ข่าว

สธ.ขยายบริการ "เจอแจกจบ" ไปอีก 14 จังหวัด หลังผู้ป่วยโควิดเพิ่มขึ้นไม่หยุด

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

สธ.ขยายบริการ ARI Clinic "เจอแจกจบ" ไปอีก 14 จังหวัดพื้นที่ใกล้เคียงกรุงเทพฯ หลังเจอผู้ติดเชื้อโควิดเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง หวังประชาชนเข้าถึงการรักษาง่ายขึ้น

นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า จากกรณีที่มีประชาชนที่มีผลตรวจ Antigen Test Kit (ATK) เป็นบวก และโทรติดต่อ 1330 ไม่ได้ หรือไม่ได้รับการติดต่อกลับนั้น จากสถิติเมื่อวันที่ 2 มี.ค. 65 มีสายโทรเข้าในระบบ 1330 ถึง 70,000 สาย ซึ่งมีเจ้าหน้าที่รับโทรศัพท์เพียง 700 คน ทำให้เจ้าหน้าที่สามารถรับสายได้เพียง 29,688 สาย หรือประมาณครึ่งหนึ่งเท่านั้น เนื่องจากประชาชนโทรเข้ามาเกินกำลังเจ้าหน้าที่ที่มีอยู่ ดังนั้น สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) จึงอยู่ระหว่างการเพิ่มเจ้าหน้าที่รับสายให้มากขึ้น

 

 

ด้านกระทรวงสาธารณสุข ได้ขยายบริการ "เจอแจกจบ" รับผู้ป่วยนอกให้เข้าไปอยู่ในระบบบริการ หากพบผล ATK เป็นบวก โดย "เจอ" คือ เจอ ATK หรือ RT-PCR และเจอหมอ พยาบาล ผู้ดูแล ระบบบริการ "แจก" คือ แจกความรู้เกี่ยวกับการดูแลตนเอง (Self Isolation) และ "จบ" คือ ประชาชนที่ติดเชื้อเข้ามาอยู่ในระบบบริการ

ขณะเดียวกัน สธ. ได้จัดการประเมินศักยภาพการรับรองการตรวจ ARI Clinic "เจอแจกจบ"  ของสถานบริการสุขภาพ ให้บริการผู้ป่วยนอกแบบ Walk in เพิ่มจำนวน 18,650 ราย/วัน ใน 14 จังหวัดใกล้พื้นที่กทม. เพื่อรองรับผู้ป่วยที่ไม่สามารถติดต่อ 1330 ได้ ได้แก่ จังหวัดนนทบุรี, ปทุมธานี, พระนครศรีอยธยา, สระบุรี, นครนายก, สิงห์บุรี, อ่างทอง, นครปฐม, สมุทรสงคราม, สมุทรสาคร, สุพรรณบุรี, สมุทรปราการ, ชลบุรี และฉะเชิงเทรา รวมทั้งโรงพยาบาลสังกัด กรมสุขภาพจิต และโรงพยาบาลสังกัด กรมควบคุมโรค (ปริมณฑล)  

 

 

ทั้งนี้สธ. อยากบรรเทาความเดือดร้อน และอยากให้ความมั่นใจว่ามีความพร้อมในการให้บริการ "เจอแจกจบ" เรื่องยาได้แน่นอนทั้งฟ้าทะลายโจร และฟาวิพิราเวียร์ หรือยารักษาตามอาการอื่นๆ ทั้งนี้ ไม่ต้องกลัวว่าเป็นเรื่องข้ามเขต สธ. และสำนักงานประกันสุขภาพ และสำนักงานอื่นๆ ได้พูดคุยกันแล้วว่า ทุกคนสามารถเข้ารักษาในระบบผู้ป่วยนอกทุกจังหวัดที่กล่าวถึง ซึ่งอยู่ใกล้กทม. โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายใดๆ ทั้งสิ้น

นพ.เกียรติภูมิ สำหรับสถานการณ์การใช้เตียงของไทย ปัจจุบันมีอัตราการครองเตียงอยู่ที่ 101,157 เตียง จากทั้งหมดที่มีเตียงกว่า 174,000 เตียง ซึ่งคิดเป็น 57.8% โดยขณะนี้การใช้เตียงระดับ 1 (ผู้ป่วยสีเขียว) มีอัตราการครองเตียงถึง 66.2% ถือว่าสูงเกินความจำเป็น เนื่องจากผู้ป่วยโควิดสายพันธุ์โอมิครอนส่วนใหญ่มีอาการไม่มาก ซึ่งการใช้ระบบ "เจอแจกจบ" จะทำให้มีเตียงเพียงพอสามารถรองรับผู้ป่วยที่มีอาการหนัก และผู้ป่วยโรคอื่นๆ ได้มากขึ้น  จากการคาดการณ์จำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 ของประเทศไทย ขณะนี้สถานการณ์จำนวนผู้ติดเชื้ออยู่ในระดับกลางจากที่เคยคาดการณ์ในฉากทัศน์ ซึ่งคาดว่าช่วงปลายเม.ย. จำนวนผู้ติดเชื้อจะค่อยๆ ลดลง

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ