ข่าว

ชำแหละ"ร่างกม.คุมจริยธรรมสื่อ"เปิดข้อสังเกต 9 ประเด็นอุดรูโหว่สื่อนอกรีต

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ชำแหละ "ร่างกม.คุมจริยธรรมสื่อ" เปิด 9 ประเด็นข้อสังเกต "ร่างพ.ร.บ.ส่งเสริมจริยธรรมและมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน" เหตุใดจึงผ่านความเห็นชอบจากที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.)หวังอุดช่องโหว่สื่อนอกรีต

 

มติคณะรัฐมนตรี(ครม.) เมื่อวันที่ 11 ม.ค.65 ที่ผ่านมา ในการผ่านความเห็นชอบร่างพ.ร.บ.ส่งเสริมจริยธรรมและมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน" ได้ตกเป็นที่จับตามองอีกครั้ง  เนื่องจากมีความพยายามผลักดันร่างกฎหมายฉบับดังกล่าวมานับตั้งแต่ปี 2561 โดยองค์กรด้านสื่อสารมวลชนแขนงต่างๆเคยร่วมกันให้ข้อเสนอแนะต่อรัฐบาล พร้อมกับส่งตัวแทนร่วมแลกเปลี่ยนความเห็นและยกร่างกฎหมายมาในช่วงหลายปีด้วยกัน

 

ชำแหละ"ร่างกม.คุมจริยธรรมสื่อ"เปิดข้อสังเกต 9 ประเด็นอุดรูโหว่สื่อนอกรีต

 

กระทั่งมาตกผลึกความเห็นร่วมกันในปี 2563 ด้วยการจัดทำ "ร่างพ.ร.บ.ส่งเสริมจริยธรรมและมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน"เพื่อนำเสนอต่อที่ประชุมสภาฯพิจารณาต่อไป

 

อย่างไรก็ตาม เบื้องหลังก่อนร่างพ.ร.บ.ส่งเสริมจริยธรรมและมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน" จะผ่านความเห็นชอบจากครม. มีที่มาน่าสนใจ พร้อมกับมีการให้ข้อสังเกตไว้อย่างกว้างขวาง 

 

 

 

ก่อนหน้านี้ กรมประชาสัมพันธ์ ได้มีหนังสือ สอบถามความคิดเห็นและจัดประชุมผู้เกี่ยวข้อง เมื่อวันที่ 25  มิถุนายน 2564 เพื่อพิจารณาทบทวนร่าง พ.ร.บ.ฯ ร่วมกับผู้ที่เคยเป็นอนุกรรมการจัดทำร่างพ.ร.บ.ดังกล่าว

 

ประกอบด้วย รองศาสตราจารย์ เสรี วงษ์มณฑา ประธานกรรมการปฏิรูปประเทศด้านสื่อสารมวลชน เทคโนโลยีสารสนเทศ และเป็นอดีตอนุกรรมการจัดทำร่าง พ.ร.บ.ฯ นายมานิจ สุขสมจิตร อดีตประธานอนุกรรมการจัดทำร่าง พ.ร.บ.ฯ (เป็นประธานร่วมในการประชุมฯ) พร้อมทั้ง นายชวรงค์ ลิมป์ปัทมปาณี รองศาสตราจารย์พิจิตรา ศุภสวัสดิ์กุล ผู้แทนกระทรวงวัฒนธรรม ผู้แทนสภาพัฒนา เศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ผู้แทนสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี และผู้แทนสำนักงานคณะกรรมการ กฤษฎีกา (ซึ่งเป็นผู้ที่อยู่ในคณะอนุกรรมการกลั่นกรองร่างกฎหมายในกระบวนการนิติบัญญัติด้วย)

 

จากการประชุมดังกล่าวที่ประชุมมีมติรับทราบ ข้อสังเกตของ ปสส. และคณะอนุกรรมการ กลั่นกรองฯ และเห็นชอบร่วมกันว่า ร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้ ได้มีการพิจารณากันอย่างถี่ถ้วนพอสมควรแล้ว

 

ทั้งในส่วนของคณะอนุกรรมการจัดทำร่าง พ.ร.บ.ฯ คณะกรรมการปฏิรูปกฎหมายในระยะเร่งด่วน (ศาสตราจารย์กิตติคุณ บวรศักดิ์อุวรรณโณ ประธาน) รวมทั้งผ่านการตรวจพิจารณาจากสำนักงานคณะกรรมการ กฤษฎีกา (นายมีชัย ฤชุพันธ์ ประธานคณะกรรมการกฤษฎีกา คณะพิเศษ) มาแล้ว

 

ดังนั้น จึงเห็นควรผลักดัน หลักการใหญ่ทั้งหมดตามร่างฉบับนี้ เพื่อเข้าสู่วาระการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรให้ได้ก่อน หากจะมีการแก้ไข ใดๆสามารถดำเนินการได้ในชั้นกรรมาธิการ ดังนั้น ในชั้นนี้ จึงเห็นควรยืนยันร่างฯ โดยไม่มีการแก้ไข ส่วนประเด็น ตามข้อสังเกตฯ ในเรื่องรายได้ตามร่างมาตรา 9ให้ระบุเป็นความเห็นเพิ่มเติมว่า หากมีความจำเป็นต้องแก้ไข การกำหนดวงเงินขั้นสูง เห็นควรกำหนดไว้ที่ไม่เกิน 200 ล้านบาท และให้มีการทบทวนวงเงินทุก 5 ปี

 

 

 

ทั้งนี้ ที่ประชุมได้มีความเห็นเพิ่มเติม นอกเหนือจากประเด็นข้อสังเกต ในบทเฉพาะกาล มาตรา 47 เกี่ยวกับองค์ประกอบของคณะกรรมการฯ ซึ่งกำหนดว่า "ในวาระเริ่มแรกให้คณะกรรมการสภาวิชาชีพสื่อมวลชน ประกอบด้วย (2) ผู้แทนผู้ปฏิบัติงานด้านสื่อมวลชนซึ่งคณะรัฐมนตรีแต่งตั้งจากรายชื่อที่สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ เสนอ จำนวนสองคน" แต่เนื่องจากปัจจุบัน "สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ" ได้เปลี่ยนชื่อเป็น "สภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ" แล้ว ดังนั้น เพื่อให้เกิดความถูกต้องชัดเจน ขอให้กรมประชาสัมพันธ์ ระบุประเด็นนี้เป็นข้อสังเกต เพิ่มเติม ในการเสนอเรื่องกลับไปยังสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี

 

โดยมีรายละเอียดตามประเด็นข้อสังเกต และความเห็นจากการประชุมพิจารณาทบทวนร่าง พ.ร.บ.ฯ ดังนี้ 

 

ประเด็นที่ 1 ร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมจริยธรรมและมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน พ.ศ. .... มีบทบัญญัติใดกระทบสิทธิและเสรีภาพของ
บุคคลหรือไม่ หากมี ต้องกำหนดไว้ในเหตุผลความจำเป็นของร่างพระราชบัญญัติหรือไม่อย่างไร


พิจารณาแล้วเห็นว่า ร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมจริยธรรมและมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน พ.ศ. .... ไม่ได้จำกัดสิทธิและเสรีภาพการประกอบวิชาชีพสื่อมวลชน ดังนั้น กรณีจึงไม่มีบทบัญญัติใดที่กระทบสิทธิและเสรีภาพของบุคคล ทั้งนี้ สาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัติเป็นการคุ้มครองเสรีภาพผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชน การส่งเสริมจริยธรรมและมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน โดยให้รวมกลุ่มจัดตั้งองค์กรวิชาชีพสื่อมวลชน เพื่อกำกับดูแลกันเองโดยมีจริยธรรมและมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชนที่จะร่วมกันกำหนด รวมทั้งการส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชนในการตรวจสอบสื่อมวลชนและการรู้เท่าทันสื่อ


ประเด็นที่ 2 ร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมจริยธรรมและมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน พ.ศ. .... ได้รับฟังความคิดเห็นจากหน่วยงาน ที่เกี่ยวข้องหรือไม่ มีความเห็นอย่างไร มีข้อคัดค้านหรือไม่ อย่างไร


พิจารณาแล้วเห็นว่า คณะกรรมการที่รับผิดชอบจัดทำร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมจริยธรรมและมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน พ.ศ. .... ได้รับฟังความเห็นจากหน่วยงานและผู้เกี่ยวข้องจากหลายภาคส่วนทั้งในชั้นการยกร่างพระราชบัญญัติ ก่อนเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณา ซึ่งผลการรับฟังความคิดเห็นดังกล่าวปรากฎว่าเห็นด้วยกับหลักการของร่างพระราชบัญญัติ นอกจากนี้ ในชั้นการพิจารณาของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาก็ได้ มีการรับฟังความเห็นอีกด้วย ซึ่งเป็นการรับฟังความคิดเห็นครบถ้วนตามกระบวนการของการจัดทำร่างกฎหมายแล้ว

 

ประเด็นที่ 3 เหตุใดร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้จึงชื่อ "ร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมจริยธรรมและมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน พ.ศ. ...." มีเจตนารมณ์อย่างไร เหตุใดจึงไม่ใช้คำว่า "จรรยาบรรณ" และคำว่า "จริยธรรม" กับคำว่า "จรรยาบรรณ" มีความหมายเหมือนหรือแตกต่างกันหรือไม่ อย่างไร


พิจารณาแล้วเห็นว่า คำว่า "จรรยาบรรณ" หมายถึง หลักการ กฎ กติกา ทำไว้เพื่อผดุงเกียรติคุณทางด้านงานที่ทำ ส่วนคำว่า"จริยธรรม"หมายถึง ข้อปฏิบัติที่ก่อให้เกิดความสงบเรียบร้อย โดยอิงกับหลักธรรม และจรรยาบรรณ แคบกว่าจริยธรรม ซึ่งจริยธรรมจะครอบคลุมกว้างขวางในเรื่องของการปฏิบัติตนให้ถูกต้องเพื่อความสงบเรียบร้อยของบ้านเมือง อีกทั้งสาระสำคัญของร่างพ.ร.บ.นี้มีความมุ่งประสงค์ที่จะกำหนดเกี่ยวกับจริยธรรมและมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน ที่บุคคลที่ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนพึงต้องมีและมาตรฐานของวิชาชีพสื่อมวลชน ประกอบกับมาตรา 35 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย กำหนดให้บุคคลซึ่งประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนย่อมมีเสรีภาพในการเสนอข่าวสารหรือการแสดงความคิดเห็นตามจริยธรรมแห่งวิชาชีพ ดังนั้น การกำหนดชื่อของร่างพระราชบัญญัติ จึงใช้ชื่อว่า "ร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมจริยธรรมและมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน พ.ศ. " เพื่อให้เป็นไปตามเนื้อหาในร่างพระราชบัญญัติที่ต้องการให้มีการส่งเสริมจริยธรรมและมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชนและสอดคล้องกับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย


ประเด็นที่ 4 ร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้มีผลใช้บังคับถึงการถ่ายทอดสดผ่านสื่อสังคมออนไลน์ เช่น เฟซบุ๊กไลฟ์ หรือไม่ เนื่องจากอาจมีการไลฟ์สดที่ซ่อนเร้นทางการเมือง หรือไลฟ์สดเวทีที่มีการอภิปรายที่ผิดอาญาอย่างร้ายแรง เมื่อมีการกระทำดังกล่าวมีกระบวนการทางกฎหมายใดที่จะดำเนินการได้ทันทีหรือไม่


พิจารณาแล้วเห็นว่าร่างพ.ร.บ.ส่งเสริมจริยธรรมและมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน พ.ศ.  ได้กำหนดนิยามของคำว่า"สื่อมวลชน" หมายความว่า สื่อหรือช่องทางที่นำข่าวสาร หรือเนื้อหาสาระทุกประเภทไปสู่ประชาชนเพื่อประโยชน์สาธารณะ ไม่ว่าจะอยู่ในรูปสื่อสิ่งพิมพ์ วิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ สื่อดิจิทัล หรือในรูปแบบอื่นใดที่สามารถสื่อความหมายให้ประชาชนทราบได้เป็นการทั่วไป ทั้งนี้ ในนิยามได้เปิดช่องการแสดงความคิดเห็นโดยเสรีที่มิได้มุ่งแสวงหากำไรได้ ซึ่งการทำหน้าที่สื่อในประเภทนี้ก็จะต้องพิจารณาตามข้อเท็จจริง 

 

ดังนั้น หากดำเนินการถ่ายทอดสดสื่อสังคมออนไลน์เป็นการ จัดทำสื่อหรือช่องทางดังกล่าวที่มิได้ดำเนินการเพื่อใช้เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของตนโดยมิได้มุ่งแสวงหากำไรแล้ว การดำเนินการดังกล่าวก็ต้องเป็นไปตามจริยธรรมและมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชนตามร่างพระราชบัญญัตินี้ประกอบกับกฎหมายฉบับนี้เป็นกฎหมายส่งเสริมจริยธรรม ไม่ใช่กฎหมายควบคุมจริยธรรม รวมทั้งไม่ใช่กฎหมายควบคุมการส่งกระจายเสียงและการแพร่ภาพ

อีกทั้งคำว่า "สื่อมวลชน"ที่ปรากฏในร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้หมายถึง สื่อมวลชนที่เป็นอาชีพ ไม่ใช่ปัจเจกชนที่แสดงความคิดเห็น สำหรับการที่ปัจเจกชนแสดงความคิดเห็นนั้น มีกฎหมายอื่น ๆ ควบคุมอยู่แล้ว เช่น พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550  และที่แก้ไขเพิ่มเติม พระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์พ.ศ. 2562 และกฎหมายที่เกี่ยวกับการหมิ่นประมาท เป็นต้น
 

อย่างไรก็ดี หากการถ่ายทอดสดผ่านสื่อสังคมออนไลน์ที่มีลักษณะใช้เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของตนไม่ว่าจะมุ่งแสวงหากำไรหรือไม่จะต้องเป็นไปตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องด้วย เช่น ประมวลกฎหมายอาญา และพ.ร.บ.ว่าด้วย การกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2560 เป็นต้น หากมีการฝ่าฝืนกฎหมายที่เกี่ยวข้องก็จะต้องมีความผิด ตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องต่อไป


ประเด็นที่ 5 ร่างมาตรา 8 รายได้ของสภาวิชาชีพสื่อมวลชนมีขอบเขตอย่างไร เช่น ร่างมาตรา 8 (1) เงินที่รัฐบาลจ่ายให้เป็นทุนประเดิมมีหรือไม่ จำนวนเท่าใด ร่างมาตรา 8 (2) เงินที่ได้รับการจัดสรรตามมาตรา 9 ซึ่งเป็นเงินที่ได้รับการจัดสรรจาก  คณะกรรมการบริหารกองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมกรอบการใช้งบประมาณมีข้อจำกัดมากน้อยเพียงใด ร่างมาตรา 8 (3) เงินอุดหนุนทั่วไปที่รัฐบาลจัดสรรให้จากงบประมาณรายจ่ายเป็นเพียงการเปิดทาง หรือเป็นสภาพบังคับที่รัฐบาลต้องจัดสรรตลอดไป ร่างมาตรา 8 (6) รายได้อื่นที่เป็นของสภาวิชาชีพสื่อมวลชน มีขอบเขตมากน้อยเพียงใด เปิดกว้าง มากเกินไปหรือไม่ ควรกำหนดให้ชัดเจนหรือไม่ ว่าต้องไม่สามารถรับเงินจากองค์กรต่างชาติหรือจากบุคคลที่มีผลประโยชน์ทางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม และเมื่อสภาวิชาชีพสื่อมวลชนได้รับเงินอุดหนุนจากรัฐบาลซึ่งเป็นภาษีของประชาชน ก็ควรจะให้ประชาชนได้รับประโยชน์ด้วย


องค์กรต่างชาติหรือจากบุคคลใดจะต้องนำไปใช้เพื่อวัตถุประสงค์ของสภาวิชาชีพสื่อมวลชนเกี่ยวกับการส่งเสริมจริยธรรมเท่านั้น สภาวิชาชีพสื่อมวลชน ไม่อาจนำไปส่งเสริมการประกอบกิจการสื่อสารมวลชน ด้วยเหตุนี้ หากมีการรับเงินจากองค์กรต่างชาติหรือจากบุคคลใดเพื่อทำให้มีผล ทางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคมของประเทศไทย และมีการนำเงินไปใช้นอกเหนือจากจริยธรรมและมาตรฐานวิชาชีพ
สื่อมวลชนที่องค์กรตามที่กำหนดในร่างพ.ร.บ.นี้ร่วมกันกำหนดให้เป็นจริยธรรมและมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน ก็จะต้อง ได้รับมาตรการตามที่กำหนดในร่างพ.ร.บ.นี้ด้วยเหตุผลดังกล่าว จึงขอยืนยันความเห็นตามร่างฯ โดยไม่แก้ไขในชั้นนี้ 
 

อย่างไรก็ตาม หากมีความจำเป็นต้องแก้ไขในเรื่องรายได้ของสภาฯ เห็นควรแก้ไขในมาตรา 9 โดยกำหนดให้มีการจัดสรรเงินให้สภาวิชาชีพสื่อมวลชนเป็นรายปีตามความจำเป็น ไม่น้อยกว่า 25 ล้านบาท แต่ไม่เกินสองร้อยล้านบาท และให้ทบทวนวงเงินทุก 5 ปี

 

ประเด็นที่ 6 ร่างมาตรา 13 การกำหนดองค์ประกอบของคณะกรรมการสภาวิชาชีพสื่อมวลชนเป็นการกำหนดที่กว้างมากไปหรือไม่

 

พิจารณาแล้วเห็นว่าองค์ประกอบของคณะกรรมการสภาวิชาชีพสื่อมวลชน ประกอบด้วย 

 

1) ผู้แทนองค์กรวิชาชีพสื่อมวลชนที่ผ่านการเลือกกันเองและสรรหา จำนวน 5 คน 

 

2) กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ จำนวน 5 คน ที่มาจากผู้มีประสบการณ์ด้านวิชาการสื่อสารมวลชน ด้านกฎหมาย ด้านสิทธิมนุษยชน ด้านการคุ้มครองผู้บริโภค และจากผู้เคยประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนหรือผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนอิสระ ด้านละ 1 คน 

 

3) กรรมการโดยตำแหน่ง ได้แก่ ผู้จัดการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ โดยคณะกรรมการสภาวิชาชีพสื่อมวลชนมีหน้าที่และอำนาจเกี่ยวกับการบริหารกิจการให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของสภาวิชาชีพสื่อมวลชน กำหนดมาตรฐานทางจริยธรรม พิจารณาการจดแจ้งและเพิกถอนการจดแจ้งองค์กรวิชาชีพสื่อมวลชน พิจารณาเรื่องร้องเรียนที่มีการละเมิดเสรีภาพของผู้ประกอบวิชาชีพหนังสือพิมพ์ พิจารณาอุทธรณ์คัดค้าน ผลการพิจารณาของคณะกรรมการจริยธรรม พิจารณารับรองหลักสูตรหรือการฝึกอบรมในเรื่องที่เกี่ยวกับการคุ้มครองหรือส่งเสริมจริยธรรมสื่อมวลชนฯ ออกข้อบังคับ ระเบียบหรือ
ประกาศของสภาวิชาชีพสื่อมวลชน ดังนั้น การกำหนดจำนวนองค์ประกอบ มีการกำหนดผู้ที่เกี่ยวข้องหรือมีส่วนได้เสียและ ผู้ที่มีความรู้ความสามารถเกี่ยวกับสื่อมวลชน รวมทั้งหน้าที่และอำนาจจึงมีความเหมาะสมแล้ว


ประเด็นที่ 7 ร่างมาตรา 31 เหตุใดจึงกำหนดโทษการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามจริยธรรมสื่อมวลชนเพียง (1) ตักเตือน (2) ภาคทัณฑ์ (3) ตำหนิโดยเปิดเผยต่อสาธารณชน กำหนดเช่นนี้เหมาะสมและเพียงพอหรือไม่ ต่างประเทศมีการดำเนินการอย่างไรการตักเตือน หรือการภาคทัณฑ์เป็นการดำเนินการที่เปิดเผยหรือไม่ ควรมีมาตรการที่มากกว่านี้หรือไม่ เช่น หากมีการฝ่าฝืนอาจมีการพักใช้ใบอนุญาต เป็นต้น การควบคุมดูแลกันเองของผู้ประกอบการและผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชน ประชาชนได้ประโยชน์อย่างไร และเมื่อมีผู้เสียหายจากการกระทำของผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนหรือองค์กรสื่อมวลชน มีมาตรการในการดำเนินการอย่างไร ประชาชนต้องไปดำเนินการฟ้องร้องเองใช่หรือไม่ เหตุใดจึงเป็นเช่นนั้น

 

พิจารณาแล้วเห็นว่าร่างพ.ร.บ.ส่งเสริมจริยธรรมและมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน พ.ศ.  กำหนดให้สภาวิชาชีพสื่อมวลชน มีหน้าที่รับจดแจ้งองค์กรวิชาชีพสื่อมวลชนเพื่อประโยชน์ในการส่งเสริมจริยธรรมและมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชนเท่านั้น แต่สภาวิชาชีพสื่อมวลชนไม่มีอำนาจควบคุมการประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนโดยการออกใบอนุญาต แต่อย่างใด สำหรับการกำหนดโทษการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามจริยธรรมสื่อมวลชนเป็นไปตามผลการรับฟังความคิดเห็นของผู้เกี่ยวข้อง ซึ่งจะต้องเป็นไปเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ในการ
ส่งเสริมจริยธรรมเท่านั้น

 

อย่างไรก็ตาม ร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้ได้กำหนดให้มีการเยียวยาเพื่อบรรเทาความเสียหาย ตามควรแก่กรณีไว้ด้วย แต่ในกรณีที่สื่อมวลชนกระทำการใด ที่ฝ่าฝืนกฎหมายอื่นด้วยไม่ว่าจะทางแพ่งหรืออาญา ประชาชนที่ได้รับความเสียหายก็สามารถใช้สิทธิฟ้องร้องตามกฎหมายนั้นได้


ประเด็นที่ 8 เมื่อสภาวิชาชีพสื่อมวลชนเห็นว่าสื่อมวลชนกระทำความผิด สามารถดำเนินการได้ทันทีหรือไม่หรือต้องได้รับการร้องเรียนจากผู้ได้รับความเสียหายก่อน หากสภาหรือกรรมการกระทำความผิดจะมีมาตรการในการดำเนินการหรือดำเนินคดีอย่างไร มีมาตรการในการคุ้มครองประชาชนหรือไม่อย่างไร

 

พิจารณาเห็นว่าร่างพ.ร.บ.ส่งเสริมจริยธรรมและมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน พ.ศ. ได้กำหนดให้คณะกรรมการจริยธรรมสามารถดำเนินการกับสื่อมวลชน ที่กระทำผิดจริยธรรมได้ โดยไม่ต้องได้รับการร้องเรียนจาก ผู้ได้รับความเสียหายก่อนตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดไว้ สำหรับสภาวิชาชีพสื่อมวลชนและกรรมการสภาวิชาชีพสื่อมวลชน มีหน้าที่เกี่ยวกับการส่งเสริมวิชาชีพสื่อมวลชนให้เป็นไป ตามจริยธรรมและมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชนเท่านั้น โดยร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้ไม่ได้กำหนดให้สภาวิชาชีพสื่อมวลชนและกรรมการสภาวิชาชีพสื่อมวลชนมีอำนาจหน้าที่เกี่ยวข้อง กับประชาชนโดยตรง

 

อย่างไรก็ตาม หากกรรมการสภาวิชาชีพสื่อมวลชนไป กระทำการนอกหน้าที่และอำนาจของตนจนเกิดความเสียหายแก่บุคคลใดแล้ว กรรมการสภาวิชาชีพสื่อมวลชน จะต้องรับผิดชอบความเสียหายตามที่กฎหมายนั้นๆกำหนดไว้


ประเด็นที่ 9 โครงสร้างของสื่อมวลชนตามร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้เป็นอย่างไร มีการใช้อำนาจปกครองหรือไม่อย่างไร และเมื่อมีการปฏิรูปจะดีขึ้นมากน้อยเพียงใด

 

โครงสร้างของสื่อมวลชนประกอบด้วย

 

1) ผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชน คือ บุคคล ซึ่งประกอบวิชาชีพเป็นปกติธุระในการรวบรวม รายงาน วิเคราะห์ สร้างสรรค์วิธีการนำเสนอ หรือกำกับดูแลเนื้อหาที่เป็นพนักงานหรือลูกจ้างในองค์กรสื่อมวลชน หรือประกอบวิชาชีพโดยอิสระ
 

2) องค์กรสื่อมวลชน คือ บุคคล ไม่ว่าจะเป็นนิติบุคคลหรือไม่ก็ตาม ที่ประกอบกิจการสื่อมวลชน เช่น สถานีโทรทัศน์ สถานีวิทยุกระจายเสียง สำนักข่าวออนไลน์ต่างๆ เป็นต้น

 

3) องค์กรวิชาชีพ คือ คณะบุคคล ไม่ว่าจะเป็นนิติบุคคลหรือไม่ก็ตาม ที่มีวัตถุประสงค์และดำเนินงานเพื่อส่งเสริมจริยธรรมและวิชาชีพสื่อมวลชนที่ไม่ได้รับการจดแจ้งจากสภาวิชาชีพสื่อมวลชน
 

4) องค์กรวิชาชีพสื่อมวลชน คือ องค์กรวิชาชีพ ที่ได้รับการจดแจ้งจากสภาวิชาชีพสื่อมวลชนแล้ว

 

5) สภาวิชาชีพสื่อมวลชน ประกอบด้วย คณะกรรมการสภาวิชาชีพสื่อมวลชน คณะกรรมการจริยธรรม และสำนักงานสภาวิชาชีพสื่อมวลชน ซึ่งมีหน้าที่และอำนาจเกี่ยวกับการส่งเสริมจริยธรรมและมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน
 

ทั้งนี้ ร่างพ.ร.บ.กำหนดให้คณะกรรมการสภาวิชาชีพสื่อมวลชนใช้อำนาจทางปกครองซึ่งเป็นการกำหนด ให้มีการใช้อำนาจทางปกครองภายในระหว่างสื่อมวลชนด้วยกัน เช่น การรับจดแจ้งหรือการไม่รับจดแจ้งเป็นองค์กรวิชาชีพสื่อมวลชน การสรรหา หรือคัดเลือกกรรมการ ส่วนการกำกับให้มีการปฏิบัติตามจริยธรรมนั้น ร่างพ.ร.บ.นี้ประสงค์ให้องค์กรวิชาชีพกำกับดูแล และดำเนินการเกี่ยวกับการฝ่าฝืนหรือการไม่ปฏิบัติตามจริยธรรมหรือมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชนกันเอง


ส่วนประเด็นการปฏิรูปว่าจะดีขึ้นมากน้อยเพียงใดนั้น เห็นว่าข้อดีของร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว ทำให้สื่อมวลชนทั้งระบบ จะได้รับการตรวจสอบทางจริยธรรม หากไม่มีกฎหมายนี้ จะไม่มีองค์กรที่เข้าไปตรวจสอบจริยธรรมของสื่อมวลชนที่ประชาชนหรือสังคมเห็นว่าละเมิดจริยธรรม เนื่องจากในปัจจุบัน หากใครไม่เป็นสมาชิกของสภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ หรือสมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์ จะไม่ถูกตรวจสอบในด้านจริยธรรมเลย และร่าง พ.ร.บ. นี้ จะเป็นการอุดช่องว่างเดิมโดยองค์กรสื่อมวลชนทุกรายจะได้รับการตรวจสอบโดยตรงจากสภาวิชาชีพสื่อมวลชน

 

นอกจากนี้ร่าง พ.ร.บ. ฉบับนี้ จะทำให้เกิดการแข่งขันในการเข้าถึงและการนำเสนอข้อมูลข่าวสารของสื่อมวลชน ภายใต้มาตรฐานทางจริยธรรมที่กำหนดไว้รวมทั้ง ได้มีการกำหนดมาตรการคุ้มครองประชาชนหรือผู้ได้รับความเสียหายจากการกระทำของผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนหรือองค์กรสื่อมวลชนอันเนื่องมาจากการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามจริยธรรมสื่อมวลชน


ข้อสังเกตเพิ่มเติมของกรมประชาสัมพันธ์ เกี่ยวกับการกำหนดองค์ประกอบของคณะกรรมการสภาวิชาชีพสื่อมวลชนในบทเฉพาะกาล มาตรา 47 (2)ผู้แทนผู้ปฏิบัติงานด้านสื่อสารมวลชนซึ่งคณะรัฐมนตรี
แต่งตั้งจากรายชื่อที่สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติเสนอ จำนวนสองคน


เนื่องจากปัจจุบัน "สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ"ได้ปรับเปลี่ยนชื่อเป็น "สภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ" ดังนั้น ในชั้นการพิจารณาต่อไป เห็นควรปรับแก้ไข มาตรา 47 (2) ให้สอดคล้องกับปัจจุบัน

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ