ข่าว

"วิษณุ"ย้ำสนช.รอบคอบกม.ขัดกันระหว่างผลประโยชน์

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

"วิษณุ"ทวนคสช.เข้ามาเพราะทุจริตเผยแผนปฏิรูปใช้มี.ค.นี้ราชการต้องทำตาม แจงยุทธศาสตร์ฯ 20 ปี แก้ได้ถ้าไม่สอดคล้องยุคสมัย ย้ำสนช.รอบคอบกม.ขัดกันระหว่างผลประโยชน์

         2 ก.พ.61  ที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เป็นวิทยากรบรรยายในโครงการอบรมหลักสูตร "นักบริหารยุทธศาสตร์ป้องกันและปราบปรามการทุจริตระดับสูง" (นยปส.) รุ่น 9 หัวข้อ "นโยบายระดับประเทศและการปฏิรูปประเทศในการป้องกันและปราบปรามการทุจริต" ว่า การเข้ามาของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ส่วนหนึ่งสืบเนื่องมาจากมีปัญหาด้านการทุจริต มีความแตกแยก ประชาชนเรียกร้องให้มีการปฏิรูปและอยากให้มีการกำหนดยุทธศาสตร์ชาติ ด้วยเหตุนี้รัฐบาลจึงต้องนำสิ่งที่ คสช.ต้องการแก้ไขปัญหามาดำเนินการ ทุกรัฐบาลที่ผ่านมามีหน้าที่อย่างเดียวคือบริหารราชการแผ่นดิน แต่จากนี้ไป รัฐธรรมนูญกำหนดให้รัฐบาลยังมีหน้าที่ปฏิรูปประเทศ เดินตามยุทธศาสตร์ชาติและสร้างความสามัคคีปรองดอง เหมือนอย่างที่ก่อนหน้านี้รัฐบาลนี้ได้ตั้งคณะกรรมการ ป.ย.ป. เป็นต้น

         นายวิษณุ กล่าวว่า คณะกรรมการปฏิรูปด้านการป้องกันและปราบปรามการทุจริตเป็น 1 ใน 13 คณะกรรมการปฏิรูปที่รัฐบาลตั้งขึ้น ทั้งนี้แผนปฏิรูปประเทศจะสามารถประกาศใช้ได้เดือนมีนาคมนี้ โดยแผนปฏิรูปทั้งหมดเมื่อกองรวมกันแล้วจะความสูงเท่าเอว แต่จะให้สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ย่อลงให้เหลือแค่ตาตุ่ม และเมื่อแผนปฏิรูปประกาศใช้ หน่วยงานราชการจะต้องปฏิบัติตาม ถ้าเตือนแล้วยังไม่ปฏิบัติตาม คณะกรรมการปฏิรูปสามารถร้องไปยังคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติให้ส่ง ป.ป.ช.ตรวจสอบ โดยมีฐานความผิดถือว่าจงใจไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย หรือจงใจปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ รวมถึงผิดประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157  

         ส่วนยุทธศาสตร์ชาติ ซึ่งต้องมีถึง 20 ปีนั้น พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. ให้เหตุผลว่า 1.หลายประเทศมียุทธศาสตร์ 20 ปี 2. เวลา 20 ปี เท่ากับช่วงวัยของคนที่เริ่มจากเกิดจนบรรลุนิติภาวะ แผนยุทธศาสตร์ชาติใหญ่กว่าแผนปฏิรูป โดยจะเป็นตัวกำหนดทิศทางของประเทศ ซึ่งหลังจากแผนยุทธศาสตร์ประกาศใช้แล้ว หน่วยงานราชการใดไม่ปฏิบัติตาม จะถือว่าปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเช่นกัน ส่วนที่มีเสียงวิจารณ์ว่า 20 ปีนั้น ยาวเกินไป รัฐบาลจะครอบครองทั้งหมดเลยหรืออย่างไร แล้วรัฐบาลเอาอะไรมาคิดแทนคนทั้งหมด ขออธิบายว่า ถึงอย่างไรก็จะต้องมีการเริ่มต้น แต่แผนยุทธศาสตร์ชาติสามารถแก้ไขได้ เมื่อเห็นว่าไม่สอดคล้องกับยุคสมัย 

         สำหรับ ร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการขัดกันระหว่างผลประโยชน์ส่วนบุคคลกับประโยชน์ส่วนรวม ซึ่งหลายคนเร่งรัดอยากให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) พิจารณาโดยเร็ว แต่ตนอยากให้พิจารณาอย่างรอบคอบ เพราะถือเป็นกฎหมายที่มีผลต่อทุกคน ไม่ใช่เฉพาะแค่ข้าราชการเท่านั้น แม้เจตนาของกฎหมายจะเป็นเรื่องดี แต่อาจมีปัญหาเมื่อต้องตีความ เช่นที่บัญญัติว่า มิให้เจ้าหน้าที่รัฐใช้ทรัพย์สินของทางราชการ หมายถึงใช้ของหลวงในทางส่วนตัวไม่ได้ ซึ่งก่อให้เกิดการตีความว่า ข้าราชการเสียบปลั๊กชาร์ตโทรศัพท์ ถือว่าใช้ของหลวง ผิดหรือไม่ โดยมีการตีความแล้วว่าผิด ดังนั้น จึงได้กำชับ สนช.ให้พิจารณาอย่างรอบคอบ เพราะอาจมีการจ้องเอาผิดข้าราชการ พ.ร.บ.นี้ มีความจำเป็น แต่จะน่ากลัวหากมีความคลุมเครือในการเขียนกฎหมาย

 

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ