ข่าว

เร่งฉีดวัคซีน "ไข้หวัดใหญ่" กว่า 1 เดือน ให้บริการแล้ว 6.3 หมื่นคน

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

กทม. เร่งฉีดวัคซีน "ไข้หวัดใหญ่" กว่า 1 เดือน ให้บริการแล้ว 6.3 หมื่นคน สปสช. ชวน 7 กลุ่มเสี่ยงทั่วประเทศ รีบเข้ารับการฉีดวัคซีน

หน่วยบริการในพื้นที่ กทม. เร่ง ฉีดวัคซีน "ไข้หวัดใหญ่" กว่า 1 เดือนให้บริการแล้ว 6.3 หมื่นคน หรือร้อยละ 20 ของกลุ่มเป้าหมาย สปสช.ชวนประชาชน 7 กลุ่มเสี่ยงทั่วประเทศ รีบเข้ารับการ ฉีดวัคซีน "ไข้หวัดใหญ่" ลดความเสี่ยงเจ็บป่วยรุนแรงหากติดเชื้อ ขณะที่ศูนย์บริการสาธารณสุข 41 คลอดเตย แนะนำขั้นตอนรับบริการ ไม่ยุ่งยาก ใช้เวลาไม่นาน

 

พญ.ลลิตยา กองคำ รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า ขณะนี้ สปสช. และ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ได้เร่งฉีดวัคซีนป้องกันโรค "ไข้หวัดใหญ่" ตามฤดูกาล ประจำปี 2565 ให้กับประชาชน 7 กลุ่มเสี่ยง จำนวน 4.2 ล้านโดส เพื่อลดภาวะเจ็บป่วยรุนแรงและเสียชีวิตจากเชื้อ "ไข้หวัดใหญ่" ซึ่งได้เริ่มให้บริการตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม ที่ผ่านมาไปจนถึงวันที่ 31 สิงหาคม 2565 นี้ หรือจนกว่าวัคซีนจะหมด 

 

ทั้งนี้ในช่วงกว่า 1 เดือนที่ผ่านมา จากข้อมูลการให้บริการ ฉีดวัคซีนป้องกันโรค "ไข้หวัดใหญ่" ตามฤดูกาลผ่านระบบ Dashboard ณ วันที่ 7 มิถุนายน 2565 มีประชาชน 7 กลุ่มเสี่ยงเข้าบริการฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ฯ แล้วจำนวน 337,964 คน ในจำนวนนี้เป็นกลุ่มผู้สูงอายุ 65 ปีขึ้นไปมากที่สุดจำนวน 214,283 คน รองลงมาเป็นกลุ่มผู้ป่วยโรคเรื้อรัง จำนวน 205,577 คน ผู้ป่วยโรคธาลัสซีเมียจำนวน 6,924 คน และผู้ป่วยโรคอ้วน (น้ำหนัก> 100 กิโลกรัม หรือ BMI > 35 กิโลกรัมต่อตารางเมตร) จำนวน 6,196 คน

 

จากข้อมูลข้างต้นนี้เมื่อแยกเป็นรายจังหวัดพบว่า กรุงเทพมหานครเป็นจังหวัดที่มีประชาชนกลุ่มเสี่ยงเข้ารับบริการฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ฯ มากที่สุด จำนวน 63,776 คนแล้ว รองลงมา คือจังหวัดสงขลา 15,538 คน ชลบุรี 13,763 คน เชียงใหม่ 11,764 คน และนนทบุรี 11,317 คน ส่วนหน่วยบริการ 5 อันดับที่ให้บริการวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่สูดสุด คือ โรงพยาบาลศิริราชให้บริการมากสุดเป็นอันดับแรก จำนวน 4,337 คนแล้ว รองลงมา ได้แก่ โรงพยาบาลสมุทรปราการ 4,017 คน ศูนย์สุขภาพชุมชนเมืองชลบุรี 3,224 คน โรงพยาบาลพระนั่งเกล้า จ.นนทบุรี 3,097 คน และโรงพยาบาลอุดรธานี 3,006 คน

 

"ด้วยพื้นที่ กทม. มีประชาชนอาศัยอยู่จำนวนมาก ทั้งที่เป็นประชากรในพื้นที่เองและประชากรแฝงที่เข้ามาทำงาน ส่งผลให้ประชาชนกลุ่มเสี่ยงที่ต้องฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่มีจำนวนมากกว่าในจังหวัดอื่นๆ ซึ่งเบื้องต้น สปสช.กำหนดฉีดวัคซีนให้กับประชาชนกลุ่มเสี่ยงใน กทม. จำนวน 303,860 คน มีการให้บริการฉีดแล้วร้อยละ 20 ของกลุ่มเป้าหมาย โดยความร่วมมือของหน่วยบริการในพื้นที่ ไม่ว่าจะเป็นศูนย์บริการสาธารณสุข คลินิกชุมชนอบอุ่น และโรงพยาบาลที่ร่วมให้บริการกับ สปสช." รองเลขาธิการ สปสช. กล่าว 

 

พญ.ลลิตยา กล่าวว่า ประชาชนที่อยู่ใน 7 กลุ่มเสี่ยง ขอแนะนำให้รีบรับบริการฉีดวัคซีนป้องกัน โรคไข้หวัดใหญ่ โดยเป็นกลุ่มเสี่ยงต่อภาวะโรคที่รุนแรงหากได้รับเชื้อไข้หวัดใหญ่ นอกจากนี้ยังเพิ่มภาวะแทรกซ้อนกรณีหากติดเชื้อซ้ำในผู้ป่วยโควิด19 ดังนั้นการฉีดวัคซีนป้องกันในประชากรกลุ่มนี้ยังถือว่ามีความจำเป็นอย่างยิ่ง จึงควรเข้ารับการฉีดวัคซีนป้องกันโรค"ไข้หวัดใหญ่" ซึ่งสามารถติดต่อกับหน่วยบริการประจำในระบบบัตรทอง โดยผู้ที่อยู่ใน กทม. สามารถจองผ่านแอปพลิเคชันเป๋าตังได้ หรือเข้าไปรับบริการฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ที่หน่วยบริการในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติได้

 

ด้าน พญ.อลิศรา ทัตตากร ผู้อำนวยการศูนย์บริการสาธารณสุข 41 คลองเตย สำนักอนามัย กรุงเทพมหานคร กล่าวว่า ในการเข้ารับบริการฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ที่ศูนย์บริการสาธารณสุข 41 ประชาชนที่อยู่ใน 7 กลุ่มเสี่ยง หากไม่ได้ลงทะเบียนแอปเป๋าตังสามารถเดินทางมารับบริการได้ด้วยตนเอง เพียงยื่นบัตรประชาชน ซึ่งเจ้าหน้าที่จะดำเนินการให้และมีการวัคความดัน จากนั้นก็ฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ให้ ซึ่งขั้นตอนบริการไม่ยุ่งยาก ใช้เวลาไม่นาน ทั้งนี้ที่ศูนย์ฯ เริ่มให้บริการฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ ตั้งแต่ 1 พฤษภาคมที่ผ่านมา โดยให้บริการแล้ว 121 ราย ส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุ และผู้ป่วยโรคเรื้อรัง

 

สำหรับประชาชน 7 กลุ่มเสี่ยง ในการรับบริการวัคซีนป้องกันโรค "ไข้หวัดใหญ่" ได้แก่

1) หญิงตั้งครรภ์ อายุครรภ์ 4 เดือนขึ้นไป (ให้บริการตลอดทั้งปี) 

2) เด็กอายุ 6 เดือน ถึง 2 ปีทุกคน

3) ผู้มีโรคเรื้อรัง ดังนี้ ปอดอุดกั้นเรื้อรัง หอบหืด หัวใจ หลอดเลือดสมอง ไตวาย ผู้ป่วยมะเร็งที่อยู่ระหว่างการได้รับเคมีบำบัด และเบาหวาน

4) บุคคลที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไป

5) โรคธาลัสซีเมียและผู้ที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง (รวมผู้ติดเชื้อ HIV ที่มีอาการ)

6) โรคอ้วน (น้ำหนัก> 100 กิโลกรัม หรือ BMI > 35 กิโลกรัมต่อตารางเมตร)

7) ผู้พิการทางสมองที่ช่วยเหลือตนเองไม่ได้          
  

ทั้งนี้ สอบถามเพิ่มเติมได้ที่ สายด่วน สปสช. 1330 หรือช่องทางระบบออนไลน์ทั้งไลน์ สปสช. ไลน์ไอดี @nhso หรือคลิก https://lin.ee/zzn3pU6 และ Facebook : สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ