ข่าว

มติศาลชี้ที่มาส.ว.ขัดรธน.-ไม่ถึงขั้นยุบพรรค

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ศาลรธน.ตัดสินปมแก้ที่มาส.ว.มติ '6 ต่อ 3' ขัดรธน.-ผิดเสียบบัตรแทน-ไม่ถึงขั้นยุบพรรค



          วันที่ 20 พ.ย.56 นายพิมล ธรรมพิทักษ์พงษ์ หัวหน้าคณะโฆษกศาลรัฐธรรมนูญ เปิดเผยว่า กระบวนการพิจารณาคำร้องการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับที่มา ส.ว. ว่าข่ายเป็นการกระทำเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข  หรือเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีทางที่ไม่ได้บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญมาตรา 68 วรรคหนึ่ง หรือไม่ ในวันนี้ ( 20 พ.ย.) ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญจะเริ่มประชุมเวลา 09.30 น.โดยตุลาการศาลรัฐธรรมนูญจะแถลงอภิปรายด้วยวาจาและลงมติเพื่อให้ได้เสียงข้างมากในการทำคำวินิจฉัย จากนั้นจะออกนั่งบัลลังก์อ่านคำวินิจฉัยในเวลา 11.00 น.

          เจ้าหน้าที่สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ ติดตั้งจอโปรเจ็กเตอร์ขนาดใหญ่ 1 จอ โทรทัศน์และเครื่องเสียง ที่ลานเอนกประสงค์ ชั้น 2 อาคารราชบุรีดิเรกฤทธิ์ เพื่อถ่ายถอดภาพและเสียงการออกนั่งบัลลังก์อ่านคำวินิจฉัย

          ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ขณะนี้ ที่ศาลรัฐธรรมนูญ มีเจ้าหน้าที่ตำรวจ และหน่วยปฏิบัติการควบคุมฝูงชนรวม 4 กองร้อย รักษาความปลอดภัย นอกจากนี้ จะเรียกกำลังเสริมเพิ่มเติมจากกองบังคับการตำรวจนครบาล 2 ชุดเคลื่อนที่เร็ว มาดูแลความปลอดภัยตามจุดต่างๆ โดยรอบสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ อย่างใกล้ชิด เพื่อป้องกันมือที่ 3 ที่อาจเข้ามาสร้างสถานการณ์

          ล่าสุด เวลา 13.26 น.ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญได้ออกนั่งบัลลังก์ อ่านคำวินิจฉัย คำร้อง 4 ฉบับ ที่ พล.อ.สมเจตน์ บุญถนอม ส.ว.สรรหา กับคณะ , นายวิรัตน์ กัลยาศิริ ส.ส.สงขลา พรรคประชาธิปัตย์ กับคณะ, นายสาย กังกเวคิน ส.ว.ระยอง กับคณะ และนายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคประชาธิปัตย์ กับคณะ  ยื่นขอให้วินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ ฯ มาตรา 68 กรณีที่นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานรัฐสภา และนายนิคม ไวยรัชพานิช รองประธานรัฐสภา กับพวกซึ่งเป็น ส.ส.และ ส.ว.รวม 312 คน ร่วมกันเข้าชื่อเสนอร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับที่มาของ ส.ว. ไม่ชอบทั้งในเชิงรูปแบบ กระบวนการ และเนื้อหาอันเป็นสาระสำคัญ ว่าการกระทำของนายสมศักดิ์ กับพวกเข้าข่ายเป็นการล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ ซึ่งขัดต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 68 วรรคหนึ่งหรือไม่ ซึ่งคำร้องของพล.อ.สมเจตน์นั้น ได้ระบุขอให้ยุบพรรคการเมืองและตัดสิทธิ์กรรมการบริหารพรรคการเมืองที่เกี่ยวข้องด้วย    

         ขณะที่ผู้ร้องมีนายสมชาย แสวงการ น.ส.รสนาโตสิตระกูล นายวิรัตน์และนายพีระพันธุ์มาศาล ส่วนฝ่าย ส.ส.-ส.ว.นั้น นายสุรเดช จิรัฐิติเจริญ ส.ว.ปราจีนบุรีได้มอบหมายผู้อื่นมาฟังคำวินิจฉัยแทน ส่วน ส.ส.-ส.ว.ที่เหลืออีก 311 ราย ไม่ได้มาศาล โดยองค์คณะได้มอบหมายให้นายจรูญ อินทจาร ประธานตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ และนายสุพจน์ ไข่มุกต์ ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ เป็นผู้อ่านคำวินิจฉัยในคดีนี้ ซึ่งใช้เวลาประมาณ 50 นาทีจึงแล้วเสร็จ

         ขณะที่ศาลพิเคราะห์คำร้อง เอกสารประกอบ และการไต่สวนพยานหลักฐาน รวมทั้งคำแถลงการณ์ปิดคดีแล้วเห็นว่าคดีมีหลักฐานเพียงพอที่จะมีคำวินิจฉัยได้ จึงกำหนดประเด็นวินิจฉัย 2 ข้อ 1.กระบวนการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญ ฯ แก้ไขเพิ่มเติม ฉบับที่...พ.ศ.... มีลักษณะและการกระทำที่ให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการที่ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญนี้ หรือไม่  และ 2.การแก้ไขเพิ่มเติมเนื้อหาของร่างรัฐธรรมนูญฯ แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ... ) พ.ศ. ... มีลักษณะเป็นการกระทำเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศ โดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญนี้หรือไม่

         แต่ก่อนเริ่มวินิจฉัย 2 ประเด็น มีปัญหาต้องวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจวินิจฉัยการแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญฯหรือไม่ ศาลเห็นว่า ตามหลักการประชาธิปไตยที่มี 3 อำนาจฝ่าย บริหาร นิติบัญญัติ และตุลาการ ให้มีการถ่วงดุลกัน ย่อมแสดงให้เห็นว่าองค์กร สถาบันการเมืองต้องปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริตเพื่อประโยชน์ส่วนรวมของประชาชนไทย โดยปราศจากการขัดกันของผลประโยชน์ ไม่ประสงค์ให้องค์กรใดบิดเบือนการใช้อำนาจโดยเบ็ดเสร็จเด็ดขาด

         แม้หลักการจะให้ยึดถือเสียงข้างมาก แต่ถ้ากระทำการโดยอำเภอใจ กดขี่ข่มเหงเสียงข้างน้อยโดยไม่ฟังเหตุผลและไม่มีที่ยืน ย่อมกลายเป็นปัญหาการถ่วงดุล และหากให้ปล่อยฝ่ายใดมีอำนาจปราศจากการตรวจสอบจะทำให้ประเทศเสื่อมลง ขณะที่การใช้อำนาจขององค์กรตามรัฐธรรมนูญก็จะต้องมีการตรวจสอบไม่ให้ขัดต่อรัฐธรรมนูญ และการใดที่จะนำไปสู่ความเสียหาย เสื่อมโทรม ของประเทศชาติ หรือวิวาทบาดหมางของประชาชนก็ย่อมขัดต่อหลักนิติธรรมตามรัฐธรรมนูญมาตรา 3 วรรค 2 และมาตรา 216 วรรค 5 ก็ได้ระบุชัดคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญมีผลผูกพันต่อรัฐสภา เมื่อพิจารณาแล้วผู้ร้องใช้สิทธิตามมาตรา 68 วรรค 2 ศาลรัฐธรรมนูญจึงมีอำนาจรับคำร้องไว้ในวินิจฉัยได้

         ส่วนกระบวนการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญ ฯ แก้ไขเพิ่มเติม ฉบับที่...พ.ศ.... มีลักษณะและการกระทำเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการที่ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญนี้หรือไม่  ศาลเห็นว่า ร่างแก้ไขที่มีการสนอประชุมสภาในการรับหลักการวาระ 1 นั้นไม่ใช่ร่างเดิมที่นายอุดมเดช รัตนเสถียร ส.ส.นนทบุรี พรรคเพื่อไทยและคณะ ยื่นต่อสำนักงานเลขาธิการสภาฯ แต่เป็นร่างที่จัดพิมพ์ขึ้นใหม่ และมีการเปลี่ยนแปลงเนื้อหาที่เป็นหลักการสำคัญในมาตรา 116 (2) ที่ให้ ส.ว.ซึ่งสิ้นสุดวาระ สามารถลงสมัครรับเลือกตั้งได้ทันที การกระทำตังกล่าวถือว่ามีเจตนาที่จะปกปิดข้อเท็จจริง ซึ่งเมื่อได้ข้อยุติว่าร่างที่ที่ประชุมร่วมรัฐสภา ไม่ใช่ร่างเดิมที่นายอุดมเดชเสนอ จึงเท่ากับว่าการเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญดังกล่าวไม่ชอบด้วยกฎหมาย โดยขัดบทบัญญัติมาตรา 291 (1)

         นอกจากนี้การตัดสิทธิการอภิปรายของผู้ที่ยื่นสงวนคำแปรญัตติถึง 51 คนทั้งที่ยังไม่มีการฟังการอภิปรายเลย แม้ประธานรัฐสภาจะมีอำนาจในการสั่งให้ปิดการอภิปราย แต่ถือเป็นการใช้อำนาจไม่ชอบและเอื้อประโยชน์ฝ่ายเสียงข้างมากอย่างไม่เป็นธรรม ขณะที่การนับวันแปรญัตติที่มีการสรุปให้ย้อนหลังไปถึงวันที่ 4 เม.ย. ส่งผลให้วันแปรญัตติตามข้อบังคับการประชุมที่กำหนดไว้ 15-20 วันนับแต่วันที่รับหลักการวาระที่ 1 เหลือเพียง 1 วัน ส่งผลให้ขัดต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 125 และขัดต่อหลักนิติธรรม ที่ขัดบทบัญญัติรัฐธรรมนูญมาตรา 3

         อีกทั้งการเสียบบัตรแสดงตนของ ส.ส. ในการลงคะแนน ก็มีประจักษ์พยานชัดเจน ทั้งผู้ที่เห็นเหตุการณ์ และวิดีทัศน์บันทึกการประชุมเพื่อลงมติแก้ไขรัฐธรรมนูญ พบว่านายนริศร ทองธิราช ส.ส.สกลนคร พรรคเพื่อไทย ใช้บัตรอิเล็กทรอนิกส์หลายใบเสียบในช่องลงคะแนนและแสดงตน ทั้งที่การใช้สิทธิลงคะแนนตามหลักกฎหมายและข้อบังคับการประชุมรัฐสภานั้นระบุว่า สมาชิก 1 คนสามารถลงคะแนนได้เพียง 1 เสียงเท่านั้น เมื่อพบว่ามีการกระทำดังกล่าวเข้าข่ายขัดรัฐธรรมนูญ มาตรา 122 และข้อบังคับการประชุม รวมไปถึงขัดต่อความซื่อสัตย์สุจริตของสมาชิกรัฐสภาที่ได้ปฏิญาณตนไว้เมื่อครั้งเข้ารับหน้าที่ ส่งผลให้การลงมติแก้ไขรัฐธรรมนูญดังกล่าวไม่ชอบด้วยกฎหมาย

         ประเด็นที่ 2 การแก้ไขเพิ่มของร่างรัฐธรรมนูญ ฯ นั้น มีลักษณะเป็นการกระทำให้ได้มาซึ่งอำนาจการปกครองประเทศโดยวิธีการที่ไม่ใช่วิถีทางที่บัญญัติไว้ในในรัฐธรรมนูญนี้ หรือไม่ เห็นว่า รัฐธรรมนูญ ฯ ปี 50 กำหนดให้มี ส.ว.สรรหาที่มาจากหลากหลายวิชาการในสัดส่วนที่เท่ากับ ส.ว.ที่มาจากการเลือกตั้ง ซึ่งมีแม่แบบมาจากรัฐธรรมนูญ ปี 40 และได้นำข้อบกพร่องในเรื่องคุณสมบัติของผู้ลงสมัคร ส.ว.จากรัฐธรรมนูญ ปี 40 มากำหนดไว้ว่า ผู้ที่จะลงสมัครต้องไม่เป็นสามีภรรยาและบุตรของผู้ที่เป็น ส.ส.และผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง รวมทั้งหากพ้นจากตำแหน่ง ส.ว.แล้วต้องเว้นวรรคการลงสมัครรอบใหม่ไม่น้อยกว่า 2 ปี เท่ากับว่ารัฐธรรมนูญมีเจตนาให้องค์กรวุฒิสภาเป็นองค์กรที่เป็นอิสระ และกลั่นกรองตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ แต่การแก้ไขรัฐธรรมนูญดังกล่าวที่มีการแก้ไขคุณสมบัติผู้ลงสมัคร ส.ว.ให้ใกล้เคียงกับผู้ลงสมัคร ส.ส. เท่ากับเป็นการแก้ไขไปสู่จุดสูญสิ้น เป็นการนำพาชาติถอยหลังเข้าคลอง กลายเป็นสภาผัวเมีย นำไปสู่การผูกขาด กระทบต่อการปกครองประเทศ เปิดช่องให้ผู้ที่สามารถควบคุมกลไกดังกล่าวใช้วุฒิสภาให้ได้มาเพื่ออำนาจในการปกครอง อีกทั้งยังเป็นการำลายการเป็นสภาถ่วงดุลของ ส.ว.ให้ฝ่ายการเมืองเข้าไปควบคุมได้อย่างเบ็ดเสร็จ

         เมื่อพิจารณาถึงเนื้อหา และกระบวนการของการแก้ไข ที่พบว่ารวบรัดไม่ชอบด้วยกฎหมายแล้ว องค์คณะศาลรัฐธรรมนูญจึงมีมติเสียงข้างมาก 6 ต่อ 3 ว่าการแก้ไขรับธรรมนูญดังกล่าวเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ มาตรา 122  , 125 วรรคหนึ่ง และวรรคสอง ,  126 วรรคหนึ่ง , มาตรา 291 และมาตรา 3 วรรค สอง

         และมีมติเสียงข้างมาก 5 ต่อ 4 เห็นว่าเนื้อหาการแก้ไขเป็นการกระทำเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศ โดยวิถีทางที่ไม่ได้บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ ฝ่าฝืนรัฐธรรมนูญมาตรา 68 วรรคหนึ่ง แต่สำหรับคำร้องขอให้ยุบพรรคและเพิกถอนสิทธิ์ 312 ส.ส.-ส.ว.นั้นยังไม่เข้าเงื่อนไขตามรัฐธรรมนูญ ฯ  มาตรา 68 วรรค 3และวรรค 4 ที่จะยุบพรรค จึงให้ยกคำร้องในส่วนนี้
 

เปิด! คำพิพากษา "ศาลรธน." แก้ที่มา "สว." (ฉบับเต็ม : ตอน 1)

 

 

 

เปิด! คำพิพากษา "ศาลรธน." แก้ที่มา "สว." (ฉบับเต็ม : ตอน 2)

 

 

 

 เปิด! คำพิพากษา "ศาลรธน." แก้ที่มา "สว." (ฉบับเต็ม : ตอนจบ)

 

 

 

 




"เลขาธิการศาลรธน."แย้มผลตัดสินออกมาไม่แรงวินิจฉัยด้วยสันติวิธี


          นายเชาวนะ ไตรมาศ เลขาธิการศาลรัฐธรรมนูญ กล่าวว่า ศาลรัฐธรรมนูญไม่รู้สึกกดดันและไม่กังวลต่อการวินิจฉัยคดีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ในประเด็นที่มาของสว. ดังนั้น อยากให้สังคมเชื่อมั่นผลคำตัดสินของตุลาการจะออกมาไม่แรง ซึ่งศาลจะวินิจฉัยด้วยสันติวิธี จึงขอให้ประชาชนสบายใจ ขณะเดียวกัน อยากฝากไปยังทุกฝ่ายว่า ขอให้มั่นใจการทำหน้าที่ขององค์คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ จะไม่ให้เกิดการกระทบกระทั่ง หรือนำไปสู่ความรุนแรง และยืนยัน หลังคำวินิจฉัยของคดีดังกล่าว เชื่อว่าสังคมจะกลับมาสู่ความสงบเรียบร้อย
 



ตร.จัดกำลังกว่า 4 กองร้อย คุมเข้มรอบศาลรธน.



          พลตรวจเอก วรพงษ์ ชิวปรีชา รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ดูแลฝ่ายมั่นคง เปิดเผยถึง กรณีศาลรัฐธรรมนูญจะวินิจฉัยคำร้องแก้ไขรัฐธรรมนูญประเด็นที่มาของ ส.ว. ว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจได้เพิ่มมาตรการการป้องกันเข้มขึ้น เน้นการดูแลรักษาความสงบเรียบร้อย การอำนวยความสะดวกด้านการจราจร และจัดกำลังเฝ้าระวังเข้มกว่า 4 กองร้อย โดยรอบศาลรัฐธรรมนูญ

          ขณะที่มาตรการการป้องกันการเผชิญหน้าของ 2 กลุ่มที่สนับสนุน และคัดค้านการทำงานของรัฐบาลนั้น พลตำรวจเอกวรพงษ์ กล่าวว่า ผู้ชุมนุมแต่ละจุดนั้น ปักหลักชุมนุมค่อนข้างห่างกัน หากไม่เคลื่อนขบวน คาดว่าจะไม่มีเหตุการณ์รุนแรงเกิดขึ้น อย่างไรก็ตาม ขอให้ประชาชนช่วยกันเป็นหูเป็นตา ดูแลรักษาความสงบเรียบร้อย ช่วยเหลือเจ้าหน้าที่อีกทางหนึ่งด้วย

 

 

"คนเสื้อแดง" ปักหลักรอฟังคำวินิจฉัยศาลรธน. ก่อนกำหนดท่าที

 

               ผู้สื่อข่าวรายงานว่า บรรยากาศการชุมนุมของกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ในช่วงเช้า กลุ่มผู้ชุมนุมที่ปักหลักค้างคืนตั้งแต่เมื่อวานที่สนามราชมังคลากีฬาสถาน ต่างทำภารกิจส่วนตัว ได้พักผ่อนตามอัธยาศัย อยู่บริเวณรอบๆ สนาม ขณะที่ บนเวทีก็ได้มีกิจกรรมต่อเนื่องมาจากเมื่อวานที่ผ่านมา โดยมีการเล่าข่าว สลับกับแกนนำแต่ละจังหวัดขึ้นปราศรัย โดยแกนนำได้ทยอยมายังสถานที่ชุมนุม อาทิ นางธิดา ถาวรเศรษฐ นายจตุพร พรหมพันธุ์ นพ.เหวง โตจิราการ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย และจ.ส.ต.ประสิทธิ์ ไชยศรีษะ ส.ส.สุรินทร์ พรรคเพื่อไทย

                ทั้งนี้ จะมีการดึงสัญญาณ สดการอ่านคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ เกี่ยวกับการพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่มา ส.ว. มายังเวทีด้วย โดยผู้ชุมนุมได้เริ่มจับจองพื้นที่บนอัฒจรรย์ เพื่อรอฟังคำวินิจฉัย ท่ามกลางอากาผสที่ร้อนอบอ้าว

 

 

"ม็อบราชดำเนิน" รอฟังคำตัดสิน

 

               ผู้สื่อข่าวรายงานบรรยากาศ การชุมนุมของกลุ่มต่อต้านกฎหมายล้างผิด ที่ถนนราชดำเนิน ว่ามีมวลชนบางส่วน มาชุมนุมตั้งแต่ในช่วงเช้า เพื่อมารอฟังตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญ




 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ