ข่าว

เตือนภัยแล้งระดับสีส้ม

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

กรมชลฯเตือนภัยแล้งวิกฤติหนักระดับสีส้ม แจ้งด่วนผู้ว่าฯลุ่มเจ้าพระยา อีสานกลาง-ล่าง ยันไม่ส่งน้ำทำนาปรังพืชใช้น้ำมาก จำกัดไว้กินใช้รักษานิเวศ

 

20 ธันวาคม 2562 กรมชลฯเตือนภัยแล้งวิกฤติหนักระดับสีส้ม แจ้งด่วนผู้ว่าราชการลุ่มเจ้าพระยา22จว.ภาคอีสานกลาง-ล่าง ยันไม่ส่งน้ำทำนาปรังพืชใช้น้ำมาก จำกัดไว้กินใช้รักษานิเวศ ไล่น้ำเค็ม จนถึงเดือนก.ค.ปีหน้า ชี้น้ำทะเลหนุนสูงเดือนธ.ค.-15ม.ค.63 หวั่นทะลักเข้าประปาระบบการแพทย์พัง วอนทุกครัวเรือนเก็บน้ำฝนไว้ใช้เอง 


 

 

นายทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่าสถานการณ์น้ำทั่วประเทศอยู่ในขั้นวิกฤติ ระดับสีส้ม โดยเฉพาะพื้นที่ 22 จังหวัดลุ่มเจ้าพระยา และภาคอีสานตอนกลางและตอนล่าง โดยต้องจำกัดการใช้น้ำไว้สำหรับการอุปโภคบริโภค รักษานิเวศเท่านั้น และสำรองน้ำไว้ต้นฤดูฝนจนถึงเดือนก.ค.63

 

เนื่องจากกรมอุตุนิยมวิทยา คาดการณ์ว่าตั้งแต่ปัจจุบัน จนถึงเดือนพ.ค.63 ปริมาณฝนตกน้อยกว่าค่าเฉลี่ย 30 ปี 5-10% แต่ทั้งนี้ในปีที่ผ่านมา พบว่าปริมาณฝนตกต่ำกว่ากรมอุตุนิยม คาดการณ์ ไว้ที่ 5 - 10 % ในสถานการณ์จริงต่ำกว่าถึง 16%

 

ทั้งนี้นายทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน ได้กำชับให้แจ้งเตือนผู้ว่าราชการทุกจังหวัด และให้มีการสรุปการใช้น้ำเพื่อแจ้งสถานการณ์น้ำต่อรมว.เกษตรฯ รมว.มหาดไทย ทุกสัปดาห์ โดยพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มีความห่วงใยประชาชนประสบความเดือดร้อนจากขาดแคลนน้ำ

 

พร้อมได้สั่งการให้ทุกหน่วยงานเตรียมพร้อมแก้ไขอย่างทันท่วงที และเตรียมจัดหางบประมาณในการจ้างแรงงาน เกษตรกรในพื้นที่งดปลูกข้าวนาปรังและพืชใช้น้ำมาก ซึ่งทุกสำนักงานชลประทาน จะมีโครงการจ้างแรงงาน ในโครงการของกรมชลประทาน อยู่แล้วในพื้นที่นั้นๆ

 

 

เตือนภัยแล้งระดับสีส้ม

 

 

ขณะนี้กรมชลฯขอความร่วมมือประชาชนทุกครัวเรือน ประหยัดน้ำ นำน้ำมาใช้ซ้ำ ไม่ควรเปิดก็อกน้ำประปามารดต้นไม้ นอกจากนั้นในช่วงฤดูฝนปีหน้าให้ทุกบ้านเรือนประชาชน เตรียมโอ่งน้ำ ไว้รองรับน้ำฝนไว้กินใช้ ส่วนต่างจังหวัด ควรทำก่อบ่อปูน ไว้รับน้ำฝนเพื่อใช้ในฤดูแล้งเป็นแหล่งน้ำของครัวเรือน

 

สำหรับภาคเกษตรกร งดปลูกพืชใช้น้ำมาก แม้ว่าขณะนี้ไม่มีโครงการส่งน้ำเพื่อการเกษตร แต่พบว่าเกษตรกร ภาคกลาง จ.ชัยนาท สิงห์บุรี อยุธยา อ่างทอง ปลูกข้าวนาปรัง ไปแล้วกว่า1.3ล้านไร่ ดังนั้นอย่าปลูกข้าวเพิ่มจะเสียหายได้เพราะจะไม่ส่งน้ำให้กับการเกษตร ซึ่งกรมชลฯทำความเข้าใจกับพื้นที่แล้วยืนยันว่าจะส่งน้ำให้กับกินใช้ รักษานิเวศเท่านั้น เกษตรกรรับทราบและบอกว่าจะรับความเสี่ยงเอง

 

รองอธิบดีกรมชลฯกล่าวว่า ภารกิจสำคัญขณะนี้คือการส่งน้ำรักษาระบบนิเวศ ผลักดันน้ำเค็ม เนื่องจากการรายงานกองอุทกศาสตร์ กองทัพเรือ รายงานว่าตลอดเดือนธ.ค.นี้ ระดับน้ำทะเลหนุนสูงสุดถึง บวก1.1เมตรรทก.ส่งผลให้น้ำเค็มดันขึ้นไปสูงถึงสถานีสูบน้ำ ผลิตประปาสำแล จ.ปทุมธานี และในอีกแม่น้ำ บางประกง ท่าจีน ที่ต้องคุมไม่ให้ค่าความเค็มไม่เกินที่กำหนด ในการทำน้ำประปา เกณฑ์เฝ้าระวังไม่เกืน 0.25 กรัมต่อลิตร แผนการดันน้ำเค็มลุ่มน้ำเจ้าพระยา ใช้ระบายน้ำจากลุ่มน้ำแม่กลอง ตลอดฤดู 500ล้านลบ.ม.วันละ30ลบ.ม.ต่อวินาที และบางรอบจะผันน้ำแม่น้ำป่าสัก ผ่านเขื่อนพระรามหก มาช่วย จาก5ลบ.ม.ต่อวินาที เพิ่มเป็น15ลบ.ม.ต่อวินาที

 

 

เตือนภัยแล้งระดับสีส้ม

 


นายทวีศักดิ์ กล่าวว่าสถานการณ์น้ำในเขื่อนขนาดใหญ่ และกลาง 447แห่งทั่วประเทศ ปัจจุบัน มีน้ำรวม47,989ล้านลบ.ม.หรือ63%ของความจุ มีน้ำใช้การได้ 24,136ล้านลบ.ม.และแบ่งเป็นเฉพาะ4เขื่อนหลักลุ่มเจ้าพระยา มีน้ำรวม11,332ล้านลบ.ม.หรือ46% น้ำใช้การได้ 4,636ล้านลบ.ม.

 

ทั้งนี้หากเปรียบเทียบกับปี58ที่เกิดภัยแล้งที่สุด ณ วันที่19ธ.ค.58ในลุ่มเจ้าพระยา มีน้ำใช้การได้ 4,023ล้านลบ.ม.และปัจจุบัน วันที่19ธ.ค.62 มีน้ำใช้การได้4,606ล้านลบ.ม.โดยเขื่อนภูมิพล 19ธ.ค.58 มีน้ำใช้การได้ 1,180ล้านลบ.ม.และปี62มีน้ำใช้การได้1,878ล้านลบ.ม. เขื่อนสิริกิติ์ มีน้ำ1,949 ล้านลบ.ม.ปี62มีน้ำ2,092ล้านลบ.ม. เขื่อนป่าสักฯมีน้ำ541ล้านลบ.ม.ปี62มีน้ำ256ล้านลบ.ม.และเขื่อนแควน้อย มีน้ำ353ล้านลบ.ม.ปี62มีน้ำ411ล้านลบ.ม.

 

ขอให้คนไทยช่วยกันประหยัดน้ำให้ผ่านวิกฤติไปด้วยกัน ขณะที่เกิดภัยแล้งวิกฤติที่สุดปี 58-59 ยังบริหารจัดการน้ำผ่านมาได้ ในส่วนที่กังวลคือปัญหาน้ำเค็ม จากน้ำทะเลหนุนสูง จากเดือนธ.ค.จนถึง 15 ม.ค.63 ต้องระบายน้ำมาผลักดันไม่ให้ค่าความเค็มจุดเฝ้าระวังไม่เกิน 0.25กรัมต่อลิตร เพื่อผลิตน้ำประปา ได้เพิ่มผันน้ำลำเลียงน้ำจากแหล่งน้ำอื่นมา

 

 

เตือนภัยแล้งระดับสีส้ม

 

 

โดยระบายท้ายเขื่อนเจ้าพระยา 70 ลบ.ม.ต่อวินาที เขื่อนพระรามหก 5 เป็น 15 ลบ.ม.ต่อวินาที และลำเลียงน้ำแม่กลอง มาช่วยสูบจากแม่น้ำท่าจีน ผ่านคลองพระยาบรรลือ มาผลักดันน้ำเค็ม ซึ่งต้องดำเนินการแก้ไขอย่างทันเหตุการณ์เพราะหากความเค็มเข้าระบบประปาจะกระทบเครื่องมือแพทย์ ระบบการแพทย์ ทั้งการผลิตยา โรงงานอุตสาหกรรม 

 

สำหรับภาคอีสาน พื้นที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำ คือพื้นที่ท้ายเขื่อนอุบลรัตน์ จ.มหาสารคาม ร้อยเอ็ด ขอนแก่น บุรีรัมย์ โดยขณะนี้สั่งการให้สำนักงานชลประทานในทุกพื้นที่ บริหารจัดการน้ำอย่างเข้มงวด หารือกับการประปาส่วนภูมิภาค และประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนรับทราบอย่างต่อเนื่อง

 

 

 

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ