ข่าว

วุฒิสภา ยืนยันเดินหน้าลงมติร่างพ.ร.บ.งบฯวันนี้

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

วุฒิสภา ยืนยันลงมติร่างพ.ร.บ.งบฯ บ่ายสาม ไม่สนคำท้วง "นิพิฎฐ์" คืนร่างกม. หลังพบส.ส.กดบัตรแทนกัน ส่อทำร่างกม. เป็นโมฆะ  "คำนูณ" มองยกคำวินิจฉัยคดีอื่นเทียบไม่

 

รัฐสภา - 21 มกราคม 2563    "วุฒิสภา" ยืนยันลงมติร่างพ.ร.บ.งบฯ บ่ายสาม ไม่สนคำท้วง "นิพิฎฐ์" คืนร่างกม. หลังพบส.ส.กดบัตรแทนกัน ส่อทำร่างกม. เป็นโมฆะ  "คำนูณ" มองยกคำวินิจฉัยคดีอื่นเทียบไม่ได้ เพราะข้อเท็จจริงต่างกัน

  

 

ผู้สื่อข่าวรายงานว่าก่อนการประชุมวุฒิสภา เพื่อพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2563 ต่อเนื่องเป็นวันที่สอง นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานวุฒิสภา ฐานะประธานที่ประชุมได้เปิดให้ส.ว. หารือต่อประเด็นที่นายนิพิฎฐ์ อินทรสมบัติ อดีต ส.ส.พัทลุง พรรคประชาธิปัตย์ เปิดเผยผลการตรวจสอบว่าในชั้นการลงมติวาระสองและวาระสามของสภาผู้แทนราษฎร พบส.ส.ใช้สิทธิบุคคลอื่นกดบัตรแสดงตนและออกเสียงแทน พร้อมเสนอแนะวุฒิสภาให้ส่งร่าง พ.ร.บ.งบฯ 63 คืนสภาฯ ก่อนลงมติให้ความเห็นชอบหรือไม่  โดยมีส.ว.​อาทิ นายเสรี สุวรรณภานนท์ ส.ว. หารือ

 

ภายหลังการหารือดังกล่าวนายคำนูณ สิทธิสมาน ส.ว.​ ฐานะโฆษกคณะกรรมาธิการกิจการวุฒิสภาา (วิปวุฒิสภา) สรุปประเด็นว่านายพรเพชร วินิจฉัยในที่ประชุมและที่ประชุมยอมรับว่า ตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญไม่มีมาตราใดให้สิทธิส.ว. ส่งร่างพ.ร.บ.งบฯ คืนไปยังสภาฯ เพราะในขั้นตอนเมื่อสภาฯ ส่งร่างพ.ร.บ.งบฯ มายังวุฒิสภา ต้องเข้าสู่การพิจารณาภายใน 20 วันให้แล้วเสร็จ ไม่มีประเด็นอื่นที่จะยุติการพิจารณาได้ ยกเว้นสภาฯ จะเป็นผู้ขอคืนจากวุฒิสภา

 

ดังนั้นเมื่อสภาฯ ไม่ได้ขอคืน วุฒิสภาต้องพิจารณาให้แล้วเสร็จตามกระบวนการ และเมื่อวุฒิสภาลงมติเห็นชอบแล้ว ต้องส่งให้นายกฯ​โดยขั้นตอนนายกฯ ต้องรอการนำขึ้นทูลเกล้าไว้ 5 วันเพื่อให้สิทธิ ส.ส., ส.ว.หรือสมาชิกของรัฐสภา เข้าชื่อ 1 ใน 10 เพื่อยื่นเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญตามมาตรา 148 วรรคหนึ่ง ส่วนกรณีของร่างพ.ร.บ.งบฯ สามารถยื่นศาลรัฐธรรมนูญได้ตามมาตรา 144 แต่เป็นกรณีที่พบว่าสมาชิกได้ประโยชน์จากงบประมาณ  ดังนั้นเมื่อกระบวนการที่เกิดขึ้นยังไม่สามารถสรุปได้ วุฒิสภาต้องดำเนินการตามกระบวนการก่อน  

 

นายคำนูณ  กล่าวในความเห็นส่วนตัวต่อคำถามว่า ส.ว.มีอำนาจยับยั้ง ร่างพ.ร.บ.งบฯ 63 และส่งคืนไปยังสภาฯ คือ การลงมติไม่เห็นชอบ ว่าไม่ใช่แนวทางของวุฒิสภา ซึ่งการลงมติของส.ว. ที่ทำได้เพียงเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบนั้น ต้องเป็นประเด็นที่เกี่ยวกับเนื้อหา คือ ไม่รับร่างพ.ร.บ.งบฯ แต่กรณีที่เกิดขึ้นไม่เกี่ยวกับเนื้อหา แต่เป็นเพียงกระบวนการกล่าวหาในชั้นของสภาฯ ทั้งนี้การหยุดพิจารณาและส่งคืนไปยังสภาฯ ตามการอนุมานที่สภาฯ กล่าวหานั้น ไม่สามารถทำได้จนกว่าองค์กรที่มีหน้าที่วินิจฉัยชี้ขาด คือ ศาลรัฐธรรมนูญ ตัดสิน แต่หากยังไม่มีคำตัดสิน ถือว่ายังเป็นความถูกต้อง 

 

"ที่มีผู้ยกเปรียบเทียบคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยในคดีที่เคยเกิดก่อนหน้านี้ ต้องยอมรับว่าแต่ละคดีมีข้อเท็จจริงแตกต่างกัน ไม่เหมือนกัน ดังนั้นหากจะสรุปว่าผิดหรือไม่ถูกต้อง  ศาลรัฐธรรมนูญต้องชี้ขาด  ไม่ใช่สภาฯ หรือวุฒิสภา ส่วนสภาฯ หรือวุฒิสภา หากเห็นว่าไม่ถูกต้อง จะมีช่องทางดำเนินการตามรัฐธรรมนูญกำหนดไว้ ซึ่งวุฒิสภานัดหมายจะลงมติร่างพ.ร.บ.งบฯ 63 ประมาณ 15.00 น." นายคำนูณ กล่าว. 
 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ