ข่าว

"สรยุทธ" ลุ้นประกัน !! ศาลอุทธรณ์ยืน คุก 13 ปี 4 ด.

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

เปิดคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ พิพากษายืนจำคุก "สรยุทธ์" 13 ปี 4 เดือน ลุ้นได้ประกันหรือไม่ หลังศาลอุทธรณ์ส่งให้ศาลฎีกาพิจารณา


              29 ส.ค.60 - ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง นัดฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ คดีหมายเลขดำที่ อ.313/2558  ที่พนักงานอัยการฝ่ายคดีพิเศษ 2 เป็นโจทก์ ยื่นฟ้อง นางพิชชาภา เอี่ยมสะอาด หรือนางชนาภา บุญโต พนักงานจัดทำคิวโฆษณาของ บมจ.อสมท , บริษัทไร่ส้ม จำกัด โดย น.ส.อังคนา วัฒนมงคลศิลป์ และ น.ส.สุกัญญา แซ่ลิ่ม ในฐานะ กก.ผจก.บจก.ไร่ส้ม , นายสรยุทธ สุทัศนะจินดา อายุ 51 ปี อดีตพิธีกรรายการข่าวชื่อดังและกก.ผจก.บจก.ไร่ส้ม และ น.ส.มณฑา ธีระเดช อายุ 45 ปี พนักงาน บจก.ไร่ส้ม เป็นจำเลย 1-4 ในความผิดฐาน เป็นพนักงานเรียก รับ หรือยอมจะรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดสำหรับตนเองหรือผู้อื่นโดยมิชอบ เพื่อกระทำการหรือไม่กระทำการอย่างใดในตำแหน่งหน้าที่ไม่ว่าการนั้นจะชอบหรือมิชอบด้วยหน้าที่ , เป็นพนักงานมีหน้าที่ซื้อ ทำ จัดการ หรือรักษาทรัพย์ใดๆ ใช้อำนาจหน้าที่โดยทุจริต อันเป็นการเสียหายแก่องค์กร , เป็นพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต และสนับสนุนพนักงานกระทำความผิดดังกล่าว ตาม พ.ร.บ.ว่า ด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2502 ม.6,8,11
 

              โดยคดีนี้ อัยการได้ยื่นฟ้องต่อศาลเมื่อวันที่ 30 ม.ค.58 บรรยายพฤติการณ์ สรุปว่า เมื่อวันที่ 4 ก.พ.48- 28 เม.ย.49 ต่อเนื่องกัน นางพิชชาภา พนักงานจัดทำคิวโฆษณาของ บมจ.อสมท จำเลยที่ 1 ได้จัดทำคิวโฆษณารวม ในรายการ “คุย คุ้ยข่าว” ซึ่งก่อนออกอากาศนางพิชชาภา ใช้อำนาจหน้าที่โดยทุจริต ไม่รายงานการโฆษณาเกินเวลาเพื่อเรียกเก็บค่าโฆษณาเกินเวลา จาก บจก.ไร่ส้ม จำเลยที่ 1 จำนวน 17 ครั้ง ทำให้ บมจ.อสมท เสียหาย 138,790,000 บาท และยังได้เรียกรับเอาเงิน 658,996 บาทจากจำเลยที่ 2-4 เพื่อเป็นการตอบแทนที่นางพิชชาภา ไม่รายงานการโฆษณา ซึ่งเป็นการกระทำที่มิชอบด้วยหน้าที่และเป็นการปฏิบัติหรือละเว้นปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ บมจ.อสมท โดยมีจำเลยที่ 2-4 เป็นผู้สนับสนุนช่วยเหลือ ให้ความสะดวกในการกระทำผิด และมอบเช็ค ธ.ธนชาติ สาขาพระราม 4 สั่งจ่ายเงินให้นางพิชชาภา เหตุเกิดที่แขวง-เขตห้วยขวาง กทม.
 
              จำเลยทั้งหมดให้การปฏิเสธต่อสู้คดี โดยชั้นตรวจหลักฐาน นางพิชชาภา จำเลยที่ 1 แถลงแนวทางต่อสู้ว่า จำเลยที่ 1 ไม่มีอำนาจอนุมัติการโฆษณาและไม่เคยใช้น้ำยาลบคำผิดลบข้อความเกี่ยวกับการจัดคิวเวลาโฆษณา ส่วนเช็ค 6 ฉบับที่ได้รับนั้นเป็นค่าประสานงานคิวโฆษณาที่นอกเหนือจากหน้าที่ ไม่ใช่ค่าตอบแทนในการไม่ระบุการโฆษณาเกินเวลา 
 
              ส่วน บมจ. ไร่ส้ม จำเลยที่ 2 ได้ต่อสู้ว่าไม่เคยมอบให้ผู้ใดไปติดต่อเพื่อจัดคิวโฆษณาเกินเวลาและไม่เคยให้จำเลยที่ 1 ใช้น้ำยาลบคำผิดในเอกสารเกี่ยวกับการโฆษณา เช่นเดียวกับนายสรยุทธ จำเลยที่ 3 ที่แถลงว่าไม่เคยรู้จักกับนางพิชชาภา จำเลยที่ 1 ไม่ทราบว่าจำเลยที่ 1 มีหน้าที่อะไรและไม่เคยติดต่อให้ผู้ใดไม่รายงานโฆษณาที่เกินเวลา แต่ยอมรับว่าเช็ค 6 ฉบับได้ลงลายมือชื่อนายสรยุทธ จำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นเช็คที่ชำระค่าประสานงาน ไม่ใช่เงินที่ตอบแทนให้นางพิชชาภา จำเลยที่ 1 ใช้น้ำยาลบคำผิดในเอกสารการโฆษณา 
 
 

              ทั้งนี้ระหว่างพิจารณาคดี นางพิชชาภา อดีต พนักงาน บมจ.อสมท ,นายสรยุทธ และน.ส.มณฑา พนักงาน บจก.ไร่ส้ม จำเลยที่ 1,3,4 ได้ประกันตัวโดยยื่นหลักทรัพย์เป็นเงินสด ซึ่งศาลตีวงเงินคนละ 200,000 บาท
 
              ขณะที่ศาลได้ไต่สวนพยานทั้ง 2 ฝ่ายจนเสร็จสิ้นตั้งแต่วันที่ 17 ก.ย.58 – และได้นัดฟังคำพิพากษาศาลชั้นต้น เมื่อวันที่ 29 ก.พ.59 ที่ผ่านมา ซึ่งศาลมีคำพิพากษาว่า นางพิชชาภา อดีต พนักงาน บมจ.อสมท จำเลยที่ 1 มีความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การของรัฐ มาตรา 6 ,8,11 ส่วน บจก.ไร่ส้ม , นายสรยุทธ , น.ส.มณฑา พนักงาน บ.ไร่ส้ม จำเลยที่ 2- 4 มีความผิดฐานสนับสนุนตาม ซึ่งการกระทำของจำเลยทั้งสี่ เป็นการกระทำกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การของรัฐ ม. 6 ซึ่งเป็นบทที่มีโทษสุด
 

              โดยพิพากษาลงโทษจำเลยที่ 1-4 รายละ 6 กระทง ให้จำคุกนางพิชชาภา จำเลยที่ 1 ฐานเป็นเจ้าพนักงานเรียกรับหรือยอมรับทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใด สำหรับตนเองหรือผู้อื่นโดยมิชอบ 6 กระทงๆละ 5 ปี รวมจำคุก 30 ปี
 
              และปรับ บจก.ไร่ส้ม จำเลยที่ 2 กระทงละ 20,000 บาทรวม 6 กระทง ปรับทั้งสิ้น 120,000 บาท ส่วนนายสรยุทธ จำเลยที่ 3 และน.ส.มณฑา จำเลยที่ 4 จำคุก 6 กระทงๆละ 3 ปี 4 เดือน รวมจำคุกคนละ 20 ปี
 
              แต่ทางนำสืบเป็นประโยชน์ต่อการพิจารณาศาลจึงลดโทษให้ 1 ใน 3 จึงให้จำคุก นางพิชชาภา อดีตพนักงาน บมจ.อสมท จำเลยที่ 1 เป็นเวลา 20 ปี ส่วนนายสรยุทธ์ และน.ส.มณฑา พนักงาน บ.ไร่ส้ม จำเลยที่ 3-4 จำคุกคนละ 13 ปี 4 เดือน ขณะที่การกระทำของจำเลยทั้งสามนี้ ศาลเห็นว่าไม่มีเหตุสมควรรอการลงโทษ จึงไม่รอลงอาญา ส่วน บจก.ไร่ส้ม จำเลยที่ 2 ให้ปรับรวม 80,000 บาท

              โดยนางพิชชาภา , นายสรยุทธ และ น.ส.มณฑา จำเลยที่ 1,3,4 ได้ประกันตัวระหว่างอุทธรณ์ หลังยื่นเงินสดซึ่งศาลตีราคาประกันคนละ  2ล้านบาท พร้อมกำหนดเงื่อนไขห้ามจำเลย เดินทางออกนอกราชอาณาจักร เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากศาล รวมทั้งให้จำเลยมารายงานตัวต่อศาลด้วยทุก 30 วัน
 
              อย่างไรก็ดีสำหรับคดี บจก.ไร่ส้ม และนายสรยุทธนั้น นอกจากความผิดดังกล่าวแล้ว ก็ยังมีอีกสำนวนที่ บมจ.อสมท ได้แจ้งความฐานปลอมเอกสารและได้ส่งสำนวนให้อัยการสั่งคดี จนมีการยื่นฟ้องเป็นคดีหมายเลขดำอ.1748/2559 ต่อศาลอาญาเมื่อวันที่ 2 มิ.ย.59  จากมูลเหตุเดียวกัน  โดยอัยการสำนักงานคดีอาญา 3 ได้เป็นโจทก์ ยื่นฟ้อง บจก.ไร่ส้ม โดยนายสรยุทธ สุทัศนะจินดา , นายสรยุทธ กก.ผจก.บจก.ไร่ส้ม, น.ส.มณฑา พนักงานบ.ไร่ส้ม และนางพิชชาภา อดีตพนักงานจัดทำคิวโฆษณา บมจ.อสมท  เป็นจำเลยที่ 1-4 ในความผิดฐาน ร่วมกันปลอมเอกสารสิทธิและใช้หรืออ้างเอกสารสิทธิปลอม และร่วมกันทำให้เสียหาย ทำลาย ทำให้เสื่อมค่า หรือทำให้ไร้ประโยชน์ซึ่งเอกสารของผู้อื่น ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 91,188,264, 265,268 ซึ่งคดีนี้ศาลอาญา ก็ให้ประกันตัวจำเลยทั้งสามคนละ 300,000 บาท โดยไม่ได้กำหนดเงื่อนไขใดๆ 
 
              ศาลอุทธรณ์พิจารณาแล้วเห็นว่าจำเลยที่ 1 เป็นผู้ดำเนินการจัดทำคิว และทราบความเป็นไปของรายละเอียดการโฆษณาตั้งแต่แรกเริ่ม เป็นสามัญสำนึกในหน้าที่จะต้องทำงานเพื่อประโยชน์ของรัฐ จะอ้างว่ามีช่องว่างทางการตรวจสอบไม่ได้ เมื่อการโฆษณาเกินส่วนต้องเสียค่าโฆษณา แต่จำเลยที่ 1 ใช้น้ำยาลบคำผิดในใบคิวโฆษณาของจำเลยที่ 2 แม้ข้ออ้างว่าทำไปเพราะตกใจกลัวจะต้องรับผิดก็เป็นข้ออ้างที่ไม่มีน้ำหนัก อุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 ฟังไม่ขึ้น ส่วนจำเลยที่ 3 เป็นธรรมการผู้จัดการของจำเลยที่ 2 ซึ่งร่วมกระทำความผิดกับจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 3 จึงไม่อาจปฏิเสธความรับผิดได้ และที่จำเลยที่ 2 และ 3 อ้างว่า ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการลบรายการในใบคิวโฆษณาของจำเลยที่ 1 เห็นว่า จำเลยที่ 1 ให้การยอมรับเกี่ยวกับเหตุผลในการลบรายการในใบคิว และอ้างว่าได้รับการร้องขอจากจำเลยที่ 3 ในขณะที่จำเลยที่ 2 และ 3 กล่าวอ้างลอยๆ จึงไม่น่าเชื่อถือ 
 
              ส่วนคุณงามความดีของจำเลยที่ 3 ที่กล่าวอ้างเป็นเรื่องประวัติและความดีของจำเลยที่ 3 อันเป็ฯคนละส่วนกับพฤติการณ์แห่งการกระทำความผิด ซึ่งศาลต้องพิเคราะห์ตามพยานหลักฐานที่ปรากฏจากการไต่สวน ข้อเท็จจริงแห่งคดีฟังได้ว่า จำเลยทั้ง 4 กระทำความผิดหลายกรรมด้วยการมอบเช็ค 6 ฉบับตามที่ศาลชั้นต้นพิพากษา อุทธรณ์จำเลยทั้ง 4 ฟังไม่ขึ้น พิพากษายืน 
 
              ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ศาลได้ใช้เวลาในการอ่านคำพิพากษานานประมาณ 1 ชั่วโมง โดยระหว่างการฟังคำพิพากษาครั้งนี้ นายสรยุทธ ได้ขอน้ำดื่มจากทีมงาน จนทนายความถึงกับมอง และเมื่อศาลได้อ่านคำพิพากษาจนแล้วเสร็จ นายสรยุทธถึงกับใบหน้าแดงก่ำ และกล่าวเพียงสั้นๆ ว่า จะยื่นฎีกาต่อสู้คดีต่อไปทั้งข้อเท็จจริง และข้อกฎหมายในทุกประเด็น ส่วนจะมีประเด็นอะไรเพิ่มเติมต้องขอประกันตัว เพื่อปรึกษาทีมทนายก่อน
 
              นายมนต์อนันต์ เรืองจรัส ทนายความของนายสรยุทธ เปิดเผยภายหลังฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ที่ตัดสินยืนโทษจำคุกและโทษปรับตามศาลชั้นต้นสำหรับจำเลยทั้ง 4 คนว่า เตรียมจะยื่นคำร้องพร้อมหลักทรัพย์ เป็นเงินสดและบัญชีเงินฝากขอประกันตัวระหว่างฎีกา ซึ่งเดิมชั้นต้น ได้ยื่นหลักทรัพย์เป็นเงินสดไว้ซึ่งศาลตีประกันชั้นต้น คนละ2 ล้านบาท ซึ่งวันนี้ต้องรอดูว่าศาลจะพิจารณาตีหลักทรัพย์อย่างไร  และสำหรับการยื่นฏีกาคดีนี้สามารถยื่นได้ตามขั้นตอนของกฏหมายเดิมทั้งข้อเท็จจริงและข้อกฏหมาย
 
              เมื่อเวลา 12.50 น. ศาลได้พิจารณาคำร้องขอปล่อยชั่วคราวนายสรยยุทธ และจำเลยร่วมทั้งหมดแล้ว ซึ่งจำเลยได้ยื่นหลักทรัพย์เงินสด และบัญชีเงินฝากคนละ 4 ล้านบาท จากหลักทรัพย์เดิมที่ใช้ประกันตัวในชั้นอุทธรณ์ ตีราคาประกันคนละ 2 ล้านบาท ศาลเห็นควรส่งคำร้องให้ศาลฎีกาเป็นผู้สั่งประกันต่อไป โดยศาลอาญาทุจริตฯ ได้ออกหมายขังจำเลยทั้งหมด เพื่อให้เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ควบคุมตัวไปคุมขังไว้ที่เรือนจำก่อนระหว่างรอฟังคำสั่งการประกันตัวจากศาลฎีกา คาดว่าน่าจะใช้เวลาประมาณ 1 สัปดาห์ โดยนายสรยุทธ จะถูกคุมขังที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพ ส่วนผู้ต้องขังหญิงคุมตัวไว้ที่ทัณฑสถานหญิงกลาง
 
              สำหรับจำเลยในคดีเดียวกันยังเหลือคดี ที่ บมจ.อสมท ยื่นฟ้องคดีเองต่อศาลแขวงพระนครเหนืออีกสำนวน ในคดีหมายเลขดำ อ.8134/2558 โดย บมจ.อสมท. ยื่นฟ้องนางพิชชาภา อดีตพนักงาน บมจ.อสมท , บจก.ไร่ส้ม , นายสรยุทธ , น.ส.อังคณา วัฒนมงคลศิลป์ , น.ส.สุกัญญา แซ่ลิ่ม และ น.ส.มณฑา ทั้ง 3 เป็นพนักงาน บ.ไร่ส้ม เป็นจำเลยที่ 1-6 ฐานร่วมฉ้อโกงไปเมื่อวันที่ 28 ก.ค.58 โดยคดีอยู่ระหว่างการสืบพยาน ซึ่งศาลแขวงพระนครเหนือ นัดสืบพยานอีกครั้งในวันที่ 17 ต.ค.นี้
  
              ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับรายละเอียดประเด็นการอุทธรณ์ของ จำเลยที่ 1-4 ซึ่งมีทนายความถึง 6 คนได้ยื่นข้อต่อสู้ในชั้นอุทธรณ์รวมแล้วถึง 16 ประเด็น ซึ่งมีข้อเท็จจริง และข้อกฎหมายบางประเด็นซ้ำซ้อนกัน ที่น่าสนใจประเด็นแรกอุทธรณ์ว่า จำเลยทั้ง 4 ไม่ได้กระทำความผิด โดยจำเลยที่ 1 ไม่ได้มีหน้าที่ในการรายงานโฆษณาส่วนเกิน และช่วงเวลาออกอากาศต่างๆ เมื่อไม่มีหน้าที่ จึงไม่มีส่วนร่วมในการกระทำความผิด ศาลเห็นว่ากระบวนการสอบสวนและไต่สวนเกิดจากการตรวจสอบของเจ้าหน้าที่ระดับสูงใน อสมท. เป็นเบื้องต้นและนำข้อเท็จจริงเข้าสู่กระบวนการไต่สวน ดังนั้นข้อเท็จจริงในกระบวนการสอบสวนจึงน่าเชื่อถือ การกระทำของจำเลยที่ 1 จึงเป็นความผิดจะอ้างว่าไม่มีหน้าที่ซึ่งจะต้องแจ้งนั้น รับฟังไม่ได้ เพราะจำเลยเป็นผู้รู้ดีในการจัดคิวโฆษณา แม้ อสมท. ผู้เสียหาย ไม่มีระเบียบปฏิบัติชัดเจน แต่ในทางปฏิบัติก็มีการปฏิบัติกันต่อเนื่องมาอย่างขัดแจ้ง เมื่อมีการตรวจสอบการกระทำความผิด จำเลยที่ 1 ได้ทำพิรุธ โดยใช้น้ำยาลบความผิดป้ายที่รายการจัดคิวโฆษณา อ้างว่าทำไปโดยตกใจ คำให้การของจำเลยไม่น่าเชื่อถือ ฟังว่าจำเลยผิดตามฟ้อง 
 
              ประเด็นอุทธรณ์ข้อที่ 2 จำเลยที่ 1 ซัดทอดว่า เป็นการกระทำของจำเลยที่ 4 ที่ใช้ให้ตน ลบรายการคิวโฆษณา และต่อมาได้ติดต่อจำเลยที่ 4 ไม่ได้ เห็นว่า ข้อเท็จจริงตามฟ้องและการพิจารณาได้บรรยายถึงพฤติกรรมการกระทำของจำเลย ได้อย่างเชื่อมโยง พวกจำเลยมีความเกี่ยวพันกันในเรื่องของโฆษณาส่วนเกิน ที่จำเลยที่ 1 อ้างว่า กระทำไปโดยถูกกดดัน และมีคำมั่นสัญญา ก็ไม่น่าเชื่อถือ ฟังว่าจำเลยที่ 1 กระทำความผิดตามศาลชั้นต้น 
               ประเด็นอุทธรณ์ ข้อที่ 3 จำเลยอุทธรณ์ข้อกฎหมายว่า คำฟ้องโจทก์ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพราะฟ้องว่าพวกจำเลยมีเจตตาร่วมกันกระทำโดยแบ่งหน้าที่กันทำ รู้เห็นเป็นใจ และเกี่ยวพันกันในการกระทำผิด แต่ต่อมาศาลฟังว่าเป็นผู้สนับสนุน การกระทำของจำเลยที่ 3 ได้มอบเช็ค ภายหลังการกระทำความผิดที่ได้เกิดขึ้นไปแล้ว การกระทำจึงไม่ครบองค์ประกอบความผิดฐานเป็นตัวการ ศาลเห็นว่า การกระทำของจำเลยเป็นการกระทำครบองค์ประกอบความผิด เพียงแต่ศาลได้ปรับบทลงโทษ เป็นผู้ช่วยเหลือให้ความสะดวก ก่อนหรือขณะกระทำความผิด ตามกฎหมายอาญามาตรา 86 เท่านั้น ฟ้องของโจทก์จึงชอบแล้ว 
              ประเด็นที่ 4 จำเลยอุทธรณ์ว่า ฟ้องของโจทก์เคลือบคลุมเป็นฟ้องที่ไม่ช่อบด้วยกฎหมาย ศาลต้องยกฟ้องนั้น เห็นว่า การที่จำเลยอ้างว่า จำเลยที่ 1 มีหน้าที่ในการรายงานโฆษณาส่วนเกิน แต่กลับไม่รายงานโฆษณาออกอากาศให้ตรงกับความเป็นจริง แม้จะไม่ระบุว่าเป็นการออกอากาศในช่วงเวลาใด แต่คำฟ้องโจทก์ก็ได้บรรยายถึงความเกี่ยวข้องกันระหว่างบุคคล สิ่งของ เวลา สถานที่ ที่เกี่ยวข้อง เพียงพอให้จำเลยเข้าใจข้อหาได้ดี จึงเป็นฟ้องที่ชัดเจน ตามกฎหมาย ป.วิ อาญา มาตรา 158 (5) ฟ้องของโจทก์จึงไม่เคลือบคลุม 
              ข้อ 5 จำเลยได้อุทธรณ์ปัญหาข้อกฎหมาย ว่าคำพิพากษาศาลชั้นต้น เกินกว่าคำฟ้อง ศาลเห็นว่า ที่จำเลยที่ 4 อ้างว่า จำเลยที่ 2-4 เป็นเพียงผู้สนับสนุนไม่ใช่ตัวการ จึงลงโทษฐานผู้สนับสนุนไม่ได้นั้น ศาลเห็นว่า ฝ่ายโจทก์ได้ยื่นฟ้องจำเลยเป็นตัวการร่วมกระทำความผิด เป็นการยืนยันว่า จำเลยทั้ง 4 ได้ร่วมกันกระทำผิด แม้ศาลลงโทษเป็นผู้สนับสนุนก็เป็นเพียงการปรับบทลงโทษให้ถูกต้องเท่านั้น เพราะการกระทำฐานเป็นผู้สนับสนุนย่อมเป็นความผิดในตัวของความผิดตามฟ้อง ดังนั้นศาลชั้นต้นจึงพิพากษาไม่เกินคำฟ้อง 
              ข้อ 6 จำเลยที่ 4 ยื่นอุทธรณ์ปัญหาในข้อกฎหมาย เฉพาะในส่วนจำเลยที่ 4 ว่าเป็นคำพิพากษาไม่ชอบด้วยกฎมหายเพราะไม่ได้กล่าวถึงพฤติกรรมประกอบการกระทำของจำเลย ศาลเห็นว่า ศาลชั้นต้นได้วินิจฉัยการกระทำของจำเลยที่ 4 ว่าเป็นผู้ประสานใบคิวโฆษณาออกอากาศเป็นการแบ่งหน้าที่กันทำ รู้เห็นเป็นใจ พร้อมช่วยเหลือในการกระทำผิด คำพิพากษาไม่ต้องกล่าวให้เห็นพฤติกรรมของจำเลยทั้ง 4 ทั้งหมด ย่อมชอบด้วย ป.วิ อาญา มาตรา 186 (5) (6) แล้ว อุทธรณ์จำเลยฟังไม่ขึ้น
              ข้อ 7 จำเลยอุทธรณ์ว่าคำสั่งศาลปกครองที่เกี่ยวพันกับข้อเท็จจริงในคดีนี้ นำมารับฟังผูกพันจำเลยไม่ได้ ศาลเห็นว่าข้อต่อสู้ฟังไม่ขึ้น 
              ข้อ 8 จำเลยอุทธรณ์ว่ารายงานการสอบสวนและการไต่สวนของ ป.ป.ช. ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพราะไม่มีการสรุปข้อเท็จจริง เพื่อให้ฝ่ายตรวจสอบได้ดำเนินการก่อนการสอบสวน และไม่ได้นำเข้าสู่สำนวนคดีมาตั้งแต่แรกเห็นว่า ข้ออ้างดังกล่าวฟังไม่ขึ้น เพราะไม่ใช่เป็นการรับฟังพยานหลักฐานนอกสำนวน ประเด็นอุทธรณ์นี้จึงฟังไม่ขึ้น 
              ประเด็นอุทธรณ์ในข้อ 9 – 13 จำเลยได้อุทธรณ์เกี่ยวกับปัญหาข้อกฎหมาย เช่น การกระทำของจำเลยไม่มีกฎหมายบัญญัติว่าเป็นความผิด และบางกรณีเพิ่งจะมีกฎหมายบัญญัติขึ้นภายหลัง เช่น พ.ร.บ. ป.ป.ช. ประกอบรัฐธรรมนูญ ปี 2542 มาตรา 123/5 เกี่ยวกับการชี้มูลความผิด ซึ่งศาลเห็นว่า เป็นการสอบสวน และฟ้องตามกฎหมายที่ชอบแล้ว ข้อต่อสู้ของจำเลยเป็นเพียงการยกเอาประเด็นปลีกย่อย ขึ้นต่อสู้ จึงฟังไม่ขึ้น
              ข้อ 14 จำเลยที่ 3 นายสรยุทธ อ้างว่าไม่รู้จักกับจำเลยที่ 1 นางพิชชาภา, ไม่เคยจ่ายเช็คให้จำเลยที่ 1 เพื่อให้กระทำความผิด แต่เป็นการจ่ายเช็คไปตามปกติของกลไกทางการค้า เห็นว่า จำเลยที่ 3 เป็นกรรมการบริหารของจำเลยที่ 2 มีการกระทำที่มีความสัมพันธ์กับจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 3 จึงไม่อาจปฏิเสธความผิดได้ การโฆษณาส่วนเกิน จำเลยที่ 1 จะต้องดำเนินการ 2 ประเด็น คือ 1. ต้องแสดงรายการ ถึงสิทธิประโยชน์ที่จะได้รับ 2. ผู้โฆษณาส่วนเกินจะต้องชำระให้ถูกต้อง ที่จำเลยที่ 3 อ้างว่า ไม่ได้เกี่ยวข้องและไม่มีความสัมพันธ์กับจำเลยที่ 1 ฟังไม่ขึ้น เพราะจำเลยที่ 1 รับว่า ได้รับการร้องขอมาจากจำเลยที่ 3 และที่จำเลยต่อสู้ว่า รายงานการสอบสวนของ ป.ป.ช.เกี่ยวกับเรื่องนี้ ขัดต่อหลักนิติธรรม และไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ กล่าวคือ เป็นการสอบสวนที่จำเลยที่ 1 ถูกล่อลวง มีการให้คำมั่นสัญญา ว่าจะถูกกันตัวไว้เป็นพยาน อีกทั้งเมื่อถูกตั้งข้อกล่าวหา ก็ไม่มีการให้ทนายเข้ารับฟัง ศาลเห็นว่า การสอบสวนของ ป.ป.ช. ได้เป็นไปตามกฎหมายไม่มีการล่อลวงจำเลยที่ 1 ที่อ้างว่าจะถูกกันตัวไว้เป็นพยานนั้น ก็เป็นเพียงความรู้สึกฝ่ายเดีวของจำเลยเอง จึงไม่มีคำล่อลวงว่าจะปล่อยตัวเพราะจะกันไว้เป็นพยาน ศาลจึงรับฟังสำนวนของ ป.ป.ช. ไว้เป็นพยานในคดีนี้ได้ 

              นายสรยุทธ อุทธรณ์ในประเด็นที่ 15 ว่า จำเลยได้เคยประกอบคุณงามความดี และไม่ได้กระทำความผิด แต่หากฟังว่าจำเลยที่ 3 กระทำผิด และลงโทษ ก็จะเกิดความเสียหายอย่างใหญ่หลวง ศาลเห็นว่า การประกอบคุณงามความดี กับการกระทำผิดดังพฤติการณ์ที่กล่าวในฟ้อง และที่ฟังได้ในการพิจารณา เป็นคนละเรื่อง เมื่อฟังได้ว่าพวกจำเลยกระทำผิดจึงต้องลงโทษตามฟ้อง

              และที่จำเลยอ้างว่าการกระทำของจำเลยเป็นการทำผิดเพียงกรรมเดียว ไม่ใช่การกระทำต่างกรรมต่างวาระ ศาลเห็นว่า เมื่อจำเลยที่ 3 นายสรยุทธ จ่ายเช็คแต่ละใบ ย่อมเป็นความผิด 1 กรรม จะอ้างว่า เป็นการกระทำผิดกรรมเดียวไม่ได้ ข้ออ้างชั้นอุทธรณ์ของจำเลยทุกข้อจึงฟังไม่ขึ้น ที่ศาลชั้นต้นพิพากษามานั้นชอบแล้ว ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน 
              ต่อมา ศาลอาญาคดีทุจริตฯ ได้พิจารณาคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวของนายสรยยุทธ และจำเลยร่วมทั้งหมดแล้ว ซึ่งยืนหลักทรัพย์เงินสด และบัญชีเงินฝากคนละ 4 ล้านบาทแล้วเห็นควรส่งคำร้องให้ศาลฎีกาเป็นผู้สั่งประกันต่อไป ซึ่งจนถึงล่าสุด (14:30 น.) นายสรยุทธ ยังอยู่ห้องคุมขังใต้ถุนศาล เพื่อรอดูว่าศาลฎีกาจะมีคำสั่งประกันออกมาทันภายในเวลา 16:30 น. วันนี้หรือไม่ 

              สุดท้ายศาลฎีกามีคำสั่งไม่ให้ประกัน ส่งผลให้นายสรยุทธ และพวก ต้องถูกส่งตัวเข้าเรือนจำ (อ่านต่อ..."สรยุทธ" นอนคุก!!)

 

เรื่องที่เกี่ยวข้อง

วันนี้!! ชี้ชะตาอุทธรณ์ คดี‘สรยุทธ-ไร่ส้ม ’

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ