ข่าว

"เบร็กซิท"ลดสิทธิผู้หญิง

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

พงศธร สโรจธนาวุฒิ มูลนิธิสร้างความเข้าใจเรื่องสุขภาพผู้หญิง (สคส.) [email protected]



    เหตุการณ์ Brexit เมื่อปีที่แล้ว ส่งผลให้อังกฤษต้องออกจากการเป็นประเทศสมาชิกในสหภาพยุโรป สิ่งที่ต้องทำต่อมาคือการเจรจาข้อตกลงต่างๆ ซึ่งต้องมีการเปลี่ยนแปลง และอังกฤษต้องจ่ายค่าชดเชยจากการลาออกในครั้งนี้ 
    การเจรจาครั้งแรกเพิ่งจะเริ่มต้นเมื่อวันที่ 19 มิถุนายนที่ผ่านมา แต่สิ่งที่สื่อให้ความสนใจคือคณะเจรจาทั้ง 10 คนของอังกฤษ ซึ่งประกอบด้วยข้าราชการประจำและข้าราชการการเมือง มีผู้หญิงเพียงคนเดียวเท่านั้น
    เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ตามมาในโลกออนไลน์ว่าเพราะเหตุใด คณะเจรจาข้อตกลงเรื่อง Brexit ของอังกฤษถึงมีผู้หญิงร่วมด้วยแค่คนเดียว และทั้งคณะเป็นคนผิวขาว จะมองได้ว่า เป็นการละเลยเสียงของผู้หญิง และกลุ่มผิวสีหรือไม่ เพราะทั้งผู้หญิงและคนผิวสีที่เป็นคนอังกฤษต่างก็คนลงคะแนนประชามติเมื่อปีที่แล้วด้วยกันทั้งนั้น
    สิ่งที่เป็นห่วงกันก็คือ การไม่มีผู้หญิงในคณะเจรจา อาจทำให้ประเด็นเรื่องสิทธิทางเพศ และสิทธิผู้หญิงไม่ได้รับความสนใจเท่าที่ควร และการเจรจาอาจไม่ได้ผลลัพธ์ดีที่สุดแก่ประเทศ
    ฮีทเธอร์ บาร์ นักวิจัยด้านสิทธิสตรีขององค์การ Human Rights Watch บอกว่า คณะเจรจาข้อตกลงต่างๆ โดยเฉพาะด้านสันติภาพและความมั่นคงของประเทศ ควรมีคนหลากหลาย ทั้งในด้านเพศ เชื้อชาติ สีผิว ฯลฯ 
    โดยเธอเชื่อว่า อนาคตของประเทศไม่ควรใช้คนเพียงกลุ่มเดียวในการตัดสินใจ คณะเจรจาควรประกอบไปด้วยคนหลากประสบการณ์ จึงจะหาจุดร่วมและครอบคลุมประโยชน์ของคนทุกกลุ่ม เธออ้างอิงการทำงานของตัวเองในอัฟกานิสถาน ซึ่งต้องมีการเจรจากันระหว่างคณะทำงานกับกลุ่มตาลีบัน พบว่าผลลัพธ์การเจรจาดีกว่าถ้าหากมีทั้งผู้หญิงและชายในกลุ่ม
    องค์การสหประชาชาติเองก็ยืนยันจากผลวิจัยเช่นกันว่า การมีผู้หญิงเข้าร่วมเป็นหนึ่งในคณะเจรจาข้อตกลงต่างๆ มีแนวโน้มที่การเจรจาจะประสบความสำเร็จ และได้ผลลัพธ์ที่ดี มีการระบุไว้ในหลักการข้อมติความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ ข้อที่ 1325 ว่าคณะเจรจาข้อตกลงควรมีผู้หญิงเข้าร่วม และต้องแสดงศักยภาพของตนเองด้วย

    หญิงอังกฤษเสี่ยงเสียสิทธิ
    ขณะที่การออกจากอียู ก็อาจกระทบสิทธิผู้หญิงไม่น้อย นักกฎหมายหลายคนระบุว่าการออกจากอียูทำให้อังกฤษไม่ได้รับความคุ้มครองภายใต้กฎหมายอียู กฎหมายที่น่าเป็นห่วงว่าจะกระทบกับผู้หญิงมากสุดน่าจะเป็นกฎหมายเกี่ยวกับการทำงาน
    แซม สมิเตอร์ จากองค์กรสิทธิผู้หญิงในอังกฤษ Fawcett Society บอกว่ากฎหมายว่าด้วยการทำงานของอังกฤษล้าหลังไป 20-30 ปี ทั้งในเรื่องสิทธิลาคลอด สิทธิพนักงานพาร์ทไทม์ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้หญิง รวมถึงสิทธิเงินบำนาญ
    กฎหมายอังกฤษปัจจุบันให้เงินลาคลอดเพียงเล็กน้อย แต่กฎหมายยุโรป อนุญาตให้ผู้หญิงได้รับเงินลาคลอดถึง 14 สัปดาห์ และได้รับการคุ้มครองให้กลับมาทำงานตำแหน่งเดิมได้ ไม่ต้องกังวลว่าจะถูกไล่ออกถ้าตั้งท้อง แต่ถ้าออกจากอียู สิทธิตรงนี้ก็จะไม่ได้รับการคุ้มครอง
    นอกจากนี้ การออกจากอียูก็ยังทำให้องค์กรผู้หญิงหลายแห่งในอังกฤษไม่ได้รับเงินสนับสนุนกว่า 100 ล้านยูโร (4,000 ล้านบาท) ในการทำงานด้านสิทธิผู้หญิง เรียกได้ว่า มีหลายอย่างที่อังกฤษต้องเจรจาเพื่อให้สิทธิผู้หญิงยังได้รับการคุ้มครองเหมือนเดิม แม้จะไม่มีตัวแทนเจรจาที่เป็นผู้หญิงมากนัก แต่ประเด็นนี้ก็ควรถูกยกขึ้นมาพูดถึง

    

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ