ดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า ตามที่ได้เกิดฝนตกในพื้นที่ภาคเหนือตอนล่างและภาคกลาง โดยวัดปริมาณฝนสะสม 3 วัน ที่ อ.เมือง จ.ตาก ได้ 169.4 มิลลิเมตร และที่ อ.เมือง จ.กำแพงเพชร วัดปริมาณฝนได้ 70.8 มิลลิเมตร ซึ่งปริมาณน้ำนี้ จะไหลลงมาที่แม่น้ำปิง และรวมกับแม่น้ำน่าน ที่ จ.นครสวรรค์ คาดการณ์ว่า ที่ สถานี C.2 อ.เมือง จ.นครสวรรค์ จะมีปริมาณน้ำไหลผ่านในอัตราประมาณ 2,700 -2,800 ลบ.ม./วินาที ในช่วงเวลาประมาณ 13.00 น. ของวันที่ 19 ต.ค.2564 เมื่อรวมปริมาณน้ำจากแม่น้ำสะแกกรัง และจาก Side flow รวมกันประมาณ 500 ลบ.ม./วินาที จะส่งผลให้มีปริมาณน้ำที่หน้าเขื่อนเจ้าพระยา ทั้งสิ้น ประมาณ 3,200-3,300 ลบ.ม./วินาที เพื่อเป็นการควบคุมการระบายน้ำด้านท้ายเขื่อนเจ้าพระยา ให้ส่งผลกระทบต่อประชาชนน้อยที่สุด
กรมชลประทาน จึงได้ปรับแผนการรับน้ำเข้าระบบชลประทานทั้ง 2 ฝั่ง โดยจะปรับเพิ่มการรับน้ำเข้าฝั่งตะวันตกลงแม่น้ำน้อย ผ่านประตูระบายน้ำบรมธาตุ และฝั่งตะวันออก จะปรับเพิ่มการรับน้ำเข้าคลองชัยนาท- ป่าสัก ผ่านประตูระบายน้ำมโนรมย์ โดยจะพิจารณาถึงผลกระทบต่อพื้นที่ด้านท้ายน้ำ พร้อมหน่วงน้ำไว้เหนือเขื่อนเจ้าพระยา โดยควบคุมระดับน้ำหน้าเขื่อนเจ้าพระยา ให้อยู่ในระดับไม่เกิน +17.50 ม. และควบคุมการระบายน้ำท้ายเขื่อนเจ้าพระยาไว้ไม่เกิน 2,700 ลบ.ม./วินาที
ด้านสถานการณ์น้ำลุ่มน้ำป่าสัก เนื่องจากมีปริมาณน้ำไหลลงเขื่อนป่าสักฯ อย่างต่อเนื่อง จึงจำเป็นต้องปรับเพิ่มการระบายน้ำจากเขื่อนป่าสักฯ ในอัตรา 600 ลบ.ม./วินาที โดยจะทยอยปรับเพิ่มการระบายน้ำแบบขั้นบันได เพื่อลดผลกระทบพื้นที่ท้ายน้ำ และรักษาเสถียรภาพของตลิ่ง พร้อมบริหารจัดการน้ำด้านท้ายเขื่อน ด้วยการควบคุมปริมาณน้ำไหลผ่านเขื่อนพระรามหก ไม่ให้เกิน 700 ลบ.ม./วินาที รวมทั้งผันน้ำเข้าสู่ คลองระพีพัฒน์ ผ่านประตูระบายน้ำพระนารายณ์ ในอัตรา 100-150 ลบ.ม./วินาที และจะพิจารณาปรับการระบายน้ำตามสถานการณ์ โดยคำนึงถึงผลกระทบที่จะเกิดกับประชาชน และความมั่นคงของอาคารชลประทาน เป็นหลัก
ทั้งนี้ ได้กำชับไปยังโครงการชลประทาน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ เตรียมความพร้อมด้านเครื่องจักรเครื่องมือ อาทิ เครื่องสูบน้ำ รถแบ๊คโฮ เพื่อเสริมศักยภาพในการระบายน้ำออกจากพื้นที่ พร้อมตรวจสอบอาคารชลประทาน ให้พร้อมใช้งานได้อย่างเต็มศักยภาพ ดำเนินการเสริมคันกั้นน้ำเหนือเขื่อนเจ้าพระยา บริเวณริมแม่น้ำที่มีระดับต่ำ หรือเสี่ยงที่จะมีน้ำล้นตลิ่ง เพื่อบรรเทาผลกระทบที่จะเกิดกับประชาชนให้ได้มากที่สุด หากต้องการความช่วยเหลือ ติดต่อได้ที่โครงการชลประทานใกล้บ้าน หรือโทร.สายด่วนกรมชลประทาน 1460 ได้ตลอดเวลา
ข่าวที่เกี่ยวข้อง