ข่าว

พ่อค้าเขียงหมูโอด ต้นทุนหมูแพง แต่ขึ้นราคาตามจริงไม่ได้

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

แม่ค้าพ่อค้าเขียงหมูประสานเป็นเสียงเดียว ต้นทุนราคาหมูแพงขึ้นจริง แต่ขึ้นราคาตามมากก็ไม่ได้ ขายออกน้อยยิ่งเสี่ยงเสียหาย ขณะที่แผงค้าย่อยไม่ได้รับโดยตรงจากฟาร์มยิ่งต้องแบกต้นทุน

จากปัญหาราคาเนื้อหมูแพง ซึ่งส่งผลกระทบหลายภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นผู้บริโภค ร้านค้า ร้านอาหาร รวมถึงผู้ค้าหมูหน้าเขียง โดยคมชัดลึกได้สอบถามไปยังผู้ค้าในตลาดนัดสามโคก จ.ปทุมธานี เกี่ยวกับปัญหาหมูแพง

นายอำนาจ หงส์ผาแก้ว เจ้าของร้านหมูไพร์วัลย์ เปิดเผยว่า ร้านของตนเองเป็นลักษณะแผงหมูย่อย รับหมูจากแผงหมูใหญ่หรือพ่อค้าคนกลางมาขายอีกที ไม่ได้รับตรงมาจากโรงเชือด ทำให้ราคาหมูที่รับจากพ่อค้าคนกลางสูงกว่าราคาหน้าโรงเชือด ซึ่งพ่อค้าคนกลางแต่ละเจ้าก็จะมีค่าส่งไม่แตกต่างกันมากนัก ตอนนี้เมื่อราคาหมูแพงมาก ๆ ต้นทุนที่รับมาจากพ่อค้าคนกลางก็สูงมาก ขณะที่ตนเองไม่สามารถขายหน้าร้านได้แพงตามราคาที่ขึ้นจริง

เช่นราคาหมูขึ้น 10 บาท ก็จะปรับหน้าร้านได้ประมาณ 5 บาท เพราะร้านย่อยก็ต้องตรึงราคาไม่ให้ขึ้นสูงมาก เพื่อช่วยเหลือลูกค้าอีกทางนึง ทำให้เมื่อหมูแพงขึ้น กำไรก็จะน้อยลงเรื่อย ๆ ขณะที่ลูกค้าก็ซื้อหมูน้อยลง แต่ภาระหนี้สิน ค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ของทางร้านไม่ได้ลดลงตามไปด้วย 

พ่อค้าเขียงหมูโอด ต้นทุนหมูแพง แต่ขึ้นราคาตามจริงไม่ได้
เจ้าของร้านหมูไพรวัลย์ ยังเล่าถึงปัญหาที่รับฟังมาจากลูกค้าว่า ลูกค้าบางท่านเข้าใจก็มี แต่ลูกค้าไม่เข้าใจก็เยอะ แผงหมูย่อยก็จะโดนลูกค้าต่อว่าทำไมขายแพงจัง? โก่งราคารึเปล่า? ทำให้เสียเครดิต เสียลูกค้าด้วย ขณะเดียวกันลูกค้าที่เปิดร้านอาหารต่าง ๆ ก็ลดการซื้อหมูลง บางร้านถึงขั้นงดขายหมูก่อน เพราะต้นทุนสูงเกินไป

"ร้านอาหารที่เป็นลูกค้าจะบ่นว่า จะขึ้นราคามากก็ไม่ได้ หรือขึ้นไม่ได้เลยด้วยซ้ำ เพราะจะทำให้คนกิน ไม่อยากมากิน เพราะขายแพงขึ้น ขายเท่าเดิมก็ขาดทุน ซึ่งเป็นปัญหาที่ไม่รู้จะแก้กันยังไงดี ก็ต้องขายกันตามสภาพไปก่อน อยากให้ทางภาครัฐช่วยตรึงราคาหมูให้ลงมากกว่านี้ เนื้อแดงกิโลกรัมละ 160 - 170 บาทก็ยังดี ขอให้ทำได้ในเร็ว ๆ วัน" นายอำนาจ กล่าว

พ่อค้าเขียงหมูโอด ต้นทุนหมูแพง แต่ขึ้นราคาตามจริงไม่ได้
นอกจากนี้ คมชัดลึก ยังได้สอบถามแม่ค้าเขียงหมู จ.มหาสารคาม รายหนึ่งถึงราคาหมู 2565 ว่าแพงเพราะอะไร พบว่าเนื้อหมูขึ้นราคามาระยะหนึ่งแล้ว แต่ไม่ทราบสาเหตุของการขึ้นราคา ตนเองรับหมูมาจากฟาร์มแห่งหนึ่ง ซึ่งหมูหน้าฟาร์มราคาสูงมาก ส่งผลให้ราคาหมูหน้าเขียงเพิ่มสูงขึ้นตามไปด้วย

ทางด้าน นายมาร์ค เจ้าของเขียงหมูอีกเจ้าใน จ.มหาสารคาม เปิดเผยว่า เดิมตนเองไปรับหมูมาจากฟาร์มของเกษตรกรแถวหมู่บ้าน และบริเวณใกล้เคียง ซึ่งราคาหน้าฟาร์มจะอยู่ที่ 65-70 บาทต่อกิโลกรัม หมูหนึ่งตัวหากมีน้ำหนัก 100 กก. ก็จะอยู่ที่ราคา 6,500-7,000 บาท สามารถขายเนื้อหมูได้ในราคากิโลกรัมละ 120-150 บาท

แต่ปัจจุบันหลังจากราคาอาหารหมูแพงขึ้น เกษตรกรก็ปรับราคาสูงขึ้นจนอยู่ที่กิโลกรัมละ 95-100 บาท หากเขียงหมูนำมาขายในราคาเท่าเดิม เขียงหมูก็อยู่ไม่ได้ เพราะขาดทุน แต่หากขายในราคาแพงขึ้น กิโลกรัมละ 200-220 บาท ผู้บริโภคบางครัวเรือนก็ไม่มีกำลังซื้อ เนื้อหมูที่เขียงก็ขายไม่ออก ต้องเพิ่มต้นทุนในการเก็บหมูด้วยการซื้อน้ำแข็งมาอัดไว้ แต่หากแช่นาน หมูก็จะไม่สด สุดท้ายก็ขายไม่ออก ขาดทุนหมือนเดิม

"โดนทั้งขึ้นทั้งล่อง แล้วที่บอกว่าหมูเป็นโรค ฟาร์มแถวบ้านไม่มีหมูตายสักตัว แต่เป็นเพราะราคาอาหารหมูแพงขึ้น ตอนนี้ฟาร์มก็ขายหมูไม่ได้ เพราะเขียงหมูขายเนื้อไม่ออก"

logoline