ข่าว

รัฐบาลไม่มีหน้าที่ดูฤกษ์ยาม อภิปรายไม่ไว้วางใจ

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

"วิษณุ" เผย "รบ." ไม่มีหน้าที่ดูฤกษ์ยาม "อภิปรายไม่ไว้วางใจ" เผย "ฝ่ายค้าน" ทำถูกแล้ว หารือ "ชวน" ปม วงรอบ นับ1ปี หรือ รอบสมัยประชุม

 


           26 พ.ย.2562-ที่ทำเนียบรัฐบาล นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีนายสุทิน คลังแสง ประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมฝ่ายค้าน (วิปฝ่ายค้าน) ยื่นหนังสือหารือประธานสภาผู้แทนราษฎรเกี่ยวกับรอบระยะเวลาในการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล ว่า ทางสภาฯไม่ได้มีการประสานอะไรมายังรัฐบาล ส่วนที่นายสุทินยังสงสัยเรื่องวงรอบอภิปรายไม่ไว้วางใจนั้น ถือว่าทำถูกต้องแล้วที่หารือกับประธานสภาฯ ซึ่งข้อเท็จจริงนายสุทินไม่ได้เห็นต่างกับตนเรื่องกรอบเวลา เพียงแต่สงสัยเท่านั้นเองว่าใช่หรือไม่ ประเด็นที่ต้องมาถกเถียงกันคือ คำว่า 1 ปี หมายถึงปี พ.ศ.ละครั้ง หรือนับรอบสมัยประชุมสภาฯ ซึ่งจะครบในเดือน พ.ค.63 ตนเห็นอย่างนี้ แต่ตนไม่มีหน้าที่วินิจฉัย และประธานสภาฯไม่ได้มีอำนาจโดยตรงที่จะวินิจฉัย

 

 

 

รัฐบาลไม่มีหน้าที่ดูฤกษ์ยาม อภิปรายไม่ไว้วางใจ               


         

          แต่ในฐานะที่เป็นผู้รับญัตตินี้ หากเชื่อว่าญัตติที่ยื่นมาถูกต้อง สามารถบรรจุวาระได้ แต่หากใครบอกว่าไม่ได้ก็ไปว่ากัน ช่องทางมีอยู่ อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้ไม่ใช่หน้าที่รัฐบาล เพราะเป็นผู้ถูกอภิปราย จึงไม่มีหน้าที่ไปดูฤกษ์ยามว่าต้องเมื่อไร เดือนไหน เร็วหรือช้า มีหน้าที่อย่างเดียวคือ เมื่อเขาจะอภิปรายก็ต้องไปชี้แจง 

 

 

"วิษณุ" เผย เจ้าของญัตติ ตั้ง "กมธ.แก้รธน." อภิปราย เหตุผลได้ทุก นอกนั้นอยู่ที่วิป2ฝ่ายตกลง แย้ม "รบ." อาจมีประเด็นเสนอแก้หรือไม่ก็ได้ 


        รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีมีการเสนอให้มีการอภิปรายเรื่องรัฐธรรมนูญ ก่อนตั้งคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญเพื่อศึกษาปัญหาและแนวทางการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ว่า ปกติการยื่นญัตติตั้ง กมธ. จะต้องมีการให้เหตุผล อย่างน้อยคนที่เป็นเจ้าของญัตติต้องเป็นผู้อธิบายเหตุผลเพื่อนำไปสู่การลงมติว่า ตั้ง กมธ.หรือไม่ เช่นเดียวกับกรณีที่จะมีการตั้ง กมธ.วิสามัญศึกษาผลกระทบการใช้มาตรา 44 ซึ่งผู้ยื่นมีทั้งฝ่ายค้านและรัฐบาล คนเหล่านั้นต้องลุกขึ้นอภิปรายได้ทั้งหมด ส่วนจะมีคนอื่นนอกจากนี้หรือไม่ ขึ้นอยู่กับวิปฝ่ายค้านและรัฐบาลจะตกลงกัน จึงไม่ใช่เป็นเรื่องที่จะให้หรือไม่ให้ ไม่มีใครจะเป็นคนบอกได้ว่าไม่ให้อภิปราย 

 

 

            ผู้สื่อข่าวถามว่า การไม่มีสัดส่วน ส.ว.เข้ามาเป็น กมธ. จะทำให้มีปัญหาอะไรหรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า ไม่ทราบ ต้องไปถาม ส.ว. แต่เขาไม่ได้ถึงขนาดว่ามีมติไม่เข้าร่วม เพียงแต่เมื่อไปถามใครก็บอกว่าไม่เอาเท่านั้นเอง อาจจะเป็นเรื่องส่วนตัวก็ได้ เพราะไม่เคยมีมติของ ส.ว.ว่าจะไม่ร่วมกับ กมธ.ชุดดังกล่าว อย่างไรก็ตาม ส.ส.เจ้าของญัตตินี้หลายคนเป็นคนบอกเองว่าไม่อยากให้ ส.ว.ร่วม เห็นพูดกันอย่างนั้น ส.ว.จึงอาจคิดว่าถ้าอย่างนั้นคงไม่มีประโยชน์อะไรที่จะมานั่ง  

 

 

รัฐบาลไม่มีหน้าที่ดูฤกษ์ยาม อภิปรายไม่ไว้วางใจ

 

 

               เมื่อถามว่า กมธ.ชุดนี้ควรมีกรอบเวลาในการศึกษาหรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า เป็นเรื่องของสภาฯ ปกติมีทั้งสองแบบ คือ ไม่กำหนดเวลา กับกำหนดเวลา ขณะนี้ตนไม่ทราบว่าจะออกมาอย่างไร เมื่อถามว่า คนที่จะมานั่งประธาน กมธ.ชุดนี้ ต้องเป็นผู้ที่มีความน่าเชื่อถือหรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า ตนมีความเห็น แต่ไม่ควรแสดงความเห็น 

 

            เมื่อถามว่า รัฐบาลมีประเด็นใดในรัฐธรรมนูญที่จะเสนอให้ กมธ.ไปแก้ไขหรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า ถ้าในส่วนของรัฐบาลตนยังไม่ทราบ ยังไม่เคยมีใครพูดเรื่องนี้กัน เพราะถ้าเป็นเช่นนั้นต้องพูดกันในที่ประชุม ครม. ซึ่งอาจจะมีหรือไม่มีก็ได้  
 

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ