Lifestyle

บ้าน“ป้องภัย”ของขวัญและกำลังใจที่ให้เพื่อนร่วมโลก

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

สวัสดีครับชาวคนรักบ้าน ในสัปดาห์นี้ยังคงวนเวียนอยู่ในบรรยากาศซึมๆ เศร้าๆ ทำให้อารมณ์ไม่ใคร่จะสดชื่นรื่นเริง เพราะผมยังติดตามข่าวภัยพิบัติทางธรรมชาติอันเกิดจากแผ่นดินไหวขนาด 6-7 ริกเตอร์ที่มีความลึกห่างจากผิวดินเพียง 10 กิโลเมตรที่ “เฮติ”

ซึ่งทางการได้ประกาศหยุดการค้นหาผู้รอดชีวิตแล้ว ในขณะที่ข่าวบางกระแสรายงานว่าการเก็บกู้ซากศพผู้เสียชีวิต เพิ่งจะทำได้เพียง  8-9  หมื่นศพ ดังนั้น หมายความว่ายังมีซากศพผู้เสียชีวิตที่ถูกทับถมในซากปรักหักพังของอาคารบ้านเรือนกว่า 1 แสนศพ 

 ผมลองจินตนาการดูก็ช่างน่าอเนจอนาจใจเป็นอย่างยิ่งครับ เพราะ “เฮติ” ในสภาพปัจจุบันดูจะขาดแคลนไปเสียทุกอย่าง แบบที่ท่านสุนทรภู่กล่าวไว้ว่า “ทั้งโรคซ้ำ กรรมซัด วิบัติเป็น ไม่เล็งเห็นที่ซึ่งจะพึ่งพา” อย่างไรก็อย่างนั้น ยิ่งติดตามข่าวก็ยิ่งเศร้าใจครับ เพราะภายใต้ความขาดแคลน คนเฮติ ด้วยกันเองที่อดอยาก หิวโหย ก็เริ่มทำร้ายแย่งชิง ปล้น บรรดาอาหาร สิ่งของ เครื่องใช้กันเอง  แม้แต่รัฐบาลของ “เฮติ” ก็ยังไม่สามารถรับประกันความปลอดภัยของคณะทำงานจากชาติต่างๆ ที่หลั่งไหลเข้าไปในดินแดนแห่งภัยพิบัติทางธรรมชาตินี้    

 นอกจากนั้น นับแต่นี้ไป “เฮติ” ยังต้องเผชิญกับสถานการณ์ที่เลวร้ายยิ่งขึ้นไปกว่านี้อีก หากยังไม่สามารถควบคุมสติของฝูงชนที่อดอยาก หิวโหยและไร้ซึ่งความหวังกันไว้ได้ พอถึงจุดนั้น “คน” ก็หมดสภาพความเป็น “มนุษย์” ไม่ได้แตกต่างอะไรไปจาก “สัตว์” ที่จำเป็นต้องต่อสู้ดิ้นรนเพื่อการอยู่รอด แบบว่าใครแข็งแรงกว่า ดุร้าย โหดเหี้ยมกว่า เฉลียวฉลาดกว่า ก็มีชีวิตรอดไป ที่จะตามมาอีกระลอกคือ “เฮติ” ที่เต็มไปด้วย “ซากศพ” จะมีการแพร่เชื้อโรคระบาดต่างๆ ที่กำลังจะประดังประเดกันเข้ามา พอดูหนังดูละครแล้วย้อนกลับมาดูตัวครับ ถ้าคนไทยไม่อยากตกอยู่ในสภาพสิ้นหวัง ได้แต่นอนรอความช่วยเหลือจากภายนอกและสังคมตกอยู่ในสภาพไร้ซึ่งกฎระเบียบดังเช่น “เฮติ” ก็ต้องเตรียมพร้อมโดยไม่ประมาท 

 ผมมีโอกาสเสวนากับ คือ ดร.สมิทธ ธรรมสโรช (ปัจจุบันดำรงตำแหน่ง ประธานมูลนิธิสภาเตือนภัยแห่งชาติ) ก็ได้ทราบข้อมูลที่น่าสนใจและน่าตระหนกใจลึกๆ ว่า เมื่อประมาณ 80 ปีที่แล้วเกิดแผ่นดินไหว ขนาด 8  ริกเตอร์ที่ประเทศพม่า ที่นักธรณีวิทยาเชื่อว่า จะเกิดเหตุการณ์ในลักษณะนี้อีกทุกรอบ 80-100 ปี และนี่เป็นหนึ่งในสาเหตุสำคัญที่พม่าต้องย้ายเมืองหลวงหนีแผ่นดินไหวจาก “ร่างกุ้ง” ในการเกิดแผ่นดินไหวแต่ละครั้งนั้น เชื่อกันว่าเป็นกระบวนการสะสมพลังงานที่อัดแน่นอยู่ใจกลางโลกที่อยู่ในสภาพของเหลวและร้อนระอุ เมื่อถึงเวลาอันสมควรก็จะปลดปล่อยพลังงานที่เก็บสะสมเอาไว้ออกมาที่ผิวโลก ผ่านรอยแตกแยกหรือรอยเลื่อนต่างๆ หากจะเปรียบให้เข้าใจกันได้ง่ายๆ แบบชาวบ้าน พลังงานที่สะสมอยู่ใต้พื้นพิภพ เปรียบเสมือนการต้มน้ำเดือดในกาน้ำ

 ดังนั้น การเกิดแผ่นดินไหวในแต่ละครั้งจะรุนแรงมากน้อยเท่าใดขึ้นอยู่กับกาน้ำนั้น จะเป็นกาน้ำขนาดเล็กหรือขนาดใหญ่ มีปริมาณไอน้ำหรือพลังงานสะสมอัดแน่นมากน้อยเท่าใด พอต้มน้ำจนเดือดสักพัก กาน้ำก็จำเป็นต้องเปิดออกให้ไอพวยพุ่ง จะว่าไปแล้วบริเวณกรุงเทพฯ และปริมณฑลนั้น ถือว่าโชคดีเพราะไม่ได้ตั้งอยู่บนรอยเลื่อนที่ยังมีพลังอยู่ การเกิดแผ่นดินไหวในบริเวณกรุงเทพฯ จึงมีโอกาสเกิดได้ยาก (ในอดีตเคยเกิดแผ่นดินไหว แต่ในปัจจุบันรอยเลื่อนได้หมดฤทธิ์ไปแล้ว)

 แต่ที่สมควรระวังเป็นอย่างยิ่ง คือ บรรดารอยเลื่อนที่ยังมีพลังถึง 13 รอยเลื่อนและมีหลายรอยเลื่อนที่อยู่ไม่ไกลนักจากกรุงเทพฯ และย่านชุมชน และที่ต้องไม่ประมาท รวมทั้งต้องไม่มองข้ามโดยการรู้เท่าไม่ถึงการณ์อย่างเด็ดขาดคือ รอยเลื่อน “ศรีสวัสดิ์” ในพื้นที่ จ.กาญจนบุรี ที่เคยเกิดแผ่นดินไหวมีความรุนแรงรับรู้ได้ถึงกรุงเทพฯ ในปี พ.ศ.2509 ซึ่งบรรดานักธรณีวิทยาต่างฟันธงว่า หากเกิดแผ่นดินไหวเกิน 6 ริกเตอร์ ขึ้นไปเมื่อใด รับรองมีผลกระทบแน่ เพราะอาคารบ้านเรือนส่วนใหญ่ในอดีตไม่ได้ถูกออกแบบทั้งทางสถาปัตยกรรมและวิศวกรรมให้รองรับแผ่นดินไหว ข้อบังคับในการออกแบบเพื่อรองรับแผ่นดินไหวเพิ่งมีผลบังคับใช้เมื่อไม่กี่เดือนที่ผ่านมานี้เอง 

 คงจำกันได้นะครับถึงครั้งเกิดเหตุแผ่นดินไหวที่ “โกเบ” ประเทศญี่ปุ่น ก็เป็นที่ทราบกันดีครับว่า มาตรฐานในการก่อสร้างที่ญี่ปุ่นนั้นมีความแข็งแรงและปลอดภัยสูงระดับโลก อีกทั้งยังมีการเตรียมการรองรับกรณีเกิดแผ่นดินไหวเป็นอย่างดี ในครั้งนั้น “โกเบ” เผชิญกับแผ่นดินไหวเพียง 6 ริกเตอร์ ผลก็เป็นดังที่ทราบครับ คือ ราบเป็นหน้ากลองไปทั้งเมือง ในทางปฏิบัติทั้งสถาปนิกและวิศวกรต่างทราบกันดีว่า ในกรณีเกิดแผ่นดินไหวขนาดนี้ หากออกแบบเอาไว้ไม่ดีจะทนทานได้ยาก  ไม่ว่าจะเป็นที่ซานฟรานซิสโก ลอสแองเจลิส หรือที่ไหนๆ ก็ล้วนแล้วแต่สาหัสกันมาแล้วทั้งนั้น

 สัปดาห์นี้พื้นที่หมดครับ มาต่อกันในสัปดาห์หน้า ในใจลึกๆ ผมรู้สึกทั้งดีใจและเศร้าใจครับ ดีใจที่เหตุภัยพิบัติทางธรรมชาติที่รุนแรงนี้ไม่เกิดขึ้นในพระราชอาณาจักรของ “พ่อหลวง”  และดีใจที่ได้ทำหน้าที่ “สุนัขเฝ้าบ้าน” ที่กำลังคอยเตือนสติ คุ้มครอง “ป้องภัย” ที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต (ถ้าไม่เกิดก็จะดีมากที่สุด แต่หากเกิดก็จะเสียหายน้อยที่สุด) แต่ที่เสียใจคือ องค์ความรู้ที่อาจจะเป็นประโยชน์บ้างไม่มากก็น้อย ที่อาจจะช่วยบรรเทาทุกข์ ช่วยชีวิต ช่วย “คุ้มครองป้องภัย” ให้แก่เพื่อนร่วม(ทุกข์) บนโลก ไม่สามารถส่งต่อไปช่วยเพื่อนชาว “เฮติ” ในบางอารมณ์ก็ร่ำๆ อยากไป “เฮติ” ไปสอนให้สร้างบ้านไม่บานที่สามารถ “คุ้มครองป้องภัย”  ที่งามง่าย พอเพียง อันเป็นทั้งที่รักและที่พัก  อีกทั้งยังสามารถคุ้มแดด คุ้มฝน ทนทุกสภาวะ เผื่อไว้โอกาสหน้าหากเกิดแผ่นดินไหวขึ้นอีกก็คงจะไม่เสียหายมากมายขนาดนี้  

 นอกจากนั้นเพียงแค่คิดก็เกิดความปีติ ที่แม้แต่คนที่ไม่ใช่ชาว “เฮติ” ไม่เคยรู้จักกัน ไม่ใช่ญาติกัน แต่ก็ยังอดที่จะห่วงใยกัน เพราะนอกจาก “ข้าวไทย” ที่ส่งไปช่วยชาว “เฮติ” ก็น่าจะมี “บ้านไม่บาน” ของไทยที่คุ้มครอง “ป้องภัย” ตามไปสอนเพื่อนชาว “เฮติ” ให้สร้างบ้านกันอีกระลอก ผมมักจะพูดเสมอครับว่า “ความฝัน ความหวังเป็นของฟรี ยิ่งฝันเรื่องดีๆ ก็ยิ่งต้องกล้าฝันกล้าที่จะหวัง” ไม่แน่นะครับ ปะเหมาะเคราะห์ดี “บ้านไม่บาน” ของไทยอาจมีโอกาสได้ไป “เฮติ” กันในคราวนี้ครับ

 สำหรับท่านที่สนใจการบรรยายของผมในวันอาทิตย์ที่ 14  กุมภาพันธ์ ในหัวข้อ บ้านแม่-เมืองพ่อ แบบพอเพียง”  ณ หอศิลป์พระพรหมพิจิตร คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ วังท่าพระ มหาวิทยาลัยศิลปากร โดยจะเริ่มการบรรยายในเวลา 14.00 น. ในตอนนี้ยอดผู้สนใจสำรองที่นั่งกันมาอย่างล้นหลามเกินกว่า 300 ท่านแล้ว ก็คาดการณ์ว่าน่าจะมีการตีตั๋วยืนกัน ดังนั้น กรุณาไปแต่เนิ่นๆ ครับ ท่านผู้อ่านที่สนใจร่วมฟังการบรรยายสามารถโทรมาสำรองที่นั่งได้ที่ 0-2245-1399 และ  0-2644-1478 โดยด่วนที่สุดครับ

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ