ข่าว

ทางรอด ของคนเป็น “หนี้” พิษร้ายจากโควิด

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ทางรอด ของคนเป็น “หนี้” พิษร้ายจากโควิด : ทำให้คนไทยจำนวนมากต้องเผชิญกับปัญหาหนี้สิน ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจภาพรวมของประเทศทั้งปัจจุบันและในอนาคต

“ค้อนทุบหนี้” กิมมิกเล็กๆเปิดงาน “มหกรรมร่วมใจแก้หนี้ มีหนี้ต้องแก้ไข เริ่มต้นใหม่อย่างยั่งยืน” สัญจร ครั้งที่ 1

 

สัญญาณเอาจริงหลังสถานการณ์โควิด ช่วงโค้งสุดท้ายปลายรัฐบาล ที่มีกระทรวงการคลัง เป็นเจ้าภาพใหญ่ ผนึกกำลังกับธนาคารแห่งประเทศไทย และสมาคมสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ ทั้งหมด พร้อมใจกันมาออกบูธ เดินหน้าแก้ปัญหาหนี้สินของประชาชน

 

งาน “มหกรรมร่วมใจแก้หนี้ มีหนี้ต้องแก้ไข เริ่มต้นใหม่อย่างยั่งยืน” สัญจร ครั้งที่ 1

 

“อาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลัง” กล่าวตอนหนึ่งในการเปิดงานว่า รัฐบาลพบว่าประชานส่วนใหญ่เดือดร้อนจากภาระหนี้สิน หลังจากสถานการณ์โควิด-19  รัฐบาลจึงได้ตั้งเป้าหมายให้ปีนี้เป็นปีแห่งการแก้หนี้ภาคประชาชน

สอดรับกับ “รายงานภาวะสังคมไตรมาสที่ 2/2565” ของ สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ระบุตัวเลขหนี้สินของคนไทยพบว่า 

 

ไตรมาสหนึ่ง ปี 2565 หนี้สินครัวเรือนมีมูลค่า 14.65 ล้านล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 3.6 ลดลงจาก ร้อยละ 3.8 ในไตรมาสก่อนหน้า หรือคิดเป็นสัดส่วนต่อ GDP อยู่ที่ร้อยละ 89.2 ลดลงจากไตรมาสก่อน ตามความกังวลของผู้บริโภคจากสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 และภาวะเศรษฐกิจที่ยังไม่ฟื้นตัว และทำให้ ครัวเรือนชะลอการก่อหนี้

 

ด้านความสามารถในการชำระหนี้ทรงตัว โดยมีสัดส่วนสินเชื่ออุปโภคบริโภคที่ไม่ ก่อให้เกิดรายได้ต่อสินเชื่อรวมอยู่ที่ร้อยละ 2.78 ซึ่งเป็นผลมาจากการดำเนินมาตรการช่วยเหลือทางการเงินและการปรับโครงสร้างหนี้ที่ช่วยชะลอไม่ให้เกิดหนี้เสียเพิ่ม 

คำเตือนจากสภาพัฒน์ฯ บอกว่า ในระยะถัดไป มีประเด็นที่ต้องให้ความสำคัญ คือ 

  1. ผลกระทบของภาระค่าครองชีพที่อาจกดดันให้ครัวเรือนมีความต้องการสินเชื่อมากขึ้น ซึ่งอาจทำให้ครัวเรือน ที่รายได้ยังไม่ฟื้นตัวและได้รับผลกระทบจากราคาสินค้าที่ปรับตัวสูงมีการก่อหนี้มากขึ้น 
  2. อัตราดอกเบี้ยที่มี แนวโน้มปรับเพิ่มขึ้นจะทำให้ต้นทุนการกู้ยืมของครัวเรือนเพิ่มขึ้นและกระทบต่อครัวเรือนที่ขอสินเชื่อใหม่ เนื่องจากจะต้องรับภาระหนี้ในส่วนของดอกเบี้ยมากขึ้น 
  3. คุณภาพสินเชื่อในกลุ่มสินเชื่อส่วนบุคคลอื่น สินเชื่อ บัตรเครดิต และสินเชื่อยานยนต์ โดยสินเชื่อส่วนบุคคลอื่นและสินเชื่อบัตรเครดิต มีสัดส่วนสินเชื่อ NPLs ต่อสินเชื่อ รวมปรับตัวสูงขึ้น ขณะที่สินเชื่อรถยนต์มีสัดส่วนสินเชื่อกล่าวถึงพิเศษ (สินเชื่อค้างชำระน้อยกว่า 3 เดือน) ต่อ สินเชื่อรวมอยู่ในระดับสูงและเพิ่มขึ้น สะท้อนความเสี่ยงของการเกิด NPLs โดยเฉพาะในครัวเรือนกลุ่มที่มีภาระหนี้ สูง หรือมีกันชนทางการเงินต่ำ 
  4. การส่งเสริมมาตรการปรับโครงสร้างหนี้อย่างต่อเนื่อง และมีมาตรการ แก้หนี้ที่เฉพาะเจาะจง สำหรับกลุ่มเปราะบาง และรายได้น้อยยังไม่ฟื้นตัว รวมทั้งใช้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ไม่ ส่งเสริมให้มีการก่อหนี้ใหม่ เพื่อป้องกันไม่ให้หนี้ครัวเรือนมีมูลค่าสูงจนกลายเป็นปัจจัยฉุดรั้งการฟื้นตัวของ เศรษฐกิจในอนาคต

 

แม้กระทั่ง “แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ  ฉบับที่ 13 (พ.ศ.2566 – 2570) ฉบับล่าสุดที่ประกาศลงในราชกิจจานุเบกษาเมื่อ 1 พ.ย.65 ยังเขียนไว้ชัดเจน ยกให้ปัญหาหนี้สิน พิษร้ายจากโควิด-19 เป็นทิศทางการฟื้นฟูเศรษฐกิจประเทศท่อนหนึ่งว่า

 

“ความสามารถในการชำระหนี้ของทั้งภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจไทย มีความเปราะบางมากขึ้น โดยเฉพาะครัวเรือนกลุ่มเปราะบางที่มีรายได้น้อย ที่มีอัตราการก่อหนี้ระยะสั้น เพื่อการอุปโภคบริโภคซึ่งเป็นหนี้ที่ไม่ได้สร้างรายได้และมีภาระผ่อนต่อเดือนสูงเพิ่มมากขึ้น จึงมีความอ่อนไหว ต่อรายได้ที่ถูกกระทบโดยตรง ซึ่งภาระหนี้ภาคครัวเรือนที่เพิ่มขึ้นอาจส่งผลฉุดรั้งการบริโภคภาคเอกชน อย่างต่อเนื่องในอนาคต และส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจของไทยในภาพรวมต่อไปได้”

 

งาน “มหกรรมร่วมใจแก้หนี้ มีหนี้ต้องแก้ไข เริ่มต้นใหม่อย่างยั่งยืน” สัญจร ครั้งที่ 1

 

จึงไม่น่าแปลกใจว่า ทำไมจึงมีประชาชนลงทะเบียนผ่านออนไลน์ เข้ามาร่วมงาน “มหกรรมร่วมใจแก้หนี้ สัญจร ครั้งที่ 1” ที่เมืองทองธานี ทะลุ 1.2 หมื่นคนก่อนการเริ่มงาน โดยยังไม่นับรวมจำนวนการวอล์คอิน 

 

ทำให้จุดให้คำปรึกษาทางการเงิน เพื่อปลดล็อคหนี้สิน จุดบริการยื่นขอสินเชื่อ รวมไปถึงจุดที่มีการฝึกอาชีพเสริม โต๊ะไม่ว่างตลอดเวลา

 

นั่นเพราะ คำว่า “หนี้” ที่ใครใครก็อยากหลุดพ้นจากวงจรทั้งนั้น

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ