ข่าว

SME Bank รุกพันธกิจ ‘กองทุนพัฒนาเอสเอ็มอีตามแนวประชารัฐ’

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

SME Bank รุกพันธกิจ ‘กองทุนพัฒนาเอสเอ็มอีตามแนวประชารัฐ’

 

                ภารกิจการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยตามนโยบายรัฐบาล ในการผลักดันโครงสร้างเศรษฐกิจฐานราก จากการ ‘เพิ่มมูลค่า’ สู่ ‘การสร้างมูลค่า’ ยกระดับศักยภาพให้พร้อมก้าวสู่ยุคอุตสาหกรรม Thailand 4.0  ดำเนินมาตั้งแต่ช่วงต้นปี ภายใต้การบูรณาการนำโดย 3 หน่วยงานหัวหอกหลัก อาทิ กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.)  สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) และธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว. หรือ SME Development Bank) ล่าสุดผนึกกำลังลงพื้นที่จับเข่าคุยกับ ‘เสือคืนถิ่น’ แดนอีสาน จ.อุบลราชธานี, จ.อำนาจเจริญ และ จ.มุกดาหาร เพื่อสนับสนุนชี้นำให้เห็นแนวทางสร้างอาชีพให้ฝังลึกในชุมชน สร้างความยั่งยืนให้ถิ่นฐาน ผ่านกองทุนพัฒนาเอสเอ็มอีตามแนวประชารัฐ

                  ที่ผ่านมา กระทรวงอุตสาหกรรมมีบทบาทในการสร้างความเข้มแข็งให้กับเอสเอ็มอีไซส์มินิมาอย่างต่อเนื่อง โดยติดอาวุธด้านอุตสาหกรรมครบลูปทุกมิติ มุ่งสู่การเป็น SMART SMEs ครั้งนี้นำเสนอบทบาทครั้งสำคัญด้วยกองทุนพัฒนาเอสเอ็มอีตามแนวประชารัฐ วงเงิน 20,000 ล้านบาท ซึ่งนายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เชื่อว่าจะสามารถสร้างเอสเอ็มอีต้นน้ำที่แข็งแกร่งให้กับเศรษฐกิจท้องถิ่น ร้อยเป็นฟันเฟืองที่เข็มแข็งมีศักยภาพ พร้อมผงาดขับเคลื่อนสินค้าไทยสู่ตลาดโลกต่อไปได้ 

                ‘ยางนา’ คือ หนึ่งในธุรกิจต้นแบบที่นำวัตถุดิบจากธรรมชาติในท้องที่มาพัฒนาเป็นสินค้าที่มีคุณสมบัติเฉพาะ จนประสบความสำเร็จอย่างก้าวกระโดด ธุรกิจที่เห็นภาพชัดในฐานะเชื่อมโยงเครือข่ายจากชุมชนชาวบ้าน สานต่อธุรกิจติดลมบน

                 วีรวุฒิ สังฆพรม เจ้าของบริษัท กาล (30) จำกัด ‘เสือคืนถิ่น’ อดีตหนุ่มออแกไนซ์เมืองหลวง ตั้งใจแน่วแน่หันหลังหวนคืนบ้านเกิด จากชีวิตที่เข็มทิศเปลี่ยนทางเดินจึงเริ่มเล็งหาธุรกิจลงทุน ยกแรกเริ่มจากเมื่อปี 2555 จังหวัดมีนโยบายรณรงค์ให้ชาวอุบลฯ ใส่เสื้อสียางนา เพื่อประชาสัมพันธ์ต้นยางนา ต้นไม้ประจำ จ.อุบลราชธานี  คุณวีรวุฒิไม่พลาดที่จะสร้างผลงานลงมือเป็นหัวเรือใหญ่จัดประกวดแฟชั่นโชว์เสื้อผ้าย้อมสียางนา พร้อมนำไอเดียมาต่อยอดธุรกิจภายใต้แบรนด์ ‘ยางนา’ ที่ปัจจุบันทำประโยชน์รอบด้าน ครบวงจร ให้กับชุมชนท้องถิ่น

                  ปรากฎว่าสิ่งที่เกิดขึ้นคือคนรู้จักและจดจำแบรนด์จาก ‘สบู่รังไหม’ มากกว่าเสื้อผ้า จากนั้นจึงเห็นช่องทางทำการตลาด เริ่มลงพื้นที่อย่างจริงจัง เฟ้นหาวัตถุดิบดาวเด่นจากชุมชนต่างๆ พื้นที่ใดชำนาญปลูกหม่อนเลี้ยงไหม ปลูกต้นมะหาด ขมิ้น ฟักข้าว ฯลฯ ที่มีคุณภาพ ก็ออกไปรับซื้อวัตถุดิบต้นน้ำทั้งหมด ในรูปแบบประกันราคาอีกต่างหาก

                สบู่โฮมเมดแบรนด์ ‘ยางนา’ มีให้เลือกซื้อหากว่า 50 ชนิด แตกต่างกันไปตามแต่ละวัตถุดิบ แต่สบู่ทุกก้อนจะมีส่วนผสมของรังไหม ซึ่งมีโปรตีนและคอลลาเจนที่ดีต่อผิวพรรณ ปัจจุบันมีชาวบ้านส่งผลผลิตหนอนไหมรวมทุกพื้นที่ตรงถึงแบรนด์มากกว่า 100 กิโลกรัมต่อเดือน จาก 5 จังหวัด ได้แก่ มหาสารคาม ขอนแก่น กาฬสิน ร้อยเอ็ด และยโสธร

                “ผมมองว่าความสุขแท้จริงของชีวิตครอบครัวหรือแม้แต่การทำธุรกิจ จะเติบโตต่อไปได้นั้นต้องพึ่งพาอาศัยกันและกัน ไม่สามารถทำธุรกิจคนเดียวหรือรวยคนเดียวได้ วงจรธุกิจที่ผมสร้างขึ้นจึงเป็นการนำภูมิปัญญาชาวบ้านและวัตถุดิบที่มีอยู่ในท้องถิ่นมาร้อยเชื่อมเข้าด้วยกัน เป็นมรดกแผ่นดินที่ต้องสร้างมูลค่า สร้างประโยชน์สู่ชุมชนให้ได้มากที่สุด เมื่อชุมชนสามารถสร้างรายได้เอง ลูกหลานที่พลัดถิ่นไปทำงานไกลๆ ก็จะกลับมาสู่อ้อมกอดครอบครัวมาทำงานที่บ้าน มีรายได้เลี้ยงตัวเอง เลี้ยงครอบครัว วันนี้ผมภูมิใจที่ได้มีส่วนสร้างสรรค์ให้สังคมชุมชนบ้านเกิด ยกระดับชีวิตความเป็นอยู่ อนาคตผมตั้งเป้าไว้เลยว่า 100% ลูกหลานในชุมชนผมหรือละแวกใกล้เคียงต้องได้กลับมาทำงานที่บ้าน พัฒนาบ้านไปด้วยกันครับ”          

                ในการทำการตลาดนั้น คุณวีรวุฒิตั้งมั่นกับกลยุทธ์ ‘ป่าล้อมเมือง’ และต้องการผลักดันเศรษฐกิจชุมชน เมื่อห้างยักษ์ใหญ่เซ็นทรัลเปิดสาขาที่ จ.อุบลราชธานี โอกาสทองก็มาถึง เขารีบคว้าไว้อย่างไม่ต้องคิด เดินหน้าบุกตลาดเข้าไปแนะนำตัวชี้ให้เห็นถึงสิ่งที่กำลังทำ ทั้งวิสัยทัศน์และธุรกิจที่เริ่มเป็นรูปธรรม จึงไม่ยากที่จะได้รับการสนับสนุนยินดีให้แบรนด์ ‘ยางนา’ สินค้าจากชุมชนวางจำหน่ายในเซ็นทรัลทุกสาขา ท็อปส์ซูเปอร์มาร์เก็ตและแฟมิลี่มาร์ทกว่า 100 สาขาทั่วประเทศ นับเป็นก้าวย่างแห่งความสำเร็จที่ชาวบ้านทุกคนล้วนภาคภูมิใจ

                 สินค้านำร่องขายดีคือ ‘รังไหมขัดหน้า’ ที่นอกจากดีต่อผิวพรรณ รังไหมยังสามารถย่อยสลายได้เองตามธรรมชาติ คุณสมบัติที่ต้องหยิบซื้อ และเป็นโอกาสติดปีกรังไหมไทยโกอินเตอร์ ประเดิมประเทศแรกคือจีนที่ตอนนี้ยอดส่งออกมากถึง 40% กระทั่งเกาหลีก็หันมาสนใจรังไหมไทยด้วยคุณสมบัติที่มีเฉพาะ คือ ศูนย์รวมแหล่งโปรตีนประโยชน์สูง ในปีนี้คุณวีรวุฒิจึงวางแผนที่จะเจาะตลาดยุโรปต่อเนื่อง ด้วยผลิตภัณฑ์ใหม่อย่างโลชั่นรังไหม และสบู่น้ำมันกลิ่นต่างๆ ส่วนตลาดในประเทศจะเน้นผลิตแบบ OEM ขณะเดียวกันเขาก็ตั้งใจจะขยายธุรกิจผ่านช่องทางออนไลน์ภายใต้แบรนด์ PIM ด้วย

                  “ในช่วงที่ธุรกิจขาดสภาพคล่อง เราได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐ และ SME Development Bank  ช่วยเติมเต็มแหล่งเงินทุนดอกเบี้ยต่ำ นำมาซื้อเครื่องจักรเพื่อยกระดับคุณภาพสินค้าให้ได้มาตรฐานส่งออก สำหรับเอสเอ็มอีที่ทำธุกิจปัจจุบันนี้โชคดีกว่ารุ่นผมมาก อย่างโครงการกองทุนพัฒนาเอสเอ็มอีตามแนวประชารัฐ ที่รัฐบาลเข้ามาสนับสนุนและช่วยเหลือ ดอกเบี้ยแค่ 1% ต่อปี ให้เวลาผ่อนชำระหนี้คืนถึง 7 ปี ช่วยลดภาระเงินหมุนเวียนธุรกิจได้มากให้กับคนที่ทุ่มเททำงานเพื่อชุมชนจริงๆ ในระยะยาวนอกจากจะดึงลูกหลานกลับมาทำงานที่บ้าน ผมยังตั้งใจจะให้คนวัยเกษียณมาร่วมทำงานด้วย เพราะเป็นบุคลากรที่มีคมความคิด มากประสบการณ์ สามารถส่งต่อวิชา ทั้งยังจะเป็นแบบอย่างให้กับคนรุ่นใหม่ต่อไปได้”

                ด้านธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย หรือ SME Development Bank ก็พร้อมเติมเต็มสินเชื่อเพื่อกระจายโอกาสสู่เอสเอ็มอีคนตัวเล็กอย่างทั่วถึง ซึ่ง นายมงคล ลีลาธรรม กรรมการผู้จัดการ ได้กล่าวถึงบทบาทของธนาคารที่มีต่อเอสเอ็มอียุค 4.0 นี้ว่า

                    “ในการพัฒนาผู้ประกอบการเอสเอ็มอีคนตัวเล็กมิใช่เพียงแค่ให้เงินทุนสินเชื่อเท่านั้น แต่เราลงพื้นที่เพื่อศึกษาและเฟ้นหาผู้ประกอบการที่เป็น ‘ผู้นำ’ ในแต่ละจังหวัดเป็น ‘เสือคืนถิ่น’ หรือ ‘คนกล้าคืนถิ่น’ ที่กลับมามีส่วนร่วมสร้างงาน สร้างอาชีพ  สร้างรายได้ สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับเศรษฐกิจท้องถิ่น คนกล้ากลุ่มนี้ที่เราพร้อมให้การสนับสนุนเติมเต็มทุกมิติ  เพราะมองว่าการให้เงิน เปรียบเสมือนการให้ ‘ปุ๋ย’ ถ้าต้นอ่อนธุรกิจจะแข็งแรงและอยู่รอดได้ ต้องอาศัยคนกล้านำทาง และมีธนาคารเป็น ‘ไม้ค้ำยัน’ ทั้งด้านการบริหารจัดการ การตลาด และการผลิต ประคองธุรกิจต้นน้ำให้เติบโตอย่างแข็งแกร่งยั่งยืน ตามภารกิจหลักการเป็นธนาคารเพื่อการพัฒนาผู้ประกอบการไทย”

                สนใจผลิตภัณฑ์ บริษัท กาล (30) จำกัด แบรนด์ ‘ยางนา’ ติดต่อ โทร.09 5652 5355 สำหรับผู้ที่สนใจเข้าถึงกองทุนพัฒนาเอสเอ็มอีตามแนวประชารัฐ สามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดได้ที่ สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดทั่วประเทศ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย ทุกสาขา และศูนย์สนับสนุนและช่วยเหลือเอสเอ็มอี www.smessrc.com หรือ Call Center 1357

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ