ข่าว

'ฝายบ้านปลายน้ำตก' พร้อมระบบส่งน้ำ-ช่วยกักเก็บน้ำหน้าฝน

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ฝายบ้านปลายน้ำตก จ.สุราษฎร์ธานี พร้อมระบบส่งน้ำอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ช่วยกักเก็บน้ำหน้าฝน เพิ่มน้ำต้นทุนเพื่อการเกษตรช่วงหน้าแล้ง

 

“เมื่อก่อนลำบากมาก พอได้น้ำจากโครงการฝายบ้านปลายน้ำตกพร้อมระบบส่งน้ำ ชาวบ้านก็อยู่ดีมีความสุขขึ้นเพราะได้น้ำไปใช้ทำการเกษตร ไปใช้ในครัวเรือนสะดวกมาก หลายครอบครัวสามารถปลูกผักสวนครัวเพิ่มเติมจากที่ปลูกปาล์ม ดีใจที่พื้นที่ก่อสร้างโครงการ ชาวบ้านร่วมกันบริจาคให้”

'ฝายบ้านปลายน้ำตก' พร้อมระบบส่งน้ำ-ช่วยกักเก็บน้ำหน้าฝน

นางเพ็ญศรี ขุนจันทร์ ต.ประสงค์ อ.ท่าชนะ จ.สุราษฎร์ธานี หนึ่งในราษฎรที่ได้รับประโยชน์จากโครงการฝายบ้านปลายน้ำตกพร้อมระบบส่งน้ำอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ต.ประสงค์ อ.ท่าชนะ จ.สุราษฎร์ธานี กล่าว

ตำบลประสงค์เป็นพื้นที่มีภูมิอากาศแบบมรสุมเมืองร้อน เนื่องจากได้รับอิทธิพลของมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือจากอ่าวไทยและทะเลจีนใต้และมรสุมตะวันตกเฉียงใต้จากมหาสมุทรอินเดียทำให้มี 2 ฤดูกาลต่อปี คือ ฤดูร้อนและฤดูฝน

'ฝายบ้านปลายน้ำตก' พร้อมระบบส่งน้ำ-ช่วยกักเก็บน้ำหน้าฝน

แต่เนื่องจากพื้นที่เป็นเนินเขา แม้จะมีสภาพดินที่เหมาะแก่การเพาะปลูกประเภทไม้ยืนต้นก็ตาม แต่มีน้ำไม่เพียงพอแก่การเพาะปลูก

 

ซึ่งส่วนใหญ่ราษฎรจะปลูกพืชประเภทใช้น้ำมาก เช่น ยางพารา ปาล์มน้ำมัน และทุเรียน จึงทำให้ผลผลิตที่ได้รับไม่สมบูรณ์เท่าที่ควรยังผลให้ขายได้ราคาต่ำ

ต่อจากนี้คิดว่าจะมีน้ำพอใช้ตลอดทั้งปี ตั้งแต่ฝายนี้สร้างเสร็จไม่มีปัญหาเรื่องน้ำที่นำมาใช้ในสวน มีพื้นที่ 40 ไร่ ปลูกยางพารา 35 ไร่ ปลูกปาล์ม 5 ไร่ ลดต้นทุนได้เยอะเพราะไม่ต้องสูบน้ำมารดต้นไม้ในช่วงหน้าแล้งเหมือนเมื่อก่อน ผลผลิตสมบูรณ์ขายก็ได้ราคาดี

 

ขอขอบคุณโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริของในหลวงรัชกาลที่ 9 ที่ทำให้มีความสมบูรณ์ในวันนี้” นางเพ็ญศรี 

'ฝายบ้านปลายน้ำตก' พร้อมระบบส่งน้ำ-ช่วยกักเก็บน้ำหน้าฝน

 โครงการฝายบ้านปลายน้ำตกพร้อมระบบส่งน้ำฯ เป็นโครงการที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ รับไว้เป็นโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ เมื่อวันที่ 28 มิถุนายน 2548 ตามที่ราษฎรบ้านท่าใหม่ หมู่ที่ 17 ตำบลประสงค์ อำเภอท่าชนะ

 

ซึ่งประสบความเดือดร้อนขาดแคลนน้ำสำหรับอุปโภคบริโภคและทำการเกษตรในช่วงหน้าแล้งได้ขอพระราชทานโครงการก่อสร้างฝายทดน้ำและท่อส่งน้ำ โดยคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (กปร.) สนับสนุนงบประมาณดำเนินการก่อสร้างเป็นฝายทดน้ำคอนกรีตเสริมเหล็ก

 

ขนาดสันฝายสูง 2.50 เมตร ยาว 14 เมตร ขนาดความจุ ประมาณ 40,000 ลูกบาศก์เมตร มีระบบท่อส่งน้ำและอาคารประกอบ ความยาวรวม 8,640 เมตร บ่อพักน้ำ ขนาดความจุ 78 ลูกบาศก์เมตร จำนวน 3 แห่ง สร้างแล้วเสร็จในปี 2551 ที่ผ่านมา

 

นายวชรพร สมวงศ์ ราษฎร ต.ประสงค์ อ.ท่าชนะ จ.สุราษฎร์ธานี เปิดเผยว่า เมื่อก่อนชาวบ้านอยู่แบบไม่มีน้ำต้องไปขนน้ำมาจากลำคลอง ลำห้วยมาใช้ สิ้นเปลืองค่าน้ำมันและไฟฟ้าสำหรับเครื่องสูบน้ำ แต่เมื่อได้ฝายตัวนี้ทำให้มีน้ำใช้เพียงพอ และสามารถปลูกผักสวนครัวเพิ่มเติมได้อีกด้วย ทำให้มีกิน มีขายได้ตลอดทั้งปี 

 

“ผมมีพื้นที่ 20 ไร่เป็นพื้นที่อยู่อาศัย 1 ไร่ มีการปลูกผักสวนครัวและทุเรียน 10 ต้น บริเวณบ้าน ในตอนแรกคิดไว้กินในครอบครัว แต่ปรากฏว่ามีผลผลิตออกมามากจนได้ขายเพราะน้ำดีผลผลิตจึงสมบูรณ์” นายวชรพร สมวงศ์ กล่าว  

'ฝายบ้านปลายน้ำตก' พร้อมระบบส่งน้ำ-ช่วยกักเก็บน้ำหน้าฝน

พลเอก กัมปนาท รุดดิษฐ์ องคมนตรี ประธานอนุกรรมการติดตามและขับเคลื่อนโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริในพื้นที่ภาคใต้ พร้อมด้วย นายปวัตร์ นวะมะรัตน เลขาธิการ กปร. และคณะอนุกรรมการฯ ได้เดินทางไปยังโครงการ เมื่อวันที่ 27 ตุลาคม 2565 ที่ผ่านมา พบว่าราษฎรมีความพอใจที่มีโครงการในพื้นที่

 

และจากประสิทธิภาพในการดำเนินงานของโครงการยังผลให้ราษฎรสามารถทำการเพาะปลูกพืชได้อย่างหลากหลายตลอดทั้งปี พร้อมกันนี้ได้มีการรวมตัวกันจัดตั้ง “กลุ่มผู้ใช้น้ำบ้านน้ำตกเพื่อผลผลิต” ขึ้น เพื่อบริหารจัดการน้ำให้เกิดประโยชน์อย่างทั่วถึง

 

อีกทั้งยังเป็นการร่วมแรงร่วมใจกันบำรุงรักษาโครงการให้สามารถใช้งานได้อย่างดีมาตลอดหลายปี ปัจจุบันโครงการได้ส่งน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคให้แก่พื้นที่บ้านคลองรอก หมู่ที่ 15 และบ้านท่าใหม่ หมู่ที่ 17 ต.ประสงค์ อ.ท่าชนะ จ.สุราษฎร์ธานี 417 ครัวเรือน มีราษฎร 1,384 คน และพื้นที่การเกษตรกว่า 808 ไร่ ได้รับน้ำอย่างเพียงพอ

 

ยังผลให้ผลผลิตทางการเกษตรดีมีคุณภาพตามที่ตลาดต้องการ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญของประเทศ อาทิ เงาะ มังคุด และทุเรียน ส่งผลให้ราษฎรมีรายได้ มีคุณภาพชีวิตที่มั่นคงกว่าอดีตที่ผ่านมา  

logoline