ข่าว

เปิดใจ 'กัณวีร์ สืบแสง' กับโมเดล สร้างสันติภาพ เมื่อก้าวเป็นรัฐบาล

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

'กัณวีร์ สืบแสง' ว่าที่ สส.ปาร์ตี้ลิสต์ พรรคเป็นธรรม เปิดใจกับบทบาทใหม่ มนุษยธรรมนำการเมือง แนวทาง 'สร้างสันติภาพ' คืนอำนาจให้ประชาชน

“ใช้ผมเถอะ ผมเป็นผู้รับใช้ประชาชน และผมจะเป็นผู้รับใช้รัฐบาลด้วยซ้ำไป ในการขับเคลื่อนงานต่างๆ ที่คุณเห็นว่าผมทำงานได้ และสิ่งแรกที่จะทำ คือเรื่องการสร้างสันติภาพ” นั่นคือสิ่งที่ "กัณวีร์ สืบแสง" ว่าที่ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเป็นธรรม หนึ่งในพรรคจัดตั้งรัฐบาล กล่าวกับทีมงาน คมชัดลึก ถึงสิ่งแรกที่เขาจะทำ เมื่อเข้าไปทำงานในรัฐบาล

 

 

 

ด้วยการทำงานด้านมนุษยธรรม และสิทธิมนุษยชน มาอย่างยาวนาน ทั้ง UNHCR และเป็นประธานมูลนิธิสิทธิเพื่อสันติภาพ ทำให้เขามีความตั้งใจที่จะผลักดันนโยบาย “สันติภาพกินได้” และ “มนุษยธรรมนำการเมือง” ซึ่งตรงกับอุดมการณ์ของพรรคเป็นธรรม ที่อยากเห็น ประชาชนเป็นใหญ่ ประชาธิปไตยต้องเป็นธรรม “คมชัดลึก” เปิดใจในทุกแง่มุมการทำงาน ของผู้ชายที่ชื่อ “นล” กัณวีร์ สืบแสง

 

กัณวีร์ สืบแสง ว่าที่ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเป็นธรรม

อะไรทำให้ตัดสินใจทำงานด้านการเมือง

 

เหตุผลที่อยากทำงานการเมือง เนื่องจากรู้สึกว่าระบอบประชาธิปไตยของประเทศไทย คือเหตุการณ์ฉุกเฉิน ผมมองเห็นเมื่อ 91 ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยยังไม่มีต้นระบอบประชาธิปไตย ที่ฝังรากลึกลงไปในดินเลย เพราะฉะนั้นหลักการต่างๆ ที่เราพยายามที่จะเอามานำการเมืองของประเทศไทย ไม่ว่าทหารนำการเมือง เศรษฐกิจนำการเมือง ราชการนำการเมือง ทุกทฤษฎีที่ผ่านมา ไม่สามารถทำให้ระบอบประชาธิปไตยมันงอกงามได้ในประเทศนี้ จึงอยากเอาประสบการณ์ ที่ไปทำงานจริง ในสถานการณ์ฉุกเฉิน เข้ามาทำ ด้วยการนำหลักการเรื่อง มนุษยธรรมนำการเมือง ให้ได้ โดยเอาประชาชนเป็นศูนย์กลาง และต้องเป็นอิสระจากกลุ่มนายทุนต่างๆ เพราะฉะนั้น หลักมนุษยธรรมนำการเมือง จะทำให้ประชาธิปไตยสามารถหยั่งรากลึกลงไปในผืนแผ่นดินแห่งนี้ได้ และเราจะเห็นประชาชนเป็นศูนย์กลางของอำนาจ อำนาจจะกลับมาสู่ประชาชน

 

 

นโยบายแรกที่จะทำเมื่อเป็นรัฐบาล

 

จะเป็นเรื่องการสร้างสันติภาพ เพราะเรื่องนี้เป็นสิ่งที่เราให้คำมั่น และคำสัตย์ กับพี่น้องประชาชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ว่าเราจะทำทันที เพราะฉะนั้นสิ่งแรกที่จะทำ คือเสนอกระบวนการสร้างสันติภาพแบบยั่งยืน

 

กัณวีร์ สืบแสง ว่าที่ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเป็นธรรม

นโยบายยุบ กอ.รมน. และ ศอ.บต.

 

โครงสร้างการบริหารจัดการของภาครัฐ ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือ ปาตานี มันทับซ้อนกันค่อนข้างมาก จนทำให้เกิดความย้วย ศอ.บต. เป็นรัฐบาลส่วนหน้า ควรมีอำนาจในการตัดสินใจโดยเร็ว สามารถกระจายเงินงบประมาณต่างๆ ให้ประชาชนที่ได้รับการเยียวยาโดยเร็ว แต่ตอนนี้ ศอ.บต. ไม่มีอำนาจในการตัดสินใจระดับนโยบายได้

 

 

"พอมีปัญหาด้านนโยบาย เดี๋ยวผมถามนายกฯ ก่อน แล้วจะมีคุณไว้เพื่ออะไร ถ้าคุณไม่สามารถตัดสินใจอะไรได้ ก็อย่ามี ก็ยุบไป"

 

 

กัณวีร์ ยกตัวอย่างปัญหาประมงในปัตตานี นราธิวาส ในเมื่อรัฐบาลไทยไปเซ็น MOU ในเรื่องประมงกับทางอียู ทำให้พี่น้องประมง ไม่สามารถออกเรือได้ วิถีประมงปัตตานี และนราธิวาส ถูกตัดขาด กี่ปีแล้ว ที่การทำประมงหยุดชะงัก แล้วบอกจะเยียวยาให้ จนต้องหนีไปอยู่มาเลเซีย ทั้งที่ ศอ.บต. ยังถืองบประมาณอยู่ แต่ไม่ยอมเอาเงินให้ เมื่อจี้ถามไป ก็บอกว่าไม่ทราบ ถ้าไม่ทราบจะมีคุณไว้ทำไม เพราะฉะนั้นก็ยุบไป

 

 

ส่วน กอ.รมน. มีไว้เพื่ออะไร กัณวีร์ บอกว่า เขายังมองไม่ออก หลังจากรัฐประหารเกิดขึ้น มีกฎอัยการศึก ทำให้เหตุการณ์เลวร้ายมากขึ้น ประชาชนในพื้นที่เห็นเหตุการณ์ที่ไม่ปกติแล้วเป็นปกติ เช่น ทหารสามารถใช้อาวุธเดินมาเคาะประตูตอนตี 4 เดินเข้าบ้าน ชาวบ้านบอกเป็นเรื่องปกติ ตอนกลางวันนั่งกินข้าว กินน้ำชากันอยู่ ถืออาวุธครบมือเดินมองหน้าทุกคน ชาวบ้านบอกว่า ปกติ แต่ผมมองว่า การปกติของพวกเรา เป็นสิ่งไม่ปกติแล้ว ถ้าทหารถืออาวุธครบมือ แล้วเดินไปเดินมา หรือเดินมาเคาะประตูบ้าน มองหาของในบ้านแบบง่ายดาย แล้วบอกปกติ ผมว่าประเทศนี้ไม่ปกติ ผมก็เลยเสนอในการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างระบบราชการ ด้วยการยุบ กอ.รมน. และ ศอ.บต.

 

โดยการเสนอในเรื่องจังหวัดจัดการตนเอง ในพื้นที่ชายแดน และ จังหวัดชายฝั่งทะเล โดยกระจายอำนาจเต็มรูปแบบ ให้มีการเลือกตั้งผู้ว่าฯโดยตรง เลือกตั้งผู้แทนของเขต และอำเภอโดยตรง คล้ายกับ กทม. เพราะจังหวัดเหล่านี้ มีสารตั้งต้นที่ทำให้จัดการตนเองได้ คือ เม็ดเงินการส่งออกสินค้าชายแดน ที่มีมูลค่ากว่า 1.77 ล้านบาท เบื้องต้น 70% บริหารเข้าพื้นที่ และอีก 30% เข้าส่วนกลาง นั่นไม่ได้หมายความว่าแบ่งแยกดินแดน แต่ให้บริหารจัดการตนเอง เพื่อกำหนดทิศทาง

 

กัณวีร์ สืบแสง หาเสียงเลือกตั้ง

 

ผู้ว่าราชการจังหวัด ต้องมาจากการเลือกตั้ง

 

การแต่งตั้งผู้ว่าฯ เป็นความคิดของคนไทยตั้งแต่สมัยโบราณ จนถึงปัจจุบัน แต่ต้องเปลี่ยนแปลงไป คนที่จะเป็นผู้นำเขา ต้องเป็นคนรับใช้ประชาชน ความคิดที่บอกว่าเป็นเจ้าคนนายคน ต้องเปลี่ยนแปลงไป เพราะฉะนั้น ผู้ว่าราชการจังหวัดที่จะเข้ามา จะต้องมาจากการเลือกตั้ง และจำเป็นต้องเอาประชาชนเป็นใหญ่ให้ได้ เพราะฉะนั้น กอ.รมน. และ ศอ.บต. จำเป็นต้องถูกยุบ

 

 

กัณวีร์ ย้ำว่า อีกเรื่องที่เสนอโครงการคือ พาทหารกลับบ้าน และถนนสะอาดปราศจากด่านลอย ที่มีกว่า 1,800 ด่าน ถ้าทำได้ สองตัวนี้ ถ้าเราพาทหารกลับบ้านได้ และปราศจากด่านลอย จะเป็นตัวชี้วัดที่ดีว่า สันติภาพที่ยั่งยืนได้เกิดขึ้นแล้วในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ 

 

“จริงๆแล้ว เราไม่ได้เอาออกทันที และเราไม่ได้เอาออกทุกด่าน เราเอาออกแต่ด่านไร้สาระ แต่ด่านหลักยังมี เราจะเอาออกก็ต่อเมื่อ 3 เรื่องเหล่านี้ ถูกวางกรอบหลักเกณฑ์ ผมว่าประเทศนี้แปลก เกิดอะไรขึ้นชอบคิดถึงทหาร ไม่ใช่ทหารไม่มีดีนะ ทหารดี แต่ทหารก็มีอาณัติของตัวเอง คือป้องกันศัตรูจากภายนอก ทหารต้องทันสมัย ออกไปอยู่บริเวณชายแดน ทำหน้าที่ตรงนั้นให้ดี” กัณวีร์ อธิบายให้ฟัง

 

พิธา ลิ้มเจริญรัตน์-กัณวีร์ สืบแสง

 

ตำแหน่งไหนในรัฐบาลที่คิดว่าเป็นแล้วจะขับเคลื่อนทุกนโยบายได้

 

คาดหวังว่า ผู้นำรัฐบาลจะเห็นว่าพรรคเป็นธรรม สามารถทำงานได้ จะใช้ศักยภาพที่เรามีในการผลักดันงานต่างๆ แต่ตำแหน่งเราไม่ได้คาดหวัง ไม่ได้ต่อรอง เราคาดหวังว่า “ใช้ผมเถอะ ผมเป็นผู้รับใช้ประชาชน และผมจะเป็นผู้รับใช้รัฐบาลด้วยซ้ำไป ในการขับเคลื่อนงานต่างๆ ที่คุณเห็นว่าผมทำงานได้ ไม่ว่าจะเป็นงานด้านการสร้างสันติภาพในจังหวัดชายแดนภาคใต้, งานทางด้านจุดยืนทางการทูตของไทยในเวทีโลก, เรื่องผู้ลี้ภัย, แรงงานข้ามชาติ งานด้านสิทธิมนุษยชน มนุษยธรรม เรามีศักยภาพทำงานได้ เพราะฉะนั้น ใช้พวกผมเถอะ

 

จะใช้เวลาในการขับเคลื่อนนานแค่ไหนให้เป็นรูปธรรม

 

มันใช้เวลาแน่นอน แต่ถ้าเราไม่นับหนึ่ง ต่อไปมันก็จะทำให้ระบอบประชาธิปไตยไม่เกิดขึ้นในประเทศนี้ ผมจะเป็นเสียงเดียวในรัฐบาลชุดนี้ ถ้าประชาชนเข้าใจแบบเดียวกันว่า จำเป็นต้องนำมนุษยธรรมนำการเมือง มันจะทำให้ประชาธิปไตยเดินได้ ตอนนี้อำนาจจะต้องกลับคืนมาสู่ประชาชน ผมยังเชื่อมั่น 

 

“การเมืองไทยยังเป็นการเมืองแบบเดิมๆ มีการจ่ายเงินในคืนหมาหอน แต่ที่เจอกับตา คนที่รับเงิน เดินทางกลับมาบริจาคเงินนั้นให้มัสยิด เขาบอกว่าเป็นเงินสกปรก หลายคนเอาเงินมาคืนหัวคะแนน ทำให้เห็นว่าประชาชนตื่นตัวค่อนข้างมาก ไม่เหมือนสมัยก่อน ที่รับเงินแล้วจะเก็บไว้ เลือกไม่เลือกเป็นอีกเรื่องหนึ่ง แต่ตอนนี้แสดงให้เห็นเป็นเชิงสัญลักษณ์ว่า เงินที่คุณให้มา เป็นเงินสกปรก ถ้าคุณไม่รับคืน ก็จะเอาไปบริจาค”

 

key point ส่งท้าย

 

คิดอย่างไรกับการที่ตอนนี้หลายคนยกให้เป็น "แดดดี้" ผมเคยทวงตำแหน่งจากคุณ ศิธา ทิวารี แล้ว แต่คุณศิธา ไม่ยอมยกตำแหน่งนี้ให้ ตอนนี้เลยต้องเป็น "แดดดี้ปุ่น" กับ "นายหัวนล"

 

 

 

 

วรรณพร เปรมจิตต์ รายงาน

 

 

 

 

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ