ข่าว

"เลขา สมช."แจงนัด"สื่อ"พรุ่งนี้ กำหนดทิศทางเสนอข่าว"โควิด-19" ยันไม่ได้คุมสื่อ

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

เลขาฯ สมช."พล.อ.ณัฐพล นาคพาณิชย์ "แจงนัดสื่อทีวีพรุ่งนี้เพื่อกำหนดทิศทางเสนอข่าว"โควิด-19" ยันไม่ได้ควบคุมสื่อ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่าเมื่อวันที่ 17 ก.ค.2564 พล.อ.ณัฐพล นาคพาณิชย์ เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการ ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด(ศปก.ศบค.) กล่าวถึงความเคลื่อนไหว ว่า หลังจากที่ได้มีการรายงานว่าวันที่ 18 ก.ค. ศปก.ศบค.ได้เชิญตัวแทนสื่อมวลชนในส่วนของสถานีโทรทัศน์ในระดับผู้มีอำนาจตัดสินใจในการกำหนดทิศทางการนำเสนอข่าวเข้าหารือในเวลา 13.30 น.ที่ตึกสันติไมตรีทำเนียบรัฐบาลนั้น

ล่าสุดได้มีการเปลี่ยนแปลงสถานที่จากทำเนียบรัฐบาลไปใช้ที่สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) แทน

 

ในวันเดียวกันนี้ ( 17 ก.ค. ) ศปก.ศบค.ได้ทวีตข้อความผ่านทวิตเตอร์ชี้แจงถึงเรื่องดังกล่าวระบุว่า ศบค.ให้ความสำคัญกับเสรีภาพในการนำเสนอข่าวจึงไม่ได้มีเจตนาควบคุมการสื่อสารของสื่อ

 

สำหรับการหารือในวันที่ 18 ก.ค. 64 ผอ.ศปก.ศบค. ต้องการชี้แจงและทำความเข้าใจเกี่ยวกับมาตรการเข้มข้นที่กำลังจะบังคับใช้ให้สื่อทราบโดยละเอียดพร้อมเปิดโอกาสให้สื่อซักถามข้อสงสัยได้

 

ทั้งนี้ก่อนหน้านี้เมื่อวันที่12 ก.ค. 2564เป็นวันแรกของการบังคับใช้ข้อกำหนดนายกรัฐมนตรีที่ออกตามความในมาตรา 9 ของพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯฉบับที่ 27 ซึ่งเป็นฉบับที่เพิ่มความเข้มงวดของข้อห้ามต่าง ๆ ท่ามกลางสถานการณ์ที่พบผู้ติดเชื้อ"โควิด"รายวันหลักจำนวน 9,000 คนและระบบสาธารณสุขของประเทศไม่อาจรองรับสถานการณ์ได้ มาตรการห้ามออกนอกเคหสถานในเวลากลางคืนถูกนำมาใช้อีกครั้งพร้อมกับการสั่งปิดตลาด ร้านอาหาร ห้างสรรพสินค้า ในเวลา 20.00 น.
 

ข้อกำหนดฉบับที่ 27 ที่ลงนามประกาศใช้โดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ยังเขียนไว้ในข้อ 11. เป็นข้อจำกัดการแสดงความคิดเห็น ภายใต้สถานการณ์ที่อ่อนไหวของโรคระบาด ดังนี้

 

"ข้อ11มาตรการเพื่อมิให้มีการบิดเบือนข้อมูลข่าวสารอันทำให้เกิดความเข้าใจผิดในสถานการณ์ฉุกเฉิน การเสนอข่าวหรือการทำให้แพร่หลายซึ่งหนังสือ สิ่งพิมพ์ หรือสื่ออื่นใดที่มีข้อความอันอาจทำให้ประชาชนเกิดความหวาดกลัวหรือเจตนาบิดเบือนข้อมูลข่าวสารทำให้เกิดความเข้าใจผิดในสถานการณ์ฉุกเฉินจนกระทบต่อความมั่นคงของรัฐหรือความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนทั่วราชอาณาจักรนั้น เป็นความผิดตามมาตรา 9 (3) แห่งพระราชกำหนด การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548" 
 

การกระทำที่จะเป็นความผิดตามข้อ 11 ต้องมีองค์ประกอบทุกข้อรวมกัน ดังนี้

 

1.การเสนอข่าวหรือทำให้แพร่หลายซึ่งหนังสือ สิ่งพิมพ์หรือสื่ออื่นใด(เข้าใจได้ว่ารวมถึงสื่อออนไลน์)

 

2. ที่มีข้อความอันอาจ

 

2.1 ทำให้ประชาชนเกิดความหวาดกลัว หรือ

 

2.2 เจตนาบิดเบือนทำให้เกิดความเข้าใจผิดในสถานการณ์ฉุกเฉินจนกระทบต่อความมั่นคงของรัฐหรือความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน

 
3. การกระทำเกิดขึ้นที่ใดที่หนึ่งในราชอาณาจักรไทยไม่จำกัดเฉพาะพื้นที่ควบคุมสูงสุดเท่านั้น
 

การฝ่าฝืนข้อ 11 มีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี ปรับไม่เกิน 40,000 บาท ซึ่งเป็นโทษที่กำหนดไว้ในมาตรา 18 ของพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ 
 

มีข้อสังเกตว่าการเขียนข้อห้ามในข้อกำหนดฉบับที่ 27 เอาผิดกับข้อความที่ทำให้ประชาชนหวาดกลัวทั้งที่เป็นความจริง
 

ในเรื่องนี้เมื่อมีการนำไปสอบถามนายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ มือกฎหมายของรัฐบาล นายวิษณุ บอกว่า หากเสนอข่าวข้อเท็จจริงไม่ถือว่ามีความผิด

 

อย่างไรก็ตามสำหรับข้อถกเถียงวิพากษ์วิจารณ์ที่เกิดขึ้นนั้นยังไม่มีข้อสรุปเนื่องจากเป็นการตีความข้อกฎหมายต่างกันแม้ฝ่ายรัฐจะมองว่าเป็นการสกัดการเผยแพร่ข้อมูลบิดเบือนและการปั่นกระแสสร้างความหวาดกลัวในสังคมจนส่งผลกระทบให้การบริหารนโยบายเกี่ยวกับการจัดการโควิด-19และการบริหารวัคซีนมีอุปสรรค

 

แต่มีหลายฝ่ายตั้งข้อสังเกตกับการออกข้อกำหนดดังกล่าวเป็นความพยายามในการปิดปากประชาชนและสื่อ ไม่ให้วิพากษ์วิจารณ์การทำงานของรัฐบาลที่ส่อจะผิดพลาดหลายครั้งและอาจเป็นกรณีที่ทำให้รัฐบาล พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชาถูกมองว่าคุกคามสื่ออีกครั้งหนึ่ง

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ