ข่าว

คนไทยเสียชีวิตเพิ่ม 2 ราย บาดเจ็บ-ถูกจับเป็นตัวประกันเพิ่มด้วย

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

กต. เผยตัวเลขล่าสุด คนไทยเสียชีวิตเพิ่ม 2 ราย บาดเจ็บเพิ่ม 4 ราย ถูกจับเพิ่ม 3 ราย พร้อมชี้แจงเหตุผลอพยพพลเรือนออกจาก 'อิสราเอล' ล่าช้า

นางกาญจนา ภัทรโลค อธิบดีกรมสารนิเทศและโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ แถลงความคืบหน้าตัวเลขผลกระทบต่อคนไทยในอิสราเอลว่า ได้รับแจ้งเพิ่มเติม ทางสถานทูตได้รับแจ้งว่า มีผู้เสียชีวิตเพิ่มอีก 2 ราย รวมเป็น 20 ราย เป็นข้อมูลที่ได้จากแรงงานในพื้นที่ ซึ่งการยืนยันทางอิสราเอลและต้องใช้เวลา มีผู้บาดเจ็บเพิ่ม 4 ราย รวมเป็น 13 ราย มีผู้ถูกจับกุมไปได้รับรายงานจากแรงงานที่เห็นเหตุการณ์ เพิ่มอีก 3 ราย รวม 14 ราย 

 

ส่วนจำนวนคนไทยแสดงความประสงค์เดินทางกลับ 5,019 ราย ไม่ประสงค์เดินทางกลับ 61 ราย มีบางส่วนที่อพยพมายังพื้นที่ปลอดภัย เปลี่ยนใจไม่กลับ ส่วนที่เหลืออีกกว่า 20,000 ราย น่าจะอยู่ในพื้นที่ปลอดภัย แล้วก็ไม่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ดังกล่าว

ทั้งนี้มีข่าวจากโซเชียลมีเดียพบแรงงานไทยในอิสราเอล 14 คน ที่หลบซ่อนและช่วยเหลือได้นั้น นางกาญจนา ระบุว่า จากการตรวจสอบ ไม่ได้เป็นผู้ที่อยู่ในรายชื่อที่สถานทูตมี ซึ่งยอมรับมีกลุ่มอื่นเข้าไปช่วยเหลือออกมาจริงแต่ที่ผ่านมาทางเราช่วยเหลือมาแล้วหลายร้อยราย  

 

นางกาญจนา กล่าวเพิ่มเติมว่า ไม่สามารถยืนยัน 100% ว่าตัวประกันที่ถูกจับไปปลอดภัยหรือไม่ ซึ่งกลุ่มฮามาส ตัวประกันรวมหลายชาติกว่า 150 คน และคาดการณ์ว่า จะกระจายที่ต่างๆ ไม่ได้อยู่รวมกัน 

ส่วนผู้บาดเจ็บ 15 แรงงานไทยล็อตแรกที่จะเดินทางถึงไทยในวันพรุ่งนี้ (12ต.ค.) ได้รับการรักษาดูแลแล้ว ทุกคนอยู่ในสภาพนั่งเครื่องเดินทางได้ เมื่อเดินทางมาถึงจากเจ้าหน้าที่จะส่งตรวจร่างกายที่โรงพยาบาลของกระทรวงสาธารณสุข ก่อนที่จะส่งกลับภูมิลำเนา ซึ่งเข้าใจว่าญาติต้องการเจอหน้ากัน แต่ขอให้รอขั้นเจ้าหน้าที่

 

ส่วนกระแสกลุ่มฮามาสไม่ยอมเจรจานั้น มองว่า ขณะนี้ทุกฝ่ายทุกประเทศพยายามดำเนินการอยู่แล้ว เพื่อยุติความรุนแรง ประเทศใดที่สามารถเจรจาข้างไหนได้ก็เจรจา ซึ่งพลเรือนชาติที่ไม่เกี่ยวข้องไม่ควรมามีส่วนร่วมในการรับผิดชอบด้วย และได้ยินมาว่าในพื้นที่อันตราย เริ่มมีความลำบากเรื่องของเสบียงน้ำ อาหาร แต่ต้องยอมรับว่า การช่วยเหลือต้องมาจากอิสราเอล ทหารต้องเข้าในพื้นที่ 

 

ส่วนแรงงานไทยที่ถูกส่งต่อให้ไปทำงานกับนายจ้างใหม่นั้น ทราบว่า เป็นการโยกย้ายการทำงานจากพื้นที่ที่ไม่ปลอดภัยมายังอีกพื้นที่ที่ปลอดภัย เพื่อให้มีรายได้ และนายจ้างต้องประเมินว่าปลอดภัยหรือไม่ ต้องดูเรื่องย้ายสถานที่ทำงานและให้ทำงานเลย เพราะมีเรื่องดูแลสภาพจิตใจ แรงงานไทยมีสิทธิ์ปฏิเสธที่จะไม่ทำงานในสภาวะนี้ เมื่อเครียด กดดัน สามารถแจ้งกับนายจ้างได้ ส่วนที่กังวลว่าเดินทางกลับไทยแล้วไม่สามารถกลับไปทำงานได้อีกนั้น ต้องดูกฎท้องถิ่น หากไปทำงานไม่ถึง 4 ปี จะได้รับสิทธิกลับไป 

 

ส่วนกรณีที่บางประเทศสามารถอพยพประชาชนออกจากอิสราเอลได้ ทำให้มองว่าทางการไทยล่าช้า นางกาญจนา ระบุว่า ประเทศที่อพยพได้แล้วนั้น ส่วนใหญ่เป็นประเทศในแถบยุโรป ใกล้มากในการเดินทาง รวมถึงไม่ได้เป็นแรงงาน เช่น เป็นนักท่องเที่ยว เป็นพลเรือน ทำให้การรวมคนนั้น ง่าย และไม่ใช่คนที่ฝ่าพื้นที่ไม่ปลอดภัยออกมา 

 

ส่วนการเตรียมพร้อม หากสถานการณ์รุนแรงขึ้นถึงขั้นปิดน่านฟ้าทั้งหมด นางกาญจนา เปิดเผยว่า ทางการไทยมีการหารือกัน ซึ่งมีแผนอพยพทางเรือ แต่ยังไม่ปลอดภัย ขณะเดียวกันสหประชาชาติและหลายประเทศไกล่เกลี่ยสถานการณ์ให้ดีขึ้น เราก็หวังว่า ไม่ยืดเยื้อ ทำให้มีผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้น 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ