ข่าว

 ระดมเตรียมรับมือย่างสู่"ฤดูฝน"

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

 ระดมเตรียมรับมือย่างสู่"ฤดูฝน" เร่งแก้สิ่งกีดขวางทางน้ำ-พื้นที่ท่วมซ้ำซาก      

 

                  จากการคาดการณ์ของกรมอุตุนิยมวิทยา สัปดาห์หน้าประเทศไทยย่างเข้าสู่ฤดูฝนอย่างเป็นทางการ สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) จึงได้มีการประชุมคณะทำงานอำนวยการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ โดยมี เลขาธิการ สทนช. “ดร.สมเกียรติ ประจำวงษ์” เป็นประธาน เมื่อวันที่ 13 พฤษภาคม ที่ผ่านมา ณ ห้องประชุม สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ถ.วิภาวดีรังสิต โดยในที่ประชุมได้มีการรายงานการดำเนินงานรับมือภัยแล้งในช่วงที่ผ่านมา และการเตรียมแผนรับมือฝนล่วงหน้าของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะแผนซักซ้อมการบริหารจัดการน้ำตาม Rule Curve ใหม่ และเร่งแก้ไขสิ่งกีดขวางทางน้ำให้แล้วเสร็จก่อนน้ำหลาก

 

             “จากการติดตามผลการดำเนินมาตรการให้ความช่วยเหลือพื้นที่เสี่ยงเกิดภัยแล้งและแนวทางการให้ความช่วยเหลือที่ผ่านมา ส่วนใหญ่เป็นไปตามแผนที่กำหนดไว้ โดยเฉพาะในพื้นที่่ประสบภัยแล้ง จำนวน 7 จังหวัด และพื้นที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำเพิ่มเติมอีก 12 จังหวัด”

              ดร.สมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการ สทนช. เผยภายหลังการประชุม โดยในระยะสั้นได้จัดหาน้ำแจกจ่ายในพื้นที่ประสบภัยโดยรถบรรทุกน้ำแจกจ่ายน้ำดื่ม จัดซื้อภาชนะบรรจุสำรองน้ำ ซ่อมแซมและขุดบ่อบาดาล ซ่อมแซมถังเก็บน้ำ ขุดลอกแหล่งน้ำ ก่อสร้างและซ่อมแซมระบบกระจายน้ำ ทำให้พื้นที่ดังกล่าวสามารถผ่านพ้นฤดูแล้งปีนี้ไปได้ รวมถึงการแก้ไขปัญหาระยะกลาง ซึ่งคณะรัฐมนตรีได้อนุมัติงบกลางจำนวน 1,226 ล้านบาท เพื่อเพิ่มความจุให้แก่แหล่งน้ำธรรมชาติ อ่างเก็บน้ำ และแหล่งน้ำอื่นๆ

             “จากนี้ไป สทนช.จะลงพื้นที่ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกเดือน เพื่อติดตามผลดำเนินการพัฒนาแหล่งน้ำรวมทั้งสิ้น 144 โครงการ ซึ่งดำเนินการโดย 6 หน่วยงานได้แก่ กรมชลประทาน กรมพัฒนาที่ดิน กรมทรัพยากรน้ำบาดาล กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย การประปาส่วนภูมิภาค กองทัพบก ให้แล้วเสร็จโดยเร็ว”

              สำหรับสถานการณ์น้ำทั่วประเทศล่าสุด เลขาธิการสทนช.ระบุว่า ขณะนี้มีปริมาณน้ำในแหล่งน้ำต่างๆ ทั่วประเทศ 45,476 ล้าน ลบ.ม. หรือร้อยละ 56 ของปริมาณน้ำที่เก็บกัก และศักยภาพน้ำบาดาล 1,228 ล้าน ลบ.ม. โดยมีอ่างเก็บน้ำเฝ้าระวังที่มีปริมาณน้ำใช้การน้อยกว่า 30% แบ่งเป็นอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ จำนวน 12 แห่ง เช่น อ่างเก็บน้ำกระเสียว มีปริมาณน้ำ 20% อ่างเก็บน้ำเขื่อนอุบลรัตน์ มีปริมาณน้ำ 24% อ่างเก็บน้ำทับเสลา มีปริมาณน้ำ 24% เป็นต้น และเป็นอ่างเก็บน้ำขนาดกลางอีก จำนวน 149 แห่ง ซึ่งการจัดสรรน้ำในช่วงฤดูแล้งที่ผ่านมาส่วนใหญ่เป็นไปตามหรือใกล้เคียงเป้าหมายที่วางไว้ ยกเว้นในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาใหญ่ ตามแผนจัดสรรไว้ตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2561-30 เมษายน 2562 จำนวน 7,772 ล้าน ลบ.ม. แต่เมื่อถึงสิ้นเดือนเมษายน 2562 ปรากฏว่า จัดสรรน้ำไปถึง 9,300 ล้าน ลบ.ม. หรือร้อยละ 120 ของแผน

                 นอกจากนี้ประเด็นสำคัญที่ได้มีการหารือร่วมกันคือ มาตรการเตรียมความพร้อมรับสถานการณ์น้ำช่วงฤดูฝนตามที่กรมอุตุนิยมวิทยาคาดการณ์จะประกาศเข้าสู่ฤดูฝนประมาณสัปดาห์หน้า ใน 4 ประเด็นหลัก คือ 1.ให้ทุกหน่วยงานรับทราบแนวทางการปรับเกณฑ์ปฏิบัติการอ่างเก็บน้ำ (Rule Curve) ที่ขณะนี้ได้ดำเนินการแล้วเสร็จทั้งอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ 36 แห่ง และอ่างเก็บน้ำขนาดกลาง 414 แห่ง และได้มีการจัดอบรมเชิงปฏิบัติการเพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจกับเจ้าหน้าที่ของหน่วยงานที่จะต้องดำเนินการตามเกณฑ์ใหม่นี้ไปเรียบร้อยแล้ว เพื่อจะได้นำเกณฑ์ที่ปรับปรุงแล้วมาใช้ในการบริหารจัดการน้ำในช่วงฤดูฝนนี้ให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดทั้งการเก็บกักน้ำในฤดูถัดไป และการระบายน้ำโดยไม่กระทบพื้นที่ท้ายน้ำ 

                2.การติดตามตรวจสอบฐานข้อมูลและมาตรการในการบริหารจัดการน้ำ ทั้งแหล่งน้ำขนาดใหญ่ ขนาดกลาง ที่ สทนช.ได้ดำเนินการรวบรวมแล้วเสร็จ เหลือเพียงขนาดเล็กที่คาดว่าจะมีฐานข้อมูลทั้งหมดภายในสิ้นเดือนนี้ ซึ่งจะเป็นเครื่องมือสำคัญเพื่อใช้ในการบริหารจัดการน้ำในฤดูฝนเกิดประสิทธิภาพสูงสุด 3.การเตรียมข้อมูลจัดทำแผนบริหารจัดการน้ำหลากรายจังหวัด ให้สอดคล้องกับปริมาณน้ำต้นทุน โดยที่ประชุมได้มอบหมายให้กรมชลประทาน กรมทรัพยากรน้ำ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) และสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) เร่งตรวจสอบสภาพอาคารชลศาสตร์ สถานีโทรมาตร เพื่อติดตามเฝ้าระวังระบบการระบายน้ำ และเตรียมความพร้อมเครื่องจักรเครื่องมือในการให้ความช่วยเหลือ จัดทำแผนการบริหารจัดการน้ำหลาก รวมทั้งประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้ให้แก่ประชาชนตั้งแต่ต้นฤดูและดำเนินการอย่างต่อเนื่องด้วย

                และ 4.การปรับปรุงสิ่งกีดขวางทางน้ำ ซึ่งเป็นต้นเหตุสำคัญของปัญหาน้ำท่วม โดย สทนช.ได้บูรณาการทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้มีการสำรวจและปรับปรุงสิ่งกีดขวางทางน้ำตามภายใต้แผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 20 ปี (พ.ศ.2561-2580) นอกจากนี้ได้บูรณาการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการปรับปรุงสิ่งกีดขวางทางน้ำ ซึ่งผลการดำเนินงานที่สำคัญที่ผ่านมาได้มีการสำรวจและปรับปรุงสิ่งกีดขวางทางน้ำในพื้นที่ภาคใต้จำนวน 111 แห่ง ปัจจุบันได้มีปรับปรุงแล้วเสร็จจำนวน 91 แห่ง และคงเหลือดำเนินงานปี 2562 จำนวน 20 แห่ง ใน จ.สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช เพชรบุรี ตรัง ชุมพร และยะลา 

                  ทั้งนี้ สทนช.ได้ขอความร่วมมือหน่วยงานให้พิจารณาเร่งรัดดำเนินการแก้ปัญหาสิ่งกีดขวางทางน้ำในพื้นที่สำคัญที่มีความเสี่ยงท่วมซ้ำซากเป็นลำดับแรกให้แล้วเสร็จก่อนฤดูฝนที่จะถึงนี้ รวมถึงเร่งปรับปรุงสิ่งก่อสร้างกีดขวางทางน้ำให้เป็นไปเป้าหมายการดำเนินงาน 5 ปีแรก (2561-2565) ทั้งประเทศให้แล้วเสร็จภายในปี 2565 รวมทั้งสิ้นจำนวน 562 แห่ง แบ่งเป็น ภาคเหนือ 161 แห่ง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 60 แห่ง ภาคกลาง 115 แห่ง ภาคตะวันออก 115 แห่ง และภาคใต้ 111 แห่ง เพื่อให้การระบายน้ำเกิดประสิทธิภาพไม่เกิดสิ่งกีดขวางทางน้ำและบรรเทาปัญหาอุทกภัยได้อีกทางหนึ่งด้วย 

                   

                   กรมชลฯนำร่องเปิดศูนย์น้ำอัจฉริยะภาคตะวันออก 

           กรมชลประทานเดินหน้าศูนย์น้ำอัจฉริยะในส่วนภูมิภาค นำร่องเปิดศูนย์บริหารจัดการน้ำภาคตะวันออก ควบคุมโครงข่ายผันน้ำ รายงานข้อมูลน้ำทุกมิติแบบเรียลไทม์ จัดเก็บสถิติย้อนหลัง คาดการณ์สถานการณ์น้ำในอนาคต มั่นใจช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการตัดสินใจบริหารจัดการน้ำ

              สุชาติ เจริญศรี ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 9 กรมชลประทาน เปิดเผยว่า กรมชลประทานได้ดำเนินการเปิดศูนย์บริหารจัดการน้ำภาคตะวันออก (Eastern Water Operation Centre) ขึ้นเพื่อใช้เป็นห้องปฏิบัติการ ซึ่งถือเป็นศูนย์น้ำอัจฉริยะแห่งแรกในส่วนภูมิภาค สำหรับติดตามสถานการณ์น้ำที่อยู่ในระบบชลประทานของภาคตะวันออกในภาพรวมทั้งหมด ซึ่งจะทำให้การบริหารจัดการน้ำในภาคตะวันออกเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ รวดเร็ว ถูกต้อง แม่นยำ และที่สำคัญข้อมูลที่ถูกต้องที่ได้จากห้องปฏิบัติการดังกล่าวยังเป็นเครื่องมือสำคัญในการทำงานประสานร่วมกับหน่วยงานอื่น เช่น สถาบันน้ำ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เป็นต้น เพื่อนำไปทำงานรับใช้ประชาชนในด้านต่างๆ ต่อไป

              ล่าสุดสำนักงานชลประทานที่ 9 ยังได้ก่อสร้างสถานีสูบน้ำพานทอง เพื่อสูบน้ำเติมเข้าท่อส่งน้ำคลองพระองค์ไชยานุชิต และผันมาอ่างเก็บน้ำบางพระ ที่มีความยาวรวม 60 กิโลเมตรแล้วเสร็จ จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องใช้ระบบติดตามภายในห้องปฏิบัติการดังกล่าว ในการติดตามสภาพน้ำระยะทางที่ยาวและไกล ไม่ว่าจะเป็นการสูบน้ำ การระบายน้ำ ปริมาณน้ำเข้า ปริมาณน้ำออก อย่างเรียลไทม์ เพื่อใช้เป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจการบริหารจัดการน้ำต้นทุนที่จะมาเติมให้แก่อ่างเก็บน้ำบางพระ อย่างเกิดประสิทธิภาพสูงสุด

              “ระบบติดตามระยะไกลดังกล่าว จะใช้ควบคุมการสูบน้ำจากคลองพานทอง มายังท่อผันน้ำคลองพระองค์ไชยานุชิต และควบคุมการสูบจากสถานีสูบน้ำคลองพระองค์ไชยานุชิตมายังอ่างฯ บางพระ จ.ชลบุรี โดยจะสูบน้ำส่วนเกินในช่วงฤดูฝน ผันมาให้อ่างฯ บางพระ ได้ปีละกว่า 70 ล้านลูกบาศก์เมตร” ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 9 กล่าว

                สำหรับงบประมาณในการก่อสร้างศูนย์บริหารจัดการน้ำภาคตะวันออก ใช้งบทั้งสิ้น 31.5 ล้านบาท ขณะนี้มีความคืบหน้าไปกว่าร้อยละ 70 เหลือเฉพาะการติดตั้งซอฟต์แวร์ที่โรงสูบน้ำพานทองซึ่งจะเร่งรัดงานโรงสูบน้ำให้เสร็จระหว่างเดือนมิถุนายน-กันยายนนี้ เพื่อรองรับฤดูฝนที่กำลังจะมาถึง และเมื่อระบบสมบูรณ์จะแสดงทั้งภาพและค่าตัวเลขน้ำจากสถานีสูบน้ำทั้ง 2 แห่ง พร้อมโปรแกรมช่วยตัดสินใจสูบน้ำ โดยสามารถสั่งเดินระบบสูบน้ำจากห้องปฏิบัติการแห่งนี้ได้ทันที

                อย่างไรก็ตามศูนย์บริหารจัดการน้ำภาคตะวันออกยังจะมีการแสดงข้อมูลน้ำในระบบชลประทานทุกมิติ โดยมีการปรับข้อมูลทุกวัน แต่หากอยู่ในช่วงวิกฤติจะปรับข้อมูลทุก 2 ชั่วโมงเพื่อช่วยเจ้าหน้าที่ติดตามอัตราการไหลของน้ำในช่วงฤดูน้ำหลาก ประกอบการตัดสินใจการระบายน้ำจากอ่างเก็บน้ำ หรือแม้แต่ปล่อยน้ำชะลอความเค็มในช่วงฤดูแล้ง รวมไปถึงสถิติ ข้อมูลย้อนหลัง ที่ทางศูนย์ได้รวบรวมไว้จะช่วยอนุมานสถานการณ์น้ำได้ว่าจะท่วมหรือไม่ เกิดภาวะแล้งหรือไม่ อย่างไร เพื่อที่จะสามารถเตรียมตัวรับมือได้ทัน

                  ทั้งนี้ประชาชนสามารถเข้าไปดูข้อมูลน้ำ ร่วมกันตรวจสอบสภาพน้ำเหล่านี้ได้ที่ www.rid9.com ซึ่งในอนาคต สชป.9 จะพัฒนาการนำเสนอข้อมูล เช่น การเรียงร้อยสภาพน้ำท่า โครงข่ายผันน้ำของภาคตะวันออกให้เป็นภาพเคลื่อนไหว (Animation) การใช้กราฟเปรียบเทียบสภาพน้ำของปีต่างๆ เพื่อให้การอ่านสถานการณ์น้ำเข้าใจง่ายขึ้น รวมไปถึงพัฒนา/ส่งเสริมบุคลากรชลประทานให้ใช้งานระบบได้เป็นอย่างดีและดูแลรักษาระบบให้มีความยั่งยืน คุ้มค่ากับการลงทุน 

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ