ข่าว

"เรียนจบมีงานทำ" ศธ.จับมือ ก.แรงงาน ฝึกทักษะอาชีพ นร.-นศ.

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ศธ.จับมือ ก.แรงงาน ร่วมกันพัฒนาสร้างฐานข้อมูล ด้านแรงงานและความต้องการของตลาดแรงงาน พัฒนาหลักสูตร ฝึกทักษะอาชีพฝีมือแรงงาน สู่การทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติ ส่งเสริมการศึกษา "เรียนจบมีงานทำ" ให้แก่ นักเรียน-นักศึกษา-แรงงานทุกระดับ ไปจนถึงระดับ World Skill

หนึ่งในเป้าหมายของการศึกษาเล่าเรียนคือ "เรียนจบมีงานทำ" ซึ่งแนวคิดนี้มีความเป็นจริงมากขึ้น เมื่อกระทรวงศึกษาธิการได้ลงนามความร่วมมือในการพัฒนาทักษะอาชีพให้นักเรียนและนักศึกษา ร่วมกับกระทรวงแรงงาน

 

โดยเมื่อวันที่19 มกราคม 2565  นางสาวตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) และนายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน (รมว.รง.)  ร่วมบันทึกความร่วมมือ ว่าด้วยการส่งเสริมการศึกษาและการมีงานทำให้แก่นักเรียน นักศึกษา และแรงงานทุกระดับ ณ ห้องประชุมราชวัลลภ ชั้น 2 อาคารราชวัลลภ กระทรวงศึกษาธิการ

"เรียนจบมีงานทำ" ศธ.จับมือ ก.แรงงาน ฝึกทักษะอาชีพ นร.-นศ.

นางสาวตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เปิดเผยว่า กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) และกระทรวงแรงงาน ได้ตกลงร่วมกันในการพัฒนาทักษะฝีมือให้แก่นักเรียน นักศึกษาก่อนเข้าสู่ตลาดแรงงาน 

"โดยมีวัตถุประสงค์ในการบูรณาการ การพัฒนาศักยภาพนักเรียน นักศึกษา และแรงงานทุกระดับ ให้มีความรู้ ความสามารถ และทักษะฝีมือตามมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติ สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีและความต้องการของตลาดแรงงาน

 

เพื่อส่งเสริมการมีงานทำ ลดปัญหาการขาดแคลนแรงงานที่มีความรู้ ความสามารถ และทักษะฝีมือที่ตรงกับความต้องการของตลาดแรงงานทั้งด้านปริมาณและคุณภาพ รองรับการขยายตัวของเศรษฐกิจในอนาคต และการพัฒนาประเทศ"รมว.ศึกษาธิการ กล่าว

 

นางสาวตรีนุช กล่าวอีกว่า กระทรวงศึกษาธิการ เป็นหน่วยงานรัฐที่กำกับดูแลการศึกษาของชาติเพื่อการพัฒนาคุณภาพของประชาชน ได้กำหนดนโยบายการจัดการศึกษา ซึ่งมีเป้าหมาย คือ มีผู้เรียนเป็นเป้าหมายแห่งการพัฒนา โดยให้ผู้เรียนมีวิธีคิดและทักษะที่เป็นสากลสอดคล้องกับพลวัตในศตวรรษที่ 21 ควบคู่ไปกับสำนึกและความเข้าใจในความเป็นไทย ผ่านการมีความพร้อมด้านเทคโนโลยี

"เรียนจบมีงานทำ" ศธ.จับมือ ก.แรงงาน ฝึกทักษะอาชีพ นร.-นศ.

ทั้งในเชิงโครงสร้างและในเชิงการเรียนรู้ สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลในการขับเคลื่อนการดำเนินงานด้านการศึกษาให้มีคุณภาพ ประสิทธิภาพในทุกมิติ ให้กับผู้เรียนทุกช่วงวัย การศึกษา เพื่ออาชีพ และสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ เพื่อให้ผู้จบการศึกษา ระดับปริญญาและอาชีวศึกษามีอาชีพ และรายได้ที่เหมาะสมกับการดำรงชีพและคุณภาพชีวิตที่ดี มีส่วนช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันในเวทีโลกได้

“เป็นความมุ่งมั่น ของรัฐบาล ภายใต้การนำของท่านพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่ต้องการยกระดับคุณภาพการศึกษา โดยให้ความสำคัญต่อเด็กนักเรียนอาชีวะ ให้เป็นผู้ที่มีความรู้และทักษะทางอาชีพ ที่สามารถแข่งขันได้ในระดับสากล ซึ่งจะนำไปสู่การมีอาชีพ และรายได้ที่เหมาะสม มีคุณภาพชีวิตที่ดี” นางสาวตรีนุช กล่าว

 

นอกจากนี้ การพัฒนาหลักสูตรฐานสมรรถนะ การพัฒนาการจัดทำฐานข้อมูลอย่างเป็นระบบ (Big Data) ยังเป็นส่วนหนึ่งของการดำเนินงานนโยบายที่เป็นวาระเร่งด่วน ซึ่งสอดคล้องกับเป้าหมายของการลงนามความร่วมมือในครั้งนี้ที่จะบูรณาการภารกิจการทำงานร่วมกัน

 

ด้านนายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวว่า กระทรวงแรงงานภายใต้การกำกับดูแลของ พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี มีนโยบายในการส่งเสริม การจัดการศึกษา พัฒนาทักษะทางอาชีพ และส่งเสริมการมีงานทำ และให้ความสำคัญในการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ซึ่งมีความจำเป็นอย่างมากกับประเทศไทย

 

โดยเฉพาะทรัพยากรมนุษย์ในวัยกำลังแรงงานที่จะต้องได้รับการพัฒนาทักษะฝีมือให้สูงขึ้น เพื่อให้แรงงานทั้งระบบ มีโอกาสเข้าถึงการเรียนรู้และพัฒนาทักษะฝีมือในทุกระดับอย่างมีมาตรฐาน ส่งเสริมให้มีความรู้และทักษะในการประกอบอาชีพที่สอดคล้องกับ ความต้องการของตลาดแรงงาน เพื่อเป็นการสร้างโอกาสในการประกอบอาชีพ มีรายได้ มีงานทำ และเป็นทรัพยากรมนุษย์ ที่มีคุณภาพต่อการพัฒนาสังคมและเศรษฐกิจของประเทศ

 

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวต่อว่า การลงนามความร่วมมือในครั้งนี้ ถือว่ามีเป้าหมายและกลไกในการบูรณาการภารกิจร่วมกันอย่างชัดเจน ระหว่าง กระทรวงแรงงาน กับ กระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งจะร่วมกันพัฒนาระบบฐานข้อมูล (Big Data) ด้านแรงงานและความต้องการของตลาดแรงงาน พัฒนาหลักสูตร ฝึกอบรมฝีมือแรงงานไปสู่การทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติ สนับสนุนให้มีการประเมินความรู้ ความสามารถ สนับสนุนการแข่งขันฝีมือแรงงานแห่งชาติ ไปจนถึงระดับ World Skill

"เรียนจบมีงานทำ" ศธ.จับมือ ก.แรงงาน ฝึกทักษะอาชีพ นร.-นศ.

"รวมทั้งส่งเสริมการมีงานทำ และการให้ความรู้สิทธิประโยชน์และสวัสดิการแก่กำลังแรงงาน เพื่อเตรียมความพร้อมก่อนเข้าสู่ตลาดแรงงาน ให้มีทักษะฝีมือตามมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติ สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี และความต้องการของตลาดแรงงาน"นายสุชาติ กล่าว

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ