ข่าว

"ชวน" เตือนสติ เลือกคนโกง-ซื้อเสียง เลือกคนทุจริตแบบไหนได้แบบนั้น

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ชวน ย้ำให้เด็กซึบซับเรื่องความสุจริต เพื่อสร้างค่านิยม หรือภูมิคุ้มกัน ให้คนในรุ่นต่าง ๆ เชื่อมั่นในเรื่องความสุจริต ฝากถึงประชาชน เลือกคนโกง ก็ต้องเข้ามาโกง เลือกคนซื้อเสียง มีหรือที่คนลงทุนซื้อเสียงจะมารับเงินเดือน เดือนละแสน ก็ต้องเข้ามาหาผลประโยชน์

นายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา และ ประธานสภาผู้แทนราษฎร กล่าวในการปาฐกฐาพิเศษ หัวข้อ คอร์รัปชันกับการเมืองไทย ว่า ผมเป็นหนึ่งในคนที่เชื่อในความสุจริต ในท่ามกลางของคนที่เชื่ออีกมากมาย เป็นเรื่องยากเหมือนกันสำหรับนักการเมือง เรื่องการคอร์รัปชั่นนั้น ถือว่าเป็นปัญหาที่ใหญ่และเกิดขึ้นในประเทศต่างๆทั่วโลก ไม่ใช่เฉพาะประเทศไทย ไม่ว่าจะเป็นประเทศที่พัฒนาแล้ว  หรือเป็นประเทศที่กำลังพัฒนา โดยกลายเป็นปัญหาที่มีความสำคัญและยังไม่มีทีที่ว่าจะหมดไป และกลับทวีความรุนแรงและซับซ้อน มากขึ้นเรื่อยๆ แม้จะมีกฎเกณฑ์กติกาออกมาป้องกัน แต่ว่าคนที่มีพฤติกรรมทุจริตก็มีช่องทาง หลีกเลี่ยง ได้อยู่เสมอ จึงเป็นเรื่องที่ไม่ง่ายนักเวลาที่จะป้องกันหรือปราบปราม 

"ชวน" เตือนสติ เลือกคนโกง-ซื้อเสียง เลือกคนทุจริตแบบไหนได้แบบนั้น

อย่างไรก็ตาม ถ้าเรามองวัดตัวเราเอง เราจะเห็นว่ามีหลายองค์กร ที่ประเมินประเทศเรา ที่เป็นไปในทางทรงๆ อย่างที่ในวงการต่อต้านทุจริตก็จะเห็นอยู่ เป็นองค์กรประเมินความโปร่งใสการทำงานในภาครัฐ ให้ตัวเลขมาตัวเลขเราก็อยู่ในที่ทรงๆอยู่  หรือองค์กรอื่นๆก็ให้คะแนนเราอยู่ในเกณฑ์ ในที่ขึ้นๆลงๆ ก็ยังมีปัญหาอยู่ แต่ถ้าเปรียบเทียบในมุมทางการเมืองเราจะอยู่ท่ามกลางรัฐธรรมนูญปี 2560 รัฐธรรมนูญฉบับนี้ เรียกว่ารัฐธรรมนูญปราบโกง

 

ในตัวบทบัญญัติรัฐธรรมนูญเอง มีบทบัญญัติหลายอย่าง ที่ตั้งใจที่จะปราบโกง เช่น  เราจะเห็นคำปรารภ ที่วิตกเป็นห่วงว่า พวกที่โกงบ้านโกงเมือง พวกที่ใช้อำนาจตามอำเภอใจจะเข้ามาปกครอง  ก็เป็นอย่างที่ออกบทบัญญัติ ตามมาตราควบคุมไว้และก็มีการพูดถึงเรื่องความทุจริต ความซื่อสัตย์ ไว้ในรัฐธรรมนูญ เป็นจำนวนมาก โดยมีคำว่าซื่อสัตย์อยู่ 22 คำ  แต่คำว่าทุจริต อยู่ 38 คำ บรรดาผู้มีอำนาจ นักการเมือง หรือไม่ใช่นักการเมือง  แต่อยู่ในองค์กรสำคัญ ก็มีกฏให้ต้องปฏิญาณตน

 ด้วยถ้อยคำที่คล้ายๆกัน จะทำหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต

ดังนั้นถ้าจะสรุป ก็อาจจะพูดได้ว่า แม้บทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ จะได้เขียนถึงความห่วงใยเรื่องนี้ ถึงขั้นบอกไว้ว่า การที่จะวางกลไกของการกำจัดการทุจริต การประพฤติมิชอบ เพื่อมิให้ผู้บริหารที่ปราศจากคุณธรรม จริยธรรม ผู้ที่ไม่มีธรรมภิบาล เข้ามาบริหาร ปกครองบ้านเมือง หรือใช้อำนาจตามอำเภอใจ

"ชวน" เตือนสติ เลือกคนโกง-ซื้อเสียง เลือกคนทุจริตแบบไหนได้แบบนั้น "ชวน" เตือนสติ เลือกคนโกง-ซื้อเสียง เลือกคนทุจริตแบบไหนได้แบบนั้น

ถ้าเราย้อนกลับไประลึกถึงพระบรมราโชวาทของในหลวงรัชกาลที่ 9 "บ้านเมืองมีทั้งคนดีและคนไม่ดี  ไม่มีใครสามารถทำให้ทุกคนเป็นคนดีได้ทั้งหมด  หากส่งเสริมคนดีให้คนดีปกครองบ้านเมือง อย่าให้คนไม่ดีมา อำนาจ ไม่ให้ก่อความเดือดร้อนวุ่นวายได้" พระบรมราโชวาทนี้ ไม่ได้พึ่งออกเมื่อเร็วๆนี้ แต่ทรงรับสั่งกับเด็กลูกเสือ ว่า ลูกเสือเป็นเยาวชน วันหนึ่งอาจจะมีตำแหน่ง และในวันข้างหน้า บ้านเมืองจะมีทั้งคนดีและคนไม่ดี แสดงว่าพระองค์ท่านมองเห็นสัจธรรมความจริงมานานแล้ว ว่าบ้านเมืองจะมีเรื่องนี้ ไม่ว่าอดีตหรือจะปัจจุบัน และในอนาคตจะมีทั้งคนดีและคนไม่ดีอยู่ ตลอดเวลา

ทำอย่างไรถึงจะให้บ้านเมืองเป็นปกติ ไม่ใช่ทำให้คนทุกคนเป็นคนดีได้ทั้งหมด เป็นเรื่องที่เป็นไปได้ยากแต่ก็ต้องทำ แต่ว่าในที่สุดก็คือว่า เมื่อเราไม่สามารถทำให้ทุกคนเป็นคนดีได้ทั้งหมด การส่งเสริมให้คนดีปกครองบ้านเมือง ที่พระองค์ทรงรับสั่งไว้ จึงเป็นสัจธรรมความจริง ที่จริงแท้และตลอดมา เมื่อสมัยที่พระองค์ท่านรับสั่งปี 2511 จนถึงปัจจุบัน  และต่อไปในอนาคต ในรัฐธรรมนูญเอง คือท่านกำหนดไว้เลยนะครับ ว่านอกเหนือจากที่ผมพูดไปแล้ว ยังมีการบัญญัติหน้าที่ของพลเมืองเอาไว้ นอกจากเรื่องเสียภาษีแล้ว ในวงเล็บสุดท้าย คือ ไม่ร่วมมือกับคนทุจริตทุกรูปแบบ นี่เป็นหน้าที่ของพลเมืองของปวงชนชาวไทย ที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ 

 

 

นอกจากนั้นหน้าที่ของรัฐ รัฐธรรมนูญยังบัญญัติไว้อีกว่า รัฐต้องส่งเสริมสนับสนุนและให้ความรู้แก่ประชาชน เกี่ยวกับอันตรายของการทุจริต และประพฤติมิชอบ ทั้งภาครัฐและภาคเอกชน และจัดให้มีมาตรการและกลไกที่มีประสิทธิภาพเพื่อป้องกันและจัดการทุจริตและประพฤติมิชอบ ดังกล่าวอย่างเข้มงวด รวมทั้งกลไกในการส่งเสริมให้ประชาชนรวมตัวกัน เพื่อมีส่วนร่วมในการรณรงค์ให้ความรู้ในการต่อต้านหรือชี้เบาะแส โดยได้รับความคุ้มครองจากรัฐตามที่กฏหมายบัญญัติ คือ ได้ลงทุนในการบัญญัติข้อความไว้ทั้งในส่วนที่เป็นหน้าที่ของปวงชนชาวไทยและบทบาทหน้าที่ของรัฐ ที่ย้ำเรื่องต้องมีส่วนในการส่งเสริมการป้องการการทุจริตและประพฤติมิชอบ แต่ว่าในโลกของความเป็นจริง แม้ว่าเราจะอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญที่ว่าปราบโกง

ก็ต้องยอมรับความจริงว่า วันนี้การโกงก็ยังมีอยู่ จะมากจะน้อยก็แล้วแต่เหตุการณ์ เกือบจะพูดได้ว่าเกือบในทุกองค์กร  แม้กระทั่งเราสนับสนุนการกระจายอำนาจ ให้มีการเลือกตั้งท้องถิ่น แต่ว่าท้องถิ่นไม่น้อย ถ้าเราติดตามข่าวการลงโทษ ความสำคัญในเรื่องของการทุจริต ก็ทำให้สภาต้องมาทำโครงการ บ้านเมืองสุจริต เป็นความคิดส่วนตัวว่า เราจะปล่อยไปตามยถากรรมอย่างนี้หรือ ถ้าเราปล่อยอย่างนี้ ถ้าเรารักการปกครองในระบอบรัฐสภาที่มีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ต้องสร้างความชอบธรรมให้ถูกต้อง และความชอบธรรมจะเกิดขึ้นง่ายก็คือ การสร้างคน ด้วยการให้การศึกษา แต่ลำพังการศึกษาอย่างเดียวก็ไม่พอ ก็เลยต้องทำโครงการ ชื่อ การเมืองสุจริต แต่ภายหลังเปลี่ยนมาเป็น บ้านเมืองสุจริต ซึ่งก็ยังไม่มีผลในทางปฏิบัติมากมาย

แต่ว่าต้องการย้ำให้ เด็กและเยาวชนซึบซับเรื่องความสุจริตเข้าไปในการเรียนระหว่างที่สอน โดยที่ไม่ต้องเอามาเป็นคะแนน ใครที่สนใจเรื่องนี้ ให้มาร่วมมือกัน ผมเชื่อว่าเราจะทำได้ เป้าหมายก็คือ เพื่อสร้างค่านิยม หรือภูมิคุ้มกัน ให้คนในรุ่นต่างๆเชื่อมั่นในเรื่องความสุจริต  อันนี้ก็เป็นอีกหนึ่งเป้าหมายที่อยากจะทำให้เกิดขึ้น ก็เป็นเรื่องที่จะต้องฝากพี่น้องประชาชน ถ้าพี่น้องประชาชนเลือกคนโกง เค้าก็ต้องเข้ามาโกง เลือกคนซื้อเสียง มีหรือครับที่คนลงทุนซื้อเสียงจะมารับเงินเดือน เดือนละแสน เค้าก็ต้องเข้ามาหาผลประโยชน์ในที่สุดก็ต้องมีการทุจริต

เพราะฉะนั้นพี่น้องประชาชนจะเป็นคนที่ช่วยบ้านเมืองเอาไว้ได้ แน่นอนว่ามันก็ไม่ใช่เรื่องง่ายในภาวะเศรษฐกิจที่มีคนลำบาก เงิน100บาทก็มีค่ามีความหมาย ทุกที่ที่เราเคยคิดว่าซื้อไม่ได้ ก็ยังหวั่นไหวเปลี่ยนแปลงไป อย่างไรก็อยากจะฝากพี่น้องประชาชน ในฐานะที่เป็นเจ้าของประเทศที่แท้จริง ท่านเป็นผู้กำหนดชะตาของบ้านเมือง ขอให้เลือกคนดีเข้ามาปกครองบ้านเมือง บ้านเมืองก็จะได้เป็นไปด้วยดี แต่ถ้าท่านเลือกคนโกงเข้ามาปกครองบ้านเมือง บ้านเมืองก็จะมีคนโกง และเค้าก็จะเข้าโกงกินผลประโชน์ของพี่น้องประชาชน ซึ่งประชาชนมีส่วนสำคัญในการปกป้องการทุจริต และพยายามป้องกันอย่าให้คนทุจริตเข้ามา ผมรู้ว่าพูดง่าย แต่ว่าทำยาก แต่ถ้าเราทำบ้านเมืองเราก็จะดีขึ้น

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ