ข่าว

ส่องเทคนิค"ซูเปอร์แซนด์วิช""ฝนหลวง"รวมใจสู้ภัยแล้ง

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ส่องเทคนิค"ซูเปอร์แซนด์วิช""ฝนหลวง"รวมใจสู้ภัยแล้ง

           ในตำราศาสตร์ฝนหลวงพระราชทาน มีเทคนิคการทำฝน ซึ่งพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร พระบิดาแห่งฝนหลวง ได้พระราชทานไว้สำหรับใช้ทำฝนในเมฆเย็นและเมฆอุ่น โดยใช้เครื่องบินประกบก้อนเมฆแบบแซนด์วิช จึงเป็นที่มาของชื่อพระราชทานเทคนิคนี้ว่า “ซูเปอร์แซนด์วิช”

ส่องเทคนิค"ซูเปอร์แซนด์วิช""ฝนหลวง"รวมใจสู้ภัยแล้ง

                   สุรสีห์ กิตติมณฑล อธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร

          วิธีการดังกล่าว สุรสีห์ กิตติมณฑล อธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร ได้ฉายภาพให้เห็นถึงเทคนิคที่พระบิดาแห่งฝนหลวงพระราชทานไว้เมื่อ 17 เมษายน 2542 เนื่องจากปีนั้นเกิดวิกฤติภัยแล้ง จึงได้มีรับสั่งให้ทำเทคนิคซูเปอร์แซนด์วิช โดยใช้เครื่องซูเปอร์คิงแอร์ไปปล่อยสารซิลเวอร์ไอโอไดด์ ที่บริเวณยอดเมฆเย็น เพื่อเพิ่มปริมาณและขนาดของเม็ดฝนในเมฆให้เพิ่มมากขึ้น ทำให้ปริมาณฝนเพิ่มมากขึ้น

                เทคนิคซูเปอร์แซนด์วิช เป็นการโจมตีเมฆอุ่นในการเพิ่มปริมาณเม็ดน้ำขนาดใหญ่ จากฐานเมฆขึ้นไปถึงส่วนกลางของก้อนเมฆ และโจมตีเมฆเย็น ให้เกิดการเติบโตของเม็ดน้ำแข็งและตกลงมาสลายตัวร่วมกับเม็ดน้ำบริเวณที่เป็นส่วนของเมฆอุ่น ทำให้เม็ดน้ำมีขนาดใหญ่ขึ้น ทำให้มีปริมาณฝนเพิ่มมากขึ้น

                จากข้อจำกัดในเรื่องจำนวนเครื่องบินซูเปอร์คิงแอร์และการขาดแคลนนักบินที่ต้องมีความชำนาญสูง ปัจจุบันกรมฝนหลวงฯ ได้ร่วมมือกับกองทัพอากาศในการพัฒนาพลุซิลเวอร์ไอโอไดด์ และจรวดฝนหลวง สำหรับติดตั้งในเครื่องบินชนิดอัลฟ่าเจ็ตของกองทัพอากาศ ขึ้นไปยิงใส่ที่ยอดเมฆเย็น โดยกรมฝนหลวงฯ ได้ให้กองทัพอากาศผลิตให้ปีละประมาณ 1,000 นัด

ส่องเทคนิค"ซูเปอร์แซนด์วิช""ฝนหลวง"รวมใจสู้ภัยแล้ง

               ปนิธิ เสมอวงษ์ รองอธิบดีกรมฝนหลวงฯ เล่าเสริมว่า เหตุการณ์ ณ วันที่พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร พระราชทานเทคนิคซูเปอร์แซนด์วิชนั้น เกิดปัญหาวิกฤติภัยแล้งในปี 2542 ซึ่งทำให้ในปีนั้นสามารถพ้นวิกฤติภัยแล้งไปได้ด้วยพระมหากรุณาธิคุณ สำหรับเมฆเย็นมักจะเกิดในช่วงเปลี่ยนฤดูในช่วงเดือนมีนาคมถึงพฤษภาคม หรือช่วงฤดูร้อนต่อฤดูฝน ซึ่งเมฆเย็นจะมีความสูงระดับ 20,000 ฟุต อุณหภูมิในเมฆต่ำกว่า -8 ถึง -10 องศาเซลเซียส นักบินต้องบินเข้าชนยอดเมฆเพื่อเข้าไปโปรยสารซิลเวอร์ไอโอไดด์ ดังนั้นนักบินต้องชำนาญมาก และไม่ใช่นักบินทุกคนจะบินเครื่องนี้ได้ ต้องมีการฝึกการบินเครื่องซูเปอร์คิงแอร์จนชำนาญ ปัจจุบันมีเครื่องบินซูเปอร์คิงแอร์ 2 ลำ

                 “นักบินต้องมีความชำนาญมาก เนื่องจากการบินโจมตีเมฆเย็นที่ยอดเมฆในระดับความสูง 20,000 ฟุตนั้นต้องบินเข้าด้วยความเร็วและเพียงแค่ 5 วินาทีเท่านั้น ซึ่งบางครั้งไม่ถึง 5 วินาทีด้วยความแปรปรวนของอุณหภูมิในใจกลางเมฆเย็น ที่มีอุณหภูมิติดลบไม่ถึง 5 วินาที ก็พบว่ามีน้ำแข็งเริ่มจับปีกเครื่องบิน ต้องรีบออกจากกลุ่มเมฆ เป็นการบินที่ค่อนข้างเสี่ยง นักบินต้องเก่งและชำนาญมากในการเข้าโจมตียอดเมฆ นักบินต้องเลี่ยงโจมตีเฉี่ยวที่บ่าของเมฆแทน  ซึ่งบ่าเมฆจะอยู่ที่ตำแหน่งเหมือนบ่าของคน"

ส่องเทคนิค"ซูเปอร์แซนด์วิช""ฝนหลวง"รวมใจสู้ภัยแล้ง

                  อย่างไรก็ตามที่ผ่านมามี พ.ต.อุตส่าห์ มีสุขเสมอ หรือครูอุตส่าห์ ปัจจุบันเกษียณอายุราชการแล้ว แต่กรมฝนหลวงฯ ได้จ้างเป็นครูสอนนักบิน ดังนั้นความร่วมมือของกรมฝนหลวงฯ และกองทัพอากาศ ที่พัฒนาจรวดฝนหลวงเพื่อติดตั้งที่เครื่องบินอัลฟ่าเจ็ตของกองทัพอากาศขึ้นไปยิงเข้าที่ยอดเมฆ จึงถือว่าเป็นเทคโนโลยีที่ช่วยได้มาก มาทดแทนการเข้าบินโจมตีที่ยอดเมฆได้ โดยเฉพาะในการสลายพายุลูกเห็บที่เกิดจากเมฆเย็น ที่ต้องช่วงชิงกับสภาพอากาศ อีกทั้งสอดคล้องกับหลักนิรภัยการบิน 

           

     รองอธิบดีกรมฝนหลวงฯ ย้ำด้วยว่า ในแต่ละปีโอกาสที่จะทำเทคนิคซูเปอร์แซนด์วิชไม่ค่อยมี เนื่องจากโอกาสที่เมฆสองชนิดจะมาอยู่ด้วยกันน้อยมาก แต่ก็พบว่าในการบินทำฝนในเมฆอุ่น บางครั้งหากเมฆเหล่านั้นยังไม่ตาย ซึ่งเป็นศัพท์ที่กรมฝนหลวงฯ ใช้เรียกเมฆที่แม้ว่าตกเป็นฝนแล้วแต่ยังสามารถพัฒนาตัวต่อได้อีกจนยอดเมฆสูง 20,000 ฟุต ก็จะใช้การโจมตีด้วยเทคนิคซูเปอร์แซนด์วิชเพื่อเพิ่มปริมาณน้ำฝน

               ศาสตร์พระราชาฝนหลวง นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณอันยิ่งใหญ่ที่ “พระบิดาแห่งฝนหลวง” พระราชทานแก่คนไทยอย่างแท้จริง พระองค์ทรงค้นคว้าศึกษาเพื่อสามารถทำฝนให้ได้มากที่สุด เพื่อประโยชน์ของประชาชน ให้รอดพ้นจากภัยแล้ง

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ