ข่าว

จุดแตกหัก 'สุขุมพันธุ์' ปชป.ลอยแพเสียงคนกรุง ?

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

จุดแตกหัก 'สุขุมพันธุ์' ปชป.ลอยแพเสียงคนกรุง ? : โดย...สำนักข่าวเนชั่น

 
                      "ผมเป็นคนของพรรค ผมรักพรรค ผมเคยเสี่ยงเป็นเสี่ยงตายเพื่อพรรค ผมจะไปไหนครับ ถ้าผมออกจากพรรคประชาธิปัตย์ คือผมเลิกการเมืองครับ ผมไปอยู่กับหลานครับ อย่าดูถูกกู เพราะกูคือคนของพรรคประชาธิปัตย์" สิ้นเสียงการปราศรัยหาเสียงของ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้สมัครจากพรรคประชาธิปัตย์ เมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2556 ในเวทีเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. 3 มีนาคม 2556 ที่ถูกกล่าวขานมากที่สุดครั้งหนึ่ง
 
                      เป็นเสียงตอบโต้กระแสข่าวในช่วงนั้นว่า “สุขุมพันธุ์” จะลงสมัครรับเลือกตั้งในนามอิสระ หรือเป็นตัวแทนจากพรรคอื่น ภายหลังดำรงตำแหน่งผู้ว่าฯ กทม.ผ่านมาเเล้ว 1 สมัย
 
                      แต่มาวันนี้ใครจะเชื่อว่า สายสัมพันธ์แห่งประชาธิปัตย์กับสุขุมพันธุ์ได้แตกหักจบสิ้นลง เมื่อ "จุติ ไกรฤกษ์" เลขาธิการพรรคพร้อม "องอาจ คล้ามไพบูลย์" รองหัวหน้าพรรค ออกมาแถลงข่าวประกาศตัดขาดความรับผิดชอบต่อ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ ในการทำหน้าที่ผู้ว่าฯ กทม. หลังจากนี้เป็นต้นไป ซึ่งกลายเป็น "ตรายาง" ที่ออกมาตอกย้ำกระแสที่ออกมาจากกรรมการบริหารพรรค มีมติไม่เป็นทางการขับ "สุขุมพันธุ์" พ้นจากสมาชิกภาพว่าเป็น "ข่าวจริง" 
 
 
จุดแตกหัก \'สุขุมพันธุ์\' ปชป.ลอยแพเสียงคนกรุง ?
 
 
                      เป็นศึกในที่ปะทุขึ้นอย่างรุนแรงในรอบหลายปีของประชาธิปัตย์ท่ามกลางแรงเสียดทานในช่วงการร่างรัฐธรรมนูญเพราะการตัดสินใจครั้งนี้ได้ส่งแรงกระเพื่อมในตัวประชาธิปัตย์และสุขุมพันธุ์ในทางการเมืองทุกมิติโดยภายหลังประชาธิปัตย์ทิ้งระเบิดลูกใหญ่ใส่ศาลาว่าการเสาชิงช้าจะรอดูท่าที “สุขุมพันธุ์” ภายหลังเดินทางกลับมาจากไปราชการต่างประเทศที่กรุงลิสบอนและเมืองปอร์โต สาธารณรัฐโปรตุเกสในวันที่ 23 มกราคม เพื่อลงนามความตกลงการสถาปนาความสัมพันธ์ฉันมิตรระหว่าง กทม.กับกรุงลิสบอน ซึ่งเชื่อว่า "สุขุมพันธุ์" น่าจะเรียกประชุมทีมงานเพื่อกำหนดจุดยืนทางการเมือง หลังประชาธิปัตย์ตัดขาดอย่างไร้เยื่อใย
 
                      แน่นอนว่า 1 ปีที่เหลือจะเป็นโอกาสสุดท้ายของ "สุขุมพันธุ์" ในการเคลียร์ข้อกล่าวหาความไม่โปร่งใสของ กทม. และจะเป็น 1 ปีสุดท้ายในการสร้างต่อยอดโอกาสทางการเมืองภายหลังหมดวาระเพราะกว่า 7 ปีในเก้าอี้ผู้นำเมืองสุขุมพันธุ์ได้ร่วมงานกับข้าราชการที่ส่วนใหญ่เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการแก้ปัญหาน้ำท่วมการพัฒนาเมืองระบบโครงสร้างพื้นฐานซึ่งอดีตผู้ใต้บังคับบัญชาเหล่านี้ก็พร้อมเข้าสนับสนุนสุขุมพันธุ์ทุกรูปแบบกลายเป็นการเตรียมสะสม "ขุมกำลัง" หากมีการตัดสินใจออกมาตั้งพรรคการเมือง ซึ่งทั้งหมดอยู่ที่สุขุมพันธุ์จะออกมาประทับ "ตรายาง" กระแสที่ออกมาก่อนหน้านี้ว่าเป็นจริงหรือไม่
 
                      ระหว่างนี้คงจะได้เห็นประชาธิปัตย์ออกมาเล่นบท "ฝ่ายค้าน กทม." เดินหน้าตรวจสอบโครงการในการบริหารของสุขุมพันธุ์ทั้งหมดในปีสุดท้ายอย่างเต็มตัว ก็จะเป็นการตัดเกมเพื่อ "ดิสเครดิต" สุขุมพันธุ์พร้อมตั้งท่าโจมตีบุคคลใกล้ชิดสุขุมพันธุ์ในตำแหน่งทางการเมืองทั้ง "อมร กิจเชวงกุล" และ "จุมพล สำเภาพล" สองรองผู้ว่าฯ กทม. เพื่อตัดอนาคตทางการเมืองไปด้วยเพราะหลายข้อกล่าวหาโครงการทุจริตที่ "วิลาศ จันทร์พิทักษ์" จุดพลุขึ้นมา ขณะนี้อยู่ที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติและสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินเรียบร้อย ซึ่งระเบิดลูกนี้ยังได้สะเทือนต่อการตัดสินใจอนาคตของ "ผุสดี ตามไท" กับ "อัศวิน ขวัญเมือง" สองรองผู้ว่าฯ กทม.โควตาประชาธิปัตย์รวมถึง "อรรถวิชช์ สุวรรณภักดี" ที่ปรึกษาผู้ว่าฯ กทม.ว่าจะเลือกพรรคหรือสุขุมพันธุ์ โดยเฉพาะ "ผุสดี" ที่มีกระแสออกมาว่าถ้าไม่เลือกพรรคก็มีความเป็นไปได้สูงจะถูกตัดทิ้งในรายชื่อ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ในการเลือกตั้งใหญ่ครั้งต่อไป
 
 
จุดแตกหัก \'สุขุมพันธุ์\' ปชป.ลอยแพเสียงคนกรุง ?
 
 
                      กว่า 10 ปีที่ประชาธิปัตย์ถืออำนาจในศาลาว่าการกทม. การเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.ครั้งต่อไปจะเป็นงานหนักมากกว่าทุกครั้งในการสลัดภาพการบริหารทรัพยากรบุคคลที่บกพร่องเพราะการตัดสินใจทิ้ง "สุขุมพันธุ์" ไว้กลางทางจะเป็นเงื่อนไขสำคัญที่พรรคเพื่อไทยจะนำมาโจมตีสะท้อน "ความไม่รับผิดชอบ" คนของตัวเอง
 
                      ยิ่งถ้าเพื่อไทยเลือกส่ง "พล.ต.อ.พงศพัศ พงษ์เจริญ" ลงมาสู้กับประชาธิปัตย์อีกครั้ง ถึงแม้จะเคยพ่ายแพ้ "สุขุมพันธุ์" แค่ 178,450 เสียงแต่ยังมีคำถามถึง "ที่มา" ของคะแนนกว่าล้านเสียงว่ามาจากตัว “สุขุมพันธุ์” หรือมาจากความนิยมพรรคหรือมาจากเสียงที่ยอมเลือกประชาธิปัตย์เพื่อไม่เอา “เพื่อไทย” ก็ตาม ก็จะเป็นโอกาสที่ “เพื่อไทย” จะเข้ามามีบทบาทใน กทม.สูงเช่นกัน
 
                      การออกมาไล่ผู้สมัครจากประชาธิปัตย์ครั้งนี้ เป็นการลด "ต้นทุน" ทางการเมืองของสุขุมพันธุ์ในตำแหน่งผู้ว่าฯ กทม. ในวาระที่เหลืออยู่ก่อนหมดสมัยในเดือนมีนาคม 2560 แต่อีกด้านได้สะท้อนต่อ "การบริหาร" ภายใน โดยเฉพาะประเด็น "ลอยแพ" ยังมีคำถามจากสังคมว่าเป็นการตัดความรับผิดชอบต่อ 1,256,349 เสียงที่เลือกสุขุมพันธุ์กลับมาเป็นผู้ว่าฯ กทม.สมัยสอง และจะเป็นมาตรฐานเดียวกันกับ “ทุกเวทีการเลือกตั้ง” ในประเทศด้วยหรือไม่
 
                      “ประชาธิปัตย์-สุขุมพันธุ์” จะรับผิดชอบต่อ 1.2 ล้านเสียงอย่างไร เพราะทุกการกระทำจาก “ประชาธิปัตย์” และ “สุขุมพันธุ์” หลังจากนี้ ย่อมมีผลต่อคุณค่า “เสียงประชาชน” ทั้งสิ้น
 
 
 
 
------------------------
 
(จุดแตกหัก 'สุขุมพันธุ์' ปชป.ลอยแพเสียงคนกรุง ? : โดย...สำนักข่าวเนชั่น)
 
 
 
 
logoline

ข่าวที่น่าสนใจ