ข่าว

'ตะวัน-แบม' กับเส้นทางการต่อสู้ 57 วัน เดิมพันชีวิต แลกการเปลี่ยนแปลง

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ย้อนเส้นทางการต่อสู้ 2 นักเคลื่อนไหว 'ตะวัน-แบม' กับ 57 วัน อดอาหาร เดิมพันชีวิต เพื่อแลกการเปลี่ยนแปลง บทสรุปเป็นอย่างไร

ชื่อของ "ตะวัน-แบม" สองนักกิจกรรมอิสระ ที่ออกมาเคลื่อนไหวทางการเมือง ด้วยการอดอาหาร เดิมพันชีวิต เพื่อแลกอิสรภาพ และข้อเรียกร้อง กินเวลายาวนานเกือบ 2 เดือน จนร่างกายอ่อนแอถึงขีดสุด จนแทบจะเข้าเงื่อนไข เดิมพันด้วยชีวิต แต่ในที่สุด "ตะวัน-แบม" ตัดสินใจเลิกอดอาหารและจะรับการรักษา เพื่อเอาชีวิตไปสู้ต่อ เนื่องจากยังไม่ได้รับการตอบรับจากศาล 

 

คมชัดลึก สรุปเส้นทางของการต่อสู้ ของ ทานตะวัน ตัวตุลานนท์ หรือ "ตะวัน" และ อรวรรณ ภู่พงษ์ หรือ "แบม" ทำไมเธอทั้งสองคน ถึงต้องเดิมพันชีวิต เพื่อแลกกับชีวิตคนอื่น และเป็นไปได้แค่ไหน ที่ข้อเสนอของเธอจะถูกตอบรับ

ตะวัน-แบม

1. "ตะวัน" ทานตะวัน ตัวตุลานนท์ อายุ 21 ปี เข้าร่วมม็อบนักศึกษา โดยอยู่ในกลุ่ม We Volunteer และเป็นหนึ่งในผู้ก่อตั้ง "กลุ่มทะลุวัง" แต่เริ่มเป็นที่รู้จักในวงกว้างครั้งแรก เมื่อช่วงเดือนมีนาคม 2565 เมื่อเธอไลฟ์เฟซบุ๊กวิจารณ์การจัดขบวนเสด็จ ทำให้มีผลกระทบกับกลุ่มผู้ชุมนุม บริเวณหน้า UN โดยวันนั้นเธอถูกควบคุมไว้ที่สโมสรตำรวจเป็นเวลา 3 วัน 2 คืน และถูกแจ้งข้อหา ม.112 และ ม.116 ก่อนจะได้รับการประกันตัว

 

2.  เธอได้รับการประกันตัว พร้อมเงื่อนไข 4 ข้อ คือ ห้ามทำกิจกรรม หรือการกระทำใดที่อาจเสื่อมเสียต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ ,ห้ามโพสต์เชิญชวน ปลุกปั่น ยั่วยุ ชักจูงประชาชนให้เข้าร่วมชุมนุมในสื่อโซเชียลมีเดีย หรือร่วมชุมนุมที่อาจก่อให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง , ห้ามเดินทางออกจากราชอาณาจักร โดยไม่ได้รับอนุญาตจากศาล และ ให้ติดอุปกรณ์กำไล EM

 

3. ส่วน "แบม" เข้าร่วมการชุมนุมอย่างสม่ำเสมอ มาตั้งแต่ปี 2563 แบมถูกตั้งข้อหา มาตรา 112 จำนวนหนึ่งคดี เนื่องจากการทำโพลสติ๊กเกอร์บริเวณหน้าสยามพารากอน เมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2565 เพื่อสำรวจความคิดเห็นของประชาชนทั่วไปว่า ขบวนเสด็จสร้างความเดือดร้อนหรือไม่

 

4. วันที่ 20 เมษายน 2565 ตำรวจสถานีนางเลิ้งแจ้งว่า ตะวันโพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัวราว 10 ครั้ง ในลักษณะพาดพิงถึงสถาบัน และพยายามเข้าไปใกล้กับพื้นที่ขบวนเสด็จอีก 1 ครั้ง โดยใส่เสื้อผ้าสีดำ จึงเรียกร้องต่อศาลให้ เพิกถอนประกัน และส่งตะวันเข้าไปอยู่ในคุก หลังการพิจารณา ศาลตัดสินใจถอนประกันจริงๆ และส่งตะวันเข้าเรือนจำทันที

5. เมื่อเข้าเรือนจำ ตะวันต่อสู้ด้วยการอดอาหาร เป็นเวลา 37 วัน ดื่มเพียงแต่นม จนร่างกายอ่อนล้าเป็นอย่างมาก ส่งผลให้ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล ตัดสินใจใช้ตำแหน่ง สส.นัดศาลอาญา เพื่อขอประกันตัว ออกมาจากเรือนจำ ในวันที่ 26 พฤษภาคม 2565 โดยศาลเพิ่มเงื่อนไขอีก 1 ข้อ คือห้าม เธอออกนอกบ้าน ยกเว้นแต่กรณีที่เจ็บป่วย หรือได้รับอนุญาตจากศาลเท่านั้น

 

6. วันที่ 16 พฤศจิกายน 2565 "ตะวัน" ไปเดินชูป้ายคัดค้านงานประชุม APEC 2022 และนโยบายจีนเดียวที่หน้าโรงแรมสยามเคมปินสกี้ ทำให้มีผู้มาร้องว่า เธอทำผิดเงื่อนไขประกันตัว ในข้อที่ว่าห้ามออกจากบ้าน และ ห้ามทำกิจกรรมที่สร้างความวุ่นวายขึ้นในบ้านเมืองทั้งคู่ยังคงเคลื่อนไหวต่อเนื่อง

 

7. วันที่ 9 มกราคม 2566 ศาลอาญานัดไต่สวน ว่าจะถอนประกันเธอดีหรือไม่ แต่ด้วยความไม่พร้อมด้านเอกสาร ทำให้ศาลเลื่อนนัด เรื่องการถอนประกัน ไปเป็นวันที่ 1 มีนาคม 2566 แทน

ภาพข่าว ตะวัน-แบม ขอถอนประกันตัวเอง

8. วันที่ 16 มกราคม 2566 ชื่อของ "ตะวัน-แบม" กลับมาเป็นข่าวอีกครั้ง เมื่อทั้งสองคน เดินทางมาที่ศาลอาญา เพื่อยื่นถอนประกันตัวเอง โดยระบุว่า เป็นการ "แลกอิสรภาพจอมปลอม เพื่ออิสรภาพที่แท้จริง" ด้วยการใช้การเคลื่อนไหวครั้งนี้ของตัวเอง เรียกร้องให้ศาลปล่อยตัวผู้ต้องขังการเมืองทุกคน โดยยื่นข้อเรียกร้อง 3 ข้อ 

 

  1. ปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม
  2. ยุติการดำเนินความคดีกับประชาชน ที่ใช้สิทธิ เสรีภาพในการแสดงความเห็น การชุมนุม และแสดงออกทางการเมือง
  3. พรรคการเมืองทุกพรรค ต้องเสนอนโยบายยกเลิก ม.112 และ ม.116

 

โดยไฮไลท์ที่เป็นที่จดจำ คือการเทสีแดง ในลักษณะคล้ายเลือด ลงบนศรีษะของตัวเอง พร้อมประกาศว่า "เราจะไม่ยื่นประกันตัวเอง จนกว่าเพื่อนเราจะได้สิทธิประกันตัว"

ขอบคุณเฟซบุ๊ก Tawan Tantawan

9. แต่เมื่อข้อเรียกร้องไม่เป็นผล "ตะวัน-แบม" จึงยกระดับด้วยการ "อดอาหารและน้ำ" เริ่มตั้งแต่วันที่ 18 มกราคม 2566 หลังจากผ่านไป 2 วัน ตะวันมีอาการอ่อนเพลีย ส่วน แบม มีอาการปวดท้อง แพทย์แนะนำ ให้ยา และน้ำ ทางหลอดเลือด แต่ทั้งคู่ปฏิเสธ และยืนยันว่าจะอดอาหารและน้ำต่อไป

 

10. อาการของ "ตะวัน-แบม" ทรุดลงอย่างเห็นได้ชัด จนทั้งสองถูกส่งตัวไปที่ทัณฑสถาน โรงพยาบาลราชทัณฑ์ตั้งแต่วันที่ 20 มกราคม ก่อนที่กรมราชทัณฑ์จะอนุญาตให้ส่งตัวไปรักษาที่โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ ตามคำขอ

 

11. วันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2566 "ตะวัน-แบม" อดอาหารมาเป็นเวลา 21 วันสภาพร่างกายอยู่ในขั้นวิกฤตแล้ว ผู้อำนวยการโรงพยาบาลธรรมศาสตร์ จึงแจ้งศาลอาญากรุงเทพใต้ ให้ปล่อยตัวทั้งคู่ เพราะถ้าคุมตัวต่อไปก็อาจเสียชีวิตได้ในเรือนจำ หรือในโรงพยาบาล เพราะเกรงว่า ไตและอวัยวะอื่น จะได้รับผลกระทบ

 

ศาลอาญาได้พิเคราะห์แล้ว เห็นว่าจำเลยมีร่างกายที่อ่อนแอเกินกว่า จะสร้างความเสียหายใดๆ ใหม่ได้ ศาลจึงกำหนดเงื่อนไขปล่อยตัวชั่วคราว "ตะวัน" 1 เดือน และให้แบม แบบไม่มีกำหนด แต่ทั้งสองคน ยังเดินหน้าอดอาหารต่อไป โดยปฏิเสธการรับน้ำเกลือ และยืนยันว่า จะไม่ลงลายมือชื่อในเอกสารใดๆ เกี่ยวกับการปล่อยตัวครั้งนี้เด็ดขาด

 

12. วันที่ 11 มีนาคม 2566 "ตะวัน-แบม" ออกแถลงการณ์ ยุติการอดอาหาร และจะรับการรักษา เพื่อเอาชีวิตไปสู้ต่อ เนื่องจากยังไม่ได้รับการตอบรับจากศาล ขณะนี้ทั้ง 2 คน สามารถตอบโต้ได้ และแม้จะพ้นขีดอันตรายต่อชีวิตแล้ว แต่คาดว่า ต้องใช้เวลาอีกระยะหนึ่งในการดูแลรักษาที่โรงพยาบาลธรรมศาสตร์ฯ

 

อย่างไรก็ตาม การเลิกอดอาหารของทั้งคู่ ถูกตั้งคำถามว่า มีนัยยะทางการเมืองหรือไม่ อย่างไร ในช่วงไทม์ไลน์ ใกล้เลือกตั้ง 2566 

 

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ