ข่าว

ศาลปกครองสูงสุด สั่ง "กทม."จ่าย 25 ผู้พิการ จัดทำลิฟท์บนบีทีเอสไม่ทันกำหนด

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ศาลปกครองสูงสุด สั่ง ไกทม." จ่ายค่าเสียหาย 25 ผู้พิการ รายละ 5,000 บาท พร้อมดอกเบี้ย เหตุไม่จัดทำลิฟท์และอุปกรณ์สิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับคนพิการ บนบีทีเอส ให้เสร็จภายใน 1 ปีตามคำสั่งศาล

15 ก.ย.2564  ศาลปกครองสูงสุด มีคำพิพากษาในคดีที่ผู้พิการ 430 คน ยื่นฟ้องกรุงเทพมหานคร (กทม.) เป็นผู้ถูกฟ้อง ในคดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ อันเกิดจากการละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฎิบัติ หรือปฎิบัติหน้าที่ล่าช้าเกินสมควร

คดีนี้ผู้ฟ้องคดีทั้ง 430  ราย เป็นคนพิการ ส่วนผู้ถูกฟ้องคดีเป็นนิติบุคคลตาม พ.ร.บ.บริหารราชการกรุงเทพมหานคร มีหน้าที่ดำเนินกิจการในด้านวิศวกรรมจราจร การขนส่ง การควบคุมสาธารณูปโภค โดยมีบริษัทระบบขนส่งมวชลชนกรุงเทพจำกัด (มหาชน) รับสัมปทานบริการขนส่งมวลชนโดยรถรางกับผู้ถูกฟ้องคดี หรือที่ประชาชนเรียกว่า รถไฟฟ้าบีทีเอส

 

ต่อมาเมื่อปี 2558 ศาลปกครองสูงสุดได้มีคำพิพากษาในคดีหมายแดงที่ อ.650/2557 ให้ผู้ถูกฟ้องคดีจัดทำลิฟต์ที่สถานีขนส่งทั้ง 23 สถานีให้แล้วเสร็จภาย 1 ปี นับตั้งแต่มีคำพิพากษา ผู้ถูกฟ้องคดีมิได้ปฎิบัติตามคำพิพากษาให้แล้วเสร็จภายในกำหนด การงดเว้นการกระทำดังกล่าวจึงเป็นการทำละเมิดต่อผู้ฟ้องคดีทั้ง 430 คน ทำให้ได้รับความยากลำบากในการดำเนินชีวิต ขาดประโยชน์ในการใช้บริการระบบขนส่งมวลชนรถไฟฟ้าบีทีเอส ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการเดินทางด้วยการขนส่งประเภทอื่นทำให้ต้องเสียค่าเดินทางเพิ่มมากขึ้น จึงนำคดีมาฟ้องศาลฯขอให้ มีคำพิพากษาหรือคำสั่งให้ผู้ถูกฟ้องคดีชดใช้ค่าเสียหายให้แก่ผู้ฟ้องคดีทั้ง 430 คน เป็นเงินคนละ 835,000 บาทพร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 และจ่ายค่าเสียหายในอัตรารายวันคนละ 1,000 บาท จนกว่าจะดำเนินการจัดทำลิฟต์และสิ่งอำนวยความสะดวกให้กับผู้พิการแล้วเสร็จ


 

อ่านข่าวที่น่าสนใจ

 

โดยศาลปกครองสูงสุด พิเคราะห์แล้วเห็นว่า แม้การดำเนินการตามคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุด ในคดีหมายแดงที่ อ.650/2557 กทม. จะประสบกับปัญหาและอุปสรรคหลายประการ และมีเหตุผลเพียงพอจะรับฟังได้ว่า บางสถานีและการก่อสร้างลิฟต์ในบางจุดมีข้อจำกัด รวมทั้งจะต้องใช้ระยะเวลาในการดำเนินการให้ครบถ้วนตามคำพิพากษาดังกล่าว อีกทั้ง กทม. ได้พยายามปฏิบัติตามคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุดเรื่อยมาก็ตาม แต่เมื่อพิจารณาวันที่พ้นกำหนดระยะเวลาในการดำเนินการตามคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุดจนถึงปัจจุบันแล้ว ระยะเวลาได้ล่วงเลยมากว่า 5 ปี ซึ่งถือเป็นระยะเวลาที่ล่าช้าเกินสมควร และความล่าช้าดังกล่าวส่วนหนึ่งมาจากประสิทธิภาพในการบริหารจัดการของ กทม. ซึ่งเป็นเรื่องที่ กทม. สามารถที่จะเร่งรัดให้เป็นไปโดยรวดเร็วขึ้นได้

 

ประกอบกับคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุดในคดีดังกล่าวได้วินิจฉัยไว้แล้วว่า การจัดให้มีอุปกรณ์ที่อำนวยความสะดวกโดยตรงแก่คนพิการ รวมทั้งสัญลักษณ์ที่แสดงให้เห็นว่ามีอุปกรณ์ที่อำนวยความสะดวกโดยตรงแก่คนพิการที่สถานีขนส่งและรถรางนั้นอยู่ในวิสัยที่ กทม.จะดำเนินการได้

 

 

อีกทั้งเป็นกรณีที่ กทม.พึงคาดหมายได้ว่า หากการดำเนินการตามคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุดไม่แล้วเสร็จภายในกำหนดระยะเวลาดังกล่าวย่อมส่งผลให้คนพิการรวมถึงผู้ฟ้องคดีหลายราย ยังคงต้องประสบกับอุปสรรคและไม่ได้รับความสะดวกตามสมควรในการใช้บริการรถไฟฟ้าบีทีเอส ต่อไป กรณีจึงถือได้ว่า กทม. ปฏิบัติหน้าที่ตามคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุดล่าช้าเกินกว่าที่กำหนดดังกล่าว


เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า ตั้งแต่พ้นกำหนดระยะเวลาดำเนินการตามคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุดในคดีหมายเลขแดงที่ อ.650/2557 จนถึงวันฟ้องคดีนี้ ผู้ฟ้องคดีบางรายมีภูมิลำเนาอยู่ที่กรุงเทพมหานคร อันเป็นท้องที่เดียวกับท้องที่ที่ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพมหานครตั้งอยู่

 

ฉะนั้น การที่ กทม. ปฏิบัติหน้าที่ตามคำพิพากษาศาลฯ ล่าช้าเกินกว่าที่กำหนด จึงส่งผลโดยตรงให้ผู้ฟ้องคดีดังกล่าวซึ่งล้วนแต่มีความพิการทางการเคลื่อนไหวหรือทางร่างกาย และผู้สูงอายุ ซึ่งได้รับการคุ้มครองตามกฏหมาย  ต้องประสบกับอุปสรรคและไม่ได้รับความสะดวกตามสมควรในการใช้บริการระบบรถไฟฟ้าฯ ซึ่งเป็นสิ่งอำนวยความสะดวกหรือบริการสาธารณะเท่าเทียมกับบุคคลทั่วไป 


กรณีจึงถือได้ว่า การกระทำของ กทม. ดังกล่าวก่อให้เกิดความเสียหายต่อสิทธิของผู้ฟ้องคดีในการเข้าถึงและใช้ประโยชน์จากระบบขนส่งมวลชนที่พิพาทซึ่งเป็นบริการสาธารณะ อันเป็นสิทธิที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยและกฎหมายให้ความคุ้มครองไว้ 

 

ดังนั้น การที่ กทม. ปฏิบัติตามคำพิพากษาของศาลไม่แล้วเสร็จภายใน 1 ปี นับแต่วันที่ศาลมีคำพิพากษา จึงครบองค์ประกอบของการกระทำละเมิดตามมาตรา 420 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ โดยถือเป็นการกระทำละเมิดอันเกิดจากการปฏิบัติหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติล่าช้าเกินสมควรและต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายต่อผู้ฟ้องคดีจำนวน 25 ที่มีภูมิลำเนาอยู่ที่กรุงเทพมหานคร อันเป็นท้องที่จังหวัดเดียวกับท้องที่ที่ระบบขนส่งรถไฟฟ้าบีทีเอส ตั้งอยู่ เป็นเงินจำนวนรายละ 5,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินค่าเสียหาย นับถัดจากวันฟ้องถึงวันที่ 10 เมษายน 2564 และดอกเบี้ยตามกฎหมายที่แก้ไขใหม่ ตั้งแต่วันที่ 11 เมษายน 2564 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ ทั้งนี้ ให้ชำระให้แล้วเสร็จภายใน 60 วัน นับแต่วันที่มีคำพิพากษา

 

ส่วนกรณีผู้ฟ้องคดีรายที่มิได้มีภูมิลำเนาในท้องที่จังหวัดเดียวกับท้องที่ที่ระบบขนส่งมวลชนที่พิพาทตั้งอยู่ โดยไม่ได้พิสูจน์ให้ศาลเห็นว่ามีพฤติการณ์พิเศษอื่นใดที่ทำให้ผู้ฟ้องคดีดังกล่าวได้รับความเสียหายจากการไม่อาจเข้าถึงหรือใช้ประโยชน์จากระบบขนส่งมวลชนที่พิพาท กรณีจึงไม่อาจถือได้ว่า การกระทำของ กทม. ก่อให้เกิดความเสียหายต่อสิทธิของผู้ฟ้องคดีกลุ่มนี้แต่อย่างใด
 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ