ข่าว

เด็กคนแรกลืมตาดูโลกจากมดลูกผู้บริจาคที่ตายแล้ว 

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ครั้งแรกของโลกมารดาปลูกถ่ายมดลูกจากผู้บริจาคที่เสียชีวิต ให้กำเนิดทารกสุขภาพแข็งแรงดี 



วารสารการแพทย์แลนเซ็ต รายงานว่า ที่ผ่านมา มีการผ่าตัดเปลี่ยนถ่ายมดลูก 39 ครั้ง โดยใช้อวัยวะจากผู้บริจาคที่ยังมีชีวิตอยู่ รวมถึงกรณีส่วนใหญ่มารดาบริจาคให้กับลูกสาว ถึงปัจจุบัน ทารกลืมตาดูโลกจากวิธีการนี้แล้ว 11 คน 

 

แต่ผู้หญิงที่จำเป็นต้องปลูกถ่ายมดลูก มีมากกว่าผู้บริจาคที่ยังมีชีวิตอยู่มาก แพทย์จึงพยายามค้นคว้าว่าจะมีกรรมวิธีใดให้สามารถใช้มดลูกจากผู้หญิงเสียชีวิตแล้วได้  กระนั้น ความพยายามปลูกถ่ายมดลูกจากผู้บริจาคตายมาแล้ว 10 ครั้ง ในสหรัฐ  สาธารณรัฐเช็ค และตุรกี ไม่อาจช่วยให้มีบุตรได้หรือไม่ก็แท้ง 

ในกรณีนี้ ผู้บริจาคเป็นแม่ลูกสาม วัย 45 ปี เสียชีวิตจากเลือดคั่งในสมอง ส่วนผู้รับวัย 32 ปี มีความผิดปกติแต่กำเนิดที่ทำให้ผู้หญิงไม่มีการเจริญของมดลูกและช่องคลอด ที่เรียกว่ากลุ่มอาการ เอ็มอาร์เคเอช พบในผู้หญิงราว 1 คนในทุก 4,500 คน แต่รังไข่ของเธอปกติดี 

ก่อนปลูกถ่ายอวัยวะ 4 เดือน แพทย์นำไข่มาปฏิสนธิกับอุสจิของพ่อ และแช่แข็งไว้  จากนั้น ศัลยแพทย์ผ่าตัดปลูกถ่ายมดลูกแก่คุณแม่ที่ไม่มีมดลูกตั้งแต่กำเนิด ใช้เวลา 10 ชม.  

แพทย์ต้องเชื่อมมดลูกของผู้บริจาคกับหลอดเลือดดำ หลอดเลือดแดง เอ็นยึด และ ช่องคลอด และให้คุณแม่กินยา 5 ขนาน เพื่อกดภูมิคุ้มกันป้องกันร่างกายต่อต้านอวัยวะที่ปลูกถ่าย 
6 เดือนต่อมา เธอเริ่มมีประจำเดือนตามปกติ 

แพทย์ฝังไข่ปฏิสนธิแล้วหลัง 7 เดือนผ่านไป 

10 วันต่อมา แพทย์จึงประกาศข่าวดีว่าเธอตั้งครรภ์ 

นอกจากติดเชื้อที่ไตเล็กน้อยซึ่งรักษาโดยให้ยาปฏิชีวนะในสัปดาห์ที่ 32 แล้ว การตั้งครรภ์โดยรวมปกติดี  
หลังจาก 36 สัปดาห์  แพทย์ผ่าคลอดทารกน้ำหนัก 2.5 ก.ก. เมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2561 

แม่และลูกออกจากโรงพยาบาลได้ 3 วันต่อมา จากนั้น แพทย์ผ่าเอามดลูกที่ปลูกถ่ายใหม่ออก เพื่อที่เธอไม่ต้องกินยากดระบบภูมิคุ้มกันอีกต่อไป 
ขณะส่งผลการศึกษาเพื่อตีพิมพ์ ทารกอายุ 7 เดือน 12วัน เลี้ยงด้วยนมแม่ น้ำหนัก 7.2 ก.ก. 

สถิติพบว่า สามีภรรยาราวร้อยละ 10-15 มีปัญหามีบุตรยาก และในกลุ่มนี้ สตรี 1 ใน 500 คน มีปัญหาที่มดลูก เช่น ผิดรูป ตัดมดลูก หรือติดเชื้อ ทำให้พวกเธอไม่มีโอกาสตั้งครรภ์เป็นคุณแม่ และทางเลือกสำหรับผู้หญิงที่มีความผิดปกติลักษณะนี้คือรับบุตรบุญธรรมหรือใช้บริการแม่อุ้มบุญเท่านั้น 

ดร.ดานี เอจเซนเบิร์ก แพทย์โรงพยาบาลมหาวิทยาลัยเซาเปาโล กล่าวว่าความสำเร็จครั้งนี้คือหมุดใหม่ทางการแพทย์ เป็นทางเลือกใหม่สำหรับผู้หญิงที่มีปัญหามดลูกให้กำเนิดบุตรไม่ได้ และจำนวนผู้หญิงที่ตั้งใจบริจาคอวัยวะเมื่อเสียชีวิต มีมากกว่าผู้บริจาคยังมีชีวิตอยู่ 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ