ข่าว

"ทรูวิชั่นส์" เปิดทางคืน 16 แมตช์ "ฟุตบอลโลก 2022" มอบ"กกท." จัดสรรถ่ายสด

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

แรงกระเพื่อมจาก สมาคมโทรทัศน์ระบบดิจิตอล(ประเทศไทย) ที่เรียกร้องหาความ "ทั่วถึง เท่าเทียม" ต่อการจัดสรรช่องทีวี ในการถ่ายทอดสด"ฟุตบอลโลก 2022" ที่ไปกระจุกตัวอยู่กับ"ทรูวิชั่นส์" ล่าสุด"ทรูฯ" ผ่าทางตัน คืน 16 นัด กลับไปให้กกท. จัดสรรให้ช่องอื่น ร่วมถ่ายสดแบบคู่ขนาน

ไตรรัตน์ วิริยะศิริกุล รักษาการแทนเลขาธิการ  คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ  ( กสทช. )    เปิดเผยว่า  บริษัททรูคอร์ปอเรชั่นจํากัด(มหาชน) หรือ " ทรูฯ" ผู้บริหารสถานีโทรทัศน์ช่องทรูวิชั่นส์  ได้ตอบรับ    ที่จะคืนโควตาถ่ายทอดสด  "ฟุตบอลโลก 2022" รอบสุดท้าย  รวม 16 นัด กลับมาให้  การกีฬาแห่งประเทศไทย ( กกท. ) นำมาจัดสรรให้กับทีวีดิจิทัล   ได้ถ่ายทอดสด"ฟุตบอลโลก 2022" แบบคู่ขนาน ส่วนจะเป็นรอบใด คู่ใดบ้าง และจัดสรรอย่างไร     กกท.  จะเป็นผู้ดำเนินการ

 

 

ที่มาในการเปลี่ยนแปลงท่าทีของ"ทรูฯ" เกิดขึ้น  หลังจาก  สมาคมโทรทัศน์ระบบดิจิตอล(ประเทศไทย) นำโดย  อดิศักดิ์ ลิมปรุ่งพัฒนกิจ กรรมการและที่ปรึกษา , เดียว  วรตั้งตระกูล  เลขานุการสมาคม   ,นันทพันธ์ แสงไชย กรรมการ, อังกูล บุญดี ผู้จัดการสมาคมฯ และตัวแทนสถานี เข้าร่วมยื่นหนังสือถึงสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ให้ช่วยวินิจฉัย กรณีมอบลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสด "ฟุตบอลโลก 2022"  ว่าถูกต้องและเป็นธรรมหรือไม่ โดยมี พ.ต.อ.ประเวศน์ มูลประมุข เลขานุการประจำประธาน กสทช. รับมอบหนังสือ

 

 

 

 

ทั้งนี้  สมาคมโทรทัศน์ระบบดิจิตอล(ประเทศไทย) เรียกร้องให้กสทช.ทบทวนหลักการจัดสรรช่องถ่ายทอดการแข่งขันฟุตบอลโลก 2022 หลังเกิดประเด็น "ทรูวิชั่นส์" ได้ถ่ายทอด 32 แมตช์ และมีสิทธิเลือกคู่ถ่ายทอดสำคัญก่อน โดยไม่จับฉลาก   ซึ่งกสทช.ได้เชิญการกีฬาแห่งประเทศไทย (กกท.) เข้าชี้แจงในประเด็นข้อสงสัยต่างๆ และหารือถึงทางออกร่วมกัน  กระทั่งได้ข้อสรุป   ว่า  "
ทรูวิชั่นส์"  ยินดีคืนโควตาถ่ายทอดสดฟุตบอลโลก 2022 รอบสุดท้าย  รวม 16 นัด กลับมาให้  การกีฬาแห่งประเทศไทย ( กกท. ) นำมาจัดสรรให้กับทีวีดิจิทัล  ได้ถ่ายทอดสด"ฟุตบอลโลก 2022" แบบคู่ขนาน 

 

 

"ภายหลังจากการหารือร่วมกับตัวแทน กกท. ได้มีข้อสรุปร่วมกัน ในการขอความร่วมมือจากทรู ให้คืนโควต้าถ่ายทอดสดฟุตบอลโลก 2022 รอบสุดท้าย 16 นัด กลับมาให้ กกท. นำมาจัดสรรให้กับทีวีดิจิทัลถ่ายทอดสดแบบคู่ขนาน ส่วนจะเป็นรอบใด คู่ใดบ้าง และจัดสรรอย่างไร กกท.เป็นหน้าที่ กกท.ต้องดำเนินการ แต่เบื้องต้นได้ประสานกับทรูแล้ว ทรูไม่ขัดข้อง " 

 

 

เขา กล่าวว่า  สำหรับประเด็นการถ่ายทอดสดผ่านระบบออนไลน์ กสทช. ได้แจ้งกับ กกท.ว่า กฎ Must Have หรือ หลักเกณฑ์รายการโทรทัศน์สําคัญที่ให้เผยแพร่ได้เฉพาะทางฟรีทีวี และ Must Carry หรือหลักเกณฑ์การเผยแพร่กิจการโทรทัศน์ที่ให้บริการเป็นการทั่วไปของ กสทช. แต่ต้องปฏิบัติตามกฎหมายอื่นด้วย โดยเฉพาะกฎหมายทรัพย์สินทางปัญญาที่มีศักย์ใหญ่กว่ากฎ กสทช. ดังนั้นเมื่อ กกท. ขายสิทธิให้กับ"ทรูฯ"แล้ว กล่องอื่นก็ไม่สามารถทำได้ ส่วนไฮไลต์การแข่งขันก็ต้องให้ กกท.พูดคุยกับทรูฯอีกครั้ง   

 

สมาคมโทรทัศน์ระบบดิจิตอล(ประเทศไทย) นำโดยอดิศักดิ์ ลิมปรุ่งพัฒนกิจ กรรมการและที่ปรึกษา  , เดียว  วรตั้งตระกูล  เลขานุการสมาคม  ,นันทพันธ์ แสงไชย กรรมการ  , อังกูล บุญดี ผู้จัดการสมาคมฯ และตัวแทนสถานี เข้าร่วมยื่นหนังสือถึงสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ให้ช่วยวินิจฉัย กรณีมอบลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสดฟุตบอลโลก 2022 ว่าถูกต้องและเป็นธรรมหรือไม่

 

ไตรรัตน์ กล่าวด้วยว่า    กสทช.ได้รับทราบเรื่องที่ทรูฯยื่นเรื่อง เพื่อขออนุญาตถ่ายทอดสดฟุตบอลโลก รอบสุดท้าย เป็นระบบ HD แทน SD แต่ยังไม่เห็นเอกสาร จึงไม่ทราบถึงเหตุผลในการอ้างอิง ซึ่งเป็นเรื่องยาก อย่างไรก็ตาม ยังต้องรอมติที่ประชุมบอร์ด กสทช. พิจารณาอย่างละเอียด คาดว่าจะเสนอเข้าที่ประชุมในวันพุธที่ 23 พฤศจิกายน

 

เนื้อหาของหนังสือ ที่สมาคม สมาคมโทรทัศน์ระบบดิจิตอล (ประเทศไทย) ทำเรื่องถึง กสทช.  ( 21 พฤศจิกายน ) มีใจความดังนี้

 

ตามที่ สำนักงานกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม (แห่งชาติ) ผ่าน กองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม เพื่อประโยชน์สาธารณะ (กทปส.) ได้ให้เงินสนับสนุนค่าลิขสิทธิ์ฟุตบอลโลก (รอบสุดท้าย) จำนวน 600 ล้านบาท แก่ การกีฬาแห่งประเทศไทย (กกท.) เพื่อนำไปเป็นเงินตั้งต้นในการดำเนินการซื้อลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสดฟุตบอลโลก 2022 (รอบสุดท้าย) จากกรุงโดฮา รัฐกาตาร์ โดยมีหลักการตามบันทึกข้อตกลง ที่ได้ระบุไว้ว่าให้จัดสรรการถ่ายทอดสดแก่ผู้ประกอบกิจการโทรทัศน์ภาคพื้นดินในระบบดิจิตอลอย่างเท่าเทียมและทั่วถึงทั้ง 64 คู่ ตลอดการแข่งขัน

 




ในการนี้ สมาคมโทรทัศน์ระบบดิจิตอล (ประเทศไทย) จึงเรียนมายังคณะกรรมการกสทช. เพื่อโปรดตรวจสอบ และวินิจฉัยว่าการจัดสรรในครั้งนี้มีความถูกต้องเป็นธรรมหรือไม่ ตามรายละเอียดดังนี้

 



1. การได้รับเงินสนับสนุนจำนวน 600 ล้านบาท จากกองทุนกทปส. ซึ่งเป็นเงินที่ได้ส่งมอบมาจากผู้ประกอบกิจการโทรทัศน์เพื่อเป็นเงินทุนในการสนับสนุน ส่งเสริม วิจัย และพัฒนาในกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ นั่นหมายถึงผู้ประกอบกิจการโทรทัศน์ได้ร่วมสนับสนุนไปกับกิจกรรมนี้ด้วยเช่นกัน การจัดสรรแมทช์ในการถ่ายทอดสดให้แก่ช่องต่าง  ๆ 

 

 

ควรเป็นไปตามมติในการให้เงินสนับสนุนของ กสทช.ทั้ง 64 แมทช์ (แบ่งสิทธิประโยชน์ตาม สัดส่วนของการสนับสนุนคือคิดเป็น 50 % ของงบประมาณการซื้อลิขสิทธิ์ 1,200 ล้านบาท) ไม่ใช่เพียง 32 แมทช์ และได้รับหลังจากที่ผู้สนับสนุนหลัก (กลุ่มทรู ซึ่งมีธุรกิจเป็นช่องทีวีดิจิตอลด้วย) ได้เลือกแมทช์สำคัญไปแล้ว ซึ่งสะท้อนถึงความไม่ทั่วถึงและไม่เท่าเทียมอย่างมาก ขอให้กสทช พิจารณาด้วยว่าการกระทำดังกล่าวถือเป็นการที่ทำให้เกิดการขัดกัน    ซึ่งผลประโยชน์และไม่เป็นธรรมต่อผู้ประกอบกิจการที่ได้รับใบอนุญาตฯหรือไม่

สมาคมโทรทัศน์ระบบดิจิตอล(ประเทศไทย) นำโดยอดิศักดิ์ ลิมปรุ่งพัฒนกิจ กรรมการและที่ปรึกษา  , เดียว  วรตั้งตระกูล  เลขานุการสมาคม  ,นันทพันธ์ แสงไชย กรรมการ  , อังกูล บุญดี ผู้จัดการสมาคมฯ และตัวแทนสถานี เข้าร่วมยื่นหนังสือถึงสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ให้ช่วยวินิจฉัย กรณีมอบลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสดฟุตบอลโลก 2022 ว่าถูกต้องและเป็นธรรมหรือไม่

 



2. กรณีกลุ่มทรูให้การสนับสนุนจำนวน 200 ล้านบาท สำหรับสิทธิในโทรทัศน์ดิจิตอลและ 100 ล้านบาท สำหรับสิทธิทาง OTT  แต่สิทธิประโยชน์ที่ได้รับ ครอบคลุมสิทธิ์การถ่ายทอด ทุกช่องทาง ทุกแพลตฟอร์ม แบบ exclusive ได้สิทธิ์ในการเลือกคู่แข่งขัน จำนวน 32 แมทช์ และได้นาทีโฆษณา จากช่องทีวีดิจิตอลที่ร่วมถ่ายทอดจากกกท .

 

 



3. ทางการกีฬาแห่งประเทศไทยได้มีการจัดสรรการถ่ายทอดสดฟุตบอลโลกเรียบร้อยแล้วในวันที่ 19 พฤศจิกายน 2565 ตั้งแต่เวลา 10.00 -16.00 น. โดยให้สิทธิ์แก่กลุ่มทรูที่เป็นผู้สนับสนุนหลักได้เลือกแมทช์ต่างๆก่อน

 



โดยแบ่งส่วนที่เหลือจากการเลือก 32 แมทช์ให้แก่กลุ่มผู้ประกอบกิจการโทรทัศน์ทั้ง 21 ช่องที่ร่วมถ่ายทอด โดยสมาคมโทรทัศน์ระบบดิจิตอล (ประเทศไทย) และสมาชิกช่อง สถานี ได้ทักท้วงหลายครั้งต่อกกท. ในหลักการที่ไม่สอดคล้องกับมติ "ทั่วถึง เท่าเทียม" ของ  กสทช. แต่ทางกกท.ก็ยังยืนยันที่จะดำเนินการต่อไป 

 

 

ในการนี้ทางสมาคมฯจึงเรียนมายังคณะ กรรมการกสทช. เพื่อยืนยันว่าการที่สถานีโทรทัศน์ดิจิตอลสมาชิก 13 ช่องที่เสนอรับสิทธิ์ ร่วมถ่ายทอด ไม่เห็นด้วยกับการดำเนินการของ กกท. ซึ่งขัดต่อหลักการ "ทั่วถึง เท่าเทียม" แต่ได้จำยอมร่วมจับฉลากไปในวันที่ 19 พฤศจิกายน 2565 นั้น เหตุเพราะคำนึงถึงผลกระทบ ต่อผู้ชมฟุตบอลโลก ที่จะมีการถ่ายทอดสดคู่แรก ในวันอาทิตย์ที่ 20 พฤศจิกายน 2565 เวลา  23.00 น. ให้สามารถดำเนินไปได้ก่อน และได้แจ้งต่อที่ประชุมของ กกท. อย่างชัดเจนแล้ว 

 

 

การจับฉลากครั้งนี้สมาคมฯไม่ถือเป็นการยอมรับในหลักการและวิธีการของ กกท.ขอสงวนสิทธิ์ในการทักท้วงไม่เห็นด้วยในการจัดสรรการถ่ายทอดของ กกท. โดยเรียน มายังคณะ กรรมการกสทช. เพื่อวินิจฉัยว่า การจัดสรรสิทธิการถ่ายทอดสดของกกท. เป็นไปโดยชอบ  และขัดกับหลักการ "ทั่วถึง เท่าเทียม"ของ กสทช. หรือไม่อย่างไร
 

สมาคมโทรทัศน์ระบบดิจิตอล(ประเทศไทย) นำโดยอดิศักดิ์ ลิมปรุ่งพัฒนกิจ กรรมการและที่ปรึกษา  , เดียว  วรตั้งตระกูล  เลขานุการสมาคม  ,นันทพันธ์ แสงไชย กรรมการ  , อังกูล บุญดี ผู้จัดการสมาคมฯ และตัวแทนสถานี เข้าร่วมยื่นหนังสือถึงสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ให้ช่วยวินิจฉัย กรณีมอบลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสดฟุตบอลโลก 2022 ว่าถูกต้องและเป็นธรรมหรือไม่

 

ขอขอบคุณภาพจาก  : สมาคมโทรทัศน์ระบบดิจิตอล(ประเทศไทย) 

 

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ