ข่าว

นักกฎหมายชี้ "หญิงอุดรฯ" ไม่ได้ทำอะไรผิด แม้ถูกเรียกจริงก็ไม่ต้องไป

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

“อัยการธนกฤต” กางข้อกฎหมาย ตำรวจไม่มีอำนาจเรียกสาวอุดร พูดต่อหน้านายกฯ “ทำงานไม่ได้ก็เกษียณไป” คนถูกเรียกจึงไม่มีหน้าที่ต้องปฏิบัติตามคำสั่งที่ไม่ชอบ

ดร.ธนกฤต วรธนัชชากุล ผู้อำนวยการสำนักงานประสานงานกระบวนการยุติธรรม สถาบันนิติวัชร์ สำนักงานอัยการสูงสุด โพสต์เฟซบุ๊กให้ความเห็นข้อกฎหมายกรณีที่มีข่าวว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจสถานีตำรวจภูธรบ้านดุง จังหวัดอุดรธานี แจ้งให้ น.ส.หญิง (นามสมมติ) แม่ค้าขายก๋วยเตี๋ยว อยู่ที่อำเภอบ้านดง จังหวัดอุดรธานี มาทำประวัติที่ สภ.บ้านดุง กรณีที่ น.ส.หญิงพูดต่อหน้าพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ว่า
 

“อยากให้มาพัฒนาเยอะ ๆ แต่หากพัฒนาไม่ได้ ขอให้นายกฯ เกษียณไปเร็ว ๆ นะคะ ให้คนอื่นมาทำหน้าที่แทน”
 

ซึ่งต่อมาโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีและผู้มีหน้าที่เกี่ยวข้อง ได้ปฏิเสธว่าข่าวนี้ไม่เป็นความจริง ว่า อย่างไรก็ตาม มีประเด็นข้อกฎหมายที่ควรพิจารณา ในเรื่องอำนาจหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ตำรวจ ในการเรียก น.ส.หญิง มาทำประวัติในกรณีนี้ได้หรือไม่ ตนเองขอให้ความเห็นทางวิชาการทางกฎหมายเพื่อเป็นความรู้ด้านกฎหมายแก่ประชาชนทั่วไป เพื่อปกป้องคุ้มครองสิทธิของตัวเอง และสำหรับท่านที่สนใจศึกษาไว้เป็นความรู้ ในฐานะที่เป็นกรรมการวินิจฉัยการเปิดเผยข้อมูลข่าวสาร สาขาสังคม การบริหารราชการแผ่นดินและการบังคับใช้กฎหมาย คณะ 3 ซึ่งพิจารณาอุทธรณ์เรื่องทะเบียนประวัติอาชญากรของสำนักงานตำรวจแห่งชาติอยู่เป็นประจำมาโดยตลอด และเป็นอาจารย์พิเศษผู้บรรยายวิชาสิทธิมนุษยชนและกระบวนการยุติธรรมทางอาญา ชั้นปริญญาโทที่มหาวิทยาลัยรามคำแหงด้วย 

ตามหลักนิติรัฐและหลักนิติธรรม รวมทั้งหลักกฎหมายมหาชน เจ้าหน้าที่รัฐจะกระทำการสิ่งใดได้ก็ต่อเมื่อมีกฎหมายให้อำนาจไว้ ถ้าไม่มีกฎหมายให้อำนาจในเรื่องใดไว้ เจ้าหน้าที่รัฐจะกระทำการในเรื่องนั้นไม่ได้ เพราะมีความสุ่มเสี่ยงที่จะไปกระทบกับสิทธิและเสรีภาพของประชาชนได้

 

ในเรื่องที่เจ้าหน้าที่ตำรวจจะเรียกบุคคลใดไปทำประวัติ ซึ่งก็คือการพิมพ์ลายนิ้วมือเพื่อทำประวัติและตรวจสอบประวัตินั้น ถ้าพิจารณาดูจากระเบียบสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ว่าด้วยประมวลระเบียบการตำรวจไม่เกี่ยวกับคดี ลักษณะที่ 32 การพิมพ์ลายนิ้วมือ พ.ศ. 2554 และฉบับที่แก้ไขเพิ่มเติม ที่ออกโดยอาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. 2547 มาตรา 11 จะพบว่า พนักงานสอบสวนจะมีอำนาจจัดให้มีการพิมพ์ลายนิ้วมือได้เฉพาะในกรณีดังต่อไปนี้

 

(1) ผู้ต้องหาคดีอาญาทุกประเภท เว้นแต่ผู้ต้องหาในคดีบางประเภทตามที่ระเบียบนี้กำหนดไว้

(2) ศพซึ่งตายผิดธรรมชาติ หรือตายในระหว่างอยู่ในการควบคุมของเจ้าพนักงาน

(3) การขออนุญาตทำการอย่างใด หากมีกฎหมายหรือระเบียบของทางราชการกำหนดคุณสมบัติให้ตรวจสอบลายพิมพ์นิ้วมือของผู้ขออนุญาต เพื่อจะได้ทราบประวัติต้องหาคดีอาญาสำหรับประกอบการพิจารณา

(4) การพิมพ์ลายนิ้วมือของผู้สมัครเข้ารับราชการหรือเข้าทำงานในหน่วยงานต่าง ๆ 

คำพูดของ น.ส.หญิงที่กล่าวมาข้างต้น หากพิจารณาดูแล้ว ยังไม่น่าจะถือว่าเป็นการกระทำความผิดทางอาญา จึงยังไม่ถือว่า น.ส.หญิง เป็นผู้ต้องหาในการกระทำความผิดอาญาในเรื่องนี้ 
 

ดังนั้น หากเจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.บ้านดุงจะเรียก น.ส.หญิง ไปทำประวัติด้วยการพิมพ์ลายนิ้วมือ หรือด้วยวิธีการอื่นใด หรือเรียกเพื่อไปดำเนินการในเรื่องใดที่มีผลกระทบต่อสิทธิเสรีภาพของ น.ส.หญิง โดยที่ น.ส.หญิง ยังไม่ได้เป็นผู้ต้องหาในการกระทำความผิดอาญา และโดยที่ไม่มีกฎหมายให้อำนาจไว้ จึงไม่สามารถกระทำได้ 
 

และหากเจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.บ้านดุง จะมีคำสั่งเรียกให้ น.ส.หญิง ไปทำประวัติไม่ว่าจะด้วยการพิมพ์ลายนิ้วมือหรือด้วยวิธีการอื่นใด ทั้งที่ไม่มีกฎหมายให้อำนาจไว้ คำสั่งนั้นย่อมเป็นคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เนื่องจากไม่มีกฎหมายให้อำนาจรองรับการออกคำสั่งไว้ น.ส.หญิงจึงไม่มีหน้าที่ต้องปฏิบัติตามคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายนั้น

logoline