผู้ต้องหา ซึ่งอยู่ในการควบคุมของตำรวจ ขณะที่เรื่องของสำนวนคดี ตนไม่สามารถให้รายละเอียดได้ เป็นเรื่องที่พนักงานสอบสวนและ ผบ.ตร. จะให้ข้อมูลดีกว่า กรณีผู้พิพากษาถูกข่มขู่คุกคามจะเกิดความไม่เป็นธรรมต่อคดี ทาง ผบ.ตร.ให้ความสำคัญ เพื่อไม่ให้เกิดขึ้นอีก

 

          เมื่อถามถึงการยืนยันการเสียชีวิตของพี่ชายผู้พิพากษา นายสราวุธ ระบุว่า มีหลักฐานในการเผาร่าง ตามที่ผู้ต้องหาชี้จุดทำลายซาก เมื่อถามถึงการป้องกันเหตุกับผู้พิพากษารายอื่น นายสราวุธ กล่าวว่า ในส่วนของสำนักงานศาลฯ เราทำเต็มที่ในการจัดคอร์ทมาแชลดูแลผู้พิพากษา แต่ขณะนี้กำลังยังไม่เพียงพอ ใช้การประสานงานกระจายตามความจำเป็นเร่งด่วน อัตรา 35 นาย อยู่ส่วนกลาง ยังแบ่งประจำ 200 กว่าศาลทั่วประเทศไม่ได้ จึงส่งไปดูแลตามที่มีการร้องขอความจำเป็นเข้ามา และดูแลคดีที่มีความเสี่ยงชิงตัวผู้ต้องหาหรือจำเลย หรือเสี่ยงต่อความไม่ปลอดภัย

 

เลขาฯศาลยุติธรรม แถลงเหตุอุ้มลักพาตัวต่อรองล้มคดี

 

          ส่วนผู้พิพากษาที่กำลังทำคดีฆ่านายชูวงษ์ที่ศาลอาญาพระโขนง เราก็ได้ดูแลเช่นกัน ทางสำนักงานศาลฯ ได้ส่งคอร์ทมาแชลไปประจำดูแล ผลัดเปลี่ยนกันครั้งละ 4 นาย ส่วนสภาพจิตใจของผู้พิพากษารายอื่นนั้น ท่านก็ไม่สบายใจ แต่สำนักงานศาลฯ ก็มีความมั่นใจที่จะดูแลเรื่องความปลอดภัย ยอมรับว่าเหตุนี้ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน นับว่าเป็นครั้งแรกที่มีการอุ้มลักพาตัวเพื่อเรียกประโยชน์ในทางคดี

 

          เมื่อถามว่าหลังเกิดเหตุการณ์ลักษณะเช่นนี้ ขวัญและกำลังใจผู้พิพากษาทั่วประเทศเป็นอย่างไร นายสราวุธกล่าวว่า เรื่องนี้เราได้ข้อมูลจากผู้พิพากษา ต้องการให้สำนักงานจัดการดูแลมาตรการต่างๆ ที่มองว่าเป็นภัยคุกคามในการปฏิบัติหน้าที่เรื่องความปลอดภัย ส่วนเรื่องสภาพจิตใจของ ท่านผู้พิพากษาผู้เสียหายจากเหตุการณ์นี้ ทางสำนักงานศาลฯก็พร้อมที่จะดูแลไม่ว่าจะเรื่องการทำงานเรื่องขวัญและกำลังใจ ขอเพียงติดต่อเข้ามาว่าประสงค์จะให้สำนักงานศาลฯดูแลอย่างไร เราจะระวังในเรื่องการกระทบกระเทือนน้อยที่สุด เรื่องปัญหาทางสภาพจิตใจ มีนโยบายจากคณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรม (ก.ต.) ที่คอยดูแลเรื่องนี้ของผู้พิพากษาโดยเฉพาะ      

 

          เมื่อถามว่าในอนาคตมีความจำเป็นต้องมีสถานที่ปลอดภัยหรือเซฟเฮ้าส์เพื่อเก็บตัวผู้พิพากษาในการทำคำพิพากษาคดีผู้มีอิทธิพลหรือมีความซับซ้อนหรือไม่ และมีความจำเป็นต้องมีกฎหมายพิเศษเอาผิดกับผู้ข่มขู่ผู้พิพากษา เพราะกระทบกับความยุติธรรมหรือไม่ เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม กล่าวว่า ที่ผ่านมาเราก็มีการดูแลความปลอดภัยอยู่แล้ว เช่น กรณีของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง เรามีที่พักและจัดรถกันกระสุนให้ ส่วนคดีอาญาทั่วไปยังไม่เคยมีเรื่องการพิจารณาที่จะมีเซฟเฮ้าส์ แต่ในอนาคตก็อาจเป็นได้ที่จะให้มี ส่วนกฎหมายพิเศษลักษณะดังกล่าวไม่มี ที่ผ่านมาจะเป็นเรื่องของกฎหมายอาญาที่มีใช้อยู่ ซึ่งหากการกระทำนั้นร้ายแรงต่อชีวิตก็จะเป็นไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288, 289

 

          เมื่อถามกรณีฝากขัง พ.ต.ท.บรรยิน และกลุ่มผู้ต้องหาอื่น สำนักงานศาลฯ หรือท่านผู้พิพากษาในฐานะผู้เสียหายจะยื่นคัดค้านการประกันตัวจนถึงที่สุดหรือไม่ เพื่อป้องกันไม่ให้ผู้ต้องหาออกมาก่อเหตุร้ายอีก นายสราวุธ ระบุว่า ขึ้นอยู่กับผู้เสียหายเอง สำนักงานศาลฯ ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องในขั้นตอนดังกล่าว และที่ผ่านมาผู้เสียหายก็ไม่เคยมอบอำนาจให้สำนักงานศาลฯ ดำเนินการแทนในเรื่องใดๆ อย่างไรก็ดี ในการพิจารณาให้หรือไม่ให้ประกันตัวผู้ต้องหา ก็เชื่อว่าศาลอาญาซึ่งรับผิดชอบอยู่ จะพิจารณาตามหลักความเป็นกลาง เป็นธรรม ปราศจากอคติ

 

          เมื่อถามถึงผลกระทบต่อการเขียนคำพิพากษาที่กำหนดนัดอ่านวันที่ 20 มี.ค.นี้ และจำเป็นต้องมีการเปลี่ยนตัวผู้พิพากษาเจ้าของสำนวนหรือไม่ นายสราวุธ กล่าวว่า การเขียนคำพิพากษาอยู่บนหลักความเป็นกลาง ไม่กลัวการข่มขู่ที่ทำให้เกิดอคติ ส่วนการเปลี่ยนตัวองค์คณะผู้พิพากษาและเลื่อนอ่านคำพิพากษาหรือไม่ เป็นเรื่องของศาลอาญากรุงเทพใต้ที่จะพิจารณา ที่ผ่านมายังไม่มีการเปลี่ยนตัวองค์คณะผู้พิพากษา

 

          "ขอให้ทุกท่านมั่นใจได้ว่าการพิจารณาพิพากษาคดี ผู้พิพากษาทุกท่านจะยึดมั่นในหลักความเป็นอิสระ ความเป็นกลาง ปราศจากการข่มขู่ แทรกแซงใดๆทั้งสิ้น" เลขาธิการศาลยุติธรรม กล่าวย้ำ

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ