ข่าว

ถมทะเลบางขุนเทียนเร่งกทม.จมบาดาล

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ถมทะเลบางขุนเทียน ตัวเร่งกทม.จมบาดาล : รายงาน โดยโต๊ะรายงานพิเศษ

          "ถมทะเลกรุงเทพฯ" หนึ่งในเมกะโปรเจกท์ของพรรคเพื่อไทยที่ประกาศเป็นนโยบายพรรคในช่วงหาเสียงเลือกตั้ง...ลือกันว่าเป็นไอเดียบรรเจิด "อิมพอร์ต" มาจาก "นายห้างดูไบ" เพื่อให้พรรค "เพื่อไทยทำ" นั้น...เชื่อว่าคงไม่ง่ายเหมือน "การขึ้นค่าแรง 300 บาท" แน่ๆ

            "เมืองใหม่ริมทะเล" อาจจะต้องกลายเป็นฝันค้างเมื่อบรรดานักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมทั่วฟ้าเมืองไทย กำลังผนึกกำลังคัดค้านกันเต็มอัตราศึก ขณะที่นักวิชาการด้านสิ่งแวดล้อม ก็อดเป็นห่วงไม่ได้ว่า โครงการดังกล่าว ที่จะนำเงินภาษีจำนวนมหาศาลของประชาชนไปถมทะเลนั้นจะคุ้มค่าหรือไม่?

            รศ.ดร.เสรี ศุภราทิตย์ ผอ.ศูนย์พลังงานเพื่อสิ่งแวดล้อม อุทยานสิ่งแวดล้อมนานาชาติสิรินธร หนึ่งในนักวิชาการด้านสิ่งแวดล้อม ผู้ศึกษาวิจัยพื้นที่บริเวณชายฝั่งทะเลอ่าวไทยมานาน ฟันธงว่า การจะถมทะเลสร้างเมืองใหม่ไม่น่าจะคุ้มค่าการลงทุน!! พร้อมอธิบายว่า ตลอดแนวชายฝั่งบางขุนเทียนกินเนื้อที่ลึกลงไปในทะเล 10 กิโลเมตร เป็นระยะทาง 30 กิโลเมตร รวมเนื้อที่ 300 ตารางกิโลเมตร หรือราว 1.8 แสนไร่ และหากต้องการถมเต็มพื้นที่ต้องใช้ทรายไม่น้อยกว่า 4,000 ล้านคิว คำนวณเป็นเม็ดเงินการลงทุนเฉพาะการถมทรายเพียงอย่างเดียวต้องใช้เงินทุนขั้นต่ำไม่น้อยกว่า 4 แสนล้านบาท

           "เนื้อที่เกือบ 2 แสนไร่ เทียบแล้วใหญ่โตเกินครึ่งของ จ.สมุทรสาคร การถมทะเลเพื่อสร้างเมืองใหม่เลียนแบบสิงคโปร์และดูไบนั้น ต้องถมให้สูงกว่าระดับน้ำทะเลอย่างน้อย 5 เมตร ซึ่งชายทะเลบางขุนเทียนห่างฝั่งไป 10 กิโลเมตร มีความลึกอยู่ที่ 6 เมตร หมายความต้องถมทรายสูงถึง 11 เมตร ซึ่งต้องใช้ทรายไม่น้อยกว่า 4,000 ล้านคิวถึงจะถมได้หมด ที่สำคัญจะหาทรายจำนวนมหาศาลมาจากไหน ลำพังทรายที่มีอยู่ในประเทศคงไม่พอแน่" รศ.ดร.เสรีกล่าว

           รศ.ดร.เสรียังอธิบายถึงลักษณะทางกายภาพของดินบริเวณชายฝั่งทะเลบางขุนเทียนว่า ดินบริเวณนี้เป็นดินโคลน เกิดจากตะกอนแม่น้ำ มีความอ่อนตัวสูง หากมีการถมดินก็จะเกิดการยุบตัวลงไปอีก โดยในแต่ละปีแม้ไม่มีการถมดินเพิ่ม ยังเกิดการยุบตัวอยู่แล้วเฉลี่ย 5 เซนติเมตร หากนำทรายหรือดินจากพื้นที่อื่นมาถมจะยิ่งเพิ่มน้ำหนักเร่งให้เกิดการยุบตัวลงไปอีก มีการคาดการณ์กันว่าหลังถมพื้นที่แล้วน่าจะมีอัตราการยุบตัวสูงถึง 10 เซนติเมตรต่อปี นั่นหมายความว่าหากมีการถมทะเลสร้างเมืองใหม่บริเวณนี้จริงๆ จะต้องมีการถมทรายเสริมทุกๆ ปี เฉลี่ยอย่างน้อยปีละ 5 เซนติเมตร เท่ากับว่าต้องใช้ทรายอีกหลายร้อยล้านคิวต่อปี แล้วเงินทุนมหาศาลจะหามาจากไหน ?!!

           ส่วนผลกระทบต่อระบบนิเวศของอ่าวไทยหลังถมทะเลแล้ว รศ.ดร.เสรี วิเคราะห์ว่า พื้นที่ชายฝั่งบางขุนเทียน ตั้งอยู่บริเวณปากแม่น้ำ มีคลองสำคัญถึง 5 คลองที่ต้องไหลลงทะเล คือ คลองสนามชัย คลองสรรพสามิต คลองภาษีเจริญ คลองมหาสวัสดิ์ และคลองบางใหญ่ ซึ่งคลองเหล่านี้ถูกใช้ในการระบายน้ำเหนือลงทะเล หากมีการถมบริเวณนี้จริง ก็จะเป็นการขวางทางน้ำ จะเกิดปัญหาน้ำท่วมตามมา

           "เมื่อถึงฤดูน้ำเหนือไหลหลากลงมา กรุงเทพมหานครและปริมณฑลก็ต้องจมบาดาล ขณะเดียวกันพื้นที่ที่ถมทะเลก็จะไปขวางกระแสน้ำทะเล เกิดปัญหาสายน้ำเปลี่ยนทิศทางส่งผลกระทบกับพื้นที่ใกล้เคียง โดยเฉพาะชายฝั่งอ่าวไทยตอนเหนือ ไล่ไปตั้งแต่ จ.สมุทรปราการ ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง และ จ.จันทบุรี ส่วนทางใต้ไล่ตั้งแต่ จ.สมุทรสาคร สมุทรสงคราม เพชรบุรี และ จ.ประจวบคีรีขันธ์ จะได้รับผลกระทบจากปัญหาน้ำกัดเซาะตลิ่ง นอกจากนี้ ยังส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศวิทยาในทะเลเสียหาย จะเกิดความสูญเสียอย่างมหาศาลจนประเมินค่าไม่ได้" รศ.ดร.เสรี วิเคราะห์

           ขัดแย้งกับแนวคิดของการถมทะเลบริเวณชายฝั่งบางขุนเทียน ซึ่งหวังจะใช้เป็นแนวทางแก้ปัญหาน้ำทะเลกันเซาะชายฝั่ง และแก้ปัญหาน้ำทะเลรุกท่วมพื้นที่กรุงเทพมหานครนั้น  รศ.ดร.เสรี ยืนยันว่า การถมทะเลสร้างเมืองใหม่ไม่ใช่วิธีการแก้ปัญหาที่ดีที่สุด แต่ยังมีอีกหลายวิธี อย่างการแก้ปัญหาน้ำทะเลรุกผืนดิน ต้องมีการปลูกป่าชายเลน เพื่อสร้างระบบนิเวศชายฝั่งทะเลตามธรรมชาติให้ได้อย่างน้อยห่างฝั่งออกไป 300 เมตร ซึ่งเมื่อมีป่าชายเลนมาขวางความแรงของกระแสคลื่นก็จะสามารถแก้ปัญหาการกัดเซาะพื้นที่ชายฝั่งได้โดยไม่กระทบกับระบบนิเวศ รวมถึงวิถีชีวิตของประชาชนที่อาศัยอยู่ในบริเวณนั้นด้วย

           นโยบาย "ถมทะเลกรุงเทพฯ" ยังถูกมองว่า อาจมีวาระซ่อนเร้นที่ต้องการดึงดูดนักลงทุนไหลบ่ามาลงทุนสร้างบ้านหรูริมทะเลนั้น รศ.ดร.เสรีมองว่า เท่าที่ทราบเบื้องต้นหากมีการถมทะเลสร้างเมืองใหม่แล้วจะมีการนำพื้นที่ไปจัดสรรขาย โดยมีการตั้งราคาไว้ประมาณไร่ละ 20 ล้านบาท ซึ่งเป็นอัตราที่สูงมากเมื่อเทียบกับสภาพพื้นที่ซึ่งคงหาผู้ซื้อได้ลำบาก แถมสภาพภูมิทัศน์น้ำทะเลคงไม่สวยงามใสเหมือนบ้านหรูริมทะเลที่ประเทศสิงคโปร์หรือดูไบ

           "ชายทะเลบางขุนเทียนเป็นดินโคลนต่างจากทะเลที่เป็นมารีน่า หรือทะเลที่พื้นดินเป็นทราย ซึ่งน้ำทะเลจะสวยใส แต่น้ำทะเลที่นี่คงจะขุ่น แล้วสมมติว่าเมื่อมีการถมทะเลสร้างเมืองใหม่เสร็จแล้ว ใครจะมาซื้อ ก็คงขายไม่ได้ และอาจกลายเป็นเมืองร้าง แล้วเม็ดเงินลงทุนหลายแสนล้านบาท ใครจะรับผิดชอบ" รศ.ดร.เสรี ตั้งคำถาม

           สำหรับชาวบ้านชายฝั่งทะเลบางขุนเทียน ซึ่งได้รับผลกระทบจากน้ำทะเลกัดเซาะส่วนใหญ่ ไม่อยากให้มีการถมทะเลเพื่อสร้างเมืองใหม่ เพราะกลัวว่าจะเกิดผลกระทบทางธรรมชาติมาซ้ำเติมอีก

           นายประสูติ ช้างเจริญ ประธานชุมชนชายทะเลบางขุนเทียน บอกว่า จากการพูดคุยกับชาวบ้านในพื้นที่ส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วยหากจะมีการถมทะเลเพื่อสร้างเมืองใหม่จริง และไม่เชื่อว่าโครงการดังกล่าวจะเกิดขึ้นได้จริง อยากให้ภาครัฐลงมาแก้ปัญหาน้ำทะเลรุกพื้นที่ให้ได้อย่างแท้จริงมากกว่า ตอนนี้ที่ดินจมทะเลไปหลายตารางกิโลเมตรแล้ว แต่หากภาครัฐยังนิ่งเฉย ไม่มีการแก้ปัญหาอย่างเป็นรูปธรรม เชื่อว่าอีกไม่กี่ปีพื้นที่ชายฝั่งทะเลบางขุนเทียนคงกลายเป็นทะเลแทบทั้งหมด

 

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ