ข่าว

'ทำและไม่ทำ'ในสถานการณ์การชุมนุม

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

'ทำและไม่ทำ'ในสถานการณ์การชุมนุม : ต่อปากต่อคำ โดยดร.อมร วาณิชวิวัฒน์ [email protected]/ twitter@DoctorAmorn

            ฝรั่งมักมีกฎกติกาหรือข้อพึงประพฤติปฏิบัติในกาลเทศะต่างๆ มากมาย มาลองนึกๆ ดูถ้าในสถานการณ์การชุมนุมอย่างที่เป็นอยู่ในทุกวันนี้ จะมีเรื่องใดบ้างที่เป็นข้อพึงกระทำหรือห้ามกระทำการเพื่อสวัสดิภาพของท่านและส่วนรวมกันบ้าง จึงพัฒนามาเป็นบทความชิ้นนี้

            ขอเริ่มตั้งแต่เรื่องแรก ในฐานะเป็น “นักวิชาการมีสังกัดเป็นหลักแหล่ง” ผมค่อนข้างรังเกียจกับคำว่า “นักวิชาการอิสระ” เพราะเคยได้แสดงความเห็นในหลายวาระโอกาสว่า ความเป็นนักวิชาการโดยธรรมชาติ มีอิสรภาพเสรีภาพในขอบเขตที่ตนเองพึงรับรู้และปฏิบัติได้อยู่แล้ว การอ้างความเป็นนักวิชาการอิสระเสมือนคนขาดความรับผิดชอบ เพราะจะพูดจะแสดงความเห็นอย่างไรเหมือนจะทำให้คิดได้ว่า “คนคนนั้น อยากจะพูดจะทำอะไรก็ได้ใครอย่ามายุ่ง”  ที่สำคัญ แถมด้วยอีกหนึ่ง “ไม่” คือ ไม่ควรอย่างยิ่งที่จะรับเชิญไปเป็นแขกในรายการใดก็ตามที่มานั่งโต้เถียงกันหน้าดำคร่ำเครียดหน้าจอทีวี ยิ่งมีตัวตนอยู่ใน “สถาบันหรือสังกัดเดียวกัน” ยิ่งไม่น่ากระทำ เพราะในท่ามกลางสถานการณ์ชุลมุนและมีความขัดแย้ง ไม่อยากให้ท่านผู้ทรงคุณวุฒิทั้งหลายร้อนวิชาไปโต้เถียงกันในขณะที่ประชาชนเฝ้าติดตามดูอย่างใกล้ชิด เพราะนอกจากจะทำลายความสามัคคีในหมู่คณะยังเป็นการซ้ำเติม เพิ่มอุณหภูมิความขัดแย้งให้ลุกลามบานปลายออกไปอีก

            เรื่องต่อมา “ต้องไม่ชักศึกเข้าบ้าน” ผมเห็นภาพคนเอารถโดยสารป้ายทะเบียนต่างชาติมาโพสต์ในอินเทอร์เน็ต ไม่แน่ใจในข้อเท็จจริงว่าถ่ายได้ที่ไหน และไม่เห็นคนเกี่ยวข้องออกมารับหรือปฏิเสธ แต่หากเป็นความจริงก็ต้องประณามคนเอามา เพราะเป็นเรื่องเลวร้ายที่จะเอาคนต่างชาติมาห้ำหั่นราวีคนไทยด้วยกัน แต่ในอีกด้านหนึ่งก็ต้องขอประณามบุคคลบางฝ่าย หากภาพที่ปรากฏเป็นภาพสมมุติหรือเป็นภาพที่ใครก็ตามเอามาเพื่อยุยงปลุกปั่นให้เกิดความแตกแยกสร้างความวุ่นวายในบ้านเมืองแล้วหลงผิดนำมาเผยแพร่ต่อ

            ประการที่สาม อย่าเอาการเมืองมาทำลายความสัมพันธ์ ความรักความผูกพันที่ดีต่อกัน ผมอยากให้ทุกท่านทำใจให้ว่างตั้งสติให้ดีในการรับฟังข่าวสารข้อมูลต่างๆ อย่าด่วนทึกทักตีความไปตามความคิดข้อเสนอของตนเองหรือคนอื่นที่ท่านมองว่าเขาเป็นสุดยอดที่สุดของที่สุดสำหรับท่าน เพราะวันนี้ตัวอย่างง่ายๆ ใน “โปรแกรมส่งข่าวสารที่เรียกว่า ไลน์ (Line)” ปกติเคยมีเพื่อนพูดคุยกันในเครือข่ายเป็นกลุ่มนักเรียนโรงเรียนเก่ากับมหาวิทยาลัยที่เคยร่ำเรียนด้วยกันมา จำได้ว่าก่อนหน้าจะมีเหตุการณ์ชุมนุม ไลน์ของผมจ๊อกแจ๊กจอแจยิ่งนัก มีคนสนทนาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นสัพเพเหระ กันวันละหลายสิบคน แต่มาวันนี้ เห็นคนพูดคุยสนทนากันอยู่สามถึงห้าคน เนื้อหาเป็นเรื่อง “การเมืองล้วนๆ” ประมาณว่า คนหนึ่งรับบริจาคสู้กับระบอบทักษิณ อีกคนออกมาต้าน โต้เถียงกันไปมากระทั่งเพื่อนฝูงขอลาไปทีละคนสองคน

            ประการนี้ก็สำคัญ ผมได้ใช้รถโดยสารแท็กซี่บ้าง รถไฟฟ้ามวลชนค่อนช้างมากในช่วงการยึดกรุงเทพฯ ของกลุ่ม กปปส. ทำให้ได้เห็นบรรยากาศและพฤติกรรมของผู้คนในหลากหลายสถานที่และเวลา และได้เห็น “สายตาแววตาของคนต่างเพศต่างวัยภูมิหลังต่างกัน” เหมือนผมกำลังจ้องดูทีวีหรือจอหนังขนาดใหญ่มี “มวลชนคนทั่วไปเป็นผู้แสดงให้ผมดู” ทำให้เชื่อได้ว่า วันนี้ “คนเชื้อชาติเผ่าพันธุ์เดียวกันมีความจงเกลียดจงชังหมั่นไส้หรือเหยียดหยามกันด้วยคำพูดและสายตามากขึ้น” ทำให้ต้องใช้ความระมัดระวังให้มากในการแสดงออกเกี่ยวกับการเมืองไม่ว่าจะฟากฝ่ายไหนในทุกสถานที่ เพราะข่าวการทำร้ายกันของคนต่างความคิดอ่านก็ดี กระทั่งฆ่าแกงเป็นข่าวในหน้าหนังสือพิมพ์ ปรากฏออกสื่อเกือบทุกแขนงและเกือบทุกวัน ล่าสุดเริ่มมีเอ็ม 79 โปรยปรายใส่กลุ่มผู้ชุมนุมคล้ายๆ สมัยกลุ่มพันธมิตรชุมนุมยึดทำเนียบรัฐบาลกลับมาอีกครั้ง แต่ได้ยินข่าวจากทางการทำนองว่า “เป็นเพราะประชาชนมีความเกลียดชัง” ฝ่ายโน้นฝ่ายนี้ เลยคว้าเครื่องยิงลูกระเบิดมากระหน่ำยิงเข้าให้ อย่างกับว่าของพวกนี้ซื้อง่ายขายคล่องจับจ่ายได้เหมือนของหาบเร่แผงลอย

            เชื่อว่าในสถานการณ์ที่ไม่ปกติ และยังคงมีการเดินหน้าไปสู่การเลือกตั้งอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ เพื่อให้ “คนไทยไม่เข่นฆ่าคนไทยด้วยกัน” อยากให้ช่วยกันลองนำข้อคิดความเห็นที่กล่าวถึงนี้ไปพิจารณายับยั้งชั่งใจก่อนจะทำหรือไม่ทำอะไรทั้งก่อนและหลังวันที่ 2 กุมภาพันธ์

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ