ข่าว

ศาลรัฐธรรมนูญมติเอกฉันท์ 9:0 ชี้ "เทพไท เสนพงศ์" พ้น ส.ส.นครศรีธรรมราช เขต 3

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยมติเอกฉันท์ 9:0 ให้ " เทพไท เสนพงศ์" พ้นจากตำแหน่ง ส.ส. นครศรีธรรมราช เขต 3 สืบเนื่องจากก่อนหน้านี้ศาลนครศรีธรรมราชฯ พิพากษาจำคุก นายเทพไท 2 ปี ไม่รอลงอาญา พร้อมตัดสิทธิทางการเมือง 10 ปี จากคดีทุจริตเลือกตั้งอบจ.

วันที่ 27 มกราคม 2564 เวลา 15.00 น.ศาลรัฐธรรมนูญอ่านคำวินิจฉัย กรณีคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 82 ว่า สมาชิกภาพของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของ นายเทพไท เสนพงศ์ สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญ มาตรา101(6) ประกอบมาตรา 98(4) และมาตรา 96(2) หรือไม่

ก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 16 กันยายน 2563 ศาลรัฐธรรมนูญ มีคำสั่งหยุดปฏิบัติหน้าที่ของ นายเทพไท ส.ส. จังหวัดนครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ จนกว่าศาลฯ จะมีคำวินิจฉัย

 

หลังจาก นายเทพไท ถูกศาลจังหวัดนครศรีธรรมราช พิพากษาจำคุก 2 ปี โดยไม่รอลงอาญา และตัดสิทธิทางการเมือง 10 ปี จากคดีทุจริตเลือกตั้ง นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) จังหวัดนครศรีธรรมราช เมื่อปี 2557 ตาม พ.ร.บ. การเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นและผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ.2545 ในความผิดฐาน “เลี้ยงหรือรับจะจัดเลี้ยงแก่ผู้ใดเพื่อจูงใจให้ผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งลงคะแนนเลือกตั้งให้แก่ผู้สมัครอื่น”

โดยในวันนี้ (27ม.ค.64) ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยให้นายเทพไท เสนพงศ์ พ้นจากการเป็นสมาชิกภาพสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ( ส.ส.) ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 82 กรณีมีลักษณะต้องห้าม ขัดต่อการเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เนื่องจาก ต้องคำพิพากษาให้จำคุกและถูกคุมขังอยู่โดยกฎหมายของศาล

โดยรัฐธรรมนูญมาตรา 100 ได้กำหนดการดำรงอยู่ของ ส.ส. และมาตรา 101 ประกอบมาตรา 98 บัญญัติให้สมาชิกสภาพ ส.ส.สิ้นสุดลง เมื่อมีลักษณะต้องห้ามใช้สิทธิเลือกตั้ง โดยบุคคลที่อยู่ระหว่างเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง ไม่ว่าคดีจะสิ้นสุดหรือไม่ เป็นบุคคลห้ามใช้สิทธิเลือกตั้ง ซึ่งสอดคล้องกับคำวินิจฉัยของศาลที่มีผลทันที ไม่ว่าจะถึงที่สุดแล้วหรือไม่ ถึงเข้าลักษณะต้องห้ามดังกล่าว การที่ ส.ส.กระทำความผิด จนศาลเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง ส.ส.ผู้นั้น ย่อมไม่อาจอยู่ในฐานะที่จะไว้วางในใจความสุจริตได้ และไม่อาจเข้ามาทำหน้าที่ได้

เมื่อนายเทพไท เป็น ส.ส.ตั้งแต่วันเลือกตั้งต่อมาศาลนครศรีธรรมราช ให้เพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง 10 ปี ดังนั้น สมาชิกภาพ ส.ส.ของนายเทพไท จึงสิ้นสุดลงนับแต่วันที่หยุดปฏิบัติหน้าที่ โดยไม่กระทบการทำหน้าที่ที่ผ่านมา ซึ่งนายเทพไท ถูกสั่งให้ยุติการปฏิบัติหน้าที่ 16 กันยายน 2563 จึงทำให้นายเทพไท พ้นสมาชิกสภาพ ส.ส. ตั้งแต่วันดังกล่าว และกำหนดให้วันนี้ 27 มกราคม เป็นวันที่ตำแหน่ง ส.ส.นครศรีธรรมราช เขต 3 ว่างลง

รายละเอียดคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ

ศาลเห็นว่า รัฐธรรมนูญ มาตรา 101กำหนดให้ความเป็นสมาชิกสภาส.ส.เริ่มตั้งแต่วันเลือกตั้ง และสิ้นสุดลงได้ด้วยเหตุต่างๆ ตามที่รัฐธรรมนูญบัญญัติไว้ ซึ่งตามประเด็นแห่งคดีนี้
โดยมาตรา 101ประกอบมาตรา 98(4) ตามประเด็นแห่งคดีบัญญัติให้ความเป็นสมาชิกภาพส.ส.สิ้นสุดลง เมื่อมีลักษณะต้องห้ามไม่เป็นผู้มีสิทธิเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญ 96 (1) (2)(4)

โดย(2) บัญญัติให้บุคคลที่อยู่ในระหว่างถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งไม่ว่าคดีนั้นจะถึงที่สุดแล้วหรือไม่ เป็นบุคคลต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิเลือกตั้ง บทบัญญัติรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับบุคคลต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิเลือกตั้งนั้น

มีการแก้ไขเพิ่มเติมจากรัฐธรรมนูญที่ผ่านมาว่า ไม่ว่าคดีนั้นจะถึงที่สุดแล้วหรือไม่ สอดคล้องกับหลักการ ที่คำพิพากษาของศาลย่อมมีผลใช้บังคับได้จนกว่าศาลสูงมีคำพิพากษาเป็นอย่างอื่น

ดังนั้นเมื่อศาลมีคำพิพากษาเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของผู้ใดแล้ว ผู้นั้นย่อมมีลักษณะต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิเลือกตั้งทันที ตามมาตรา 96(2)และเป็นลักษณะของบุคคลห้ามใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งส.ส.ตามมาตรา 98 (4) การที่รัฐธรรมนูญนำลักษณะต้องห้ามการใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้ง มากำหนดเป็นลักษณะต้องห้ามการดำรงตำแหน่งส.ส. ตาม
รัฐธรรมนูญมาตรา 101(6) โดยไม่ต้องรอคำพิพากษาถึงที่สุด

“เนื่องจาก ส.ส. เป็นบุคคลผู้ใช้อำนาจนิติบัญญัติ ในฐานะผู้แทนปวงชนชาวไทย ต้องได้รับการกลั่นกรองคุณสมบัติเบื้องต้นและลักษณะต้องห้ามเพื่อเป็นหลักประกันว่าผู้ทำหน้าที่ส.ส.จะต้องเป็นบุคคลที่มีความประพฤติและคุณสมบัติเป็นที่ยอมรับและเชื่อถือของประชาชน ปฏิบัติหน้าที่อย่างซื่อสัตย์ สุจริต ปราศจากเหตุมัวหมอง ในการปฏิบัติหน้าที่เพื่อประโยชน์ส่วนรวม ไม่ทำให้เกิดความเสื่อมเสียแก่เกียรติศักดิ์ เกียรติและศักดิ์ศรีของสภาผู้แทนราษฎร การที่ส.ส.ผู้ใดทำผิดจนศาลมีคำสั่งให้เพิกถอนสิทธิเลือกตั้งตามมาตรา 96(2) ส.ส.ผู้นั้นย่อมไม่อาจอยู่ในฐานะที่จะไว้วางใจในความสุจริตได้ และไม่สมควรให้เข้ามามีอำนาจในทางการเมือง”

ส่วนข้อโต้แย้งของนายเทพไท ผู้ถูกร้องที่อ้างว่ารัฐธรรมนูญบัญญัติเหตุต่างๆ ที่มีผลให้สมาชิกภาพส.ส.สิ้นสุดลง แต่ไม่ได้ระบุถึงเหตุเกี่ยวกับการเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งซึ่งเป็นลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 96(2) ไว้โดยตรงจึงไม่มีผลให้สมาชิกภาพส.ส.สิ้นสุด นอกจากนี้การถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญมาตรา 96(2) จะต้องเกิดขึ้นในวันเลือกตั้งเท่านั้น ศาลเห็นว่า เมื่อตีความรัฐธรรมนูญมาตรา 101(6) มาตรา 98 และมาตรา 96(2) ประกอบกันแล้วหากมีเหตุตามมาตรา 96 และมาตรา 98 ระหว่างการดำรงตำแหน่งก็มีผลทำให้สมาชิกภาพส.ส.สิ้นสุดลงได้ มิใช่เป็นเพียงลักษณะต้องห้ามขณะที่นายเทพไทใช้สิทธิลงสมัครรับเลือกตั้ง หรือขณะใช้สิทธิเลือกตั้ง

ส่วนที่นายเทพไท แย้งว่าสมาชิกภาพส.ส.ต้องสิ้นสุดลงทั้งที่คำพิพากษาในคดียังไม่ถึงที่สุดเป็นผลร้ายและก่อให้เกิดความเสียหาย ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 98 ( 9) (10) (11) ซึ่งสอดคล้องกับรัฐธรรมนูญมาตรา 29 วรรคสองที่ให้ความเป็นธรรมและคุ้มครองผู้ต้องหาและจำเลยในคดีอาญาเพื่อให้มีการพิสูจน์ความจริงก่อนคดีถึงที่สุดเห็นว่า ข้อเท็จจริงในคดีนี้เป็นกรณีตามรัฐธรรมนูญมาตรา 101( 6) ประกอบมาตรามาตรา 98(4) และมาตรา 96(2) ซึ่งใช้คำว่า “อยู่ในระหว่างเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งไม่ว่าคดีนั้นจะถึงที่สุดแล้วหรือไม่ “ ไม่ได้ใช้คำว่าคำพิพากษาถึงที่สุด บทบัญญัติลายลักษณ์อักษรมีความชัดเจนไม่อาจตีความเป็นอย่างอื่นได้ หมายความว่าสมาชิกภาพส.ส.ต้องสิ้นสุดลง เมื่อต้องคำพิพากษาเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งโดยไม่ต้องรอคดีถึงที่สุดก่อน

สำหรับที่อ้างรัฐธรรมนูญมาตรา 29 วรรคสองโดยให้สันนิษฐานว่าผู้ต้องหาบริสุทธิ์จนกว่าจะพิสูจน์ได้นั้น กรณีของนายเทพไท เป็นการดำเนินการกระบวนการยุติธรรมทางรัฐธรรมนูญในปัญหาเกี่ยวกับความถูกต้อง สมบูรณ์ของการดำรงตำแหน่งทางการเมือง ศาลรัฐธรรมนูญจึงต้องพิจารณาลายลักษณ์อักษรและเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญเป็นสำคัญข้อโต้แย้งดังกล่าวจึงฟังไม่ขึ้นเช่นกัน

เมื่อนายเทพไทเป็นส.ส. นับแต่วันเลือกตั้งต่อมาวันที่ 28 ส.ค. 63ศาลจ.นครศรีธรรมราชมีคำพิพากษาให้เพิกถอนสิทธิเลือกตั้งเป็นระยะเวลา 10ปี นับแต่มีคำพิพากษาสมาชิกภาพส.ส. จึงสิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญมาตรา 101(6) ประกอบมาตรา 98 (4) และมาตรา 96(2)

ประเด็นที่ต้องพิจารณาต่อไปมีว่าสมาชิกภาพส.ส.สิ้นสุดลงนับแต่เมื่อใด เห็นว่ารัฐธรรมนูญมาตรา 82 วรรคสองบัญญัติว่ากรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าสมาชิกภาพส.ส.ของนายเทพไทให้สิ้นสุดลงให้ผู้นั้นพ้นจากตำแหน่งนับแต่วันที่พ้นจากการปฏิบัติหน้าที่ แต่ไม่กระทบต่อกิจการที่ได้กระทำไปก่อนพ้นจากตำแหน่ง เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าเมื่อวันที่ 16กันยายน 2563 ศาลรัฐธรรมนูญสั่งให้นายเทพไท หยุดปฏิบัติหน้าที่ จนกว่าศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัย ศาลรัฐธรรมนูญจึงต้องสั่งให้พ้นจากคำแหน่งนับแต่วันที่หยุดปฏิบัติหน้าที่นั้น

ดังนั้น สมาชิกภาพส.ส.ของนายเทพไท จึงสิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 82 วรรคสองนับแต่วันที่ 16 กันยายน 2563 เป็นต้นไป

และให้ถือว่าวันที่ตำแหน่งสมาชิกส.ส.ว่างลง คือวันที่ศาลรัฐธรรมนูญอ่านคำวินิจฉัยให้แก่คู่กรณีฟังโดยชอบ ตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ 2561 มาตรา 76 วรรคหนึ่ง ที่บัญญัติให้คำวินิจฉัยของศาลมีผลในวันอ่าน คือวันที่27 มกราคม 2564 อาศัยเหตุผลดังกล่าวข้างต้นจึงวินิจฉัยว่าสมาชิกภาพส.ส.ของนายเทพไท สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 101 (6 ) ประกอบมาตรา 98 (4) และมาตรา 96 (2) นับแต่วันที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งให้นายเทพไท หยุดปฏิบัติหน้าที่ คือวันที่ 16 กันยายน 2563

และถือว่าวันที่ศาลรัฐธรรมนูญ อ่านคำวินิจฉัยนั้นเป็นวันที่ตำแหน่งสมาชิกส.ส.ที่มาจากการเลือกตั้งแบบแบ่งเขตเลือกตั้งว่างลง ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 105 วรรคหนึ่ง (1) ประกอบมาตรา 102

 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับมติของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญกรณีมีคำวินิจฉัยให้สมาชิกภาพส.ส.ของนายเทพไท เสนพงศ์ สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 101 (6 ) ประกอบมาตรา 98 (4) และมาตรา 96 (2) นั้น มีรายงานคณะตุลาการฯมีมติเป็นเอกฉันท์ 9 ต่อ 0 

ทั้งนี้ กรณีดังกล่าวเกิดขึ้นหลังจังหวัดศาลนครศรีธรรมราช มีคำพิพากษาชั้นต้น จำคุกนายเทพไท 2 ปี โดยไม่รอลงอาญา พร้อมตัดสิทธิทางการเมือง 10 ปี จากคดีทุจริตเลือกตั้งนายก อบจ.นครศรีธรรมราช เมื่อปี 2557 ตามพระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นและผู้บริหารท้องถิ่น ฐานจัดเลี้ยงจูงใจให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งลงคะแนนเลือกตั้งให้แก่ผู้สมัคร แต่นายเทพไท ได้ยื่นต่อสู้อุทธรณ์คดีต่อ จึงทำให้เกิดข้อสงสัยว่า ท้ายที่สุดแล้วสถานะ ส.ส.ของนายเทพไท ได้สิ้นสุดตามคำพิพากษาศาลนครศรีธรรมราชแล้วหรือไม่

ขั้นตอนหลังจากนี้คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) จะต้องเสนอร่างพระราชกฤษฎีให้มีการเลือกตั้งเพื่อทดแทนตำแหน่งที่ว่าง ในเขตการเลือกตั้งที่ 3 จังหวัดนครศรีธรรมราช เพื่อจัดการเลือกตั้งซ่อม ภายใน 45 วัน นับแต่ศาลมีคำวินิจฉัย หรือประมาณวันที่ 7 มีนาคมนี้

ขณะที่ นายเทพไท ในวันนี้ (27 ม.ค.) ไม่ได้เดินทางมารับฟังคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญด้วยตัวเอง โดยได้ส่งทนายมารับทราบคำวินิจฉัย แต่ได้ไปปฏิบัติหน้าที่รองประธานกรรมาธิการวิสามัญร่างพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ เพื่อปลดล็อคพืชกระท่อม ออกจากบัญชียาเสพติด เพื่อเป็นการทิ้งทวนตำแหน่ง ส.ส.ครั้งสุดท้าย ซึ่งก่อนหน้านี้เจ้าตัวก็ได้ออกมายอมรับพร้อมน้อมรับคำวินิจฉัยที่เกิดขึ้น และภูมิใจที่ได้ปฏิบัติหน้าที่ตลอดช่วงระยะเวลาที่ผ่านมา

 

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ