ข่าว

2 มุมมองแพทย์ ยาต้านเอสด์ .รักษาไวรัสโคโรน่าได้หรือไม่

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

รายงานพิเศษ หนังสือพิมพ์คมชัดลึก ... 2 มุมมองแพทย์ "ใช้ยาต้านเอสด์" รักษาไวรัสโคโรน่าได้ผลหรือไม่?

(ภาพ scm.gpo.or.th ) 

 

             หลังจากคณะแพทย์กรุงปักกิ่งประกาศผลทดลองใช้ “กลุ่มยาต้านไวรัสเอดส์” มาดัดแปลงรักษาคนป่วยเชื้อโคโรน่าไวรัส  แล้วสรุปว่าได้ผลดีในระดับหนึ่ง ทำให้นักวิทยาศาสตร์บางกลุ่มรู้สึกตื่นเต้นมาก เพราะเป็นการยืนยันสมมุติฐาน “ความสำเร็จของการใช้ยาข้ามสายพันธุ์ไวรัส” แต่มีแพทย์หลายรายยังไม่แน่ใจว่าได้ผลดีจริงหรือไม่ รวมถึง “หมอไทย” ที่เชี่ยวชาญด้านยาต้านไวรัสเอชไอวีก็ยังมีความคิดเห็นแตกต่างกัน !?!.

 

            26 มกราคม 2563 คณะกรรมาธิการสาธารณสุขแห่งชาติของจีน  แถลงข่าวที่กรุงปักกิ่งว่า หลังจาก“ไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ 2019” (2019-nCoV)ระบาดหนักช่วงต้นเดือนมกราคมนั้น มีคณะแพทย์ของ 3 โรงพยาบาลทดลองใช้ยาต้านไวรัสเอชไอวี 2 ตัว ชื่อว่า รีโทรนาเวียร์” (Ritonavir) และ “โลพินาเวียร์”(Lopinavir) ซึ่งเป็นยาใช้รักษา“ผู้ป่วยเอดส์” มาดัดแปลงใช้กับผู้ป่วยจีนจาก “โรคปอดอักเสบรุนแรงจากโคโรน่าไวรัสสายพันธุ์ใหม่”

 

            โดยผลการทดลองเบื้องต้นถูกตีพิมพ์ในเวบไซด์วารสารการแพทย์ www.thelancet.com สรุปได้ว่า ตั้งแต่วันที่ 2 มกราคม 2563 มีผู้ป่วยติดเชื้อโคโรน่าไวรัส 41 รายเข้ารักษาในโรงพยาบาลพื้นที่อู่ฮั่น แยกเป็นผู้ป่วยชาย 30 ราย ผู้ป่วยหญิง 11 ราย เป็นผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัวเรื้อรัง 13 ราย เช่น โรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคหัวใจและหลอดเลือด ฯลฯ อายุเฉลี่ยของผู้ป่วยคือ 49 ปี โดยทุกคนมีความข้องเกี่ยวกับ “ตลาดอาหารทะเลฮั่วหนาน” (Huanan seafood market)

 

 

 

            นักวิทยาศาสตร์การแพทย์ของจีนได้ทดลองใช้ยาต้านไวรัสเอชไอวี (HIV) กับกลุ่มผู้ป่วยบางส่วนข้างต้น เนื่องจากมีการตั้งสมมุติฐานว่ายากลุ่มนี้อาจต่อสู้กับโคโรน่าไวรัสได้ด้วย แม้เป็นไวรัสแตกต่างสายพันธุ์ก็ตาม ผลปรากฎว่าสามารถควบคุมการติดเชื้อและผู้ป่วยบางรายมีการตอบสนองที่ดีขึ้น

 

        จากนั้นตัวแทนกระทรวงสาธารณสุขประจำการกรุงปักกิ่งได้ออกประกาศว่ามีการเตรียมการสำรองยาทั้ง 2 ตัวไว้แล้ว เพราะเป็นโรงพยาบาลหลักที่จะใช้ดูแลผู้ป่วยในเมืองหลวงของจีน

 

            จากนั้นไม่กี่วัน “นพ.สุขุม กาญจนพิมาย” ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ออกแถลงข่าวในวันที่ 27 มกราคมที่ผ่านมาว่า แม้ยังไมมียารักษาเชื้อไวรัสร้ายนี้โดยตรง แต่หากการศึกษาวิจัยจากคณะแพทย์จีนได้ผลและรัฐบาลจีนจัดเตรียมสำรองยาแล้ว ทางกระทรวงสาธารณสุขของประเทศไทยก็ได้เตรียมพร้อมสั่งให้จัดเตรียมยาทั้ง 2 ชนิดข้างต้นไว้เช่นกัน

 

            “คมชัดลึก” สอบถามไปยังแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านรักษาผู้ป่วยติดเชื้อเอชไอวีในประเทศไทย พบว่ายังมีความคิดเห็นที่แตกต่างกันในการใช้ยาต้าน “ไวรัสเอชไอวี” มาปรับใช้กับ “ไวรัสโคโรน่า” ...

 

 

2 มุมมองแพทย์ ยาต้านเอสด์ .รักษาไวรัสโคโรน่าได้หรือไม่

 

 

            ก่อนอื่นต้องเข้าใจว่า “เชื้อไวรัสเอชไอวี” (HIV : Human Immunodeficiency Virus)  เป็นไวรัสตัวร้ายที่ค่อย ๆ ทำให้ระบบภูมิคุ้มกันในร่างกาย เมื่อร่ายกายอ่อนแอเพราะไม่มีภูมิคุ้มกันก็จะกลายเป็น “โรคเอดส์” หรือผู้ป่วยที่มีภูมิคุ้มกันเสื่อมหรือบกพร่อง (AIDS) ทำให้เป็นโรคติดเชื้อฉวยโอกาสได้ง่าย เช่น วัณโรค โรคติดเชื้อรา โรคระบบทางเดินอาหาร ระบบหายใจ หรืออวัยวะอื่น ๆ จนทำให้เสียชีวิต

 

            ตั้งแต่พบไวรัสร้ายตัวนี้ครั้งแรกเมื่อ 40 ปี ขณะนี้มีผู้ติดเชื้อเอชไอวีทั่วโลกมากกว่า 70 ล้านคน เสียชีวิตไปแล้วไม่ต่ำกว่า 30 ล้านคน ปี 2562 ประเทศไทยมีผู้ติดเชื้อเอชไอวีอยู่ประมาณ 4.5 แสนคน และมีผู้ติดเชื้อรายใหม่วันละ 15 คน หรือปีละไม่ต่ำกว่า 5 พันราย

 

         

            ปัจจุบันมี “ยาต้านเชื้อไวรัสเอชไอวี” ที่ได้รับการรับรองประมาณ 30 ชนิด โดยภาษาแพทย์เรียกยาพวกนี้ว่า “ยาเออาร์วี” หรือ “ยาต้านรีโทรไวรัส” (antiretroviral drugs : ARV) ซึ่งทำหน้าที่ยับยั้งต่อต้านหรือลดประสิทธิภาพการทำงานเชื้อไวรัสเอชไอวีไม่ให้ขยายเผ่าพันธุ์ในร่างกายมนุษย์ ทั้งนี้ยาที่ได้รับการรับรองจากองค์การอาหารและยาของประเทศไทย แบ่งการทำงานเป็น  6 กลุ่ม เช่น กลุ่มยับยั้งไม่ให้เชื้อเอชไอวีเข้ามาเกาะที่เม็ดเลือดขาว กลุ่มยับยั้งกระบวนการแบ่งตัวของเชื้อเอชไอวี กลุ่มยับยั้งกระบวนการต่อสายพันธุกรรมของเชื้อไวรัสกับร่างกายมนุษย์ ฯลฯ

 

       แต่กลุ่มที่น่าสนใจคือ “กลุ่มยับยั้งเอนไซม์โปรติเอส” (Protease Inhibitors, PIs) ซึ่งเป็นกลุ่มของยารีโทรนาเวียร์และยาโลพินาเวียร์ โดยกระบวนการทำงานของยากลุ่มนี้คือ การทำให้โปรตีนของไวรัสเอชไอวีไม่สมบูรณ์ จนไม่สามารถไปสร้างการติดเชื้อเอชไอวีรอบใหม่ได้

 

            แพทย์ผู้เชี่ยวชาญจากศูนย์วิจัยโรคเอดส์ สภากาชาดไทย แสดงความคิดเห็นส่วนตัวกับคมชัดลึกว่า ปกติแล้วยาต้านไวรัส “รีโทรนาเวียร์และโลพินาเวียร์” มีฤทธิ์ทำให้เชื้อไวรัสที่เข้าไปในตัวเซลล์ร่ายกายของคนเราไม่สมประกอบหรือไม่แข็งแรง ทำให้ไม่สามารถออกไปเกาะติดกับเซลล์ร่ายกายตัวอื่นได้

 

            “เปรียบเทียบได้กับเวลาที่ร่ายกายเราติดเชื้อไวรัสเข้าไป เชื้อโรคตัวนี้ต้องไปหาที่อยู่อาศัยหรือเซลล์ในร่างกายก่อน จากนั้นพวกมันจะพยายามแต่งเนื้อแต่งตัวใหม่ใส่เสื้อผ้าให้สวยงามสดใสแข็งแรงเพื่อจะออกไปล่าหาเซลล์ตัวอื่นขยายพันธุ์ต่อไปเรื่อย ๆ  แต่ถ้าเรากินยาต้านไวรัสตัวนี้เข้าไป จะช่วยให้เชื้อไวรัสไม่สมประกอบหรือไม่สามารถแต่งตัวสวยงามออกไปไล่ล่าเกาะติดเซลล์ตัวอื่นได้ เมื่อเชื้อหยุดแพร่กระจาย ภูมิคุ้มกันก็ไม่ถูกทำราย อาการป่วยก็ไม่มีหรือน้อยลง”

 

            สำหรับคำถามว่ายาต้านไวรัส 2 ตัวข้างต้น สามารถนำไปดัดแปลงรักษาผู้ป่วยจากเชื้อไวรัสร้ายตัวใหม่ “โคโรน่า 2019”  ได้หรือไม่ ?

 

            แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านเอดส์ข้างต้น ยอมรับว่าเคยได้ยินว่ามีการทดลองใช้เช่นกัน แต่ยังไม่มีผลวิจัยยืนแน่ชัด ส่วนตัวแล้วคิดว่ามีความเป็นไปได้ เพราะทั้งคู่เป็น “อาร์เอ็นเอไวรัส” (RNA virus) หรือไวรัสที่มีอาร์เอ็นเอเป็นสารพันธุกรรมเหมือนกัน ยา 2 ตัวนี้อาจช่วยยับยั้งการทำงานของไวรัสโคโรน่าได้ ทำให้เซลล์อ่อนแอ แต่ต้องขึ้นอยู่ว่าหมอที่รักษาจะวินิจฉัยว่าควรใช้หรือไม่

 

            ขณะที่แพทย์และเภสัชกรด้านยาต้านไวรัสเอชไอวีบางราย เห็นว่ามีความเป็นไปได้น้อยมากที่ยาตัวเดียวกันจะสามารถต้านไวรัสที่แตกต่างสายพันธุ์ โดยเฉพาะ “ยารีโทรนาเวียร์และยาโลพินาเวียร์” ซึ่งออกแบบมาให้กินพร้อมกัน บริษัทผลิตมักนิยมผสมยา 2 ตัวนี้แล้วทำออกมาเป็นยาเม็ดเดียวให้ผู้ป่วยทานได้ง่ายขึ้น

 

            หลักการสำคัญของยากลุ่มนี้คือการป้องกันไม่ให้เอนไซม์ของเชื้อไวรัสแข็งแรง หรือทำให้อ่อนแอจนไม่สามารถไปเกาะติดเซลล์เม็ดเลือดขาวของมนุษย์หรือไปทำลายเซล์ที่เป็นภูมิคุ้มกันของร่ายกายได้ หากโคโรน่าไวรัส 2019 ไม่ได้มี “เอนไซม์โปรติเอส” ที่เหมือนกับไวรัสเอชไอวี ยาทั้ง 2 ตัวนี้ก็ไม่มีประโยชน์สำหรับผู้ป่วยโรคระบบทางเดินหายใจจากเชื้อไวรัสโคโรน่า

 

2 มุมมองแพทย์ ยาต้านเอสด์ .รักษาไวรัสโคโรน่าได้หรือไม่

 

 

            ทั้งนี้ “ศ.พญ.กุลกัญญา โชคไพบูลย์กิจ” ผู้เชี่ยวชาญยาต้านไวรัสเอชไอวี คณะแพทยศาสตร์ ศิริราชฯ อธิบายว่า มีความพยายามของนักวิจัยหลายกลุ่มที่ใช้ยา “รีโทรนาเวียร์และโลพินาเวียร์” ไปทดลองใช้กับผู้ป่วย“โรคเมอร์ส” ซึ่งเป็นโรคติดเชื้อจากไวรัสโคโรน่าเช่นกัน และมีการตีพิมพ์รายงานการทดลองออกมาด้วย

 

            “ยากลุ่มนี้เคยมีผลศึกษาจากการทดลองในสัตว์ และในหลอดทดลอง พบว่ามีประสิทธิภาพ ก็เลยมีโครงการวิจัยทดลองใช้กับผู้ป่วยโรคเมอร์ส แต่ทดลองแค่เพียงไม่กี่รายเท่านั้น และไม่ได้มีการทดสอบอย่างเป็นระบบ เบื้องต้นผลการรักษาดูเหมือนจะมีประสิทธิภาพ แต่ตอนนี้องค์การอนามัยโลกและผู้เชี่ยวชาญทั่วไปยังไม่ได้แนะนำให้ใช้ยานี้กับผู้ป่วย เพราะยังไม่มีการศึกษาอย่างเป็นระบบ โดยเฉพาะการแสดงถึงผลดีและผลเสีย และยาแต่ละตัวมีผลข้างเคียงแตกต่างกัน หากแพทย์ท่านใดพิจารณาอาการผู้ป่วยว่าอยู่ในขั้นรุนแรง ไม่มีทางเลือกในการรักษาอื่นแล้วจริง ๆ  ก่อนจะใช้ต้องแจ้งอธิบายกับผู้ป่วยหรือญาติให้ทรายรายละเอียดก่อน ไม่สมควรใช้โดยไม่ได้รับอนุญาติจากผู้ป่วยหรือครอบครัวผู้ป่วย” ศ.พญ.กุลกัญญา กล่าวแนะนำทิ้งท้าย

 

ทีมรายงานพิเศษ คมชัดลึก

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ