ข่าว

คุ้มครองชั่วคราวห้าม กทม.สร้างทางเดินริมน้ำเจ้าพระยา

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ศาล ชี้ โครงการพัฒนาริมฝั่งเจ้าพระยาแผนสร้างทางเดินริมเจ้าพระยายาว 57 กม.กว้าง 6 เมตร ส่อไม่ใช่สิ่งล่วงล้ำแม่น้ำพึงอนุญาตได้ตามพ.ร.บ.การเดินเรือฯ-ไม่ส่งแปลนดูก่อนตาม กม. สั่งระงับชั่วคราวจนกว่าคดีจะพิพากษาหรือสั่งเปลี่ยนแปลง

 



            5 ก.พ.63 - ที่ศาลปกครองกลาง ถ.แจ้งวัฒนะ ศาลมีคำสั่งกำหนดมาตรการเพื่อบรรเทาทุกข์ชั่วคราวก่อนการพิพากษา กรณีเครือข่ายวางแผนและผังเมืองเพื่อสังคม ผู้ฟ้องที่ 1 กับพวก ยื่นขอให้ศาลเพิกถอนโครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา และให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่ 1, คณะกรรมการอำนวยการโครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ที่ 2 , กระทรวงมหาดไทยที่ 3 และกรุงเทพมหานคร ที่ 4 ยกเลิกการดำเนินโครงการดังกล่าวทั้งหมด

 

 

อ่านข่าว - 2 ปีได้ใช้ กทม.ลุยสร้างทางเลียบแม่น้ำเจ้าพระยา

               กทม.แจงศึกษาผลกระทบสร้างทางเลียบเจ้าพระยาทุกมิติ


 

 

 

 

 

 คุ้มครองชั่วคราวห้าม กทม.สร้างทางเดินริมน้ำเจ้าพระยา

 

           โดย "ศาลปกครองกลาง" พิจารณาแล้ว เห็นว่า การก่อสร้างทางเดินริมแม่น้ำเจ้าพระยา เป็น 1 ในจำนวน 12 แผนงานในโครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา โดยแผนงานดังกล่าวจะมีการ
ก่อสร้างทางเดินริมแม่น้ำเจ้าพระยา กว้างประมาณ 6 – 10 เมตร ยาวตลอดแนวแม่น้ำเจ้าพระยาทั้งสองฝั่งระยะทางประมาณ 57 กิโลเมตร ล่วงล้ำเข้าไปในแม่น้ำเจ้าพระยาเพื่อใช้เป็นทางสัญจร รองรับการเดินทาง ด้วยจักรยาน ชมทัศนียภาพ พักผ่อนหย่อนใจ และออกกำลังกาย น่าจะไม่ใช่อาคารหรือสิ่งล่วงล้ำลำแม่น้ำเจ้าพระยาที่เจ้าท่าจะพึงอนุญาตได้ตาม มาตรา 117 วรรคสอง พ.ร.บ.การเดินเรือในน่านน้ำไทย พ.ศ.2546 ประกอบกับกฎกระทรวง ฉบับที่ 63 (พ.ศ.2537) และการก่อสร้างทางเดินริมแม่น้ำเจ้าพระยามีผลกระทบต่อการเดินเรือในแม่น้ำเจ้าพระยา และไม่ใช่การสร้างสิ่งล่วงล้ำเข้าไปในแม่น้ำเจ้าพระยาเพื่อการคมนาคมและการขนส่งทางน้ำตามเจตนารมณ์ของกฎหมายว่าด้วยการผังเมือง
 

 

                อีกทั้งทางเดินริมแม่น้ำเจ้าพระยามีลักษณะเป็นอาคาร ตามมาตรา 4 พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 แต่ในการดำเนินโครงการดังกล่าว ไม่ปรากฏว่ากรุงเทพมหานคร ผู้ถูกฟ้องที่ 4 ได้มี การแจ้งและส่งแผนผังบริเวณ แบบแปลนฯ ให้เจ้าพนักงานท้องถิ่นก่อนทำการก่อสร้างตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 9 (พ.ศ.2528)ฯ กรณีจึงมีมูลว่าการก่อสร้างทางเดินริมแม่น้ำเจ้าพระยาตามโครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาน่าจะไม่ชอบด้วยกฎหมาย
 

 

                และเมื่อปรากฏว่า กรุงเทพมหานคร ผู้ถูกฟ้องที่ 4 ได้ดำเนินการเตรียมการที่จะดำเนินการก่อสร้างทางเดินริมแม่น้ำเจ้าพระยามาเป็นลำดับ กรณีจึงถือได้ว่าผู้ถูกฟ้องที่ 4 ตั้งใจที่จะกระทำต่อไป ซึ่งการละเมิดหรือการกระทำที่ถูกฟ้องร้องและการห้ามไม่ให้ผู้ถูกฟ้องที่ 4 ดำเนินการก่อสร้างทางเดินริมแม่น้ำเจ้าพระยาไม่ได้มีผลกระทบต่อการจัดทำบริการสาธารณะของผู้ถูกฟ้องที่ 4 ดังนั้นศาลจึงมีคำสั่งห้ามไม่ให้ผู้ถูกฟ้องที่ 4 ดำเนินโครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา เฉพาะในส่วนของแผนงานที่ 1 คือ ทางเดินริมแม่น้ำเจ้าพระยาไว้เป็นการชั่วคราวจนกว่าศาลจะมีคำพิพากษาหรือคำสั่งเป็นอย่างอื่น
 

 

             ผู้สื่อข่าวรายงานว่า คำสั่งคุ้มครองชั่วคราวดังกล่าว คู่ความยังสามารถยื่นอุทธรณ์ต่อศาลปกครองสูงสุดได้อีกภายใน 30 วันนับจากที่ศาลปกครองกลางซึ่งเป็นศาลชั้นต้นมีคำสั่ง กรณีดังกล่าวจึงยังไม่ถือว่าเป็นที่สิ้นสุด

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ