ข่าว

สัมมนาหาทางออก "สัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียว" ชี้ค่าโดยสาร 25บาททำได้

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

กมธ.คมนาคมสัมมนาหาทางออก "สัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียว" ภาคประชาชน เสนอชะลอการต่อสัมปทานแนะ รัฐ-กทม.จ่ายหนี้ BTS ชี้ ราคาค่าโดยสาร 25บาททำได้ ขณะที่คมนาคม ระบุ ต้องลดค่าแรกเข้าเพื่อลดภาระให้ประชาชน

วันที่ 19 ก.พ.65 ที่โรงแรมอินเตอร์คอนติเนนตัล คณะกรรมาธิการคมนาคม สภาผู้แทนราษฎร โดย นายโสภณ ซารัมย์ ประธานคณะกรรมมาธิการการคมนาคม สภาผู้แทนราษฏร ได้จัดสัมมนาในหัวข้อ "สายสีเขียวจะไปอย่างไรต่อ" โดยมีผู้เกี่ยวข้องทั้งหน่วยงานภาครัฐและสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเข้าร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็น

 

โดยนายโสภณ กล่าวว่า จากกรณีที่ประชาชนมีการวิพากษ์วิจารณ์"โครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว"ของรัฐ ทำให้ กมธ.คมนาคม มีความเป็นห่วง ในฐานะฝ่ายนิติบัญญัติ จึงมีความเห็นที่จะเชิญผู้เกี่ยวข้องทั้งสองฝ่ายคือฝ่ายผู้รับผิดชอบทั้งกระทรวงมหาดไทยและกระทรวงคมนาคม มาสัมมนาเพื่อหาทางออก เพื่อให้ได้ทราบสถานะ "รถไฟฟ้าสายสีเขียว" และเพื่อให้ได้เข้าใจถึงวิธีและทราบข้อมูลการเสนอต่ออายุสัมปทานว่าจะเป็นผลดีผลเสียต่อประชาชนอย่างไร หากเลือกวิธีการใดวิธีการหนึ่งจะทำให้เกิดประโยชน์กับประชาชนได้อย่างไร และเพื่อเป็นการหาทางออกร่วมกัน

ผู้เข้าร่วมสัมมนา อย่างนางสาวสารี อ่องสมหวัง เลขาธิการสภาองค์กรของผู้บริโภค กล่าวบนเวทีสัมมนาว่า จะเป็นโอกาสที่ทำให้เข้าไปจัดการรถไฟฟ้าทั้งระบบได้ โดยจะต้องชะลอการต่อสัญญาสัมปทาน ซึ่งบริษัทจะไม่เสียสิทธิ์ เพราะยังอยู่ในระยะเวลาและมองว่า รัฐบาลและ กทม.จะต้องจ่ายหนี้บริษัท เพื่อไม่ให้เกิดการฟ้องร้องและบริษัทไม่เกิดปัญหาสภาพคล่องทางการเงิน และองค์กรผู้บริโภคมองว่าราคา 25 บาทต่อเที่ยวประเทศไทยสามารถทำได้ โดยการเอาจำนวนเที่ยวทั้งหมดต่อปีบวกค่าใช้จ่ายในการเดินรถ คำนวนออกมาแล้ว เพื่อให้ราคาเป็นธรรมกับผู้บริโภค ซึ่งราคาปัจจุบัน65บาท ถือเป็นราคาที่ไม่เป็นธรรม

 

ทั้งนี้ มีข้อเสนอระยะสั้น เพื่อเป็นแนวทางการแก้ไขปัญหา "รถไฟฟ้าสายสีเขียว" ซึ่งเป็นข้อเสนอถึงปี 2572 โดยให้มีการเก็บค่าโดยสาร 15-44บาท โดยรวมส่วนต่อขยายทั้งหมด และคิดอัตราค่าโดยสารใหม่ โดยกำหนดหลักเกณฑ์คิดตามระยะทาง เช่น เพิ่มสถานีละ1บาท สูงสุด44บาท เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับผู้บริโภค และส่งเสริมให้ผู้บริโภคเข้าถึงรถไฟฟ้าได้เพิ่มขึ้น รวมถึง หารายได้จากสถานีส่วนต่อขยาย เช่น เปิดเช่าพื้นที่ ค่าโฆษณา ค่าเชื่อมต่อสถานี อีกทั้ง กทม.และรัฐบาลจะต้องจ่ายหนี้บริษัททั้งหมด

ส่วนข้อเสนอหลังหมดสัญญาสัมปทานหลังปี 2572 จะต้องเปิดประมูลการเดินรถ โดยกำหนดเงื่อนไขมาตรฐานการบริการ และราคาต่ำสุดสำหรับประชาชนแต่ต้องไม่เกิน25บาทต่อสาย และให้แยกประมูลหารายได้จากส่วนต่อขยาย ทั้งค่าเช่าพื้นที่ ค่าโฆษณาสถานี ค่าเชื่อมต่อสถานี

 

ทั้งนี้องค์กรผู้บริโภค ก็จะเปิดให้ร่วมลงชื่อคัดค้านการต่อ"สัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียว "ด้วย

 

ขณะที่ นายชัยวัฒน์ ชื่นโกสุม รองปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวบนเวทีเสวนา ว่า กระทรวงมหาดไทย รับฟังความคิดเห็นในข้อเสนอทุกข้อจากทุกฝ่ายเช่น เรื่องการลดค่าโดยสาร ที่ได้ข้อมูลจาก กทม.ว่า ถ้าไม่เป็นหนี้ก็สามารถลดราคาได้แต่หากเป็นหนี้ไม่สามารถทำได้ ซึ่งกระทรวงมหาดไทยจะรับฟังข้อมูลต่าง ๆที่เป็นข้อเสนอ เพื่อนำไปหารือกับ กทม. ก่อนที่จะนำเสนอเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี เพราะกระทรวงมหาดไทยมีหน้าที่ในการนำเสนอข้อมูล


ด้านนายสรพงศ์ ไพฑูรย์พงษ์ รองปลัดกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า กระทรวงคมนาคม มี 3หน้าที่คือ ผู้ปฏิบัติ ผู้กำกับดูแล เพราะ"โครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว"ส่วนต่อขยายได้มอบหมายให้ กระทรวงคมนาคมดำเนินการ และที่กระทรวงคมนาคมรับมาดำเนินการดูแลรับผิดชอบเพราะอยู่นอกพื้นที่กรุงเทพมหานครและชี้แจงว่า ที่ผ่านมากระทรวงคมนาคม พยายามที่จะช่วยเหลือและบรรเทาภาระให้กับประชาชนในการคิดค่าโดยสาร เพราะจากการสำรวจพบว่า ประชาชนไม่เดินทางตั้งแต่ต้นสายยันปลายสาย แต่เดินทางไม่เกิน12กิโลเมตร

 

ดังนั้นการคิดค่าโดยสารรถไฟฟ้าบีทีเอสในปัจจุบันราคาค่อนข้างสูง ประกอบกับค่าโดยสารแรกเข้าที่มีราคาเริ่มต้นสูงเช่นกัน แต่หากมีการใช้สูตรคำนวนค่าแรกเข้าเหมือนรถไฟฟ้า MRT ก็จะทำให้ค่าโดยสารถูกลงถึง14บาท

 

ทั้งนี้กระทรวงคมนาคม ได้กำหนดสัญญาของรถไฟฟ้าสายสีชมพูและสายสีเหลืองในอนาคตไว้แล้ว ว่าหากใครจะมาเป็นผู้ถือสัมปทาน จะต้องไม่คิดค่าแรกเข้า สำหรับผู้ที่เดืนทางมาจากระบบขนส่งมวลชนต่างสาย โดยส่วนนี้มองว่า จะช่วยลดค่าโดยสารให้กับประชาชนในสายนั้น ๆได้ ซึ่งตนเองตั้งคำถามว่า การเขียนสัญญาของ "รถไฟฟ้าสายสีเขียว" ได้คำนึงถึงเรื่องนี้หรือไม่
   

ส่วนนายสุรเชษฐ์ ประวีณวงศ์วุฒิ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ระบุว่า ไม่เห็นด้วยกับการขยายสัญญาสัมปทานตามร่างสัญญาปัจจุบัน และตั้งแต่ปี 2562 พรรคก้าวไกลได้ต่อสู้เรื่องนี้มาตลอดทั้งการปกปิดการต่ออายุสัมปทาน ที่มองว่า มีการใช้ ม.44 ไปเจรจาแบบไม่เปิดเผยในการต่อสัมปทานอีก30ปี จากเดิมที่เหลือ7ปี ทำให้ไม่สามารถตรวจสอบได้ ทั้งนี้จึงเสนอใช้ พ.ร.บ.ร่วมทุนปี 2562 ในการแก้ไขปัญหา

 

ทั้งนี้ยังมองว่าอีกว่างานเสวนาเกี่ยวกับรถไฟฟ้าสายสีเขียวในแต่ละเวทีไม่เคยมีตัวแทนของ กทม. และ บีทีเอส มาร่วมวงแลกเปลี่ยนความคิดเห็น


 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ