ข่าว

สิงห์สาราสัตว์

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ผมไม่แน่ใจว่าระหว่างคำว่า “เขี้ยว” ที่ต่อมาขยายคุณศัพท์เป็น “เขี้ยวลากดิน” กับคำว่า “เสือสิงห์กระทิงแรด” นั้นคำไหนมาก่อนกัน แต่เดิมนั้นคำว่าเขี้ยวคงจะหมายถึงคนประเภทรอบจัด คนที่มีประสบการณ์ในเรื่องนั้นๆ มามาก หรือไม่ก็มีลูกเล่นเยอะจนมีปฏิสัมพันธ์ด้วยได้ย

ส่วนกระทิงกับแรดนั้นเป็นคำใส่เข้ามาเพื่อความคล้องจอง แต่ไปๆ มาๆ ทั้งคำว่าเขี้ยวและเสือสิงห์กระทิงแรดก็มีความหมายหนักไปในทางลบ

 ถ้าถามว่าคนไทยแต่เดิมมีความรู้สึกนึกคิดต่อสัตว์ประเภทนี้อย่างไร ผมคิดว่าคนไทยสมัยก่อนนั้นมีความเข้าใจธรรมชาติและอุปนิสัยของสัตว์เป็นอย่างดี และนำคุณลักษณะของสัตว์ต่างๆ มาใช้เป็นเครื่องเตือนสติคนด้วยกันเอง อย่างเสือก็จะได้รับการยกย่องว่าเป็นสัตว์ที่มีศักดิ์ศรี ดังโคลงโลกนิติ ที่ว่า “ถึงจนทนสู้กัด กินเกลือ อย่าเที่ยวแล่เนื้อเถือ พวงพ้อง อดอยากเยี่ยงอย่างเสือ สงวนศักดิ์ โซก็เสาะใส่ท้อง จับเนื้อกินเอง” สำหรับสิงโตนั้นถือกันว่าเป็นเจ้าป่าหรือราชาแห่งสรรพสัตว์ มีราชทินนามสีหราชเดโช สำหรับขุนนางที่มีความชอบในการรบทัพจับศึก ฝรั่งเองก็มีนิทานหลายเรื่องที่กล่าวถึงความยิ่งใหญ่ของสิงโต ส่วนกระทิงก็ได้ชื่อในเรื่องความเป็นนักสู้ที่เข้มแข็งทรงพลัง สุดท้ายก็คือแรดซึ่งเป็นสัญลักษณ์แห่งความบึกบึนทดทาน

 เมื่อพูดถึงสัตว์ใหญ่แล้ว ก็ขอพูดต่อถึงสัตว์ที่มีขนาดย่อมลงมาที่ตกเป็นเหยื่อปากของคนไทยยุคใหม่ คือควาย หมาและเหี้ย ถ้าช้างเป็นสัตว์คู่เมือง ควายก็คือสัตว์คู่บ้านของไทยมาแต่ดึกดำบรรพ์ คนไทยในอดีตได้อาศัยแรงควายในการทำนาบรรทุกของและเป็นพาหนะ ความคิดว่าควายโง่จนถูกสนตะพายหรือจูงจมูกได้นั้น น่าจะเป็นความคิดของคนชั้นหลังที่ห่างท้องไร่ท้องนาและถ้าจะให้เดาต่อไป ก็น่าจะเป็นความคิดของนักการเมืองในช่วงที่ประเทศไทยมีระบอบประชาธิปไตยแล้วนี่เอง ที่มักจะดูถูกประชาชนที่อยู่ฝ่ายตรงข้ามกับตนว่าโง่เง่า แต่คนโบราณกลับมีความคิดไปอีกอย่างหนึ่ง ดังโคลงโลกนิติอีกบทหนึ่งที่ว่า “โคควายวายชีพได้ เขาหนัง เป็นสิ่งเป็นอันยัง เที่ยงแท้ คนเด็ดดับสูญ สังขารร่าง เป็นชื่อเป็นเสียงได้ แต่ร้ายกับดี” สำหรับบางท่านที่เคยฟังเพลง “ขวัญใจเจ้าทุย” ของคุณรวงทอง ทองลั่นทม คงเห็นด้วยกับผมว่า ท่อนจบของเนื้อเพลงนั้นแสดงถึงความสัมพันธ์ระหว่างคนกับควายและเปรียบเทียบควายกับคนได้ดีมากว่า “ผู้คนที่เกียจคร้านไม่เข้าท่า ทุยเอยเจ้าดีกว่า ช่วยไถนาได้ทุกวัน”

 หมานั้นเป็นที่ทราบกันโดยทั่วไปในเรื่องความซื่อสัตย์ และจงรักภักดีต่อเจ้าของ จนได้รับฉายาว่าเป็น “เพื่อนที่ดีที่สุดของมนุษย์” และได้รับความไว้วางใจให้ทำหน้าที่เฝ้าบ้าน แม้แต่สื่อมวลชนที่ซื่อตรงต่อวิชาชีพยังได้รับการขนานนามว่าเป็นหมาที่ปกป้องผลประโยชน์ของประชาชน

 สำหรับเหี้ย คัมภีร์ทางพุทธศาสนาได้กล่าวถึงเหี้ย แต่ไม่ได้มีความหมายไปในทางด่าทอหรือเหยียดหยามแต่อย่างใดในพระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกายชาดก ได้กล่าวถึงเหี้ยไว้ว่า “พระโพธิสัตว์ถือปฏิสนธิในกำเนิดเหี้ย อาศัยอยู่ที่จอมปลวกแห่งหนึ่งใกล้ที่จงกรมของดาบส และมักไปหาดาบสเป็นประจำทุกวันเพื่อฟังธรรม ต่อมามีดาบสคนใหม่ที่มีนิสัยคดโกงเข้ามาอาศัยแทนดาบสคนเดิมที่ออกจากหมู่บ้านไป ชาวบ้านได้นำอาหารที่ปรุงจากเนื้อเหี้ยมาให้ดาบสคนใหม่กิน จนดาบสติดใจในรสชาติ และวางแผนฆ่าเหี้ยที่มาฟังธรรม แต่เหี้ยรู้ทันหนีพ้นไปได้และกล่าวตำหนิดาบสว่า เจ้าผู้โง่เขลา จะมีประโยชน์อะไรแก่เจ้าด้วยชฎาและการนุ่งห่มหนังเสือเหลือง เจ้าดีแต่ขัดสีภายนอก แต่ภายในของเจ้าแสนจะรกรุงรัง”

 ครับ นั่นคือเหี้ยด่าคน ซึ่งเจ็บแสบกว่าคนด่าคนว่าเหี้ยเป็นไหนๆ

 ทั้งหมดนี้คือเรื่องของสิงห์สาราสัตว์ และทัศนคติของคนในยุคอดีต กับอคติและมายาคติของคนในยุคปัจจุบันที่มีต่อสัตว์ต่างๆ

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ